ผู้นำแรงงานกลุ่ม โวย รัฐบาลซื้อเวลาไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โอดคุณภาพชีวิตแรงงานแย่ ค่าจ้างขั้นต่ำกินได้แค่ปลากระป๋องกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 นายสัพพัญญู นามไธสง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวสะท้อนประเด็นที่ปลัดกระทรวงแรงงานสรุปมติคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ด)ว่า ขอเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปอีก 2 เดือนนั้นว่า การที่บอร์ดค่าจ้างไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างในยุคข้าวยาก หมากแพงโดยเลื่อนไปอีก 2 เดือนเป็นความไม่เป็นธรรมกับแรงงานที่กินค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม มีลูกจ้างที่ชีวิตผูกอยู่กับค่าจ้างขั้นต่ำแม้ว่าจะทำงานมานานนับสิบ ยี่สิบปี กลุ่มแรงงานในพื้นที่กว่าร้อยละ 70 ได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำแล้วจะเอาคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร
นายสัพพัญญู ยังกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ลูกจ้างต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ชีวิตมีเงินเหลือส่งกลับบ้านบ้าง เพื่อให้ครอบครัว ปู่ ย่า ตายาย และลูกเมีย บางเดือนไม่มีงานล่วงเวลาก็ต้องค้างค่าเช่าบ้านอีก ตกเย็นกลับมาบ้านกินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กับปลากระป๋อง วันนี้รัฐยังมาเตะถ่วงเลื่อนปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก ทั้งที่มีข้อเสนออยู่แล้วว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างเท่าไร เพราะมีการสำรวจและเสนอเข้าไปแล้ว แม้ว่าจะเป็นข้อมูลนานมาแล้วก็ตาม แต่รัฐยังไม่มีการพิจารณาด้วยซ้ำไป มาบอกว่าให้กลับไปทำข้อมูลมาใหม่หากเพิ่มมากกว่าวันละ 360 บาท รัฐบาลจะประกาศปรับให้หรือไม่ เพราะคิดว่ารัฐบาลมีในใจอยู่แล้วว่าจะไม่ปรับซื้อเวลาออกไป เหมือนว่าจะทำให้แรงงานขาดคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องทนทำงานล่วงเวลาเพิ่มกำไรให้นายจ้างเพียงอย่างเดียว
มล. ปุณทริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ว่า การเลื่อนปรับขึ้นค่าจ้างเนื่องจากต้องการให้อนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดมีการปรับเพิ่ม เติมข้อมูลที่เป็นปัจจุบันขึ้นมาใหม่ เพื่อประกอบการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในช่วงนี้ก็คิดว่าจะมีมาตรการร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์ในการจำหน่ายสินค้าราคาถูก ในขณะเดียวกันกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็จะส่งเสริมเรื่องสหกรณ์แต่ละสถานประกอบการจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ ในขณะเดียวกันในระหว่างที่ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างทางนายจ้างสามารถจัดสวัสดิการอะไรได้หรือไม่เพื่อช่วยเหลือด้านการดำรงชีวิตให้ลูกจ้างได้หรือไม่ ซึ่งคงจะได้เชิญทางตัวแทนนายจ้างมาพูดคุยกันเพื่อปรึกษาหารือ
ทั้งนี้ แม้ว่าทางอนุกรรมการค่าจ้าง 6 จังหวัด ประกอบด้วย สระบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต อยุธยาและฉะเชิงเทรา ที่เสนอขอปรับค่าจ้างมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นข้อมูลปี 2558 ก็ตาม คงต้องมีการสำรวจข้อมูลใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ข้อเสนอมีความทันต่อสถานการณ์มากขึ้น ซึ่งมติดังกล่าวเป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีตัวแทนของฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างที่เห็นพ้องด้วยกันให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน