การละเมิดสิทธิสหภาพแรงงาน  ช่องว่างทางกฎหมายและทางออกที่เป็นไปได้

20150227133326

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  จัดเวทีสาธารณะเรื่องการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงาน  ช่องว่างทางกฎหมายและทางออกที่เป็นไปได้  วันที่  26  กุมภาพันธ์  2558  ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์  ถนนราชดำเนิน  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้เข้าร่วม  100  กว่าคน  เพื่อเป็นเวทีสื่อสาธารณะในการนำเสนอสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานในสหภาพแรงงาน  รวมทั้งเป็นเวทีวิเคราะห์ข้อจำกัดของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์  2518  และวิเคราะห์กฎหมายแรงงานที่ล้าหลังไม่ทันต่อสถานการณ์และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม  เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสถานประกอบการอย่างสันติ  และเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของภาครัฐต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิในสหภาพแรงงาน  รวมถึงแนวทางการดำเนินการในอนาคต

นางสาววิไลวรรณ   แซ่เตีย  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน  ดังนี้

ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการคุกคามและละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเร่งด่วน

แม้จะมีแนวโน้มและสัญญาณที่ดีจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปด้านแรงงาน ในเรื่องของการตรากฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการสมาคม การรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้าง ให้ออกจากงานหรือถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเหตุจากการก่อตั้งสหภาพแรงงาน หรือการถูกเลือกปฏิบัติเพราะการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของสหภาพแรงงาน ทั้งๆที่สิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองนั้น คือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนควรได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและเป็นธรรมระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้จ้างงานอันจะนำไปสู่ความสงบสุขและสร้างระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

                ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าจะดีขึ้นในอนาคต แต่กลับสถานการณ์ปัจจุบันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรสมาชิกในพื้นที่กลุ่มย่านอุตสาหกรรมต่างๆได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามและละเมิดสิทธิแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุสำคัญ พบว่า มาจากการรวมตัวจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงาน หรือการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้าง การใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง รวมทั้งกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวกับธุรกิจการจ้างงานแสวงหาผลประโยชน์บนหยาดเหงื่อและคราบน้ำตาของคนงาน โดยยังไม่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนงานที่พบในขณะนี้ ได้แก่

  • กรณีบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กดดันให้สมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย ต้องลาออกจากงาน รวมทั้งยังมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้นำแรงงานที่เกี่ยวข้อง และฟ้องร้องทางคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายกับสมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย ซึ่งคดีทางแพ่งอยู่ในกระบวนการทางศาล
  • กรณีบริษัทโตไก รับเบอร์ อิสเทิร์น จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง เลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นแกนนำทั้งหมดขณะอยู่ในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและจัดตั้งสหภาพแรงงานโตไก รับเบอร์ อิสเทิร์น เมื่อเดือนมกราคม 2558
  • กรณีบริษัทโคบาเทค ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ภายหลังจากที่เกิดข้อพิพาทแรงงานนำไปสู่การปิดงานของนายจ้าง ต่อมาข้อพิพาทแรงงานสิ้นสุด และนายจ้างตกลงรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม  2558 แต่ปัจจุบันสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 194 คน นายจ้างกลับไม่มอบหมายงานในหน้าที่เดิมให้สมาชิกสหภาพแรงงานโคบาเทคประเทศไทย  ทำแต่กลับจัดให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ไปอยู่ในเต็นท์หลังโรงงานโดยไม่มีกำหนด และยังมีกรณีละเมิดสิทธิของลูกจ้างอีกมากมาย

นอกจากสถานการณ์ที่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อลูกจ้างข้างต้นแล้ว พบว่าสาเหตุสำคัญที่เป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้นมีดังนี้

  • มีกลุ่มนายจ้างที่ไม่ยอมรับ การรวมตัวจัดตั้งองค์กร และการเจรจาต่อรองร่วม มีความพยายามที่จะสกัดกั้น และทำลายการรวมตัวของผู้ใช้แรงงานตลอดมา เช่น กรณีนายจ้างรู้ว่ามีการจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือมีการรวมตัวยื่นข้อเรียกร้อง แกนนำผู้จัดตั้งจะถูกเลิกจ้าง เป็นต้น
  • นายจ้างหลายแห่งพยายามใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดำเนินคดีกับฝ่ายลูกจ้างอย่างเด็ดขาดทั้งทางแพ่งและอาญา
  • แรงงานในกลุ่มสัญญาจ้างชั่วคราว กลุ่มจ้างเหมาค่าแรง และแรงงานข้ามชาติถูกเลือกปฏิบัติด้วยสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่การทำงานในลักษณะเดียวกันได้รับ ค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างกัน
  • หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการยุติธรรมทางศาล ยังมองปรากฏการณ์ด้านการพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นเรื่องปกติ โดยขาดการตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นเช่นไร มักมุ่งเน้นการมองปัญหาเฉพาะที่นายทุนผู้ประกอบการว่าจะอยู่รอดหรือไม่ มากกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อแรงงานและครอบครัว เช่น เมื่อแรงงานตกงานไม่มีรายได้มาใช้จ่ายเลี้ยงดูคนในครอบครอบครัว  อาจจะส่งผลให้ครอบครัวมีปัญหาร้าวฉาน  เด็กอาจต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาหางานทำแบ่งเบาภาระในครอบครัว เป็นต้น
  • หน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบังคับใช้มาตรา 11/1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือการบังคับใช้ข้อตกลงสภาพการจ้างตามกฎหมาย เช่น กรณีมีข้อพิพาทถึงขั้นนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานแล้วมีข้อตกลงรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือไม่สามารถบังคับให้นายจ้างมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำดังเดิมได้
  • เจ้าพนักงานไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงานไม่ได้ทำหน้าที่หรือใช้อำนาจเพื่อแก้ไขปัญหา หรือมาตรการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์อย่างจริงจัง ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่รัฐกลับอ้างนโยบายให้ยุติในชั้นไกล่เกลี่ย อ้างนโยบายส่งเสริมการลงทุนมากดดันให้ลูกจ้างเลิกใช้สิทธิตามกฎหมาย มีการไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างได้รับสิทธิที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ทั้งนี้มีข้อมูลพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเป็นที่ปรึกษาแบบไม่เปิดเผยให้กับนายจ้าง

                สถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนมีแนวโน้มว่าจะขยายวงกว้างและเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง และกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรพันธมิตรแรงงาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายปฏิรูปประเทศ นโยบายปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้กับคนในชาติ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้น  สมกับที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

ต่อจากนั้นเป็นการพูดถึงกระบวนการทางกฎหมายซึ่ง  นายพรนารายณ์   ทุยยะค่าย  ทนายความและหัวหน้าฝ่ายกฎหมายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  พูดถึง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์  2518  ซึ่งล้าสมัยไม่ทันต่อสถานการณ์  และอะไรที่กฎหมายไม่เขียนห้ามนายจ้างทำ  ถึงแม้ว่ากฎหมายห้ามนายจ้างก็ยังทำ  เช่นการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างและกรรมการสหภาพแรงงาน  และในกระบวนการทางศาลเองก็ได้มีการแนะนำลูกจ้างมาตลอดว่าขอให้เป็นกระบวนการสุดท้ายซึ่งการเดินขึ้นสู่ศาลลูกจ้างจะต้องเจอแรงกดดันจากทางศาลอีกที่บีบให้ลูกจ้างต้องยอมรับค่าชดเชยที่ต่ำกว่ากฎหมาย

กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ถึงเวลาที่ต้องบูรณาการจะเห็นได้จากหลายกรณีที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องแต่กับโดนเลิกจ้างทั้งชุด  ก็ยังไม่มีการลงโทษนายจ้าง  และเมื่อศาลตัดสินให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ยังไม่สามารถบังคับให้นายจ้างปฏิบัติได้  เมื่อรับกลับเข้าทำงานก็ยังไม่ให้ทำงานหรือทำงานในหน้าที่เดิม  จ่ายค่าจ้างให้แต่ไม่มอบหมายงานให้ทำให้ลูกจ้างอยู่เต้นท์  ถามว่าอยู่เต้นท์กันทุกวันจะมีความรู้สึกอย่างไร  ซึ่งการสั่งให้กลับเข้าทำงานต้องสู่สภาพการทำงานเดิมด้วย  ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นสายป่านของลูกจ้างยาวหรือไม่ทนายต้องจบด้านนี้มาโดยตรงจึงจะมีความเข้าใจ

กฎหมายที่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลต้องมีการบูรณาการมากพอสมควร  ระบบการไต่สวนยังใช้คดีทางแพ่งมากพอสมควรทำให้ลูกจ้างใช้เวลาในการต่อสู้ที่ยาวนาน  และยังมีอีกหลายกรณีที่นายจ้างยื่นข้อเรียกร้องสวนและเมื่อเจรจากันไม่ได้ก็พิพาทแรงงานหรือถอนข้อเรียกร้องก็จบ  แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วนายจ้างอาศัยข้อพิพาทเพื่อนำไปสู่อย่างอื่น  การลดสวัสดิการ  การนัดหยุดงานและไม่ให้ลูกจ้างกลับข้าทำงานหากให้กลับก็ไม่ได้สู่สภาพเดิม

รัฐต้องสร้างกลไกที่ทำให้ลูกจ้างนายจ้างสามารถอยู่ร่วมกันได้  ต้องบูรณาการในการทำงานของภาครัฐ   และ  พ.ร.บ.ประกันสังคม  กรณีว่างงานให้บรรจุให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินว่างานกรณีมีการนัดหยุดงาน  เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้

นักสื่อสารศูนย์แรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่    รายงาน