วันแรงงาน ขบวนแรงงาน ให้รัฐขึ้นค่าจ้าง คุมราคาสินค้า รับอนุสัญญา และปฏิรูปสปส.

20160229_132806

ขบวนผู้ใช้แรงงานเรียกร้องรัฐ ปรับขึ้นค่าจ้าง ควบคุมราคาสินค้า รับรองอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98 พร้อมปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม(สปส.) และเงินทดแทน

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันกรรมกรสากล หรือวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ได้มีขบวนของผู้ใช้แรงงานได้ออกมาเดินรณรงค์กันทั่วประเทศ ประกอบด้วย แรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ นำโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรสมาชิกจากกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ ซึ่งได้มีการยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 แล้ว ซึ่งจะมีการเดินรณรงค์จากหน้ารัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  และในด้านกลุ่มสภาองค์การลูกจ้าง 15 แห่ง และ 1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ บางส่วนได้เดินรณรงค์จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังท้องสนามหลวง เพื่อยื่นข้อเรียกร้องแก่ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีข้อเรียกร้องของขบวนผู้ใช้แรงงาน ดังนี้

  1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่87 และ98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง
  2. ให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมทั้งควบคุมราคาสินค้าอุปโภค และบริโภค
  3. ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ดังนี้

3.1 ให้แก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล

3.2 ให้ประกาศให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตน เข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ใหม่ ตามระยะเวลาที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

3.3 ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนประกันสังคมมาตรา 40

3.4 ให้ยกระดับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุฉุกเฉิน ตามความเป็นจริง

3.5 ให้เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากอุบัติเหตุจากการทำงานเดิม 60% เพิ่มเป็น 100% ของค่าจ้าง

  1. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  2. ให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน
  3. ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างภาคเอกชนและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง
  4. ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกา การจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามบทบัญญัติว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์ ในหมวด 13 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ( มาตรา 163 )
  5. ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจและยุตินโยบายการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบรัฐวิสาหกิจ
  6. ให้รัฐบาลยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงาน เป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน
  7. ให้รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
  8. ให้รัฐบาลบังคับให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 โดยเคร่งครัด
  9. ให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ หน่วยงาน และภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และจัดตั้ง “กรมคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ”ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ
  10. ให้กระทรวงแรงงาน จัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยลูกของแรงงานที่ตั้งขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง
  11. รัฐบาลต้องจัดให้มีระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ครอบคลุมประชากรทุกคน และเพียงพอต่อการดำรงชีวิตไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือสัดส่วนรายได้เฉลี่ยของประเทศไทย
  12. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2559

13012772_1717088945170452_5370891404567977592_n

ด้าน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่าย มีข้อเรียกร้องที่จะเสนอต่อรัฐบาลมีรายละเอียด ดังนี้

  1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อให้กลไกของลูกจ้าง สหภาพแรงงาน เป็นส่วนช่วยให้คนงานเข้าถึงสิทธิ และเป็นกลไกในการเป็นเกราะป้องกันไม่ให้คนงานถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นส่วนช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยถูกจับตามองเป็นพิเศษจากสังคมโลก และรัฐบาลยังไม่มีกลไกที่ดีพอในการแก้ไขปัญหา การรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งจะได้รับความนิยม ความชื่นชมจากนานาชาติ
  2. รัฐต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ได้ยื่นต่อรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยสาระสำคัญให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการขยายงาน การพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน และยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ ปรับโครงสร้างการบริหารงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วยภาครัฐ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน เพื่อให้เกิดระบบธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกัน
  3. รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการ วางมาตรการอย่างเข้มข้นต่อการละเมิดสิทธิแรงงาน การคุกคาม และการเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่นายจ้างมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายแม้ในยามที่รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมถึงข้อจำกัดของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงาน ในการนัดหยุดงาน การปิดงาน การเจรจาต่อรอง และการไม่พยายามบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีที่นายจ้างของสถานประกอบการบางแห่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
  4. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน และรัฐจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี พ.ศ.2557 และปี พ.ศ. 2558 ซึ่งในปัจจุบันจากผลสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แรงงานจะอยู่ได้ต้องมีค่าจ้างวันละ 360 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศ และรัฐต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
  5. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ (ประธานกรรมการและเลขาธิการต้องเป็นมืออาชีพ มาจากการสรรหา ผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง) กำหนดให้ประกันสังคมถ้วนหน้าของคนทำงานทุกคนโดยการคุ้มครอง ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม มีสิทธิประโยชน์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีสงเคราะห์บุตร เดิม 400 บาท/ต่อเดือน เพิ่มเป็น 600 บาท/ต่อเดือน รวมถึงการยกเลิกการใช้เงินที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ครอบคลุมผู้ประกันตนทุกคน เช่น การทำปฏิทิน การทำเสื้อวันแรงงาน การจัดอบรมเรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคม รวมถึงการใช้เงินไปดูงานต่างประเทศที่ไม่ได้นำมาพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ให้ยกเลิกไป
  6. รัฐบาลต้องดำเนินการจัดตั้งธนาคารแรงงาน ให้เป็นของผู้ใช้แรงงาน เพื่อผู้ใช้แรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ใช้แรงงาน ในการสร้างฐานเศรษฐกิจและเพื่อเป็นแหล่งทุน และส่งเสริมการออมให้กับผู้ใช้แรงงาน

Untitled-9

ทั้งนี้ประวัติความเป็นมาของวันกรรมกรกสากล-วันแรงงานแห่งชาติ

1 พฤษภาคม คือวันสำคัญของมวลพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วโลกเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกมาร่วมกันย้อนรำลึกถึงการต่อสู้ของพี่น้องแรงงานในอดีตที่ได้ต่อสู้เพื่อความหวังและอนาคตที่ดีกว่า วันกรรมกรสากล หรือ Mayday มีกำเนิดที่ผูกพันกับการต่อสู้เพื่อลดชั่วโมงการทำงานของผู้ใช้แรงงาน ที่สำคัญและต่อมาได้พัฒนามาสู่การกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันสำคัญของคนงานทั่วโลกคือการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ต่อสู้ในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ต้นคริสศัตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร อดีตอธิบดีกรมแรงงานผู้ยืนเคียงข้างและต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานได้เคยให้ความเห็นถึงความสำคัญของวันกรรมกรสากลว่า “…เป้าหมายที่สำคัญที่สุดเป็นเรื่องที่คนงานชุมนุมกันเป็นการแสดงออกซึ่งความสามัคคี ความพร้อมเพรียงและระลึกถึงผลงานของผู้นำแรงงานทั่วโลกที่ได้เรียกร้องให้ดูแลงานอย่างเป็นธรรม ฉะนั้นกล่าวได้ว่าวันแรงงานแห่งชาติหรือภาษอังกฤษเรียกว่า MAY DAY มันเรื่องของชาวตะวันตกก่อนทำกันมาร้อยปีกว่าเดือนพฤษภาคมที่สหรัฐ ทำที่เมืองซิคาโกและต่อไปคนงานในประเทศต่างๆก็ทำกันและยึดเอาวันที่พฤษภาคมเป็นวันแรงงานแห่งโลก…” เช่นเดียวกับที่ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการแรงงานคนสำคัญอีกท่านได้ให้ความเห็นถึงวันกรรมกรสากลไว้ว่า “…เป็นการรำลึกถึงการต่อสู้ของกรรมกรในอเมริกาและยุโรป ซึ่งจุดกำเนิดมาจากอเมริกาและต่อมาแพร่ขยายไปยุโรปและทั่วโลก เป็นวันรำลึกแห่งการต่อสู้ของผู้ที่ต้องการที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตของคนงานขึ้นมาในเรื่องของความยุติธรรมในการจ้าง ในเรื่องของวันพักผ่อน ในเรื่องของชั่วโมงการทำงานซึ่งระบบการทำงานที่เรียกว่าระบบ 3 แปด ทำ 8 ชั่วโมง พัก 8 ชั่วโมง ศึกษาเล่าเรียน 8 ชั่วโมง อันนี้ถือว่าเป็นปรัชญาของการต่อสู้เพื่อให้เกิดวันกรรมกร”

ขบวนการเรียกร้องดังกล่าวเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาก่อนและได้ก่อตัวเป็นกระแสเรียกร้องที่ดังกึกก้องกังวานไปทั่วโลก จุดเริ่มต้นคือเมื่อสหภาพแรงงานแห่งชาติสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ วิลเลี่ยม ซิลวิส (William H. Sylvis) วีรบุรุษกรรมกรแห่งอเมริกา ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันประเด็นการต่อสู้เพื่อลดชั่วโมงการทำงาน ให้กลายเป็นประเด็นร่วมในการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ข้อเรียกร้องของซิลวิสได้ถูกเสนอสู่การพิจารณาของ ที่ประชุมใหญ่ขององค์กรกรรมกรสากลที่กรุงเจนีวา หรือที่เรียกกันว่า “สากลที่หนึ่ง” ในปีพ.ศ. 2429 พร้อมกับมีการเสนอให้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมในปีพ.ศ. 2429 เป็นวันที่กรรมกรทั่วโลกพร้อมใจกันหยุดงาน เพื่อร่วมกันรณรงค์และกดดันให้มีการออกกฎหมายจำกัดชั่วโมงการทำงานไม่ให้เกินวันละ 8 ชั่วโมงในทุกแห่งหน

1 พฤษภาคม ของปีพ.ศ. 2429 จึงถือเป็นวันที่มวลพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้พร้อมใจกันสำแดงพลังของตน ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของพวกเขา สลัดทิ้งซึ่งความกลัวที่เคยครอบงำเหนือพวกเขาตลอดมา เป็นวันแห่งการแสดงออกซึ่ง จิตใจสมานฉันท์สากลหรือ อินเตอร์แนชชันแนล โซลิดาริตี้ (International solidarity) เป็นปฏิบัติการร่วมของมวลพี่น้องผู้ใช้แรงงานโดยไม่แบ่งแยก สีผิว ศาสนา ความเชื่อ และพรมแดน ที่สหรัฐอเมริกา กระแสเรียกร้องดังกล่าวได้รับการขานรับจากพี่น้องแรงงานกระจายไปในหลายมลรัฐทั่วประเทศ การลุกขึ้นต่อสู้ของคนงานอเมริกันครั้งนี้ ทำให้ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว นครชิคาโก มีสถานะเปรียบสมือนเมืองหลวงของขบวนการแรงงานทั่วโลก มันได้กลายเป็นศูนย์กลางของการนัดหยุดงานที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลเข้าร่วมชนิดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน การประกาศลุกขึ้นสู้และพร้อมใจพากันผละงานของคนงานในครั้งนั้น ว่าไปแล้วมันก็คือการประกาศทำสงครามทางชนชั้นของกรรมกรต่อนายทุนผู้กดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบคนงานทั่วโลก

1 พฤษภาคม 2429 จึงได้ถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมชีพแห่งโลกว่าวันนี้คือวันที่คนงานทั่วโลก ปลดโซ่ตรวน ปลดแอก ประกาศอิสระภาพ เรียกร้องให้รัฐและนายจ้างยอมปฏิบัติตามข้อเสนอของพวกเขา คือให้ลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง เสียงตะโกน ALL Worker uniteหรือกรรมกรทั้งหลายจงรวมกันเข้า ดังกระหึ่มกึกก้องไปทั่วทุกมุมโลก มวลกรรมกรพากันลุกขึ้นต่อสู้ด้วยความใฝ่ฝันและความหวังที่จะสร้างอนาคตที่สดใสด้วยสองมือของพวกเขาเอง ที่ชิคาโก้คนงานได้ยืนหยัดหยุดงานแบบยืดเยื้อ หมายให้บรรลุเป้าหมายแห่งการต่อสู้ในครั้งนั้น แต่เนื่องจากแกนนำสำคัญของการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นเป็นกรรมกรฝ่ายซ้ายและพวกอนาธิปัตย์ (Anarchist) จึงได้ก่อให้เกิดความหวาดวิตกให้กับฝ่ายนายจ้างและรัฐเป็นอย่างยิ่ง

การหยุดงานของคนงานชิคาโกได้ดำเนินต่อเนื่องไปถึงวันที่ 3 พฤษภาคม นายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าสลายการชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 6 คนและบาดเจ็บหลายคน ทั้ง ๆ ที่การชุมนุมของคนงานเป็นการชุมนุมอย่างสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ
การใช้ความรุนแรงของรัฐไม่อาจทำให้คนงานสยบยอม ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้คนงานเห็นถึงความไม่เป็นธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น มันได้สร้างความเคืองแค้นและเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นกับคนงานจากที่อื่น ๆ ให้เข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ครั้งนี้อย่างไม่ย่อท้อ

วันถัดมาการชุมนุมของคนงานได้ขยายวงไปในอีกหลายเมือง แต่ที่น่าสลดใจยิ่งก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จตุรัส เฮย์มาร์เก็ต (Hay Market) ที่ซึ่งคนงานที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐและนายจ้าง ได้พากันไปชุมนุมกันอย่างสันติเพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับผู้สังหารคนงาน แต่ระหว่างการชุมนุมได้มีคนขว้างระเบิดเข้าใส่กลางที่ชุมนุม เป็นผลให้ตำรวจเสียชีวิต 7 นาย คนงานเสียชีวิต 4 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ระเบิดที่ถูกโยนเข้าไปในที่ชุมนุมที่จตุรัส เฮย์มาร์เก็ตได้ถูกรัฐใช้เป็นข้ออ้างในการสลายการชุมนุมและกวาดล้างจับกุมผู้นำแรงงานจำนวนมาก ในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมนั้นปรากฏว่ามีผู้นำงาน 8 คนถูกตัดสินประหารชีวิต ด้วยข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่เฮย์มาร์เก็ต ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าคนทั้ง 8 มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการโยนระเบิดดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าระเบิดลูกนั้นได้กลายเป็นเงื่อนไขให้รัฐและนายจ้างฉวยโอกาสปราบปราม สกัดกั้นการเติบกล้าของขบวนการแรงงานอเมริกาในขณะนั้น

การปราบปรามผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรงครั้งนั้น ได้สร้างความเจ็บแค้นให้กับคนงานที่รักความเป็นธรรมทั่วโลก มันได้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่จุดประกายไฟให้กับแนวความคิดที่จะกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันสำคัญของกรรมกรทั่วโลกลุกโชติช่วงมีชีวิตชีวาและมีพลังยิ่ง

และแล้วในที่สุดในการประชุมขององค์การกรรมกรสากล ในกรุงปารีสในปีพ.ศ. 2432หรือที่เรียกกันว่าสากลที่สอง ที่ประชุมอันประกอบด้วยคนงานจากหลากหลายประเทศได้มีมติร่วมกันกำหนดให้ วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันกรรมกรสากล

1 พฤษภาคมถูกกำหนดให้เป็นวันที่กรรมกรจะไม่ทำงานและจะออกมาบนท้องถนนเพื่อสำแดงพลังสามัคคีทางชนชั้น สะท้อนปัญหาเรียกร้องให้มีการปรับปรุงค่าจ้าง สวัสดิการ สภาพการจ้าง และสร้างสังคมที่เป็นธรรม

วันที่ 1 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2433 จึงเป็นปีแรกที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลก พากันถือเป็นวันหยุดของตน เพื่อสานต่อภารกิจและเจตนารมณ์ของคนงานชิคาโก้ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นต่อสู้ทางชนชั้นของมวลพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วโลกนับแต่นั้นมา

จะเห็นว่าหลักการสำคัญของวันกรรมกรสากลคือ การพร้อมใจนัดหยุดงาน เดินออกมาจากประตูโรงงานมาร่วมกันต่อสู้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของมวลคนงาน เริ่มต้นจากประเด็นลดชั่วโมงการทำงาน ขยายไปสู่ประเด็นแรงงานและสังคมอื่น ๆ แต่ล้วนเป็นจิตวิญญาณของการลุกขึ้นต่อสู้แบบพึ่งตนเอง ไม่ยอมงอมืองอเท้า เชื่อในพลังอำนาจของคนงานในฐานะชนชั้นที่เป็นสากลไม่ใช่ชาตินิยม มุ่งที่จะสร้างเอกภาพทางชนชั้นของมวลพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกแห่ง ทุกหน ไม่แยก ชาติ ศาสนา ผิวพรรณ และพรมแดน

ในประเทศไทยแรงงานรับจ้างถือกำเนิดในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชที่อำนาจทางการเมืองจำกัดอยู่ในกำมือของชนชั้นสูง สิทธิเสรีภาพของผู้คนยังไม่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งในศตวรรษแรกของการมีแรงงานรับจ้างในประเทศไทยนั้น แรงงานข้ามชาติจากประเทศจีนคือแรงงานส่วนใหญ่ในตลาดแรงงานไทย กอรปกับการเติบโตของและพัฒนาของลัทธิชาตินิยมในประเทศไทยที่มีคนจีนตกเป็นเป้าหมาย ส่งผลให้นโยบายด้านแรงงานของรัฐไทยในขณะนั้นตกอยู่ภายใต้กรอบคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติที่มองว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็น “คนต่างด้าว” เป็น “จีน” ซึ่งถูกเพ่งเล็งว่าอาจจะนำความคิดความเชื่อทางการเมืองที่ไม่พึงปรารถนาและเป็นภัยต่ออำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชเข้ามาเผยแพร่

แรงงานในประเทศไทยจึงมีสิทธิและเสรีภาพที่จำกัดมาก ต้องถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง สมาคม สโมสรในปี พ.ศ. 2440 แต่สิทธิดังกล่าวไม่เคยเอื้อมมาถึงผู้ใช้แรงงาน การรวมตัวกันของคนงานในประเทศไทยถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นขบวนการแรงงานในยุคแรกภายใต้อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชจึงเป็นไปในลักษณะปิดลับ ใต้ดิน มีหลักฐานยืนยันว่าคนงานแอบเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลกันอย่างลับ ๆ มีการชักธงแดงอันเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นกรรมกรขึ้นเสาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วสิทธิของผู้ใช้แรงงานได้รับการยอมรับมากขึ้น องค์กรของคนงานได้รับการจดทะเบียน มีการยื่นข้อเรียกร้องและนัดหยุดงานของคนงานกลุ่มต่าง ๆ มากมาย ที่สำคัญได้แก่สมาคมของคนงานรถรางสยามที่ถือเป็นองค์กรแรงงานแห่งแรกที่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย ต่อมาสมาคมคนงานหลากหลายองค์กรได้มารวมกันเป็นองค์กรระดับชาติในชื่อ สมาคมอนุกูลกรรมกร ที่มีนาย ถวัติ ฤทธิเดชเป็นผู้นำ

แต่ความขัดแย้ง การช่วงชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำและ สถานการณ์สากลที่กำลังก้าวสู่สงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ทหารก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในประเทศไทย แรงงานก็กลับมาถูกกวดขันเข้มงวดอีกครั้ง กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้ว ประชาธิปไตยจึงหวนกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้งพร้อมกับสิทธิของผู้ใช้แรงงาน

ในปี 2489 หลังยกเลิกกฎอัยการศึก การรวมตัวกันเป็นองค์กรของคนงานก็กลับมาได้รับการยอมรับอีกครั้ง มีองค์กรแรงงานถูกจัดตั้งขึ้นมากมายหลายองค์กร ที่สำคัญได้แก่ สหบาลกรรมกรนครกรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสมาคมสหะอาชีวะกรรมกรกรุงเทพฯ และสมาคมไตรจักร์สมาคมของถีบสามล้อเป็นต้น สมาคมคนงานทั้งสองแห่งได้ริเริ่มจัดเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจัดให้มีขึ้นที่สนามหญ้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณวังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2489 มีคนงานเข้าร่วมงานราวสามพันคน

ในปีถัดมาองค์กรแรงงานต่าง ๆ จากกว่า 60 สาขาอาชีพ ได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรศูนย์กลางแรงงานระดับชาติขึ้นให้ชื่อว่า “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” ขึ้น มีนายเธียรไท อภิชาตบุตรเป็นประธาน นายดำริห์ เรืองสุธรรมเป็นเลขาธิการ มีสมาชิกมากถึง 75,000 คน

จรูญ ละสา อดีตผู้นำสหอาชีวกรรมกรได้เล่าถึงการจัดวันกรรมกรสากลครั้งแรกในประเทศไทยว่า “…จัดที่วังสราญรมย์ครั้งแรก พ.ศ.89แต่คนก็น้อยประมาณ 3,000 คน ส่วนครั้งที่สอง พ.ศ.2490 ก็จัดที่สนามหลวงครั้งนี้ทางรถไฟร่วมทางโรงสี ทางโรงงานยาสูบหลายคนร่วม รวมกันที่สนามหลวงแต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงสีมาก ค่าใช้จ่ายโดยมากเรี่ยรายเขามีทุนก้อนหนึ่งก็จริงตั้งสมาคมโดยทางฝ่ายโรงสี แต่โดยมากจะเรี่ยรายคนละกี่บาทก็แล้วแต่ 50 สตางค์ คนละบาทหนึ่งหรือใครมีเศษสตางค์ก็ให้ไป อย่างคนรถไฟก็เคยจัดก็เรี่ยราย พูดง่ายอย่างเงินเดือนออกเศษสตางค์ก็ขอ ขอให้จัดงานวันเมย์เดย์บ้าง งานเตรียมการต่อสู้ของเขาบ้างใช้วิธีอย่างนั้น โดยมากเราไม่ได้ไปของรัฐบาลอย่างทุกวันนี้…”

Untitled-111

1 พฤษภาคม 2490 สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทยที่เพิ่งถือกำเนิด ได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่จัดงานวันกรรมกรสากลอย่างยิ่งใหญ่มีคนงานเข้าร่วมงานครั้งนี้กว่าแสนคน ดำริห์ เรืองสุธรรม ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหอาชีวิกรรมกรแห่งประเทศไทย ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดวันกรรมกรในปีนั้นได้เล่าให้ฟังว่า “……เราก็เชิญกรรมกรตามจังหวัดต่างๆ ที่มีการก่อตั้งสหภาพ สหพันธ์ขึ้นมาแล้วมาร่วมประชุมกันในเดือนเมษายน ที่ประชุมก็ตอบตกลงตั้งเป็นสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย แล้วก็ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม 2490 จัดงานฉลองวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยเป็นครั้งที่ 2 แต่ว่าเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะมีกรรมกรอาชีพต่างๆมาร่วมชุมนุมที่นี่เป็นจำนวนแสนซึ่งในสมัยนั้นนับว่าเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่…”

การมาร่วมชุมนุมอย่างเนืองแน่นของกรรมกรครั้งนี้ถือเป็นการสำแดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรครั้งสำคัญ การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นจากทุนทรัพย์ของขบวนการแรงงานเอง ไม่ได้แบมือของเงินจากใคร คณะผู้จัดงานได้เชิญผู้นำแรงงานอาวุโสที่เคยมีบทบาทสำคัญในขบวนการแรงงานในยุคก่อนหน้านั้นอย่างเช่น นาย ถวัติ ฤทธิเดช นายวาศ สุนทรจามร นายสุ่น กิจจำนงค์เป็นต้น มาร่วมเป็นประธานในงานเฉลิมฉลองครั้งนี้

สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทยได้เรียกร้องให้เอาระบบการทำงานแบบ 888 หรือ สามแปด คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาเล่าเรียน 8 ชั่วโมง มาบังคับใช้ เรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงสำหรับการทำงานล่วงเวลา เรียกร้องให้ยอมรับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม รวมกลุ่มจัดตั้งของกรรมกร คนงานต้องมีสิทธินัดหยุดงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง ให้มีการประกันสวัสดิภาพของลูกจ้าง และที่สำคัญคือให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันหยุดงานของกรรมกร

ข้อเรียกร้องนี้ได้ถูกทำเป็นร่างกฎหมายและนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีสมาชิกรัฐสภาฝ่ายกรรมกรเป็นผู้นำเสนอ แต่น่าเสียดายที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภามากพอ จึงตกไป

เพื่อเชื่อมร้อยขบวนการแรงงานไทยเข้ากับขบวนการแรงงานสากล สหอาชีวะกรรมกรได้สมัครเป็นสมาชิกขององค์กรแรงงานระดับโลกที่ชื่อว่า ดับเบิ้ลยู เอฟ ที ยู (WFTU-World Federation of Trade Union)

โชคร้ายของกรรมกร และประเทศไทย ขณะที่ประชาธิปไตยกำลังจะไปได้สวย ได้เกิดกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งได้กลายเป็นข้ออ้างและเงื่อนไขให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและทหารฉวยโอกาสทำการรัฐประหาร ซึ่งได้ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยต้องหยุดชงักลง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและรัฐบาลทหารที่เข้ากุมบังเหียนประเทศไว้ ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะเข้าควบคุมและแทรกแซงขบวนการแรงงานไทย

สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กรรมกรไทย ถูกกีดกันไม่ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ ผู้นำหลายคนถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนักและในที่สุดสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรตามกฎหมายก็ต้องทำให้สิ้นสภาพและยุติกิจกรรมไป เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมต่อทะเบียนให้ รัฐบาลได้เข้าแทรกแซง สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในขบวนการแรงงานไทย โดยส่งคนไปจัดตั้งองค์กรแรงงานแห่งใหม่ขึ้นแข่งกับสหอาชีวะกรรมกร นั่นคือ สหบาลกรรมกรไทย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมกรรมกรไทย โดยรัฐได้จัดสรรงบประมาณให้กับสมาคมกรรมกรไทยปีละถึงสองแสนบาท

ต่อมาเมื่อสมาคมกรรมกรไทยเริ่มแข็งแกร่งและต้องการหลุดจากการครอบงำของรัฐ รัฐบาลโดยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ก็หันไปส่งคนใกล้ชิดของตนไปจัดตั้งองค์กรแรงงานแห่งใหม่ขึ้นชื่อ “สมาคมเสรีแรงงานแห่งประเทศไทย” โดยรัฐได้ให้เงินสนับสนุนการทำงานขององค์กรแห่งนี้

20160430_152135

พอถึงปี 2499 องค์กรแรงงานที่ถูกรัฐทำให้แตกแยก กระจัดกระจาย ไร้พลัง ได้หันมาจับมือร่วมกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มกรรมกร 16 หน่วย” ขึ้น มีประเสริฐ ขำปลื้มจิต เป็นประธานและมีศุภชัย ศรีสติเป็นเลขาธิการ กรรมกร 16 หน่วย ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าหากกรรมกรสามัคคีเป็นเอกภาพแล้ว ชัยชนะย่อมเป็นของคนงาน กรรมกร 16 หน่วยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้มีกฎหมายแรงงานฉบับแรกออกมาบังคับใช้ได้ในปี 2499 ความสำเร็จอีกประการของ “กลุ่มกรรมกร 16 หน่วย” คือสามารถเรียกร้อง ให้รัฐยอมให้คนงานสามารถจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นอีกครั้ง หลังจากถูกห้ามจัดนับแต่การรัฐประหารปี 2490

แต่วันกรรมกรสากลที่ถูกฟื้นขึ้นมาใหม่ในครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากรัฐบาลเข้าใจและปักใจเชื่อว่า “Mayday” หรือ “วันกรรมกรสากล” เป็นวันของฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจึงยืนยันที่จะไม่ยอมให้จัดท่าเดียว ดังเป็นที่รู้กันอย่างดีว่า รัฐบาลไทยหลังการรัฐประหารปี 2490 ได้รับอิทธิพลทางอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์จากอเมริกันที่ตั้งตัวเป็นมหาอำนาจใหญ่ของค่ายทุนนิยมในการทำสงครามเย็น ดังนั้นรัฐบาลไทยในยุคนั้นก็เช่นเดียวกับรัฐบาลอเมริกาที่สร้างผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาหลอกประชาชนและหลอกแม้กระทั่งตัวเอง ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีนโยบายตอบสนองความต้องการของอเมริกันเต็มที่ในอันที่จะสกัดกั้นขบวนการแรงงานไม่ให้เข้มแข็งได้

ผู้แทนกลุ่มกรรมกร 16 หน่วยได้ยืนยันกับรัฐว่าถึงอย่างไร พวกตนก็จะจัดงานวันกรรมกรให้ได้ แม้รัฐจะไม่อนุญาตให้จัดก็ตาม ในที่สุดรัฐบาลยอมถอย แต่มีเงื่อนไขว่า

  1. ให้เคลื่อนไหวอย่างสงบ ไม่กีดขวางทางจราจร
  2.  ไม่ให้มีประเด็นการเมือง ไม่ให้โจมตีมิตรประเทศโดยเฉพาะอเมริกา และองค์การซีอาโต้
  3.  ให้เปลี่ยนชื่อจาก “วันกรรมกรสากล” เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ”  โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการจัดงานดังกล่าวคิดเฉลี่ยเป็นรายหัว หัวละ 5 บาท

ตัวแทนเจรจาของฝ่ายแรงงานจำต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อให้สามารถจัดงานได้ การจัดงานในปีนั้นมีคนงานเข้าร่วมราว 50,000 คน โดยขบวนเริ่มต้นจากสนามหลวง ข้างธรรมศาสตร์ แล้วเดินมาที่สนามเสือป่า จากนั้นมีการจัดกิจกรรมที่หอประชุมสภาวัฒนธรรม

แม้กลุ่มกรรมกร 16 หน่วยจะประสบความสำเร็จในการเจรจากับรัฐบาลและสามารถจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นมาได้ แต่จิตวิญญาณและหลักการสำคัญของวันกรรมกรสากลได้ถูกทำให้เบี่ยงเบนออกไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมของมัน ประการแรกหลักการสำคัญเรื่องความเป็นสากล การเป็นวันของชนชั้นกรรมาชีพ ที่ไม่ถูกแบ่งแยก ด้วยสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา หรือพรมแดนได้ถูกทำลายไป วันแรงงานแห่งชาติ ได้ถูกรัฐทำให้กลายเป็นเรื่องภายในของกรรมกรไทยไปเสียแล้ว ประการถัดมาคือ จิตวิญญาณของการพึ่งตนเองของคนงาน ความเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซง จากรัฐและทุน ก็ถูกทำลายไปด้วยพร้อม ๆ กัน

วันกรรมกรสากลในประเทศไทยในปีนั้น จึงได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างจารีตใหม่ให้กับวันกรรมกรสากลในประเทศไทย มีการจัดวันกรรมกรสากลอีกครั้งในชื่อวันแรงงานแห่งชาติในปี 2500 แต่ภายหลังการทำรัฐประหารของจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 กฎหมายแรงงานปี 2499 ก็ถูกยกเลิก องค์กรแรงงานทุกรูปแบบถูกสั่งห้าม สิทธิของแรงงานถูกริดรอนจนหมดสิ้นรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของนักลงทุน การเคลื่อนไหวของคนงานทุกรูปแบบถูกมองว่าเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน นั่นคือความผิดมหันต์ ที่รัฐอนุญาตให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ไม่ได้ ผู้นำแรงงานต่างถูกจับกุมคุมขัง ศุภชัย ศรีสติ เลขาธิการกรรมกร 16 หน่วย ถูกจับกุมและประหารชีวิตด้วยอำนาจตามมาตรา 17 โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมใด ๆ

แม้ประเทศชาติจะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดของอำนาจเผด็จการ แต่จิตใจที่มั่นคง ยืนหยัดในอุดมการณ์แห่งชนชั้นกรรมกรของแรงงานไทยไม่เคยเจือจางลง ในคุกลาดยาวที่ซึ่งผู้นำแรงงานและนักต่อสู้เพื่อคนทุกข์ยากหลายคนถูกนำไปจองจำไว้นั้น พวกเขายังคงยืนหยัดที่จะรักษาประเพณีวันกรรมกรสากลเอาไว้ หนังสือคอมมิวนิสต์ลาดยาวที่บันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของไทยที่เขียนโดย ทองใบ ทองเปาว์ นักกฎหมายฝ่ายประชาชนที่ถูกคุมขังพร้อม ๆ กับเพื่อได้บันทึกประวัติศาสตร์การเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2503 เพลงรำวงวันเมย์เดย์ ที่ร้องกันในขบวนแถวของผู้ใช้แรงงานในวันนี้ก็เป็นเพลงที่ถูกประพันธ์ขึ้นโดยจิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนยากคนจน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล ขณะที่เขาถูกจองจำอยู่ในคุกลาดยาว

ขบวนการแรงงานกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งภายหลังรัฐบาลออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ในปี 2515 ที่ยอมคืนสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองให้กับคนงานอีกครั้ง ตามการเรียกร้องของคนงานและการกดดันของขบวนการแรงงานสากล แต่ที่สำคัญคือภายหลังการลุกขึ้นโค่นล้มเผด็จการทหารที่นำโดยนิสิตนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้นำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้ง ผู้ใช้แรงงานจึงหยัดกายยืนขึ้นทวงถามหาความยุติธรรม หลังถูกกดขี่ขูดรีดจากทุนและรัฐอย่างยาวนานภายใต้อำนาจรัฐเผด็จการ

ยุคทองของขบวนการแรงงานได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว วันกรรมกรสากลได้รับการอนุญาติให้จัดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย พลังสามประสานระหว่างขบวนการนักศึกษา ขบวนการชาวไร่ชาวนา และขบวนการกรรมกร ได้ทำให้การเคลื่อนไหวในประเด็นแรงงานมีพลังเป็นอย่างยิ่ง วันกรรมกรสากลในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ได้รับความสนใจทั้งจากคนงานด้วยกันและจากสาธารณชนที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก

แต่ยุคทองของแรงงานไทย เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เหตุการณ์สังหารโหด นักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้นำประเทศไทยกลับสู่ยุคมืดอีกครั้ง รัฐบาลขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียรได้ผลักผู้คนที่รักความเป็นธรรมทั้งหลายรวมทั้งผู้นำแรงงานจำนวนมากให้จำต้องเดินทางเข้าสู่เขตป่าเขาเพื่อร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แม้ภายหลังฝ่ายก้าวหน้าจะพากันถอนตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์กลับคืนสู่นาครอีกครั้ง แต่ขบวนการแรงงานไทยหลังยุควิกฤติแห่งศรัทธาก็ไม่สามารถกลับมามีพลังที่เข้มแข็งดังเดิมได้อีก

กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ที่กีดกันคนงานส่วนใหญ่ไม่ให้เข้าสู่ขบวนการแรงงาน นโยบายของรัฐบาลที่เอาใจฝ่ายนายทุนอย่างออกนอกหน้า กลไกไตรภาคีที่ถูกนำมาใช้ในระบบแรงงานสัมพันธ์ไทย และมาตรการแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกของฝ่ายนายจ้าง ได้ทำให้ขบวนการแรงงานไทยแตกแยก กระจัดกระจาย ไร้เอกภาพ ถูกครอบงำและแทรกแซง จนไม่อยู่ในฐานะพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง ไม่มีอำนาจต่อรองทั้งในสถานประกอบการและในทางการเมืองระดับชาติ

รองศาสตราจารย์ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐได้วิเคราะห์ให้เห็นสภาพของวันกรรมกรสากลในปัจจุบันว่า “…วันกรรมกรปัจจุบันเป็นวันลบประวัติศาสตร์ ไม่ใช่วันรำลึกประวัติศาสตร์มันตรงกันข้าม ในช่วงหลัง 14 ตุลา 2516 ก็พยายามมีการฟื้นฟูวันกรรมกรขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของกรรมกร เป็นวันประศาสตร์กรรมกร แต่หลังจากปี 19 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ประวัติศาสตร์ก็เปลี่ยนอีก การที่รัฐบาลอนุญาตจัดวันกรรมกร จัดวันกรรมกรเหมือนกันแต่พยายามให้เป็นวันลบประวัติศาสตร์กรรมกร แล้วมาสืบทอดจนถึงปัจจุบัน วันกรรมกรปัจจุบันนี้เป็นวันลบประวัติศาสตร์ไม่ใช่วันรำลึกประวัติศาสตร์ ความแย่อยู่ตรงนี้…” ตรงกับคำสัมภาษณ์ของชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ที่บอกว่า “…ถึงแม้ปีนี้ผมจะเป็นประธานจัดงานในปี 56 ผมหลับตาแล้วผมนึกถึงภาพวันแรงงานในสมัยก่อนๆ ผมเข้ามาทำงานวันแรงงานจำได้ตั้งปี 2500 ต้นๆ ในสมัยก่อนผมจะเห็นคนงานจากทั่วสารทิศคลาคล่ำเต็มพื้นที่จัดงานโดยเฉพาะสนามหลวงเราเป็นสถานที่จัดงานเรามายาวนาน เมื่อก่อนสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายไม่ได้มีเหมือนทุกวันนี้ ผู้นำแรงงานเคาะระฆังเรามีความรู้สึกว่าวันกรรมกรสากลเป็นวันของคนงานทั้งประเทศ…”

วันกรรมกรสากลที่ถูกจัดในสภาพแวดล้อมและสภาวะที่ขบวนการแรงงานอ่อนแอไร้เอกภาพ ไร้อำนาจต่อรอง พึ่งตัวเองไม่ได้ จึงกลายเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” ตามที่ฝ่ายรัฐและทุนต้องการ จิตวิญญาณสากลนิยม ชนชั้นนิยม ที่เป็นหลักการสำคัญของวันกรรมกรสากลถูกทำลายไปจนหมดสิ้น ความศรัทธาเชื่อมั่นในการพึ่งตนเองและพลังสามัคคีของชนชั้นกรรมกรได้ถูกทำให้เจือจางลงด้วยงบประมาณที่ถูกหยิบยื่นให้จากฝ่ายรัฐและทุน

ข้อเรียกร้องที่ถูกเสนอจากขบวนแรงงานในแต่ละปี แม้ส่วนใหญ่จะมีเหตุมีผล สะท้อนปัญหาและความต้องการของคนงานส่วนใหญ่ก็ตาม แต่กลับไม่มีพลัง ไร้ความหมาย และกลายเป็นเพียงพิธีกรรม ที่ทำๆกันให้เป็นประเพณี ที่นับวันจะไร้ความหมายและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานน้อยมาก

วันกรรมกรสากล ทั้งรูปแบบและเนื้อหาสาระจึงไม่ผิดกับงานวัด งานรื่นเริง หรืองานคอนเสิร์ต ที่ถูกกำหนดและออกแบบโดยผู้อุปถัมป์รายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของงานอย่างแท้จริง

อาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ได้ให้ความเห็นว่า “…ปัจจุบันนั้นมีเรื่องของงบประมาณของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นขบวนการเคลื่อนไหวมันก็ทำให้ถูกแตกแยกตรงที่ว่า ขบวนการใดจะได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ขบวนการใดไม่รับการอุดหนุนจาดภาครัฐ เลยกลายเป็นแบ่งพวกแบ่งประเภทไป ในช่วงหลังๆก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ว่าเราแทบไม่เห็นขบวนการในฐานะที่เป็นขบวนการเดียว ขบวนการทางชนชั้นต่อไป กลายเป็นว่ามันมีขบวนการที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐ จากขบวนการที่ไม่รับการสนับสนุน ผมคิดว่าปัญหาขณะนี้ก็คือการขาดความเป็นหนึ่งเดียวของขบวนการแรงงานอาจจะเป็นเรื่องใหญ่เป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจน…”

วันแรงงานชนิดนี้ยิ่งจัดก็ยิ่งรังแต่จะทำให้ศักดิ์ศรีแห่งชนชั้นกรรมาชีพ และความภาคภูมิใจที่จะบอกให้โลกรู้ว่า “กรรมกรคือผู้สร้างโลก” มันเหือดหายไป วันกรรมกรสากลที่เคยมีความหมาย กลับกลายเป็นวันที่ผู้นำแรงงานและองค์กรแรงงานต่าง ๆ รอที่จะช่วงชิง จัดสรร แบ่งปันเค้กก้อนใหญ่ที่จะได้รับจากรัฐบาลและภาคเอกชน

 

ผู้ใช้แรงงานและสังคมได้อะไรจากการจัดงานวันกรรมกรสากลแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ จะยังพอมีหนทางใดบ้างที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงวันกรรมกรสากลให้กลับคืนสู่จิตวิญญาณดั้งเดิม เพื่อเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน เพื่อยืนยันในการมีอยู่จริงในสิ่งที่เราเรียกมันว่า “ศักดิ์ศรีแห่งชนชั้นกรรมกร” ได้หรือไม่ (บางส่วนจากบทความ “ฟื้นเจตนารมณ์วันกรรมกรสากล” โดยศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา)

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน