เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,180 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 79.1 ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันแล้ว ขณะที่ร้อยละ 20.9 ยังไม่ได้รับ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า กิจการยังไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างให้ เมื่อสอบถามผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่า ชีวิตการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 82.4 ระบุว่ามีชีวิตการทำงานเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 15.4 ระบุว่าต้องทำงานหนักขึ้น มีเพียงร้อยละ 1.3 ที่ระบุว่าทำงานน้อยลง
ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานเกือบครึ่ง (ร้อยละ 49.9) ไม่เชื่อว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะทำให้กิจการที่ทำงานอยู่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนหรือเลิกกิจการ ตรงกันข้ามร้อยละ 23.0 เชื่อว่าจะทำให้กิจการมีกำไรจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 26.9 เห็นว่าจะกระทบทำให้กำไรลดลงเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 1.4 เห็นว่าขาดทุน และร้อยละ 0.8 เห็นว่าจะเลิกกิจการ
สำหรับความเห็นต่อค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่รัฐบาลปรับขึ้น จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ในจำนวนนี้ร้อยละ 36.5 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะยังเหมือนเดิม และร้อยละ 2.8 เห็นว่าจะแย่ลง ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าที่เพิ่มทำให้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนร้อยละ 60.7 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ ร้อยละ 54.9 เห็นว่าจะไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ร้อยละ 45.1 เห็นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ร้อยละ 93.2 ระบุว่า “เห็นด้วย” ขณะที่ร้อยละ 6.8 ระบุว่า “ไม่เห็นด้วย” และเมื่อถามต่อว่ากังวลมากน้อยเพียงใดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่อาจจะเข้ามาแย่งงานคนไทย ร้อยละ 51.4 ระบุว่า “ไม่กังวลเลย” ขณะที่ร้อยละ 31.1 ระบุว่า “กังวลมากถึงมากที่สุด” และร้อยละ 17.5 ระบุว่า “กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด”
ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล ปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน พบว่าอันดับแรก คือ สวัสดิการ (ร้อยละ 32.3) รองลงมาคือ ดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน (ร้อยละ 29.7) และดูแลคุณภาพชีวิต (ร้อยละ 14.9)
(รายละเอียดเพิ่มเติมจาก มติชนออนไลน์วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 )