กลียุคการปฏิรูปประกันสังคมไทย

IMG_20150125_4

โดย อาจารย์ทรงพันธ์ ตันตระกูล

นับเป็นเวลากว่า 25 แล้วที่กองทุนประกันสังคมไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อเข้ามาดูแลสวัสดิการของผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกจากหลายภาคส่วนอาชีพของสังคมไทย รวมไปถึงพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมก็มีทั้งที่เกิดประโยชน์กันผู้ประกันตนในหลายประเด็น จนในบางสิทธิประโยชน์นั้นถือได้ว่าให้สิทธิประโยชน์ดีกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในปัจจุบัน จากสถานการณ์ของการปฏิรูปโครงสร้างทางกฎหมายและบนพื้นฐานของการบริหารบ้านเมืองที่ดี บนหลักการธรรมาภิบาล การปฏิรูประบบประกันสังคมถือเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อคืนความสุขให้กับประชาชนตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อนำพาให้ประชาชนไทยและแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จึงถือเอาโอกาสอันดีนี้นำร่างกฎหมายประกันสังคมที่เคยยื่นเสนอไปในยุครัฐบาลที่ผ่านมา นำมาปัดฝุ่นเคาะสนิมใหม่ โดยมีเครือข่ายภาคีแรงงานจากหลายภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปแบบคู่ขนานไปด้วย

P1290441

ข่าวคราวที่ออกมาในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาจากสำนักงานประกันสังคม ก็มีให้เป็นอยู่เป็นระยะในลักษณะข่าวที่ออกมาในเชิงของการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนในหลายๆ เรื่อง โดยเน้นการโปรยยาดม รมยาหอม ให้กับผู้ประกันตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาได้มีการเร่งหยิบยื่นมอบของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ประกันตนผ่านสื่อว่า “สปส.ให้ของขวัญปีใหม่ แก้กฎหมายประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนเพียบ” จนทำให้ผู้ประกันตนเชื่อจนสนิทใจว่าประกันสังคมได้ให้อะไรกับพวกเขาได้จริงๆ แต่ในความเป็นจริงนั้น พบว่า หากได้มองเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของเนื้อหากฎหมายที่ทางคณะทำงานปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมที่ภาครัฐได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีประเด็นสาระสำคัญหลักๆ ที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายประเด็น ได้แก่ ที่การตัดสิทธิประโยชน์ในบางกรณีออกไปจนกลายเป็นว่า “เป็นการแก้กฎหมายเพื่อริดรอนสิทธิประโยชน์เสียอย่างนั้น” รวมถึงร่างกฎหมายที่กำลังร่วมร่างดังกล่าวไม่มีความเป็นสากลในการเชื่อมสิทธิประโยชน์ให้เอื้อต่อการเป็นแรงงานข้ามชาติอีกด้วย จากประเด็นหลักดังที่ได้กล่าวมา จึงถือได้ว่าในตัวร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปนั้น มีการบิดเบือนไปจากคำโฆษณาชวนเชื่อราวฟ้ากับเหว โดยหลักๆ พอสรุปได้ 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

20150129_105929P1290528

1. คิดผิดต้องคิดใหม่ กับการตัดสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน “เมื่อผู้ประกันตนลาออกจากงานจะ ไม่ได้เงินชดเชย 30% ของค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน”

การตัดสิทธิประโยชน์นี้ออกไปถือเป็นการริดรอนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่เคยได้รับอยู่เดิม คือ ทำให้สิทธิ์ที่เคยได้รับแต่เดิมนั้นสูญหายไป ซึ่งแต่เดิมนั้นต้องยอมรับกันเลยว่า นานาประเทศก็ต่างชื่นชมระบบการประกันสังคมของประเทศไทยที่มีการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในหลายกรณีที่ก้าวล้ำกว่าหลายประเทศในกลุ่มยุโรป แต่ประเทศไทยเองก็มาตกม้าตายตอนจบกับความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น โดยคิดกันไปเองว่าจะไม่มีการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในกรณีว่างงานเพราะมีผู้ประกันตนหารายได้จากการลาออกจากงานบ่อยๆ (ยิ่งลาออกบ่อยๆ ก็ยิ่งจะได้เงินทดแทนกรณีว่างงาน) ดังนั้น รัฐจึงพยายามนำเหตุผลนี้ (ซึ่งอาจจะมีผู้ประกันตนประเภทนี้อยู่เพียงน้อยนิด) มาใช้เป็นเหตุผลเพื่ออ้างที่จะต้องตัดสิทธิประโยชน์เรื่องนี้ออกไปให้ได้ และเพื่อปกป้องมิให้กองทุนขาดทุนและล้มครืนลงมา โดยสรุปแล้ว การริดรอนสิทธิ์ดังกล่าวนั้นขัดกับหลักการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ของการประกันสังคมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการจากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ที่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน ที่  https://voicelabour.org/เปิดปมนิยามใหม่-ว่างงาน/

P1140501

ในกรณีนอกจากประเด็นของการริดรอนสิทธิ์แล้ว คงต้องขอเปิดมุมมองย้อนแย้งแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อเปิดหูเปิดตาให้กับนักวิชาการและปฏิรูปทั้งหลายเสียหน่อยว่า ในเมื่อจะปฎิรูปกฎหมายประกันสังคมกันทั้งที หากลองมองสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานกันแบบชาวบ้านกันเสียหน่อยว่า การจะถูกไล่ออก หรือ การจะลาออกจากงานด้วยความสมัครใจ หรือ แม้กรณีที่นายจ้างจะบังคับให้ลูกจ้างได้ลาออกนั้น ผู้ประกันตนทั้งสามกรณีเมื่อลาออกจากงานมาแล้ว ก็เข้าสู่สถานะการว่างงาน ซึ่งทุกคนต่างก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเพื่อเป็นปัจจัยในการดำรงชีพเช่นเดียวกันหมด การจะมาบอกว่า คนที่ถูกไล่ออกมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าคนที่ลาออกโดยสมัครใจนั้นก็คงไม่ใช่ เพราะเราจะเอาตรรกะอะไรมาวัดวาคนกลุ่มไหนควรได้สิทธิประโยชน์ทดแทนมากหรือน้อยกว่ากัน ซึ่งโดยสรุปนั้นหากจะปฏิรูปให้ถึงพริกถึงขิงก็คงจะต้องย้อนกลับมาดูเจตนารมณ์ของการจ่ายสิทธิประโยชน์รูปแบบนี้ว่า เกิดขึ้นมาเพื่อเยียวยาช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงาน ให้พอมีปัจจัยไว้ใช้ในการดำรงชีพอย่างพอเพียงเสียมากกว่า หากต้องการจะคืนความสุขให้คนไทยอยากจริงใจและจริงจัง นักปฏิรูปทั้งหลายควรจะต้องปรับสิทธิประโยชน์กรณีลาออกและการถูกไล่ออกจากงานให้เหมือนกันเสีย มิใช่มาแบ่งการจ่ายสิทธิอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วยเหตุผลที่จ้องจับผิดผู้ประกันตนที่หวังจะหากินกับเงินที่ได้จากการลาออกจากงาน

20150113_135907P1140500

2. ฝากถึงนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนโลกสวยที่ก้าวออกมาสนับสนุนการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพแก่แรงงานข้ามชาติให้มีความเท่าเทียมกับผู้ประกันตนชาวไทย เพราะการออกมาสนับสนุนเช่นนี้ ได้ส่งกระทบต่อเพื่อนร่วมชาติของเราที่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างประเทศและไปเกิดสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพในต่างประเทศด้วยเช่นกัน … สถานการณ์ในร่างกฎหมายฉบับนี้พวกท่านกำลังมีความพยายามที่จะผลักดันให้การจัดการสิทธิประโยชน์กับแรงงานข้ามชาติเมื่อหมดสัญญาจ้างและต้องเดินทางกลับประเทศของตนเอาไว้ว่า  จะต้องได้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เมื่อผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แทนที่ได้รับทันทีเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง

เพื่อสร้างความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน จึงขออธิบายถึงรูปแบบระบบการประกันสังคมในตลาดแรงงานสำหรับแรงงานข้ามชาติในต่างประเทศ ซึ่งมีวิธีการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพและกรณีอื่นๆ ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับการทำข้อตกลงในลักษณะทวิภาคี หรือ การทำข้อตกลงด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศ (Social Security Agreement, SSA) ซึ่งสำนักงานประกันสังคมไทยและรัฐบาลไทย จะต้องเร่งดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและลักษณะการทำงานที่เปลี่ยนไป ประกันสังคมไทยอาจจะต้องทำข้อตกลงด้านประกันสังคมระหว่างประเทศ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึึ่งสามารถดำเนินการได้ใน 3 รูปแบบ โดยเรียงลำดับตามความสำคัญที่ควรจะต้องดำเนินการทำข้อตกลงได้ดังนี้1

1. การนับรวมเงื่อนไขการประกันสังคม (Totalization)

2. การส่งออกสิทธิประโยชน์ (Export Benefit)

3. การยกเว้นกฎหมายประกันสังคมบางประการ (Detachment)

การทำข้อตกลงด้วย “การนับรวมเงื่อนไขประกันสังคม (Totalization)” ควรเป็นทางเลือกแรกที่จะใช้ในการดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสองประเทศ เพราะสามารถสร้างความต่อเนื่องให้กับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนได้มากที่สุด แต่ในระหว่างที่ทั้งสองประเทศยังไม่สามารถทำข้อตกลงประเภทนับรวมเงื่อนไขประกันสังคมได้นั้น เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนก็ควรมีการทำข้อตกลงที่มีความยุ่งยากน้อยลงมา โดยเลือก “การทำข้อตกลงเพื่อให้ประเทศปลายทางส่งออกสิทธิประโยชน์ (Export Benefit)” ตามสิทธิแก่ผู้ประกันตนเป็นลำดับถัดไป แต่หากกรณีที่ประเทศต้นทาง หรือประเทศที่ผู้ประกันตนพำนักหลังวัยทำงานนั้นเป็นประเทศที่ปราศจากความพร้อมในการทำความร่วมมือด้านประกันสังคม “การดำเนินการเพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมในประเทศนั้นๆ (Detachment)” ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการจ่ายเงินสมทบไปอย่างสูญเปล่าของผู้ประกันตน

แต่ทั้งนี้ เนื่องจากการลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าว อาจจะเกี่ยวข้องกับและอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อสังคมในวงกว้าง ดังนั้นจึงมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของฝ่ายบริหาร โดยเนื้อหาในวรรคสองและวรรคสาม ระบุว่า หากรัฐบาลจะทำความตกลงระหว่างประเทศในเรื่อง

1. หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต อาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย

2. หนังสือสัญญาที่มีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ

3. หนังสือสัญญาที่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา

4. หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง

5. หนังสือสัญญามีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน

ดังนั้น การทำข้อตกลงด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศนั้นอาจจะมิใช่เรื่องง่ายเสมอไป เพราะการทำข้อตกลงอาจจะเป็นการเรียกร้องให้ประเทศปลายทางงดเว้นกฎหมายไม่ให้ใช้บังคับเป็นความแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้นๆ ประกอบกับความเป็นไปได้ทางการทูตโดยรวมในหลายประเทศก็เป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ยาก จึงอาจจะต้องหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

การจะเลือกใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งจึงควรให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้งสองประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์และการดูแลสิทธิ์ด้านการประกันสังคมให้แก่คนในชาติของตนที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยในแต่ละประเทศอาจจะมีการทำคู่สัญญาในการดูแลแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในชาติของตนด้วยวิธีการที่แตกต่างกันเป็นรายประเทศได้ ซึ่งในแต่ละแนวทางก็จะมีประโยชน์ที่ดีเกิดขึ้นหากมีการเลือกปรับใช้ให้กับแรงงานทั้งสองชาติอย่างเหมาะสม ดังนั้นหากประกันสังคมไทยปิดหูปิดตาแล้วมาเลือกใช้วิธีการจ่ายสิทธิประโยชน์แก่แรงงานข้ามชาติด้วยวิธีการเช่นเดียวกับแรงงานในชาติของตน (เท่าเทียมแต่ไม่เท่าทันโลก) ผลที่จะตามมากันแรงงานคือ หากบางประเทศมีการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพในทันทีที่หมดสัญญาจ้างให้แก่แรงงานข้ามชาติ แต่ไทยเราถือระเบียบปฏิบัติเช่นนี้ เมื่อคนในชาติของเขาเดินทางมาทำงานในไทยแรงงานของเขาก็เสียเปรียบในสิทธิ์ที่จะได้รับจากประกันสังคมไทยทั้งที่ประเทศของเขากลับดูแลการจ่ายสิทธิประโยชน์แก่แรงงานข้ามชาติในอีกรูปแบบที่ต่างจากไทย จึงทำให้แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศนั้นมีโอกาสเสียเปรียบและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าแรงงานต่างชาติอื่นๆ ที่ไปทำงานในประเทศนั้นๆ ได้ คงต้องกลับไปคิดทบทวนให้ดี

ถ้าเรียกเป็นภาษาชาวบ้าน ก็ถือว่า การยืนยันนอนยันที่จะปฏิรูปกฎหมายในครั้งนี้ให้มีรูปแบบในการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่แรงงานข้ามชาติให้เท่าเทียมกับแรงงานไทย แลดูจะเป็นการมองระบบประกันสังคมแบบโลกแคบไปนิดและแลดูเห็นแก่ตัวเกินไปเสียหน่อย เพราะเป็นบังคับให้มีทางเลือกสำหรับแรงงานข้ามชาติเพียงทางเลือกเดียว ทั้งที่ประเทศไทยก็ได้ประกาศให้นานาประเทศได้รู้ว่าไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมอาเซียน แต่กลับกลายเป็นว่าระบบการประกันสังคมไทยยังเดินไปไม่ถึงไหนในตลาดแรงงานสากล อีกทั้งเราจะต้องมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังประเทศต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้การออกกฎหมายเช่นนี้เปรียบเสมือนว่า เรากำลังไม่คิดจะดูแลแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือ ประเทศปลายทางที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเลย เพราะในต่างประเทศจะมีกฎหมายในการดูแลแรงงานข้ามชาติที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในกรณีการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้กับแรงงานข้ามชาติสามารถที่จะสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์ได้ทันทีที่หมดสัญญาจ้างและจะเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยทันที ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถกระทำได้ตามหลักวิชาการที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้สำนักงานประกันสังคมไทยในวันนี้จะต้องไปทำงานกับต่างประเทศให้มากขึ้น

กรณีของการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติทันทีเมื่อหมดสัญญาจ้างและต้องการเดินทางกลับประเทศของตน อาจจะมีข้อเสียในเรื่องของความขัดแย้งกับหลักการ “เงินออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ” ซึ่งประเด็นนี้อาจจะต้องมองลึกลงไปในรายละเอียดถึงข้อดีและข้อเสียด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทั้งสองประเทศที่จะทำข้อตกลงร่วมกันนั้นได้มองเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าจะจ่ายสิทธิประโยชน์ไปในแนวทางใด

โดยสรุป หากประเทศไทยได้มีการตรากฎหมายแบบมัดตัวเองไว้อย่างที่กำลังจะดำเนินการอยู่บนหลักการที่ไร้หลักคิด โดยออกแบบสิทธิประโยชน์ที่จะดูแลแรงงานข้ามชาติและแรงงานในชาติไทยอย่างเท่าเทียม สุดท้ายแล้วคนไทยส่วนใหญ่ที่ท่านคิดไปว่าจะเสียเปรียบแรงงานข้ามชาติกลับจะยิ่งทำให้คนไทยอีกกลุ่มหนึ่งกำลังจะถูกต่างชาติเอาเปรียบและจ่ายสิทธิประโยชน์ด้านการประกันสังคมอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศนั้นได้นำพาเม็ดเงินจากการทำงานจำนวนมหาศาลและอาจรวมถึงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพที่จะได้รับกลับมาใช้จ่ายในประเทศไทย แต่ทั้งนี้ข้อตกลงที่ทำระหว่างประเทศนั้น ต้องแลกกันแบบ “หมัดต่อหมัด” เพื่อความเป็นธรรมแก่แรงงานทั้งสองประเทศ

3. ความครอบคลุมผู้ประกันตน “คนทำงาน” มาตรา 4 ยังไม่ชัดเจน แม้จะมีข่าวว่า กองทุนประกันสังคมไทยกำลังจะเปิดรับให้คนทำงานนอกเหนือจากแรงงานในระบบได้เข้าไปเป็นผู้ประกันตน ซึ่งในพรบ.ประกันสังคม มาตรา 4 นั้นได้ระบุถึงกลุ่มคนที่ พรบ.นี้จะไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 กลุ่มคนทำงานด้วยกัน ได้แก่

1. ข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน  และลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของราชการส่วนกลาง  ราชการส่วนภูมิภาค  และราชการส่วนท้องถิ่น  ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน

2. ลูกจ้างของรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ

3. ลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ  และไปประจำทำงานในต่างประเทศ

4. ครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

5. นักเรียน นักเรียนพยาบาล นิสิตหรือนักศึกษาหรือแพทย์ฝึกหัดซึ่งเป็นลูกจ้างของโรงเรียน  มหาวิทยาลัย  หรือโรงพยาบาล

6. กิจการหรือลูกจ้างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ดังนั้นจะต้องมีการปรับปรุงและยกเลิกข้อข้อยกเว้นต่างๆ ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติประกันสังคมด้วย เพื่อปลดล๊อคการเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนให้ครอบคลุม “คนทำงาน” ให้มากที่สุด บนพื้นฐานการสร้างหลักประกันทางสังคมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย แม้นักวิชาการบางกลุ่มจะมองว่าการเปิดกว้างรับผู้ประกันตนเข้ามาเพิ่มในระบบประกันสังคมไทยจากทั้งคนทำงานในระบบและนอกระบบจะไปกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม แต่อย่าลืมว่าเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฉบับที่ผ่านมานั้น ก็ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และต้องการให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น รัฐควรที่จะต้องเข้ามาดูแลคนทำงานกลุ่มนี้ให้มีหลักประกันทางสังคมอย่างเหมาะสมเพราะแรงงานกลุ่มนี้ก็สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับประเทศชาติมิใช่น้อย

จากที่ได้กล่าวมาทั้ง “กรณีการริดรอนสิทธิ์กรณีชราภาพสำหรับผู้ประกันตนที่ลาออกจากงาน, การลงมือเดินหน้าไปสร้างข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ และการสร้างความครอบคลุมเปิดรับผู้ประกันตนที่เป็นคนทำงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” ถือเป็นความท้าทายของรัฐและสำนักงานประกันสังคมบนโอกาสในการปฏิรูปที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ประชาชนไทยต่างฝากความหวังไว้กับคณะทำงานด้านการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมไทย ว่าท่านจะ “กล้าคิด กล้าปฏิรูป” เพื่อคนไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของ “คนทำงาน” อย่างยั่งยืนและเป็นสากลได้อย่างไร

———

ทรงพันธ์ ตันตระกูลและคณะ, การศึกษาวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานประกันสังคม, 2555.