กลุ่มผู้หญิงฮือ! จี้รัฐบาล แก้ปัญหาแรงงานหญิง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 55 เวลา 09.30 น. กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับองค์กรเครือข่ายแรงงานหญิง ได้เดินรณรงค์เคลื่อนไหวยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ประเด็นปัญหาแรงงานหญิงที่ยังไม่ได้รับการถูกแก้ไข ต่อนายยกรัฐมนตรี มีผู้เข้ากิจกรรมพันกว่าคน ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายแรงงานหญิงได้ตั้งขบวนที่หน้าตึก UN เดินไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลเปิดเวทีทำกิจกรรมร่วมกันกับองค์กรเครือข่ายแรงงานหญิงตามกำหนดการที่ได้วางไว้ 
 
นางสาวธนพร วิจันทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 8 มี.ค. วันสตรีสากลทั่วโลก กลุ่มบูรณาการฯ ได้มีการประชุมหารือกับพี่น้องเครือข่ายแรงงานหญิงทุกองค์กร ว่าจะมีการเดินรณรงค์เคลื่อนไหว พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องต่อท่านายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ก็ได้รู้ว่าท่านนายกไม่อยู่มอบหมายให้ผู้แทนมารับหนังสือ จากการประสานงานก่อนเข้าพบนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ คุณลลินี ซึ่งเป็นเลขาสำนักนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือแทน เนื่องจากท่านนายกติดภารกิจกับนายทุนต่างชาติ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ แต่ผลปรากฏว่าวันที่ 8 มี.ค. 55 กลุ่มบูรณาการฯจะยื่นหนังไม่มีใครมารับหนังสือ ทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ต่างพากันผิดหวังในตัวผู้นำประเทศมาก ไม่เห็นความสำคัญของวันสตรี ทั้งๆที่นายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้

 

หญิง การกระทำเช่นนี้บ่งบอกได้ว่ามีความตั้งใจและวางแผนที่จะไม่มารับหนังสือ และมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า จะไม่ทำงานร่วมกับผู้หญิงข้อเสนอของผู้หญิงก็จะไม่รับการแก้ไข อีกต่อไป อย่างน้อยการที่ได้รับเลือกตั้งจากคะแนนเสียงประชาชนก็ขอให้เห็นความสำคัญของประชาชนคนงานบ้าง
 
นางสาวธนพร วิจันทร์ กล่าวต่อ มีความรู้สึกผิดหวังในตัวผู้นำประเทศมาก  เจตนารมณ์ชัดเจนที่จะไม่มารับหนังสือ จึงได้หารือกับผู้แทนองค์กรเครือข่ายแรงงานหญิงว่า วันนี้จะไม่มีการยื่นหนังสือ โดยจะโยนเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ทั่วโลกได้รู้ว่าวันเป็นสตรีสากลทั่วโลก นายยกรัฐมนตรีประเทศไทยก็เป็นผู้หญิงแต่ไม่เห็นความสำคัญของผู้หญิง นี่หมายความว่าอย่างไรพี่น้อง 
 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต่อไปก็จะมีการหารือร่วมกับพี่น้องเครือข่ายแรงงานหญิงว่าเอาอย่างไร จะมีการทำหนังสือขอเข้าพบหรือจะมีการยื่นข้อเรียกร้องข้อเสนอในวันไหนอย่างไร แต่ ถึงอย่างไรก็ต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน ขอให้ทุกๆองค์กรเครือข่ายแรงงานหญิงเตรียมความพร้อมไว้ทุกเมื่อ
 
ข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล ปี 2555
 
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2536 เป็นเครือข่ายแรงงานหญิงจากหลายภาคอุตสาหกรรมที่มารวมกลุ่มกัน โดยมีเป้าหมายในการรณรงค์เชิงนโยบายให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของแรงงานหญิง เพื่อแสวงหาหนทางจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นรวมถึงการพัฒนากลไกเชิงรูปธรรมต่อไป 
 
เนื่องในวันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2555 ทางกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเนื่องในวันสตรีสากล ปี 2555 จำนวน 5 ประเด็น ดังนี้
 
2 ประเด็นเร่งด่วน
 
(1) ผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยต่อการเลิกจ้างแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรม
 
(2) การเข้าไม่ถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติของกลุ่มแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มแรงงานหญิงในระบบ แรงงานหญิงนอกระบบ และแรงงานหญิงข้ามชาติ
 
