กลุ่มผู้ป่วย ยื่นจ.ม.เปิดผนึกถามรมว.แรงงานโรงงานระเบิดที่ BST ตายแค่ 12 คนจริงหรือ

จากการที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ในสมัชชาคนจน ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่1 ไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 เพื่อเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยให้คนงานที่ประสบอันตรายและเสียชีวิต ได้สิทธิตามกฎหมายและชดเชยการสูญเสียรวมทั้งการตรวจสอบต่อเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบพุดวันที 5 พฤษภาคม 2555 ที่ทำให้คนงานเสียชีวิต 12 ศพ บาดเจ็บร้อยกว่าคนขณะเดียวกันวันที่ 6 พฤษภาคม 2555 โรงงานอดิตตยา เบอร์ล่าเคมีคัลส์ (ประเทศไทย)สารเคมีรั่วไหล ข้อหารือกันในวงประชุม วันที่ 15 พฤษภาคม 2555 เรื่อง “การสื่อสารความเสี่ยงเพื่อสุขภาพคนมาบตาพุด ครั้งที่ 2” ที่วัดหนองแฟบ จ.ระยอง จัดโดยหลายองค์กร มีนักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน

เครือข่ายฯได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า BST.มีคนงานที่เป็นพนักงานซัฟคอนแทร๊กและคนงานข้ามชาติอยู่ด้วย และจำนวนคนงานที่เสียชีวิตจริงๆ  น่าจะมากว่า 12 ศพ ตามที่เป็นข่าวถึง 5 เท่า คนเจ็บป่วยมีอาการอย่างไรมีจำนวนเท่าไหร่ ทราบว่าคนงานบางคนแก้วหูแตกมีเลือดออกมาทันทีด้วย  และขณะเหตุเกิดแล้ว อธิบดีกรมควบคุมมลพิษไม่สามารถเข้าไปในบริเวณโรงงานได้ จึงเพียงแต่วัดมลพิษหน้าประตูโรงงานและข่าวทางการพยายามพูด  ว่าสารทูโลทีนสลายไปแล้ว ไม่มีพิษภัย แล้วกรมสวัสดิการสำนักความปลอดภัยแรงงานได้เข้าไปด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะได้บังคับใช้ กฎหมายความปลอดภัยกับนายจ้างหรือยัง คำชี้แจงจากนักวิชาการเชี่ยวชาญสารเคมี  อธิบายว่าถ้าสารทูโลทีนถูกเผาไหมเป็นควันดำเป็นสารที่มีพิษและส่งผลให้เกิดมะเร็งภายหลังได้   หลายคนสงสัยว่า กฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ แล้วจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างไรในกรณีเช่นนี้

ทางเครือข่ายยังทราบข้อมูลว่า ขณะเกิดเหตุโรงงานระเบิดที่ BST มีคนงานซัฟฯ และ อาจมีคนงานข้ามชาติ ที่น่าจะประสบอันตราย หรือเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง  กรณีนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร  ใครรับผิดชอบค่าเจ็บป่วยประสบอันตรายหรือเสียชีวิตและปัจจุบันผู้มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไร ต่อสิทธิอันชอบธรรมขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของคนงานดังกล่าว การที่คนงานประสบอันตรายจากแรงระเบิดและสารเคมีรั่วไหล ทางโรงงานได้แจ้งบัญชีรายชื่อหรือกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานและสำนักงานกองทุนเงินทดแทนตรวจสอบข้อเท็จหรือยัง  ผลเป็นอย่างไร เพื่อเป็นหลักฐานเรื่องการประสบอันตรายจากการทำงาน ณ.ขณะเกิดเหตุระเบิด 

โรงงานใกล้เคียงกันห่างไม่ถึง 200 เมตร กลับมีการให้คนงานเข้าไปทำงานต้องสูดเอาควันพิษเข้าไปในปอดซึ่งอาจเสี่ยงตาย ในขณะที่คนอื่นๆต่างหนีตายเพื่อความปลอดภัย การปฏิบัติเช่นนี้กับลูกจ้าง ถือเป็นความผิดหรือไม่ รวมทั้งนายจ้างจะต้องรับผิดชอบกับการตรวจเช็คสุขภาพคนงานแบบอาชีวเวชศาสตร์หรือไม่  แต่คนงานได้เล่าว่า  โรงงานให้ตรวจปัสสาวะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนงานอยากเรียกร้องให้นำแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เข้าตรวจสุขภาพคนงานทั้งหมดในสถานประกอบการโดยเร่งด่วน

ผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน สิ่งแวดล้อมล้อมชุมชนทางโรงงานจำเป็นต้องมีมาตรการรับผิดชอบตาม พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม 2535 แต่หลังเกิดเหตุชาวบ้านเล่าว่า  แม้แต่คำขอโทษของทั้งสองโรงงานก็ยังไม่มีชาวบ้านมีอาการป่วยคันแสบจมูก กับถูกบ่ายเบี่ยงบอกว่ามีโรงงานอื่นๆตั้งเยอะแยะ

 เหตุการณ์ร้ายแรงขนาดนี้ในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ความเสี่ยงภัยสารเคมีสูงสูงทำไมไม่มีสัญญาณเตือนภัยเกิดขึ้น  เพราะโรงงานก็คิดว่ายังเอาอยู่ ทำให้ทุกคนสับสน แม้แต่หมอพยาบาลก็ยังไม่ทราบว่าสารอะไรระเบิด อะไรรั่วไหลทำให้การรักษาไม่ถูกทางได้ หากเป็นสารร้ายแรงถึงชีวิตจะช่วยทันย่างไร นักวิชาการพูดว่าถ้าบังเอิญเอาไม่อยู่ทูโรทีน 2-3 ถังระเบิดขึ้นมาพร้อมกันแรงระเบิดจะไปไกลถึง 2 กิโลเมตร แล้วคนในชุมชนจะหนีทันได้อย่างไร รวมทั้งแผนซ้อมหนีภัยมีรถมารอรับนะจุดรวมพล แต่พอระเบิดขึ้นจริงๆกลับไม่มีรถมารับสักคันเดียว

ดังนั้นที่ความเข้าใจที่สังคมส่วนใหญ่มักพูดเสมอว่านิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ความจริงแล้ว นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขาดการควบคุมจากกฎหมายมากที่สุด ทั้งยังขาดการจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงานที่จะมาเป็นปากเป็นเสียงและคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงานในนิคมอีกด้วย

ข้อเสนอเร่งด่วนดังนี้

1.ขอวันเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเพื่อหารือและรับฟังข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ดังกล่าว

2ขอทราบผลการตรวจสอบสถานการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าว จากกระทรวงแรงงานและจำนวนตัวเลขที่แจ้งต่อ กองทุนเงินทดแทนประกันสังคม

3. ให้คนงานที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในครั้งนี้ได้เข้าถึงสิทธิการดูรักษาอย่างดีและได้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน /หากมีคนงานข้ามชาติหรือคนงานซัฟคอนแท๊ก ได้รับการประสบอันตรายหรือเสียชีวิตจริงต้องเร่งรัดให้นายจ้างปฏิบัติในมาตรฐานเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติ                                                                                                              

4. ให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเพื่อแสดงความรับผิดชอบนอกเหนือกฎหมาย

5. ให้ตรวจสอบสถานประกอบการณ์ที่มีอันตรายสูงโดยเร่งด่วนและยุติการผลิตจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ปลอดภัย

6. ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลของนายสุทธิ อัธญาศัย ทั้ง 9 ข้อที่ยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวันนี้

ข้อเสนอในระยะยาว ดังนี้

1. รัฐต้องมีนโยบายแผนงานแห่งชาติพัฒนาระบบงานอาชีวเวชศาสตร์เพื่อให้มีการผลิตบุคลกรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอในระยะยาว การจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน ที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐาน การจัดบริการที่สามารถทำให้ลูกจ้าง นายจ้างเข้าถึงได้ง่าย

2. ต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาส่งเสริมป้องกันการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานเพื่อลดการสูญเสียในอนาคตของลูกจ้าง นายจ้างลดรายจ่ายการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน

3. ต้องให้มีนโยบายส่งเสริมเรื่องตรวจสุขภาพลูกจ้าง ที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงในการทำงานตามกฎกระทรวงอย่างต่อเนื่องโดยลูกจ้างมีสิทธิเลือกแพทย์สถานพยาบาล.เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจของลูกจ้าง

4. รัฐบาลลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้

        –       ฉบับที่ 155 ว่าด้วย ความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย  ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524)

        –       ฉบับที่ 161 ว่าด้วย การบริการอาชีวอนามัย ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528)

        –       ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบงานส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)

5. ร่วมกับเครือข่ายแรงงาน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยงานจากการฯ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการศึกษาที่ผลิต/อบรมบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ร่วมกันพัฒนารูปแบบการทำงาน ด้านอาชีวอนามัยฯ  เพื่อนำไปสู่ “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ในการทำงาน

6. การบังคับใช้กฎหมาย พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง

7. เร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นองค์กรมหาชน มีส่วนร่วม และ บูรณาการ มาทำงานด้านการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ให้กับแรงงานไทย โดยเน้นมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และ โครงสร้างกรรมการต้องมาจากการสรรหา

8. การงดใช้แร่ใยหิน  ชดเชยผู้ป่วย

9. จัดตั้งกองทุนความเสี่ยงผู้ประสบภัยจากการทำงานและมลพิษสิ่งแวดล้อม

ณ.วันที่ 16 พฤษภาคม 2555