กสชท.เน้นพลังผู้บริโภคสื่อตระหนักสิทธิ กล้าตรวจสอบ

ในการสัมมนาระดับชาติของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  จัดโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555  ที่ผ่านมา

น.ส.อภิญญา กลางณรงค์  กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  กล่าวว่า กสทช.ทำงานภายใต้ทั้งกรอบกฎหมายและกรอบจรรยาบรรณ ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อสำคัญของ กสทช.และผู้บริโภคที่อยู่ระหว่างการร่างกฎเกณฑ์เพื่อเป้าหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  โดยกิจการต้องเปิดเสรี ซึ่งจุดดีคือประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นในการรับส่งข้อมูลข่าวสาร แต่มีจุดอ่อนคือยากต่อการกำกับดูแล  ซึ่งสื่อต้องมีจรรยาบรรณในการกำกับดูแลกันเอง และผู้บริโภคก็ต้องเข้มแข็งในการรู้เท่าทันตรวจสอบสื่อ และตระหนักถึงสิทธิเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ 

ขณะที่นางสุวรรณา  จิตประภัสสร์    ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช.กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของคณะอนุกรรมการฯว่า จะทำให้ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งยุทธศาสตร์ก็มีเรื่อง การสร้างเครือข่ายเพื่อการรวมตัว  สร้างกลไกการเข้าถึงสิทธิมีช่องทางร้องเรียน ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีสิทธิเข้าถึงสื่อ ตัวอย่างเช่นไม่เจอปัญหาจอดำ และทุกหน่วยงานของ กสทช.ต้องเน้นหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความมั่นใจให้บรรลุเป้าหมายร่วมในฐานะเจ้าของสิทธิ

 

ด้าน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภูมิทัศน์ของสื่อได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่คลื่นความถี่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ จนเมื่อหลังการปฏิรูปสื่อเมื่อปี 2540  สื่อสำคัญอย่างโทรทัศน์ได้เปลี่ยนไปทั้งเป็นของรัฐ ของเอกชน และสื่อสาธารณะอย่างThaiPBS  โดยปัจจุบันโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักทั้งในด้านของจำนวนผู้ชมและด้านรายได้

ส่วนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา  หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคจากสื่อคือเรื่องการโฆษณาที่เกินจริงที่แฝงแทรกอยู่ตลอดเวลา เรื่องเนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ เรื่องที่กระทบสิทธิส่วนตัว ปัญหาเรื่องสิทธิในการร้องเรียนและได้รับการเยียวยา ที่สำคัญคือสิทธิด้านต่างๆของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ยังไม่ได้รับการบัญญัติให้มีสถานะทางกฎหมาย

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ กล่าวถึงปัญหาการนำเสนอข่าวสารของสื่อที่ไม่สมดุลโดยยกตัวอย่างชาวสวนยางปิดถนนเรื่องราคายาง แต่เนื้อหากลับเป็นการประท้วงเรียกร้องให้สื่อนำเสนอความเดือดร้อนความต้องการของชาวบ้านบ้าง  และกล่าวถึงการดูแลปัญหาด้านการบริโภคสื่อว่า ต้องรู้สิทธิ ต้องมีองค์กรดูแล และสื่อเองก็ต้องมีความรับผิดชอบ โดยเห็นว่าในฐานะต้องบริโภคสื่อหลากหลาย เปรียบเทียบผลวิเคราะห์ประโยชน์ได้ และก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้รับสื่อด้วยกัน มีการรวมตัว มีการร้องเรียน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน