การพิสูจน์สัญชาติเร่งผลักดันแรงงานเข้าระบบรับประชาคมอาเซียน

พิสูจน์สัญชาติเร่งผลักดันแรงงานเข้าระบบรับประชาคมอาเซียน/ แรงงานต่างด้าวแห่พิสูจน์สัญชาติวันสุดท้าย-ยันไม่ขยาย / ข้อมสมุทรสาคร -แรงงานต่างด้าวพม่าและกัมพูชาแห่พิสูจน์สัญชาติในวันสุดท้ายแน่น ขณะที่ รมว.แรงงาน ยืนยันผลักดันแรงงานผิดกฎหมายกลับประเทศพรุ่งนี้แน่นอน เชื่อนายกฯ ไม่ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติตามที่สภาหอการค้าฯ เสนอ ย้ำการปิดพิสูจน์สัญชาติเป็นการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายและการถูกกล่าวหาเรื่องใช้แรงงานเด็ก /เชียงใหม่ มีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน จำนวน 69,588 คน

14 ธันวาคม 2555 ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ มีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน จำนวน 69,588 คน เฉพาะสัญชาติพม่า จำนวน 69,398 คน ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 66,799 คน ปัญหาหลักของการไม่มาพิสูจน์สัญชาติและขออนุญาตทำงาน คือ แรงงานต่างด้าวหลบหนีนายจ้าง ไปขออนุญาตทำงานในจังหวัดอื่นที่มีค่าแรงสูงกว่า ทำให้นายจ้างไม่ต้องการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานต่างด้าวอีก นายจ้างและแรงงานต่างด้าวยังเชื่อว่า จะมีการขยายระยะเวลาพิสูจน์สัญชาติ หลายคนจึงไม่มาดำเนินการตามกำหนด

นายอ่องเท แรงงานไทใหญ่ถือบัตรพื้นที่สูง เล่าว่า ครั้งที่เคยพิสูจน์สัญชาติ ได้ยื่นผ่านบริษัทนายหน้า เพราะเจ้าหน้าที่แนะนำว่าสะดวกกว่า เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4-5 พันบาท จากนั้น 1 เดือนจะได้ใบพิสูจน์สัญชาติ นำมายื่นขอใบโควตา เพื่อยื่นต่อใบอนุญาตทำงาน เสียค่าใช้จ่าย 2,000 บาท ใบอนุญาตทำงานมีอายุ 2 ปี อยากให้รัฐบาล ทำทุกขั้นตอนให้อยู่ในกรอบของระบบราชการ ให้รัฐบาลมีการพูดคุยกันระหว่างประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอน และไม่อยากให้มีบริษัทนายหน้า เพราะบางบริษัท รับเงินจากแรงงานต่างด้าวไปแล้วหายเงียบ ไม่ติดต่อกลับ เสียเงินเปล่า

นายฤชุชัย โปธา นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ถือเป็นวันสุดท้ายของการรับเรื่องพิสูจน์สัญชาติ แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ไม่มีการขยายระยะเวลา คงเหลือแต่กระบวนการด้านเอกสาร ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2555

ด้านร้อยตำรวจตรีอุดม ปิยอนุสรณ์ รองสารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หน่วยตรวจคนเข้าเมือง เป็นหน่วยงานสุดท้ายที่จะอนุญาตวีซ่า รับช่วงต่อจากหน่วยงานจัดหางานและทางการของพม่า หลังจากเดือนธันวาคม 2555 ต้องดำเนินการกวาดล้างแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายและส่งกลับทางชายแดน ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ปี พ.ศ. 2522

การเตรียมตัวของประเทศต่างๆ เพื่อรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ในปี 2558 หลายประเทศเริ่มตระหนัก เพื่อนำแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ โดยจูงใจด้วยระเบียบที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงาน ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดการบริเวณถนนอัษฎาธร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ก่อนหน้านี้มีการยืนขายแรงงานอย่างหนาแน่น ปัจจุบัน แรงงานดังกล่าวถูกผลักให้เข้าระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ป้องกันปัญหาทุกด้าน และถือเป็นการจัดระเบียบเมืองเชียงใหม่ รองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต (เชียงใหม่ (สวท.) สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์)

สมุทรสาคร -แรงงานต่างด้าวพม่าและกัมพูชาแห่พิสูจน์สัญชาติในวันสุดท้ายแน่น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานพม่าใน จ.สมุทรสาคร ยังคงเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าสมุทรสาคร ใน ต.ท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในวันสุดท้ายกันตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยนางยาณิณ บุญมี หัวหน้าฝ่ายศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าสมุทรสาคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าสมุทรสาครสามารถพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน-12 ธันวาคม 2555 จำนวน 71,354 คน แบ่งเป็นแรงงานใน จ.สมุทรสาคร 40,566 คน และจังหวัดอื่นๆ 30,788 คน โดยในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา พบว่ามีแรงงานพม่าเดินทางพิสูจน์สัญชาติมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อวานนี้มีสูงถึง 913 คน จากปกติเฉลี่ยวันละ 200-400 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานถึงเวลา 02.00 น. คาดว่าสาเหตุที่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังติดขัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติทำให้มาพิสูจน์สัญชาติล่าช้า

ขณะที่บริเวณด้านหลังสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ถนนประชาอุทิศ (รามคำแหง 39 ) แขวงและเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ แรงงานกัมพูชาในประเทศไทยและนายจ้าง นำเอกสารหลักฐาน ท.ร.38 /1 ตัวจริงพร้อมสำเนา รูปถ่ายสีขนาด1.5 นิ้ว 2 รูป ใบอนุญาตทำงานพร้อมสำเนา สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของนายจ้าง และหนังสือแจ้งการอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าว (ใบโควตา) เข้ายื่นกับเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการขอพิสูจน์สัญชาติอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันไม่ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ตามที่สภาหอการค้าไทยเสนอ ส่วนการที่สภาหอการค้าฯ ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาขยายเวลานั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจง โดยเชื่อว่าไม่น่าจะมีการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติเพราะที่ผ่านมาได้มีการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งถือเป็นการให้โอกาสผู้ประกอบการถึง 2 ครั้งแล้ว โดยเฉพาะครั้งนี้มีการขยายเวลา รวมถึงมีการเปิดจุดพิสูจน์สัญชาติเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง แต่ผู้ประกอบการก็ยังไม่มีการนำแรงงานต่างด้าวมาพิสูจน์สัญชาติ หลังจากวันนี้จะดำเนินการผลักดันแรงงานที่ไม่ได้พิสูจน์สัญชาติกลับประเทศ หากนายจ้างคนใดต้องการใช้แรงงานต่างด้าว สามารถขอโควตากับกรมการจัดหางานได้

อย่างไรก็ตาม การปิดการพิสูจน์สัญชาตินั้นถือเป็นกลไกแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งเป็นสาเหตุของการถูกมองเรื่องการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์  อีกทั้งจะทำให้การคุ้มครองแรงงานที่ถูกกฎหมายมีประสิทธิภาพ.-สำนักข่าวไทย

///////////////////////////////////////