กระทรวงแรงงาน ระดมความคิดเห็นไตรภาคี เตรียมยกร่าง พ.ร.บ. แรงงานทางทะเล

P9260001

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดสัมมนาไตรภาคีเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล โดยระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน มุ่งหวังให้ประเทศไทย มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ครอบคลุมทั้งทางบกและทางทะเล และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2556 ณ ห้องเจ้าพระยาบอลรูม ชั้น2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดสัมมนาว่า กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน       ได้เล็งเห็นว่า งานที่ทำบนเรือเดินทะเลมีสภาพการทำงานที่แตกต่างจากการทำงานบนบก จึงต้องมีกฎหมายกำหนดเงื่อนไขในการจ้างและการทำงานที่จัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลขึ้น โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศและสามารถคุ้มครองคนประจำเรือบนเรือเดินทะเลระหว่างประเทศได้   อย่างแท้จริง

นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับเรือไทยที่เข้าไปในเขตอธิปไตยหรือเมืองท่าของประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้นทั้งนี้ แรงงานในงานขนส่งทางทะเล มีลักษณะและสภาพการจ้างงาน การทำงานที่แตกต่างจากงานทั่วไป เนื่องจากเป็นการทำงานที่ต้องเดินทางระหว่างประเทศซึ่งต้องอยู่ บนเรือตลอดเวลาแม้ว่าจะเป็นเวลาพักหรือวันหยุด ประกอบกับกิจการเดินเรือทะเลเป็นกิจการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองแรงงานในงานเรือเดินทะเล มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล การกำหนดคุณสมบัติของคนประจำเรือ การสอบประกาศนียบัตรและการฝึกอบรมของคนประจำเรือ การคุ้มครองคนประจำเรือในด้านการว่าจ้างและ  การเลิกจ้าง สัญญาจ้างงาน อัตราค่าจ้าง อายุขั้นต่ำ การจัดหาอาหาร และที่พักให้คนประจำเรือ จากการสัมมนาครั้งนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลต่อไป (ข่าวกระทรวงแรงงาน)

PB270304P2210267

และการเสวนาในวันนี้ Mr. Jajoon Coue ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคได้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง “แนวคิดและหลักการสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006: MLC)”           ซึ่งอนุสัญญาฯ ดังกล่าวประกอบไปด้วยข้อกำหนดใน 5 ประเด็นหลักคือ

1.ข้อกำหนดขั้นต่ำของบุคคลที่จะทำงานบนเรือ เช่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และบุคคลที่มีอายุระหว่าง 16-18 ปีห้ามทำงานในช่วงกลางคืน และงานในลักษณะที่ทำลายสุขภาพ บุคคลที่จะทำงานบนเรือเดินทะเลจะต้องได้รับใบรับรองจากแพทย์เพื่อแสดงว่าเป็นบุคคลที่มีความแข็งแรงเพียงพอกับการทำงานบนเรือเดินทะเล

2.เงื่อนไขการจ้างงาน เช่น สิทธิในการลา ข้อตกลงในการจ้างงาน การกำหนดอัตราคนที่จะทำงานบนเรือให้เพียงพอกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้

3.ที่พักอาศัย สิ่งสันทนาการ และการจัดหาอาหาร

4. การคุ้มครองสุขภาพ การรักษาพยาบาล สวัสดิการ และการคุ้มครองด้านประกันสังคม

5. การปฏิบัติตามและการบังคับใช้ เช่น รัฐเจ้าของธงเรือมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการออกใบรับรองและใบประกาศด้านแรงงานทางทะเลให้แก่เจ้าของเรือที่ปฏิบัติตรงตามมาตรฐาน โดยมีอายุไม่เกินครั้งละ 5 ปี (http://www.thaigov.go.th/th/news-ministry/2012-08-15-09-43-46/)