3 ประเด็นติดตาม
 
(1) การที่รัฐบาลยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างงานสำหรับแรงงานหญิง
ที่ทำงานในย่านอุตสาหกรรม
 
(2) การที่รัฐบาลยังไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องมาจากการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้บิดาสามารถลางานมาดูแลบุตรและมารดาหลังคลอดบุตรได้
 
(3) แรงงานหญิงยังมีบทบาทน้อยในเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวางแผนในระดับนโยบาย  ทั้งคณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงาน และการมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นในทุกระดับ
 
สภาพปัญหาและเหตุผลประกอบข้อเรียกร้อง
 
(1) ผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยต่อการเลิกจ้างแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรม
แรงงานหญิงมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 38 ล้านคน เป็นผู้หญิงจำนวน 17.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของผู้มีงานทำทั้งหมด โดยทำงานอยู่ทั้งในภาคเศรษฐกิจในระบบที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงาน
 
จากสถานการณ์วิกฤติของประเทศไทยที่เผชิญกับมหาอุทกภัยธรรมชาติมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 หลายพื้นที่ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำมานานนับเดือน เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นการส่งออกทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าที่ผลิตจากการขูดรีดแรงงานราคาถูกจากพลเมืองของประเทศ เพื่อส่งออกสินค้าที่ทำมาจาก “มือเล็กๆ” ของแรงงานหญิง ซึ่งในทุกวันนี้ยังหมายรวมถึงในกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว กัมพูชา ที่ไม่ใช่เพียงพลเมืองไทยเท่านั้นเพิ่มขึ้นมาด้วย เมื่อมวลน้ำมหาศาลทะลักเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมย่านต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพมหานคร แรงงานหญิงกลายมาเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลายโรงงานย้ายฐานการผลิตไปที่จังหวัดอื่น เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี หรือขอนแก่น อีกหลายสถานประกอบการก็ประกาศเลิกจ้างลดจำนวนคนงาน รวมถึงขณะที่หลายแห่งยังไม่ทราบชะตากรรมจนบัดนี้ว่าจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้งหรือไม่ 
 
ข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 มีแรงงานกว่า 40,749 คน ถูกสถานประกอบการ 117 แห่งเลิกจ้างแล้ว ขณะที่อีกนับแสนรายยังไม่ทราบชะตากรรมว่าจะยังคงมีงานทำหรือไม่ แยกเป็นพระนครศรีอยุธยา มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 67 แห่ง ลูกจ้าง 21,590 คน ปทุมธานีเลิกจ้าง 35 แห่ง 18,483 คน ฉะเชิงเทราเลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 509 คน สระบุรีเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 31 คน นครปฐมเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 68 คน นนทบุรีเลิกจ้าง 9 แห่ง ลูกจ้าง 35 คน และกรุงเทพฯ เลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 33 คน ส่วนสถานประกอบการที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้รวม 284 แห่ง ทำให้ลูกจ้างยังไม่ได้กลับเข้าทำงานสูงถึง 164,552 คน แน่นอนในจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างนี้กว่าครึ่งเป็นแรงงานหญิง 
 
ดังนั้นปัญหาเรื่องปากท้อง ครอบครัว ที่อยู่อาศัยที่ต้องเผชิญ เช่น ผลกระทบต่อแรงงานหญิงที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือต้องแบกรับภาระในครอบครัว เช่น การดูแลคนแก่ เด็ก ผู้ป่วย ผู้พิการ เป็นต้น การเลิกจ้างจะส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะบุตรอย่างยิ่ง มีบางกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือไม่มีความชัดเจนว่านายจ้างจะรับกลับเข้าทำงานหรือไม่ อย่างไร ทำให้มีแรงงานหญิงหลายคนจำเป็นต้องกลับไปรับจ้างทำงานในภาคเกษตรที่บ้านเกิด เช่น ตัดอ้อยที่จังหวัดอุทัยธานี
 
เนื่องจากไม่มีเงินชำระค่าห้องพัก และค่าใช้จ่ายในการรอความชัดเจนของนายจ้าง เพราะจากสภาพปัญหาที่ลูกจ้างได้รับผลกระทบตั้งแต่น้ำท่วมจนน้ำแห้ง ซึ่งมีจำนวนมากที่ที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง และไม่ชัดเจนเรื่องการเปิดทำงาน ทำให้ลูกจ้างแต่ละรายต้องประสบปัญหามาก เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพและเลี้ยงครอบครัว รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รายได้เดิมก่อนถูกเลิกจ้าง พอแค่ใช้จ่ายประจำเดือนเท่านั้น ไม่มีเงินเก็บสำรองในยามจำเป็น รวมถึงเงินชดเชยที่ได้จากการถูกเลิกจ้างและประกันการว่างงานมีจำนวนน้อย เนื่องจากคิดจากฐานรายได้เดิมซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำหรือปัญหาสำคัญในเรื่องสุขภาวะอนามัยโดยเฉพาะต่อแรงงานหญิงเป็นเรื่องที่ติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เช่น ในช่วงน้ำท่วมมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเชื้อโรคปนเปื้อนมากับน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เพราะไม่รู้ว่าน้ำที่ท่วมนั้นมีขยะและสิ่งปฏิกูลอยู่หรือไม่ ที่น่าเป็นห่วงคืออาจเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากโดยสรีระผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เพราะในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงจะมีทั้งช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และช่องทวารที่ใช้สำหรับขับถ่ายจึงมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าไปได้ง่าย ในน้ำที่ท่วมขังส่วนใหญ่จะมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก
 
ที่ผ่านมาพบว่าแม้แต่ผู้ชายซึ่งมีขนาดของท่อปัสสาวะยาวกว่าผู้หญิงก็ยังติดเชื้อในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ขณะที่ผู้หญิงความยาวของท่อปัสสาวะมีเพียง 1 ซม. เท่านั้น โอกาสที่จะติดเชื้อจึงมีสูงกว่าผู้ชาย หรือหากในระหว่างนั้นผู้หญิงมีประจำเดือนและจำเป็นต้องเดินลุยน้ำที่ท่วมขังในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งเป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิด จึงง่ายต่อการที่เชื้อโรคต่างๆจะเข้าทางช่องคลอด มีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อแบคทีเรียทางช่องคลอดได้
 
จากวิกฤติอุทกภัยพบว่ามีการเลิกจ้างแรงงานหญิงในพื้นที่อุตสาหกรรมจำนวนมาก อาทิเช่น ในพื้นที่ปทุมธานี พบว่า มีการเลิกจ้างแรงงานหญิงในบริษัทเอ็นอีซี โทคิน อิเล็กทรอนิกส์ , บริษัท MMI Precision ประเทศไทย, การบีบบังคับทางอ้อมให้พนักงานบริษัท ไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ย้ายไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ในพื้นที่อยุธยา พบว่า บริษัทเซอร์คิท อิเลคโทรนิคส์อินดัสตรีย์ จ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างเป็นงวด, การเลิกจ้างพนักงานบริษัทมอร์เมริกา (ประเทศไทย) ในพื้นที่สมุทรสาคร มีการเลิกจ้างแรงงานโรงงานไดนามิค โปรโมชั่นและเคมิคัล จำกัด 
 
ทั้งนี้เมื่อประมวลสภาพปัญหาที่แรงงานหญิงเผชิญนอกเหนือจากการเลิกจ้างแล้ว ประกอบด้วย 
 
1. นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง
 
2. นายจ้างไม่กำหนดเวลาเปิดดำเนินการที่ชัดเจน ทำให้คนงานไม่แน่ใจว่านายจ้างจะจ้างทำงานต่อหรือว่าจะเลิกจ้าง
 
3. นายจ้างสั่งให้ย้ายไปทำงานต่างพื้นที่ ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ซึ่งถ้าไม่ไปก็ต้องลาออก
 
4. นายจ้างเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และยังแจ้งสำนักงานประกันสังคมว่าคนงานได้ลาออกจากงานแล้วทำให้คนงานต้องเสียสิทธิเงินทดแทนประกันสังคมกรณีว่างงานร้อยละ 50
 
5. นายจ้างให้ทำงานโดยจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75
 
ปัญหาที่พบส่วนใหญ่นั้นมาจากการที่นายจ้างละเมิดสิทธิแรงงานอย่างชัดเจน เช่น มีการแจ้งสำนักงานประกันสังคมว่าคนงานได้ลาออกจากงานทั้งๆที่คนงานไม่ได้เขียนใบลาออก เพราะไม่ได้รับการติดต่อจากนายจ้าง หรือบางรายมีปัญหาเรื่องของการเดินทางที่ไกลเกินไปไม่สามารถไปได้ มีการจะให้ใบเตือนหากคนงานย้ายไปทำงานแล้วทนไม่ไหวกลับก่อนกำหนด และกรณีให้คนงานไปทำงานจ่ายค่าจ้างเพียงร้อยละ 75
 
ในกลุ่มแรงงานหญิงนอกระบบ พบว่า ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในระหว่างประสบอุทกภัย มีหลายครอบครัวที่อุปกรณ์สำหรับการประกอบอาชีพต้องสูญเสียไปกับวิกฤติอุทกภัย และไม่สามารถจัดหามาทดแทนใหม่ได้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนั้นมีหลายครอบครัวแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาชีพรับงานไปทำที่บ้าน เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า ปักผ้า ทำขนม ผลิตเครื่องทองลงหิน รวมทั้งผู้ที่มีอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอย ขับรถมอร์เตอร์ไซด์รับจ้าง และรับจ้างทั่วไป ที่ไม่มีน้ำท่วมขังในบ้านเรือน แต่มีน้ำท่วมขังปิดล้อมเส้นทางคมนาคม มีความยากลำบากในการสัญจรไปมา จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ บางส่วนต้องอพยพไปอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง หรือย้ายไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องในต่างจังหวัด ดังนั้นแรงงานกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญคือ การขาดรายได้ในการดำรงชีวิต รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รายได้เดิมก็พอแค่ใช้จ่ายประจำเดือนเท่านั้น ไม่มีเงินเก็บสำรองในยามจำเป็น
 
ในกลุ่มแรงงานหญิงข้ามชาติ พบปัญหาหลักคือการไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ จึงไม่สามารถสื่อสารถึงผลกระทบที่เผชิญหรือได้รับอยู่ ปัญหาสำคัญ คือ แรงงานข้ามชาติขาดอาหาร น้ำ ยารักษาโรค และนมผงเด็ก อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีหน่วยงานภาครัฐที่ประสานงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติอยู่ การช่วยเหลือก็ยังล่าช้าเนื่องจากปัญหาการสื่อสารและการแจ้งที่อยู่ของแรงงานข้ามชาติไม่ชัดเจน
 
เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่ทราบพิกัดที่อยู่ที่แน่ชัดว่าเรียกว่าอย่างไร หรือการที่แรงงานข้ามชาติเป็นคนต่างถิ่นไม่มีทะเบียนบ้านในเขตนั้นก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าแรงงานจำนวนมากไม่กล้าออกไปไหนเพราะไม่มีเอกสารสำคัญเนื่องจากต้องรีบอพยพหนีภัยน้ำท่วม และอีกหลายคนก็หวาดกลัวว่าจะถูกจับกุม
 
ดังนั้นจากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาจึงเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลยังไม่ได้มีนโยบายหรือกลไกที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานหญิงอย่างจริงจัง กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีมีข้อเสนอว่า
 
(1) รัฐบาลต้องจัดตั้งคณะกรรมการกลางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเป็นธรรม และเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนกับแรงงาน เช่น การจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามกฎหมาย หรือ การทำ MOU มาตรการบรรเทาการเลิกจ้างต้องไม่มีการเลิกจ้างคนงานและให้ความมั่นคงแก่ลูกจ้าง
 
(2) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการสนับสนุนประกอบอาชีพ หรือมีกลไกที่เอื้อำนวยให้แรงงานหญิงสามารถเข้าโครงการกองทุนการช่วยเหลือเยียวยาในรูปแบบต่างๆได้ง่ายขึ้น
 
(3) การแก้ไขกรณีประกันว่างงานให้สามารถใช้สิทธิในกรณีที่เกิดวิกฤติในช่วงที่นายจ้างมีการประกาศหยุดโรงงานได้
 
(2) การเข้าไม่ถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติของกลุ่มแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มแรงงานหญิงในระบบ แรงงานหญิงนอกระบบ และแรงงานหญิงข้ามชาติ
 
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 มกราคม 2555 มีมติเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ตามนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2555 ซึ่งได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 14/2555 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อเร่งผลักดันนโยบาย “กองทุนพัฒนาสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท” ให้สตรีผู้ด้อยโอกาสที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนกลับมามีรายได้ มีงานทำ และพึ่งตนเองได้ โดยมีวงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท ซึ่งให้งบประมาณเริ่มแรกจำนวน 7,700 ล้านบาท เงินส่วนนี้จะมีการจัดสรรเพื่อพัฒนาอาชีพประมาณร้อยละ 60-80 ที่เหลือร้อยละ 20-40 จะเป็นเงินจ่ายขาดให้กับสตรีที่ตกทุกข์ได้ยาก 
 
โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วย
 
1. เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยในการสร้างโอกาสให้สตรีได้เข้าถึงแหล่งทุน สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิการให้แก่สตรี
 
2. เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพสตรีและพัฒนาเครือข่ายสตรี การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาสตรี รวมถึงเยียวยาสตรีที่ประสบปัญหา
 
3. เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทของสตรี และแก้ไขปัญหาสตรีขององค์กรต่างๆ การสร้างภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของสตรี
 
4. เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการอื่นๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสตรี ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีพิจารณาเห็นสมควร
 
5.เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
 
อย่างไรก็ตามทางกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีมีข้อสังเกต ดังนี้
 
เมื่อพิจารณาในเนื้อหาของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 พบว่ามีข้อบกพร่องในหลายประเด็น อาทิ ระบุนิยาม “องค์กรสตรี” ไว้อย่างหละหลวม คือหมายถึง “มูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรสมาชิกในหมู่บ้าน หรือชุมชนที่มีการรวมตัวกันของสตรีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยได้ดำเนินงานและมีผลงานเกี่ยวกับการทำงาน การฝึกอาชีพ การพัฒนา การช่วยเหลือ หรือการคุ้มครองและพิทักษ์สตรี” แต่ไม่มีการระบุระยะเวลาการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งเท่ากับว่า อาจจะเป็นองค์กรที่เพิ่งตั้งขึ้นก็ได้ โดยรวมตัวกันเพียง 5 คน ก็สามารถตั้งองค์กรของบประมาณสนับสนุนได้แล้ว หรือในนามของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จะถือว่าเป็นองค์กรสตรีตามคำนิยามนี้หรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นการรวมตัวของผู้หญิงตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเช่นเดียวกัน
 
ในระเบียบนี้ ระบุว่า “สมาชิก” ต้องเป็นสตรีที่มีสัญชาติไทยและมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรืออาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถขอขึ้นทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ แต่ในข้อเท็จจริงคือ ในกลุ่มแรงงานที่ต้องโยกย้ายจากภูมิลำเนาเดิมตามทะเบียนบ้าน มาทำงานในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ จะสามารถเข้าถึงกองทุนนี้ได้อย่างไร รวมถึงยังเป็นภาพสะท้อนว่ากระบวนการของการจัดการบริหารกองทุนพัฒนาสตรีนี้ไม่มีความชัดเจน แทนที่จะเป็นไปตามหลักการ ทั่วถึงและเท่าเทียมซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้สตรีทุกภาคส่วนได้เข้าถึงกองทุนอย่างเสมอภาค แต่กลับสร้างช่องว่างให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับสตรีเฉพาะกลุ่มที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนเท่านั้น
 
การให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจใช้จ่ายงบในการแก้ปัญหาและพัฒนาสตรี ยังมีความคลุมเครือในรายละเอียดและความชัดเจนของการปัญหาและพัฒนาสตรี โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานหญิงซึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ทั้งนี้จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 38 ล้านคน เป็นผู้หญิงจำนวน 17.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของผู้มีงานทำทั้งหมด โดยทำงานอยู่ทั้งในภาคเศรษฐกิจในระบบที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงาน
 
ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก็เขียนเปิดช่องไว้ให้คณะกรรมการสามารถพิจารณาอนุมัติโครงการที่อยู่นอกเหนือจากกรอบการใช้เงินกองทุนฯ ซึ่งอาจจะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เงินรั่วไหล ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯ ได้อีกเช่นกัน 
 
ดังนั้นเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์พลังสตรี ให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” ทางกลุ่มจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า เพื่อให้การบริหารอยู่บนหลักการกระจายอำนาจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ควรมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาดูแลโดยตรง ทั้งนี้ควรมีตัวแทนจากองค์กรแรงงานหญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม สามารถทำให้แรงงานหญิงเข้าถึงกองทุนได้มากขึ้นอย่างแท้จริง เพื่อประกันว่าผู้หญิงจะได้รับความเป็นธรรมทางสังคมในทุกระดับ
 
(3) การที่รัฐบาลยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างงานสำหรับแรงงานหญิง
ที่ทำงานในย่านอุตสาหกรรม
 
แม้ว่าทุกคนจะทราบดีว่าเด็กคืออนาคตของชาติและเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของทุกประเทศ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยเรียน แต่สภาพสังคมในปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกอยู่กับบ้านได้เหมือนในอดีต วิธีการเลี้ยงลูกจึงเปลี่ยนไป หลายคนจึงมักจะหาทางออกโดยการส่งลูกกลับไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ต่างจังหวัดเลี้ยง หรือไม่ก็ฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กต่างๆ ส่วนคนมีฐานะดีก็มีโอกาสเลี้ยงลูกเองหรือไม่ก็จ้างพี่เลี้ยงส่วนตัวได้ 
แต่สำหรับแรงงานหญิงแล้วที่ส่วนใหญ่ได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถส่งลูกไปที่สถานเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพดีได้ ทำให้แรงงานจำนวนมากจึงส่งลูกไปต่างจังหวัด โดยแต่ละปีจะมีโอกาสได้เจอลูกไม่กี่ครั้ง ที่ไม่ได้ส่งไปก็ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิดเพราะต้องทำงาน หรือไม่ก็จ้างเลี้ยงไปตามมีตามเกิด สถานที่บางแห่งมีพี่เลี้ยง 1 คนต้องดูแลเด็กถึง 15 คน เป็นต้น
 
ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กเล็ก โดยมีมาตรการลดหย่อนภาษีเป็นจำนวน 2 เท่า ให้แก่นายจ้างที่จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการและบุคคลทั่วไป รวมทั้งนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เด็กเล็ก แต่การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งๆที่การปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆให้มีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม และคุณภาพของครูก็มิใช่เรื่องยากแต่อย่างใด 
 
รัฐจึงจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆในปริมาณที่เพียงพอและมีคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน โดยอย่างน้อยที่สุดต้องมีศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมอย่างน้อยหนึ่งศูนย์ ดังเช่นการออกระเบียบให้นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็ก เป็นต้น โดยศูนย์เลี้ยงเด็กเหล่านั้นต้องมีการบริการที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะเกี่ยวกับเวลาเปิดทำการและปิดทำการที่สอดคล้องกับวิถีชิวิตของผู้ใช้แรงงาน มีการคำนึงถึงกรณีพ่อแม่ที่ทำงานในโรงงานแล้วไม่ได้เลิกงานตามเวลาปกติของคนทั่วไป เพราะการทำงานแบ่งเป็นกะ มีตั้งแต่ 08.00-17.00 น. เข้า 16.00 น. ออกจากโรงงานเที่ยงคืน หรือเข้ารอบดึกออกตอนเช้า เป็นต้น ก็ควรจะต้องมีศูนย์เด็กเล็กที่ปรับเปลี่ยนเวลาของครูและพี่เลี้ยงให้สอดคล้องกับเวลาทำงานของคนงาน โดยเฉพาะในย่านอุตสาหกรรมที่มีคนงานทำงานเป็นจำนวนมาก
 
(4) การที่รัฐบาลยังไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องมาจากการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้บิดาสามารถลางานมาดูแลบุตรและมารดาหลังคลอดบุตรได้
 
หลักการสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ได้กำหนดไว้ว่า แรงงานหญิงทั้งที่แต่งงานแล้วหรือยังไม่แต่งงาน รวมถึงประกอบอาชีพอิสระ ต้องมีจำนวนวันลาสำหรับการคลอดบุตรและดูแลบุตรที่เพิ่งคลอด ไม่น้อยกว่า 14 สัปดาห์ (3 เดือนครึ่ง) โดยต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ที่ได้รับอยู่แล้ว รวมถึงนายจ้างไม่สามารถให้แรงงานหญิงออกจากงาน ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ หรือในระหว่างลาคลอด หรืออยู่ระยะให้นมลูก เหล่านี้ถือเป็นการผิดกฎหมาย เว้นแต่การให้ออกนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์หรือการให้นมลูก นอกจากนั้นแล้วยังคุ้มครอง/ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานของแรงงานหญิงจากสาเหตุการตั้งครรภ์, ห้ามมิให้มีการตรวจสอบการตั้งครรภ์ในการสมัครงาน ที่ผ่านมาแรงงานหญิงจำนวนมากต้องทำงานทั้งเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว การทำงานของแรงงานหญิงช่วยให้เธอมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องการคุ้มครองความเป็นมารดา เปิดโอกาสให้แรงงานหญิงสามารถดูแลบุตรได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกเลือกปฏิบัติหรือเลิกจ้าง
 
ถ้ามองในมุมสุขภาพแล้ว การคุ้มครองแรงงานหญิงระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอด และระยะให้นมลูก ถือเป็นการพักฟื้นส่งเสริมสุขภาพของมารดาและเด็ก เป็นการสนับสนุนการพัฒนาสุขภาพส่วนบุคคลของทั้งมารดาและเด็ก ยิ่งไปกว่านั้นการคุ้มครองแรงงานหญิงระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดและขณะให้นมลูก ยิ่งมีผลดีต่อครอบครัวมากขึ้น เพราะเป็นการคุ้มครองในการมีงานทำและรายได้ที่มั่นคง นั่นหมายความว่า ครอบครัวสามารถยินดีกับทารกที่เกิดใหม่และดูแลได้อย่างเต็มที่ นั่นหมายความว่า การตัดสินใจที่จะมีและเลี้ยงดูบุตรสามารถอยู่ในบรรยากาศ ที่เป็นอิสระจากความกังวลเรื่องการเงินและการจ้างงาน
การคุ้มครองความเป็นมารดายังช่วยให้นายจ้างยังคงมีแรงงานหญิงที่มีประสบการณ์ทักษะสูงเหล่านี้ไว้ นายจ้างที่ดูแลลูกจ้างเสมือนกับว่าเขากำลังลงทุนกับลูกจ้าง (ทั้งในแง่ทางทักษะ ความรู้และประสบการณ์ของพวกเธอ) ก็จะต้องการให้พวกเธอกลับมาทำงานต่อกับเขา การคุ้มครองความเป็นมารดาจะช่วยให้แรงงานหญิงสามารถตัดสินใจกลับมาทำงานที่เดิมได้อีก ลูกจ้างที่มีค่าต่อนายจ้างจะเป็นคนงานที่มีประสิทธิภาพ
 
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องมาจากการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้บิดาสามารถลางานมาดูแลบุตรและมารดาหลังคลอดบุตรได้
 
(5) แรงงานหญิงยังมีบทบาทน้อยในเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวางแผนในระดับนโยบาย  ทั้งคณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงาน และการมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นในทุกระดับ
คณะกรรมการไตรภาคีเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตัดสินใจเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานทั้งหญิงและชายทุกระดับ แต่พบว่ายังมีผู้หญิงสามารถเข้าถึงการเป็นกรรมการได้น้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ในขณะที่แรงงานหญิงมีปัญหาและความต้องการบางประการที่แตกต่างจากแรงงานชาย เช่น ภาระในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การเลี้ยงบุตร การดูแลครอบครัว ตลอดจนการทำงานในกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างสูง ฯลฯ ดังนั้นผู้หญิงจึงควรมีผู้แทนในคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อให้การตัดสินใจกระทำโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับบริบทการจ้างงานของแรงงานหญิงมากขึ้น
 
ทั้งนี้กล่าวได้ว่าการกำหนดสัดส่วนหญิงชายเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับในทางสากล และในหลายมาตราของรัฐธรรมนูญไทย ก็ได้ให้การยอมรับในสิทธิเหล่านี้ในทิศทางที่สอดคล้องกัน เช่น มาตรา 87 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย มาตรา 97 ว่าด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 114 ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 
 
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงาน ต้องมีสัดส่วนหญิงชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยรัฐต้องเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่วมที่มีส่วนประกอบของทุกภาคส่วนร่วม เป็นกรรมการเพื่อทำหน้าที่ศึกษาช่องทางความเป็นไปได้ในการกำหนดสัดส่วนหญิงชายในกระบวนการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีอย่างเป็นธรรม รวมถึงการพิจารณาการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆ ว่าได้คำนึงถึงและหยิบยกปัญหาและความต้องการที่แตกต่างของหญิงชายมาบูรณาการในกระบวนการกำหนดนโยบายมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
 
  
รายงานโดย นักสื่อสารแรงงานศูนย์พื้นที่สระบุรี