ก.แรงงานทำประชาพิจารณ์แผนแม่บทก่อนคลอดพ.ค.นี้

 แรงงานติงควรส่งแผนฯ ให้ศึกษาก่อน  เสนอให้ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง หวังคนงานเข้าถึงสิทธิเงินชดเชยหากถูกเลิกจ้าง

กระทรวงแรงงานจัดทำประชาพิจารณ์ร่างแผนแม่บทด้านแรงงานครั้งที่ 3 ในวันที่ 31 มีนาคม 2554 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างและเจ้าหน้าที่แรงงานในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด ตัวแทนหน่วยงานต่างๆของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งภาคประชาสังคม ร่วมแสดงความคิดเห็นก่อนจะปรับให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2554นี้ กระทรวงแรงงานได้จัดทำแผนแม่บทมาแล้ว 2 ฉบับ ฉบับที่1 เป็นแผนยุทธศาสตร์กระทรวงแรงงาน(พ.ศ.2548-2551) ฉบับที่ 2 เป็นแผนแม่บทด้านแรงงาน(พ.ศ.2550-2554) สำหรับฉบับที่ทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้เป็นฉบับที่ 3 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2555-2559 เพื่อให้แผนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รับบริการจากกระทรวงแรงงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า

สำหรับกระบวนการจัดทำแผนด้านแรงงานที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ซึ่งปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีตัวแทนจากกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ มีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นเลขานุการ  โดยมีการดำเนินการเก็บข้อมูลทำแบบสอบถาม และสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงพร้อมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 จัดประชุมและสัมมนารวม 8 ครั้ง แล้วนำมาสรุปวิเคราะห์(swot analysis) ซึ่งปรากฏว่ามีคะแนนจุดอ่อนสูงกว่าจุดแข็งและคะแนนอุปสรรคสูงกว่าโอกาส ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้ายในการรับฟังความคิดเห็นก่อนการปรับแก้ให้เป็นร่างแผนฯฉบับสมบูรณ์ในเดือนพ.ค.2554นี้

นางสาวสุรินทร์ พิมพาตัวแทนลูกจ้างจากจังหวัดนครปฐมได้แสดงความเห็นต่อการจัดเวทีในครั้งนี้ว่า ผู้จัดควรส่งร่างแผนแม่บทฯให้ผู้เข้าร่วมได้ศึกษาล่วงหน้าก่อน จะได้เตรียมประเด็นมาร่วมแลกเปลี่ยนได้มากกว่านี้ และเสนอให้กำหนดประเด็นการการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้ลูกจ้าง กรณีสถานประกอบการปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ลงไปในแผนงานด้วยโดยการจัดเก็บเงินจากนักลงทุนที่มาลงทุนในประเทศไทย

ด้านตัวแทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ได้ถามถึงความชัดเจนของเงื่อนไขระยะเวลาในการทำแผนฯเพื่อจะได้ส่งข้อเสนอแนะต่อแผนฯฉบับนี้ เพราะคิดว่า การศึกษาแผนฯในระยะเพียงในช่วงการจัดประชุมในครั้งนี้คงไม่ได้อะไรมาก

ฝ่ายดร.วิชัย โถสุวรรณจินดา ผู้ดำเนินรายการ ได้ให้ความชัดเจนว่าแผนฯจะต้องปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพ.ค.2554 ยังเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เสนอแนะเพิ่มเติมหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมในครั้งนี้

ในส่วนของผู้เข้าร่วมงานได้มีการแสดงความคิดเห็นทั้งในส่วนลูกจ้าง นายจ้างและภาคราชการต่อประเด็นพิจารณาดังนี้

1. วิสัยทัศน์ แรงงานมีศักยภาพสูงเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ มีความมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกฝ่ายเห็นด้วยกับประเด็นนี้

2. พันธกิจคือ

2.1 พัฒนากำลังแรงงานและผู้ประกอบการให้มีศักยภาพสูงและสอดคล้องต่อความต้องการของภาคเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก มีข้อเสนอให้ภาครัฐจัดการเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็งพร้อมทั้งส่งเสริมให้กำลังแรงงานมีทักษะด้านวิชาชีพและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วยส่วนภาคการส่งออกรัฐควรแก้ไขการกีดกันทางการค้าและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพของสินค้ามากกว่าการลดต้นทุนแรงงาน

2.2ส่งเสริมให้แรงงานมีความมั่นคงในการทำงานมีหลักประกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีข้อเสนอให้รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 การคุ้มครองสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรอง และให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ

2.3พัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรและบุคลากรด้านแรงงานให้มีประสิทธิภาพ  ทุกฝ่ายเห็นด้วยและให้ความเห็นว่านิยามคำว่า แรงงาน ในร่างแผนฯควรครอบคลุมไปถึงข้าราชการด้วยเพราะข้าราชการก็ถือว่าเป็นแรงงานในภาคบริการที่ต้องพัฒนาเป็นอย่างมากเพราะผู้ใช้แรงงานยังไม่ได้รับการบริการที่ดีทำให้ไม่อยากมาติดต่อราชการซึ่งเป็นเหตุให้เข้าไม่ถึงสิทธิดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องทำตนให้ผู้ใช้แรงงานเชื่อมั่น ศรัทธาและเข้าถึงง่ายอีกทั้งต้องลดขั้นตอนการบริการให้กระชับ รวดเร็ว แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเพื่อให้สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และประเด็นยุทธศาสตร์ของแผนฯ

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1. การเสริมสร้างความสมดุลของตลาดแรงงานควรจะทำวิจัยว่าขาดแคลนแรงงานจริงหรือไม่หรือเป็นเพียงข้ออ้างนายจ้างที่จะหาเหตุจ้างแรงงานข้ามชาติและแรงงานที่หายไปไปอยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่ มีสาเหตุอะไรในการออกจากระบบแรงงานจะได้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาต่อไปอีกส่วนเป็นแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะต้องมีแผนส่งเสริมเพื่อเป็นการรองรับต่อการเคลื่อนตัวของแรงงานในข้อตกลงประชาคมอาเชี่ยน

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2. การเพิ่มขีดความสามารถของกำลังแรงงานและผู้ประกอบการในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ควรให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานทำงานเชิงรุกมากขึ้นเช่นจัดอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายวัยกำลังแรงงาน ส่งเสริมการแข่งขันฝีมือแรงงานโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือเช่นเป็นรายการโชว์ในทีวีฯ ประสานงานกับสถานประกอบการในการร่วมมือกันพัฒนาฝีมือของลูกจ้าง

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3. การบริหารจัดการแรงงานระหว่างประเทศควรมีนโยบายด้านต่างประเทศที่ชัดเจนและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4. การเสริมสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กำลังแรงงานควรมีการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานและยกระดับศาลแรงงานให้เป็นศาลชำนาญการ ในส่วนนายจ้างต้องสร้างความเข้าใจนึกถึงมิติของชุมชนรอบโรงงานด้วย ควบคุมราคาสินค้าและจัดทำโครงสร้างค่าจ้างในระดับจังหวัดจะได้ไม่ต้องพึ่งพาค่าจ้างขั้นต่ำ พัฒนาระบบประกันสังคมให้มีความอิสระและเข้าถึงได้ง่ายมีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5.  การพัฒนาการบริหารจัดการของกระทรวงแรงงานให้มีความเป็นเลิศสิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือการจัดสรรจำนวนเจ้าหน้าที่ให้มีความสอดคล้องกับจำนวนสถานประกอบการในพื้นที่และพัฒนาระบบการติดต่อราชการในระดับจังหวัดให้ผู้ไปใช้บริการสามารถไปติดต่อที่เดียวครบวงจรไม่ต้องไปมาหลายที่ รวมถึงการขยับขยายสถานที่ให้มีความสอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ด้วย

มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานศูนย์สื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน