ก.แรงงานปรับตัวพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม –พร้อมชงครม. กรอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานอาเซียน

กระทรวงแรงงานพร้อมปรับตัวพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหลักที่มีความพร้อมในการแข่งขันรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  และเน้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าถึงอุตสาหกรรมหลักรายจังหวัดเพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับด้วยกระทรวงแรงงานเสนอเรื่องกรอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานอาเซียน   และมอบหมายกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน (รง.) เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการกำหนดกรอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของกลุ่มสมาชิกอาเซียน โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงแรงงาน 15 ส.ค.55/กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 18 ส.ค.55)

วันที่ 15 สิงหาคม 2555 นายอนุสรณ์  ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน  เป็นประธานการประชุมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 โดยมีนายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน  และคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี หรือ เอซี) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2555 อนุมัติในหลักการ “แผนพัฒนากำลังคนในระดับประเทศ พ.ศ. 2555 – 2559” แล้ว

สำหรับการประชุมได้มีการพิจารณาการกำหนดสมรรถนะหลัก (Core Competency) และสมรรถนะตามหน้าที่/ตำแหน่งงาน (Functional Competency) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยที่ประชุมได้กำหนดกรอบแนวทางในการสร้างสมรรถนะเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ประเทศไทยก่อนเข้าสู่เอซีไว้หลายด้าน คือด้านภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียน) เทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน ทัศนคติในการทำงาน การบริหารองค์กร (ผู้ประกอบการ)  การพัฒนาทักษะหลากหลายด้าน (Multi-Skill Development) การพัฒนาทักษะเฉพาะด้านอุปสงค์ Specific Skill (On-Demand) Development เป็นต้น

ที่ประชุมยังพิจารณาในเรื่องของกรอบการดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับประชาคมอาเซียน(เอซี) โดยกำหนดโมเดลการพัฒนาทรัพยากรบุคคลรองรับเอซี ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า “คนไทยมีความรู้ ทักษะ ทัศนคติในการทำงานที่แข่งขันได้ในอาเซียน” โดยแบ่งกลุ่มบุคลากรในโมเดลเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มกำลังแรงงาน และกลุ่มนอกกำลังแรงงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพัฒนาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านสมรรถนะหลัก สมรรถนะตามหน้าที่/ตำแหน่งงานของแต่ละกลุ่มบุคลากรทั้งสามกลุ่ม  ตลอดจนพิจารณาแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีการบูรณาการประสานงานกันอย่างเป็นระบบชัดเจนในระหว่างหน่วยงานทั้งต่างหน่วยงานและภายในหน่วยงานเองด้วย โดยแนวทางการแก้ไขให้เกิดการพัฒนาดังกล่าว ได้มีแนวทางการวิเคราะห์ออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว เช่น การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนความต้องการแรงงานที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวมีทักษะฝีมือ และการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วยการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ (semi-skill labour) และแรงงานฝีมือ (skilled labour) ทั้งระบบต่อไป

สำหรับผลการคาดประมาณความต้องการกำลังคนโดยรวมและความต้องการกำลังคนส่วนเพิ่ม จำแนกตามระดับการศึกษา ปี 2558 นั้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า มีความต้องการรวม 26,726,919 คน ความต้องการส่วนเพิ่ม 443,459 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความต้องการรวม 5,056,877 คน ความต้องการส่วนเพิ่ม 317,778 คน  ระดับปวช. มีความต้องการรวม 1,237,656 คน ความต้องการส่วนเพิ่ม 27,212 คน ระดับปวส. มีความต้องการรวม 2,178,524 คน ความต้องการส่วนเพิ่ม 138,586 คน ระดับปริญญาตรี มีความต้องการรวม 4,601,617 คน ความต้องการส่วนเพิ่ม 247,632 คน ระดับปริญญาโทขึ้นไป มีความต้องการรวม 959,179 คน ความต้องการส่วนเพิ่ม 93,849 คน  จำนวนรวมทั้งสิ้นมีความต้องการรวม 40,760,772 คน ความต้องการส่วนเพิ่ม 1,268,516 คน โดยทั้งหมดนี้มีนักเรียน นักศึกษาที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทั้งสิ้น 360,946 คน

นายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนบูรณาการร่วมกัน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยในการพัฒนาด้านบุคลากรนั้น  กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการจะทำงานร่วมกันในการจัดทำแผนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน  ซึ่งในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานได้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการในการวางกรอบการทำงานร่วมกัน โดยแนวทางหนึ่งที่จะดำเนินการคือการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าฝึกงานและมีรายได้ระหว่างฝึกงาน  ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเข้าไปดูแลในเรื่องการกำหนดอายุการฝึกงาน สาขาการศึกษา ความสามารถของเด็กและพื้นฐานความรู้ความสามารถของนักเรียน นักศึกษาก่อนฝึกงานด้วย ซึ่งในการฝึกงานนั้นต้องยอมรับว่าเป็นการได้รับประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายคือสถานประกอบการได้มีโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และหาประสบการณ์จริงเพื่อรองรับหลังจากจบการศึกษา  และสถานประกอบการณ์ก็มีแรงงานไม่ขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น

สำหรับในการเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นจะต้องมีการเตรียมการตั้งแต่เรื่องของภาษา ไอที และทัศนคติในการทำงานของผู้ทำงานด้วย โดยกระทรวงแรงงานจะต้องปฏิรูประบบการทำงานใหม่ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยจะต้องกำหนดอุตสาหกรรมที่จะให้การส่งเสริมและเห็นว่ามีความได้เปรียบในการแข่งขัน  

ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ อัญมณี เครื่องประดับ ซอร์ฟแวร์ การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์จากไม้ อาหารไทย  นวดแผนไทย และผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะต้องทำงานหนักเพื่อลงลึกถึงกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมในรายจังหวัดด้วยในอนาคต  และในการทำงานจะมีคณะกรรมการคอยติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิดด้วย  เพื่อจะให้การพัฒนาบุคลากรได้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง โดยแผนพัฒนาบุคลากรแห่งชาติคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมได้ในเร็วๆนี้

ก.แรงงานชงครม.กรอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานอาเซียน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครม.วันที่  21 สค.นี้ กระทรวงแรงงานเสนอเรื่องกรอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานอาเซียน   และมอบหมายกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน (รง.) เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการกำหนดกรอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของกลุ่มสมาชิกอาเซียน โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ สาระสำคัญของเรื่อง คือกระทรวงแรงงาน รายงานว่า เนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน 2550 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Declaration of the ASEAN Economic Community Blueprint) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทาง แผนงานในด้านเศรษฐกิจที่จะต้องดำเนินงานให้ชัดเจนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จนบรรลุเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งผลผูกพันของ AEC Blueprint ตามภารกิจของ รง. เกี่ยวข้องกับแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2 เป้าหมาย คือ

1.การเปิดเสรีการค้าบริการ เกี่ยวข้องในมาตรการการดำเนินการตามข้อตกลงยอมรับคุณสมบัติวิชาชีพให้สอดคล้องตามข้อกำหนดในแต่ละข้อตกลง (Mutual Recognition Agreement) หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงแรงงาน. (รง.)และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)  และมาตรฐานการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านการค้าบริการ หน่วยงานที่รับผิดชอบกระทรวงแรงงาน และ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา   

2.การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี  เกี่ยวข้องในมาตรการในเรื่องการอำนวยความสะดวก   ในการตรวจลงตราและใบอนุญาตทำงาน   สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพและแรงงานฝีมืออาเซียน   ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้ามพรมแดน   และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน  หน่วยงานที่รับผิดชอบกระทรวงแรงงาน  และ กระทรวงการต่างประเทศ ,มาตรการพัฒนากรอบแผนงานมาตรฐานความสามารถ   และคุณสมบัติของงานหรืออาชีพ   และความชำนาญของผู้ฝึกอบรมในสาขาบริการสำคัญ   และสาขาบริการอื่น ๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบ   กระทรวงแรงงาน  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา   , การเสริมสร้างขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศสมาชิกอาเซียน  เพื่อสนับสนุนความชำนาญ การเข้าทำงาน และพัฒนาเครือข่ายข้อมูลด้านตลาดแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน  หน่วยงานที่รับผิดชอบกระทรวงแรงงาน

//////////////////////////////