ตอนที่ 3 “กรรมกรชนชั้นกรรมาชีพ กับการจ้างงานที่เปลี่ยนไป”
การเรียนรู้วันนี้ถือว่า เป็นอีกวันที่คณะผู้แทนจากประเทศไทยมีการแรกเปลี่ยน สอบถาม เพราะได้เดินทางไปที่สหภาพแรงงานคนงานในอุตสาหกรรมโลหะ (IG Metall) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ โดยมีสมาชิกจากอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเภทยานยนต์ อะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก โลหะ พลังงาน ป่าไม้ ฯลฯ มากกว่า 7 ล้านคน โดยได้พบปะแลกเปลี่ยนกับ คริสท็อป ฮันห์ ที่ปรึกษานโยบายสังคม โครงสร้างและเศรษฐกิจของIG Metall พื้นที่ แบรนบูร์ก-ซาคเซ็น ซึ่งได้มีการตั้งประเด็นพูดคุยเรื่องประสบการณ์ของสหภาพแรงงาน การจัดตั้งองค์กร การบริหารจัดการ จนถึงกระบวนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสำหรับแรงงาน ในบริบทการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รูปแบบการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจใหม่ในสังคมคาร์บอนต่ำ ระบบการรองรับทางสังคม การดูแลแรงงานในฐานะสหภาพแรงงาน
คริสท็อป เล่าว่า การบริหารงานสหภาพแรงงานนั้นด้วยเป็นสหภาพแรงงานขนาดใหญ่มีสมาชิกอยู่ในแต่ละเขตพื้นที่ ในรัฐต่างๆ เพื่อการคุ้มครองดูแลสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยมีคนทำงานเจ้าหน้าที่ประจำ ซึ่งประเด็นที่สหภาพแรงงานให้ความสนใจในปัจจุบันคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่าอุตสาหกรรมยุค 4.0 ระบบระบบ Automation ซึ่งเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่สิ่งใหม่ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการผลิตที่ใช้ information ในการสื่อสารที่เป็นระบบดิจิทัล (digital)ทั้งหมด โดยลูกค้าสามารถกำหนดสเปค( Specs) ความต้องการได้ ว่าต้องการที่จะได้รถยนต์รูปแบบไหน สีอะไร เป็นการสื่อสารโดยตรงจะปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขตรงตามต้องการ แรงงานจะอยู่ตรงไหน
ทางสหภาพแรงงานมีการให้ความรู้กับทางสมาชิกเพื่อพัฒนาคนงานให้มีคุณภาพเพียงพอในการปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม เพราะการเปลี่ยนแปลงมาเร็วมาก กระบวนการผลิตที่เปลี่ยนจากการใช้แรงงานมนุษย์กับโรบอท (Robot)ต้องทำงานสื่อสารร่วมกัน
ระบบการบริหารจัดการของสหภาพแรงงานมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ดูแล เพื่อการฝึกอบรม และพัฒนาแรงงานให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน สหภาพแรงงานจะดูเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อการคุ้มครองดูแลตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแนวคิดการปรับกระบวนการผลิตโดยใช้โรบอทมาช่วยแบ่งเบาการทำงานของแรงงาน ซึ่งสหภาพแรงงานได้ทำข้อมูลเพื่อดูแลสมาชิกที่ทำงานในคลังสินค้า โดยมีการใช้ชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้คนงานใส่ทำงาน พบว่า สิ่งที่ดีคือ ช่วยทำให้คนยกของได้โดยไม่ปวดเมื่อยเหมือนเดิม แต่ผลกระทบคือเวลาพัก หรือแม้แต่นอนพักผ่อนของคนงาน ชุดโรบอทจะรายงานไปที่คอมพิวเตอร์ที่นายจ้างควบคุมว่า ขณะนี้ไม่มีการทำงาน อีกกรณีเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนฯ เป็นการใช้ถุงมือโรบอทใส่ให้กับคนทำงาน ซึ่งต้องทำเร็วมาก สิ่งดีคือลดอันตราย ทำงานไวขึ้นโดยไม่เหนื่อย ผลกระทบคือ ต้องทำตลอดเวลา หากไม่มีการสัมผัสชิ้นงาน ระบบจะรายงานทันที ส่งผลให้คนทำงานไม่มีอิสระเหมือนถูกควบคุมตลอดเวลาแม้ช่วงพักผ่อน เป็นต้น โดย “สหภาพแรงงานจะมีบทบาทในการเข้าไปสร้างกระบวนการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ให้กับสมาชิกเพื่อความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของแรงงาน” ซึ่งในระบบการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานจะเป็นข้อเรียกร้อง และเป็นข้อตกลงเดียวกันทั้งประเทศ ตามอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งการปรับตัวเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนียังมีความล่าหลังที่จะเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งประเทศจีนได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและมีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเยอรมนีก็มองถึงโอกาสที่จะก้าวต่อไปที่จะเป็นศูนย์ผลิตแบตเตอรี่ กรณีการเปลี่ยนผ่านจากระบบพลังงานไฟฟ้าฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนทางสหภาพแรงงานเห็นด้วยที่จะต้องเปลี่ยนผ่าน แต่มีข้อแม้ว่า ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องส่งผลกระทบต่อแรงงาน และครอบครัว ชุมชนต้องมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เป็นต้น
“ทางสหภาพแรงงานเข้าใจว่าการเปลี่ยนผ่านจะมีการจ้างงานในรูปแบบใหม่ๆ อย่างที่เห็นว่า มีพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมโลหะเพิ่มขึ้น” ซึ่งเยอรมนีมีการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่อย่าง ปี ค.ศ.1990 การรวมประเทศ ประวัติศาสตร์ปีค.ศ.1989 จุดเริ่มต้นการสั่นระบอบการปกครองของเยอรมนีตะวันออก จนวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ.1990 การรวมประเทศมาซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เดิมเยอรมันตะวันออกเศรษฐกิจฐานรากมาจากอุตสาหกรรมเกษตรกรรม บริหารโดยระบบสหกรณ์ที่ทุกคนถือหุ้นเป็นเจ้าของ ส่วนเยอรมันตะวันตกเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เมื่อรวมกันก็ต้องบูรณาการ ซึ่งการค้นพบถ่านหิน และเกิดเหมืองถ่านหิน และผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคเลาซิทซ์เป็นแหล่งแร่ขนาดใหญ่ในเยอรมนี กระบวนการเปลี่ยนผ่านแน่นอนต้องมีคนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยแต่รัฐต้องดูแลเพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด เพราะแรงงานบางส่วนอาจไม่สามารถก้าวข้ามได้ ซึ่งสหภาพแรงงานมีน่าที่ในการดูแลและเจรจาต่อรองเพื่อสมาชิก ในส่วนของแรงงานรุ่นใหม่สามารถปรับตัวและก้าวข้ามสู่งานใหม่ได้ ซึ่งในเยอรมนีมีระบบสวัสดิการ ประกันสังคมรองรับ มีกองทุนเงินช่วยเหลือช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาโดยจ่ายไม่ต่ำกว่ารายได้ที่ได้รับแต่ละเดือน
จากนั้นได้ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่พรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) เพื่อเรียนรู้ถึงความเป็นพรรคแรงงานหรือบ้านวิลลี่ บรันด์ท เรียนรู้กับชนชั้นกรรมาชีพที่กล่าวสู่ความเป็นผู้นำประเทศ วิลลี่ บรันด์ท รัฐบุรุษชาวเยอรมันเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี และเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีค.ศ.1971 จากนโยบาย “อ็อสท์โพลีทีค” (Ostpolitik) ที่เป็นมิตรต่อกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก และเป็นตัวแทนชนชั้นกรรมาชีพ
โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้เล่าถึงรูปปั่นของวิลลี่ บรันด์ท ที่ตั้งอยู่บริเวณห้องโถงใหญ่ต้อนรับผู้มาเยือน และ โครงสร้างอาคารที่มีการออกแบบโล่ง โปร่งใส เพื่อให้ภายนอกมองเข้ามาในพรรคฯเห็นความโปร่งใส เป็นการรักษาระบบนิเวศเมื่อฝนตกก็มีระบบจัดเก็บน้ำเพื่อนำมาใช้ได้ ด้านบนหลังคามีแผงโซล่าเซล พลังงานแสงอาทิตย์ มีเครื่องผลิตไฟฟ้าในที่จอดรถ และใช้จักรยานในการเดินทาง โดยภายในอาคารแห่งนี้มีทั้งห้องประชุม และพื้นที่จัดนิทรรศการที่ให้ประชาชนสามารถมาใช้ได้
ต่อมาเดินทางไปสมาพันธ์สหภาพแรงงานเยอรมัน (DGB) เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ยาน ฟิลลิปป์ ปาปรอตนี่ มี่ปรึกษานโยบายด้านภูมิอากาศและพลังงาน และอีกท่านที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สมาพันธ์ฯด้วยเช่นกัน โดยทั้งสองเล่าถึงการทำงานสหภาพแรงงานว่า สมาพันธ์ฯมีสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด 8 แห่ง ประกอบด้วยสหภาพแรงงานโลหะ สหภาพแรงงานบริการ สหภาพแรงงานรถไฟ สหภาพแรงงานตำรวจ สหภาพแรงงานก่อสร้าง สหภาพแรงงานเหมืองแร่-เคมี สหภาพแรงงานครู-อาจารย์ ด้านการศึกษา และสหภาพแรงงานอาหาร
