ขบวนแรงงานจับมือกัน แถลงเคลื่อนพล 7 ตุลา เสนอรัฐบาลรับรองอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98

PA020538

7 ตุลานี้ขบวนการแรงงานยื่นคำขาดต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจน เห็นชอบในหลักการเรื่องการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ภายในเดือนพฤษภาคม 2557 เพื่อเป็นของขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันกรรมกรสากล ต้องมีข้อเสนอต่อผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นรูปธรรม เรียกพลเตรียมพร้อมมติชุมนุมยืดเยื้อ

วันที่ 2 ตุลาคม2556 ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ราชเทวี  คณะทำงานผลักดันนโยบายอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ และองค์กรแรงงานระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานงาน ได้ร่วมกันแถลงข่าว “หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน ถึงเวลารัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98”

PA020532PA020540

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะทำงานฯ เป็นผู้แทนในการอ่านแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้ อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ.2491 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ.2492 คือ 2 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ที่ทั่วโลกถือกันว่าเป็นอนุสัญญาที่สำคัญที่สุด ที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงาน และประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้ให้ความยอมรับโดยให้สัตยาบันและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมักอ้างเสมอว่าเป็น 1 ใน 45 ประเทศผู้ก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว

ในวันกรรมกรสากลของทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ขบวนการแรงงานในประเทศไทยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ข้อเรียกร้องนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อเนื่องกันมาทุกปี ขณะนี้เป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว แต่ทุกรัฐบาลต่างบ่ายเบี่ยงและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว

การที่รัฐบาลเพิกเฉยและบ่ายเบี่ยงที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ คือ การปฏิเสธไม่ยอมรับไม่ให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยได้มีสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม เป็นความจงใจและสมรู้ร่วมคิดเพื่อที่จะให้มีการละเมิดสิทธิและเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศเป็นประเทศที่ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสิทธิการรวมตัวน้อยมาก คือ ราว 1.5 % ของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ซึ่งถือเป็นลำดับท้าย ๆ ของโลกเลยทีเดียว

การไร้ซึ่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย มีผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอยู่ในอัตราที่สูงมากระดับต้นๆของโลก

กล่าวได้ว่าผลจากโครงสร้างและกฎหมายด้านแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่มีกลไกที่จะทำให้แรงงานสามารถต่อสู้เพื่อเข้าถึงสิทธิแรงงานด้วยตัวของเขาเองได้ การอ้างความมั่นคงของชาติกลับกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการที่จะไปละเมิดกฎหมายซึ่งให้การคุ้มครองหรือการประกันสิทธิต่างๆของแรงงาน

พวกเราตระหนักดีว่ารัฐบาลไทยมีความพยายามในการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างไรก็ตามบทบาทของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นชัดว่า

รัฐบาลยังขาดความจริงจังในการสร้างบรรยากาศเพื่อเอื้ออำนวยแก่การระดมความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ดีของคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานร่วมกัน การเจรจาต่อรองเพื่อสร้างความร่วมมือในการผลักดันให้รับรองอนุสัญญากลายเป็นเพียงเรื่องของวิวาทะแบบโต้วาที คือ รับฟังแต่ไม่ดำเนินการ เจรจาเพื่อให้แบบผ่านไปวันๆและมองเห็นเพียงคู่ขัดแย้งขั้วตรงข้ามที่เห็นเพียง “ทุน” และ “แรงงาน” เท่านั้น การมองที่พยายามตีขลุมโดยผลักคู่ตรงข้ามให้กลายเป็น “คนผิด” ยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ที่จะเชื่อมต่อในอนาคต “ขาดสะบั้น” แบบง่ายดาย

ดังนั้นไม่มีเหตุผลใดๆอีกแล้วที่รัฐบาลจะไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 การเพิกเฉยใส่เกียร์ว่างต่อกระแสเพรียกหาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน ถือได้ว่าเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่สวนทางกับกระแสที่ยึดเอาปัญหาของประชาชนระดับล่าง และสิทธิมนุษยชนเป็นหนทางนำ

วันนี้พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งได้ก่อตั้งและดำเนินการรณรงค์เรียกร้องในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องนับแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา จึงเห็นร่วมว่าหมดเวลาแล้วที่รัฐบาลจักบิดพลิ้วและโยกโย้ทอดเวลาการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

พวกเราขอยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนกับเครือข่ายองค์กรแรงงานในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นวันงานที่มีคุณค่าที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกออกมารณรงค์เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน โดยมีการดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบในหลักการเรื่องการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ภายในเดือนพฤษภาคม 2557 เพื่อเป็นของขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันกรรมกรสากล ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลยังคงไม่มีรูปธรรมการตัดสินใจชัดเจนในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 มีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้มีการชุมนุมยืดเยื้อของผู้ใช้แรงงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไปจนกว่ารัฐบาลจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนต่อไป

ทั้งนี้ได้มีการจัดเวทีเสวนา หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน ถึงเวลารัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87 และ 98

PA020485PA020493

นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.)กล่าวว่า รัฐบาลชอบอ้างเสมอเรื่องสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานไทยนั้นมีอยู่แล้ว โดยถูกกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ให้สิทธิในการรวมตัว และเจรจาต่อรอง ทั้งที่กฎหมายนั้นเป็นการมีส่วนร่วมที่ไม่เป็นธรรมทั้งอำนาจการต่อรอง การรวมตัวที่มีข้อจำกัดในการที่จะมีการเปิดประชาคมอาเซียน 10 ประเทศที่จะถึงนี้  มี 3 ประเทศที่รับรองอนุสัญญาILOทั้ง 2 ฉบับแล้ว และอีก 6 ประเทศก็รับเป็นบางอนุสัญญา ซึ่งประเทศไทยที่ยังพิจารณาและยังไม่รับรองแม้แต่ฉบับเดียว

การรับรองอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับนั้นก็เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว เจรจาต่อรองร่วมโดยขั้นตอนการรวมตัวจะไม่ต้องมีการขึ้นตรงกับรัฐ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องอนุญาต ใครก็สามารถรวมตัวกันได้ เพราะปัจจุบันต้องไปขอจดทะเบียนที่เจ้าหน้าที่รัฐ และก็ถูกเลิิกจ้าง สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องของกฎหมายลูกที่ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงว่า จะมารองรับสิทธิในการปฏิบัติ เพื่อให้กำหนดเรื่องสิทธิตามอนุสัญญาILO เช่น อินโดนีเซียที่มีปัญหาแม้รับรองอนุสัญญาแต่ไม่มีการออกกฎหมายลูกมารองรับทำให้ในทางปฏิบัติจึงยังไม่เป็นไปได้จริงตามเจตนารมณ์

การขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่อดีตมีพลังมากเป็นการขับเคลื่อนเรื่องข้าวสารแพง ค่ารถเมล์ น้ำมันฯลฯ ที่เป็นเรื่องทางสังคม และต่อรองกับรัฐอย่างมีอำนาจต่อรองและรัฐต้องฟัง แต่วันนี้ไม่มีพลังขนาดนั้น การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะถือว่า เป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งที่มีองค์กรแรงงานหลากหลายมาร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ98 ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลไม่เห็นด้วยเพราะกลัวเรื่องความมั่นคงของรัฐ ซึ่งก็เป็นแนวคิดเก่าแต่เดิมที่มีมาวันนี้เราจะร่วมกันเพื่อให้รัฐบาลชุดนี้ได้ให้การรับรองอนุสัญญาILOทั้ง 2 ฉบับ

PA020492PA020489

นายอนุชิต แก้วต้น เลขาธิการสภาองค์กรลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อนุสัญญาILOทั้ง 2 ฉบับมีความคอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย ซึ่งจะทำให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการรวมตัว คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้แรงงานข้ามชาติมีอำนาจในการรวมตัวต่อรองให้ได้รับสิทธิ และหยุดการละเมิดสิทธิแรงงานกลุ่มนี้

การที่ขบวนการแรงงานได้มีข้อตกลงร่วมกันในการเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 7 ตุลาคมทางสภาแรงงานเห็นด้วยและเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาILO  และจะเข้าร่วมชุมนุมกดดันตามที่ณะทำงานร่วมกันกำหนด

PA020483PA020511

นายเมี่ยน เวย์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า กล่าวว่า อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 คิดว่าหากรัฐบาลไทยมีการรับรองจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องสิทธิการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติได้ การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติในการเรียกร้องแต่ละครั้งมักโดนรัฐใช้

กฎหมายอื่นๆเข้ามาจัดการแรงงานข้ามชาติ จึงคิดว่าการมีอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับจะทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิการคุ้มครอง การรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม แม้ประเทศไทยจะกำหนดให้สิทธิแรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครอง แต่นายจ้างบางที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และรัฐก็ไม่ดูแลอีก ตรงนี้จะช่วยลดแรงต้านและนำไปสู่การเจรจาต่อรองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ทางเครือข่ายแรงงานข้ามชาติจะเข้าร่วมรณรงค์กับขบวนการแรงงานด้วย

PA020498PA020530

นางสุจิน รุ่งสว่าง ปรานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกทม. กล่าวว่า อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับมีความคุมครองสิทธิการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง จาการที่ได้รับการศึกษาอบรมครั้งที่ผ่านมาทำให้แรงงานนอกระบบกลุ่มแกนนำมีความเข้าใจและจะเข้าร่วมรณรงค์ให้รับบาลรับรองอนุสัญญาILO ครั้งนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นต้องอยู่บนความเข้าใจ ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบจะไม่รู้เรื่องนี้ควรมีการให้การศึกษาให้มากกว่านี้ ทางแรงงานนอกระบบก็จะร่วมเคลื่อนไหวด้วย

PA020500PA020518

นายธนกิจ สาโสภา รองประธานสภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบทุนที่เข้ามาลงทุนนั้นต้องการใช้แรงงานราคาถูกที่ไม่มีการรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งก็จะเห็นได้ในปัจจุบันที่มีรูปแบบการจ้างงานในหลายรูปแบบ แม้จะทำงานในประเภทกิจการเดียวกันตำแหน่งเดียวกัน และโรงงานเดียวกัน แต่สภาพการจ้างสวัสดิการที่ต่างกัน ไม่มีสิทธิที่จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในโรงงานนั้นๆ ประเภทกิจการยานยนต์นั้นมีการจ้างงานรูปแบบนี้จำนวนมากซึ่งสร้างความแบ่งแยกแล้วปกครอง เป็นการจ้างงานที่กดขี่ เอาเปรียบ ขูดรีดแรงงานที่หนักหน่วง โดยแม้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ที่กำหนดเรื่องสิทธิและสวัสดิการไว้แต่ก็ไม่สามารถคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ได้ การรวมตัวรวมกลุ่มเท่านั้นจึงจะสามารถที่จะแก้ปัญหานี้ได้

จากการที่มีการใช้แรงงานราคาถูก ประเภทแรงงานเหมาค่าแรงในประเภทกิจการยานยนต์ ส่งผลต้นทุนค่าจ้างแรงงานของราคารถ 1 คันอยู่ที่ร้อยละ 2-3เท่านั้น แต่ราคารถที่ขายแพงมาก ส่วนประเทศญี่ปุ่นที่ค่าแรงผลิตรถ 1 คันอยู่ที่ร้อยละ 10 แต่ราคารถเทียบแล้วถูกกว่าขายในประเทศไทยนี่คือตัวอย่างของนายทุนที่เข้ามาเอาเปรียบการจ้างงานในประเทศไทย

วันนี้สภาองค์การลูกจ้างสภายานยนต์ฯได้มีการประชุมหารือให้การศึกษาขยายแนวคิดให้ความรู้เรื่องการรับรองอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับกับสมาชิกทุกระดับแล้ว เพื่อการเข้าร่วมขับเคลื่อนในวันที่ 7 ตุลานี้ อยากให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาILO 2 ฉบับนี้เสีย เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบแรงงานทำให้ประเทศไทยต้องเสียดุลการจ้างงานที่ทำลายคุณภาพชีวิตคน ซึ่งทำให้ประเทศชาติล้มจมเพราะแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เมื่อแรงงานสามารถรวมตัวกันได้ ก็จะมีความเข้มแข็งในการต่อรองให้เกิดสวัสดิการ และสภาพการจ้างที่ดีขึ้น เป็นแรงทวงดุลกับทุนที่เห็นแก่ตัวเอาแต่กำไรไม่สนใจชีวิตแรงงาน ซึ่งทางสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่เป็นการรวมตัวของสหภาพแรงงานในหลายประเภทกิจการจะมีการเปิดตัวทั้งสิ่งทอ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ เหล็ก โลหะ ยางฯลฯจะประกาศการรวมตัวกันในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ

PA020526PA020513

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้กล่าวว่า การที่ขบวนการแรงงานหรือเราต้องการให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98 นั้น ควรจะเริ่มจากตรงไหน ทำอย่างไร ภายใต้ทัศนคติของชนชั้นปกครองที่กลัวปัญหาเรื่องการปกครอง รูปแบบการจ้างงานที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานนึกถึงแต่เรื่องของปากท้องมากกว่าสิทธิการรวมตัว แม้ว่าการจ้างงานนั้นจะมีการเอาเปรียบ การทำงานจัดตั้งจึงเป็นหน้าที่ที่หนักของขบวนการแรงงาน ว่าตอนนี้การเรียกร้องเรื่องสวัสดิการ การรวมตัวเฉพาะตัวเองในพื้นที่ไม่พอแล้วต้องมีการออกมารวมตัว และขับเคลื่อนทางนโยบายเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาทั้งระบบ ภายใต้ที่รัฐยังไม่มีการรับรองอนุสัญญาILO เราก็มีการรวมตัวกันอยู่ทั้งแรงงานนอกระบบ สมาพันธ์ฯ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเป็นการรวมตัวแบบใช้รัฐธรรมนูญ และการต่อสู้แต่ละครั้งของเพื่อสหภาพแรงงานต่างๆต้องมีการเข้าไปหนุนช่วยอย่ามองว่าเป็นเรื่องใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องแรงงานเป็นเรื่องของเราทุกคน วันนี้จัดการกับคนงานแห่งหนึ่งได้ต่อไปก็อาจเป็นเรา เพราะนายจ้างมีการรวมตัวกันต่อสู้ทางเศรษฐกิจ แต่แรงงานยังอยู่แบบตัวใครตัวมัน หากมีอนุสัญญาILOก็ยังคงช่วยอะไรไม่ได้ เราต้องต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กติกาใหม่ วันที่จะขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILOนั้น พลังมวลชนเท่านั้นที่ชี้ขาดทุกเรื่องมาตั้งแต่อดีต

PA020523PA020506

ทั้งนี้ในเวทีเสวนายังมีกรณีสภาพปัญหาของสหภาพแรงงานหลายที่ที่ถูกนายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรม แม้ว่าจะมีการใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ตามกฎหมาย ในการไม่ให้กรรมการลูกจ้างทำงานให้อยู่นอกโรงงานและไม่จ่ายค่าจ้าง และการนัดหยุดงานเนื่องเกิดข้อพิพาทแรงงานเพราะนายจ้างการลดสวัสดิการ และการเลือกปฏิบัติเหตุเพราะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน รวมทั้งได้มีการร่วมกันยืนไว้อาลัยให้กับนายจรัล ก่อมขุนทด (บัวลอย) นักจัดตั้งสหภาพแรงงาน และอดีตผู้นำแรงงาน ในวาระครบรอบการเสียชีวิตในวันนี้

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน