ขบวนการแรงงาน รุกหนักบุกยื่นนายกให้รับรองอนุสัญญา 87 และ98

ยื่นเจ้าหน้าที่ทำเนียบ

คณะทำงานผลักดันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98 กว่า 10 องค์กร ขอพบนายกหวังยื่นหนังสือนัดพบ 7 ตุลาคม พร้อมเสนอให้รับบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อการคุ้มครองสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง เนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่า” นัดพี่น้องผู้ใช้แรงงานชุมนุมยืดเยื้อขอความชัดเจน

วันนี้คณะทำงานผลักดันอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ98 ประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) สภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ส่งผู้แทนออกมารับหนังสือ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ฯ กล่าวว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้ของขบวนการแรงงานก็เพื่อต้องการที่จะให้นายกลงมาพูดคุยกับผู้ใช้แรงงานในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ว่าทางรัฐบาลมีความคิดเห็นต่อประเด็นการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ98 อย่างไร และจะมีการให้การรับรองเมื่อไร? โดยขบวนการแรงงานได้กำหนดว่า

1.ให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเข้าพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และกำหนดกรอบเวลา กระบวนการ ขั้นตอนที่รัฐบาลจะดำเนินการให้สัตยาบันให้ชัดเจน โดยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2557

2. ขอให้ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบให้คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมกับคณะผู้แทนของคณะทำงานที่เข้าพบและรับฟังคำตอบที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 เวลา 11.00 น.

ซึ่งวันนั้นผู้นำแรงงานในทุกระดับจะมาร่วมกันแน่นอน

ยื่นเจ้าหน้าที่ทำเนียบ1

นายชาลี ลอยสูง ยังกล่าวอีกว่า อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ.2491 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ.2492 คือ 2 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ที่ทั่วโลกถือกันว่าเป็นอนุสัญญาที่สำคัญที่สุด ที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานเบื้องต้นของผู้ใช้แรงงาน สิทธิดังกล่าวยังปรากฏอยู่ปฏิญญาสากลอีกหลายฉบับที่สำคัญคือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ

ฉะนั้น การปิดกั้นหรือกระทำการใด ๆ อันมีผลให้ผู้ใช้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถเข้าถึงสิทธิอื่น ๆ ได้ ที่สำคัญจะส่งผลให้ต่อการกระจายรายได้และความเป็นธรรมในสังคม ด้วยเหตุนี้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่เคารพในสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานจึงได้ให้สัตยาบันและปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้อย่างเคร่งครัด (อนุสัญญาฉบับที่ 87 มี 150 จาก 180 ประเทศให้สัตยาบัน ฉบับที่ 98 มี 160 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว) ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็น 1 ใน 45 ประเทศผู้ก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่กลับยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว

การที่ประเทศไทยไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าว ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองได้ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีผู้ใช้แรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในอัตราส่วนที่น้อยเป็นอันดับรั้งท้ายของโลก การกีดกั้น กลั่นแกล้ง เลิกจ้างผู้ใช้แรงงานที่พยายามจะใช้สิทธิดังกล่าวมีให้เห็นอย่างกว้างขวาง การที่ผู้ใช้แรงงานไม่สามารถรวมตัวและเจรจาต่อรองได้ ทำให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไม่ได้รับความเป็นธรรม

การไม่เคารพและละเมิดสิทธิดังกล่าวทำให้ปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกขณะ องค์กรแรงงานในประเทศไทยทั้งหมดต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าต้องเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ โดยได้มีการยื่นเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันแรงงานแห่งชาติ (วันกรรมกรสากล) มาอย่างต่อเนื่องทุกปีนับแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา

ที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดต่างรับปากว่าจะดำเนินการให้มีการให้สัตยาบัน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อที่จะนำไปสู่การให้สัตยาบัน พรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคได้เคยให้คำมั่นสัญญากับผู้ใช้แรงงานในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่าเมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลจะดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญา 2 ฉบับนี้ภายในหนึ่งปี ขณะนี้รัฐบาลได้บริหารประเทศมาเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏว่ารัฐบาลได้มีนโยบายชัดเจนและจะดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้อย่างไรและเมื่อไร

นายชาลี ยังกล่าวย้ำอีกว่า คณะทำงานฯ เชื่อมั่นว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลซึ่งได้แถลงอย่างแน่วแน่นับตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลจะบริหารประเทศโดยยืนอยู่บนผลประโยชน์และความสุขของประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน จะสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน

รายนามองค์กร คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ประกอบด้วยองค์กรแรงงานดังมีรายนามดังต่อไปนี้

  1. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
  2. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
  3. สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย
  4. สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
  5. สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย
  6. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
  7. สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย
  8. สภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย
  9. สภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมเอกชนแห่งชาติ
  10. สภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ
  11. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานเสรีแห่งชาติ
  12. สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย
  13. ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ
  14. เครือข่ายปฏิบัติงานแรงงานข้ามชาติ