ครม.ผ่าน ร่างกฎหมายประชาชน ขบวนการแรงงานรวม 9 ฉบับ

หลังเดินรณรงค์ทวงถามร่างกฎหมายภาคประชาชน ร่วมผู้ใช้แรงงานทั้ง 9 ฉบับ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ร่างดังกล่าวผ่านแล้ว

หลังจากวันอังคารที่ 13 กันยายน 2554 เครือข่ายแรงงาน และภาคประชาชนได้ร่วมกันยื่นหนังสือ เพื่อทวงถามกฎหมายภาคประชาชนรวม 9 ฉบับ ซึ่งมีกฎหมายประกันสังคม ที่มีผู้ใช้แรงงาน และประชาชนได้ร่วมกันลงลายมือชื่อ 14,500 รายชื่อ ให้รัฐบาลรับร่างกฎหมายดังกล่าวนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่ร่างนี้จะตกไป

ระหว่างรอนายกฯมารับหนังสือแกนนำภาคส่วนต่างๆ สลับกันขึ้นปราศรัย จนถึงเวลา 12.30 น.นายกฯมอบหมายให้รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.พ.สุวิทย์ คงสมบรูณ์ มารับหนังสือจากเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน

โดย น.พ.สุวิทย์  คงสมบรูณ์ได้กล่าวรับปากเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชนหลังจากมีการรับหนังสือจะรีบดำเนินการ นำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อการพิจารณาส่งเข้าประชุมสภาฯต่อไป

ทั้งนี้  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. มีประเด็นถกเถียงกันถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างอยู่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ว่าสมควรจะไฟเขียวในรัฐบาลชุดนี้เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาต่อไป หรือไม่ อย่างไร โดย นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอว่า บรรดาร่างกฎหมายที่เคยผ่านที่ประชุมสภาวาระ 1 ควรเดินหน้าต่อไป ส่วนที่ไม่ผ่านก็ให้ตกไป

ทว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ทักท้วงว่า หากยึดหลักการของ นพ.สุรวิทย์ จะขัดมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ย. เพราะมติ ครม.วันนั้น เห็นควรให้เจ้ากระทรวงไปหารือกับหน่วยงานตัวเองว่ามีร่างกฎหมายฉบับใดควร เดินหน้าต่อหรือยุติ ซึ่ง วิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข สนับสนุนแนวคิด ร.ต.อ.เฉลิม 
ในที่สุด ครม.มีความเห็นว่าควรกำหนดกรอบการผลักดันร่างกฎหมายใหม่ 1.ให้รัฐมนตรีกลับไปหารือกระทรวงเพื่อยืนยันร่างกฎหมายกลับมาอีกครั้ง 2.ร่างกฎหมายที่ สส.เคยเสนอ 11 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาคาบเกี่ยวกับภาคประชาชนเคยเสนอให้วิปรัฐบาลกลับไปพิจารณาอีก ครั้ง 

อย่างไรก็ตาม นพ.สุรวิทย์ เสนอว่า ร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอมา 9 ฉบับ ก็ควรเห็นแก่ประชาชน ให้เดินหน้าโดยรัฐบาลยืนยันไปเลยซึ่งที่ประชุม ครม.ก็เห็นชอบตามนี้ ทางโพสต์ทูเดย์ตรวจสอบร่างกฎหมาย 9 ฉบับ มีดังนี้  (ดูมติคณะรัฐมนตรี คลิกที่นี่ มติ ครม. เกี่ยวกับกฎหมายค้าสภา ชุด 23 ถึง ป.รัฐสภา)

1.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นำโดย สารี อ๋องสมหวัง กับประชาชนเสนอ 
 

2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข นำโดย อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กับประชาชนเสนอ หรือที่เรียกกันว่า “ร่างกฎหมายมีดหมอ” ถือเป็นร่างกฎหมายร้อนที่ถกเถียงกันอยู่ขณะนี้ โดยเป็นความพยายามจากภาคประชาชนให้ออกกฎหมายได้รับการคุ้มครองความเสียหาย จากบริการทางการแพทย์ แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในขณะนี้ . 

3.ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข นำโดย ไพศาล บางชวด กับประชาชน เสนอเป็นร่างกฎหมายที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือหมออนามัย ทำงานมีวิชาชีพรองรับ การให้บริการกับประชาชนจะเป็นไปตามมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ มีมาตรฐานวิชาชีพมาควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเช้าวานนี้ตัวแทนสาธารณสุขก็มายื่นหนังสือกดดันรัฐบาลให้ผ่านกฎหมาย
 

4.ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย นำโดย อร่าม อามระดิษ กับประชาชนเสนอเป็นร่างกฎหมายมุ่งยกระดับวิชาชีพแผนไทยให้มีสภาวิชาชีพ เหมือนแพทย์ในปัจจุบัน คือจะต้องมีการขึ้นทะเบียนและจะมีสภาองค์กรวิชาชีพเป็นของตัวเอง ทั้งนี้เป็นการรักษาไว้ซึ่งวิชาชีพแพทย์แผนไทยไม่ให้สูญหายไป

5.ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นำโดย สารี อ๋องสมหวัง กับประชาชนเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นความพยายามให้มีการตั้งองค์กรคุ้มครอง ผู้บริโภคใหม่ให้เป็นองค์กรอิสระ เพราะที่ผ่านมาการทำงานผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มักถูกวิจารณ์มีอำนาจแค่เสือกระดาษ อีกทั้งให้มีงบประมาณพร้อมจะคุ้มครองผลประโยชน์ประชาชน 

6.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย นำโดย ภูมิ มูลศิลป์ กับประชาชนเสนอเป็นร่างกฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้คล่อง ตัวยิ่งขึ้นหลังจากที่เคยมีร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้เมื่อปี 2542 ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็ยังไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายอย่างแท้ จริง 

7.ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม นำโดย วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนเสนอเป็นร่างกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเรื่องแรงงานนอกระบบ ที่จะมีการประกันตนเองโดยที่มีรัฐสมทบเงินให้ด้วย 

8.ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล นำโดย สุธีรา วิจิตรานนท์ กับประชาชนเสนอเป็นร่างกฎหมายปรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนตำบลใหม่ประเด็น หนึ่งคือ ปลดล็อกวาระดำรงตำแหน่งไม่ต้องมีวาระ 
 

9.ร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดฝาง นำโดย บดินทร์ กินาวงศ์ กับประชาชนเสนอ เป็นความพยายามของคนในพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เห็นว่ามีความพร้อมหลายด้านทางภูมิศาสตร์ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สมควรให้เป็นจังหวัดที่ 78 ของประเทศไทย (โดย…ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ ) 

                                                                นายอำนวย  บุญจันทร์ นักสื่อสารแรงงานศูนย์ชลบุรี-ระยอง รายงาน