บทบาท ภารกิจ สหพันธ์สหภาพแรงงานฯ คือการต่อรองด้านสัญญาจ้าง ค่าจ้าง และวันลางาน หากมีการนัดหยุดงานจะมีกองทุนนัดหยุดงานช่วยเหลือเรื่องรายได้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ระดับกิจกรรมตามกฎหมายที่บังคับ ระดับบริษัท และส่วนสุดท้ายของกรรมการตรวจสอบต้องเป็นกรรมการคนงาน โดยกฎหมายกำหนดให้กรรมการคนงานและบริษัทต้องทำงานร่วมกัน ต้องมีการนำข้อมูลมาแจ้งต่อกรรมการคนงานด้วย ซึ่งต้องมีการไว้ใจกัน ปรึกษาหารือกัน เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแรงงานก็เปลี่ยน จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ลดลงจำนวนมากเหลือเพียง 6 ล้านคน ซึ่งประเด็นมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศ ผลกระทบต่อการจ้างงาน จากเดิมการจ้างงานมีความมั่นคงมีค่าจ้างสูงในอุตสาหกรรมพลังงานแบบเดิม หรือบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งค่าจ้างต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย แต่การกล่าวถึงปัญหาไม่ใช่การไม่ยอมที่จะเปลี่ยนผ่านแต่การเปลี่ยนผ่านนั้นต้องมีความเป็นธรรมต่อแรงงานด้วย
การที่รัฐบาลร่วมทำข้อตกลงปารีสเพื่อลดโลกร้อน(CO2) แม้ว่า ประเทศเยอรมันจะมีการปล่อยคาร์บอนค้อนข้างต่ำ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลว่า จะไม่ลดCO2 ซึ่งได้กำหนดว่าจะต้องลดลงให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ ในข้อตกลงปารีสว่า ความร้อนโลกไม่ควรสูงเกิน 2 องศา แน่นอนกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม และวิถีชีวิตคน เพราะหากโลกตายก็คงไม่มีใครสักคนที่มีงานทำ ภายในปีค.ศ. 2050จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 50- 80 ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับแรงงานเท่านั้น กระทบกับอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้งนอกอาคาร ภาคผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆมีการปรับตัว ซึ่งมีงานเกิดขึ้นในพลังงานใหม่ อย่างพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีการจ้างงานมากขึ้นถึง 3 แสนตำแหน่ง จากงานที่ลดลง 8 หมื่นตำแหน่ง และราคาค่าพลังงานลดลงเนื่องจากต้นทุนพลังงานหมุนเวียนต่ำลง หลังจากที่เยอรมันมีการปรับตัวเรื่องพลังงานหมุนเวียนในปีค.ศ.2000 มีการปิดอุตสาหกรรมเหมืองแร่บางแห่งลง ซึ่งแน่นอนจะต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับคนงานที่ต้องปรับเปลี่ยนงาน เข้ากระบวนการปรับทักษะเป็นต้น ซึ่งสหภาพแรงงานมีหน้าที่ทำให้เกิดการต่อรองที่เป็นธรรม
โครงสร้างสมาพันธ์แรงงานDGB ภารกิจคือความเป็นตัวแทนสหภาพยุโรป สมาพันธ์แรงงานนานาชาติที่ทำหน้าที่เสนอข้อเรียกร้องทั่วโลก ความท้าทายคือทำอย่างไรจะเรียกร้องค่าจ้างเท่ากับนานาชาติ ซึ่งเสนอในองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)ให้มีการกำหนดเรื่องมาตรฐานขั้นต่ำ DGB เป็นตัวแทนของผลประโยชน์กับสมาชิก และต่อรองกับนักการเมืองทุกพรรคไม่ได้ขึ้นต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยไม่ว่าจะพูดคุยกับพรรคใดจะมีจุดยืนเดียวเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองฝ้ายซ้าย หรือฝ่ายขวา แน่นอนว่า มีพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายที่สอดคล้องกับแรงงาน เพราะนักการเมืองหลายคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมาก่อน ซึ่งอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งสภายุโรป(EU)แล้ว
ช่วงเย็นพบปะแลกเปลี่ยนกับดร.โจอาคิม ฟุ้นฟ์เกลด์ ที่ปรึกษานโยบายภูมิอากาศ และพลังงาน องค์การ Bread for the v ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ที่ทำงานกับหลายประเทศด้านการคุ้มครองภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ให้เป็นธรรมทั้งทางนิเวศ สิ่งแวดล้อม สังคม แรงงาน และเศรษฐกิจ ในประทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา หลักคิดข้อขัดแย้ง
ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหากโลกร้อนขึ้นเพียง 1 องศาก็จะกระทบทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ตอนที่มีการยอมรับข้อตกลงเกียวโต ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วช่วยกันลดภาวะโลกร้อน แต่ว่ายังไม่มีการปฏิบัติตามอย่างแท้จริงจนมาถึงข้อตกลงปารีส มีการกำหนดเรื่องการเปลี่ยนผ่านเพื่อCO2 ซึ่งทุกประเทศต้องช่วยกันลด แต่มีเสียงว่า การเปลี่ยนผ่านต้องเป็นธรรม โดยคิดว่าต้องพูดคุยด้วยกันไม่ใช่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
“เรื่อง การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม และความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศไม่สามารถละเลยได้ หากกล่าวถึงการออกจากพลังงานถ่านหินจะออกต่อเมื่อมีความเป็นธรรมต่อแรงงานก่อนถึงจะเปลี่ยนผ่านได้ หากไม่มีความเป็นธรรมคือจะไม่เปลี่ยนหรือ นั้นก็ไม่เป็นธรรมต่อภูมิอากาศเช่นกัน ทำให้หลายภาคส่วนมองว่า Just Transitionอย่างไม่ไว้ใจ ” ส่วนตนเองคิดว่า Just Transition เป็นอุปสรรค์ในการเปลี่ยนผ่าน และการรักษาผลประโยชน์ของแรงงานเป็นปฏิบัติแต่ต้องหาเวทีการพูดคุยกันทั้งแรงงานอุตสาหกรรม ไฟฟ้า ถ่านหิน ยานยนต์ เพื่อตกลงหาทางออกร่วมกัน ในการสนทนาจะมีการพูดถึงคุณธรรม จริยธรรม และคุณค่า
ประเด็นจริยธรรมเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ซึ่งเยอรมันมีการตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านการใช้ถ่านหิน ขึ้นมาแต่ไม่มีการกำหนดตัวแทนในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้มีส่วนร่วม ความเหมือนความต่างของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา การดูแลแต่เพียงประชาชนของตนเองเท่านั้น การถกเถียงทำให้ถึงเป้าหมายของประเทศตนเอง และภูมิประเทศที่ต่างกันทั่วโลก ซึ่งจะต้องไม่ให้คนในประเทศต้องมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ต่ำกว่าเดิม การไม่มองแบบสั้นๆไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาหากไม่ทำก็ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ การพูดคุยทำให้เห็นโอกาสที่จะปกป้องพลังงานหมุนเวียนน้อยเกินกว่าศักยภาพจริง
หลังจากที่เยอรมนีมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้พลังงานหมุนเวียนทำให้เกิดบริษัทพลังงานขนาดเล็กจำนวนมาก จากเดิมพลังงานภายในประเทศจะผูกขาดโดยบริษัทขนาดใหญ่ราว 5 บริษัท แม้ว่าบริษัทพลังงานหมุนเวียนจะเป็นบริษัทขนาดเล็กแต่ว่ามีความหลากหลายของพลังงานทำให้เกิดการแข่งขันทำให้มีพลังงานราคาถูก จึงถือว่า เป็นการประเมินพลังงานหมุนเวียนต่ำเกินไป และอยากให้สหภาพแรงงานเห็นโอกาสจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งในทั่วโลกมีถึง 10 ล้านงาน มากกว่าพลังงานฟอสซิลในปัจจุบัน
คำถามที่มีคือเรื่องความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน เรื่องการจ้างงานและสวัสดิการ ซึ่งพลังงานเน้นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าความเป็นธรรม ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วมีความอยู่ตัวทางเศรษฐกิจ ต่างกับประเทศที่กำลังพัฒนาที่ต้องการพลังงานสูงเพื่อให้เพียงพอต่อการพัฒนา แต่ก็อยากให้หลีกเลี่ยงการใช้พลังงานที่ไม่สะอาด หากเลี่ยงได้ด้วยการเริ่มต้นพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจะมีความคุ้มทุนมากกว่าในอีก 20 ปี สามารถที่จะพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้
การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมหรือJust Transition มีหลากหลายมุมที่มีการถกเถียงทั้งมุมสหภาพแรงงาน มุมมองของภาคประชาสังคม หรือNGOsที่เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แม้มีการจ้างงานในตำแหน่งงานใหม่ แต่ว่า ระบบการจ้างงานที่เห็นเป็นบริษัทขนาดเล็ก และไม่มีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ตัวเลขของสมาชิกสหภาพแรงงานที่ลดลง กลายเป็นข้อกังวลด้านอำนาจต่อรอง แตก็มีแนวคิดการรวมตัวแบบใหม่ๆ เช่นกัน งานที่ไม่มั่นคงภายใต้สภาพการจ้างงานใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นของแรงงานรุ่นใหม่ มันคือความท้าทายขบวนการแรงงานในอนาคต เช่นกัน
(โดย วาสนา ลำดี)