คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเสนอนายกฯ เห็นชอบร่างประกันสังคมฉบับประชาชน

โดย บัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2550  ในส่วนแนวนโยบายแห่งรัฐว่าด้วยกฎหมายและการยุติธรรม  มาตรา 81 (3)  “รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายเพื่อการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระ  เพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศรวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  โดยต้องรับฟังความเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย”  นำไปสู่การตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการจำนวน 11 คน  ประกอบด้วย  ประธานกรรมการ  รองประธานกรรมการ  กรรมการเต็มเวลา 4 คนและกรรมการไม่เต็มเวลา 5 คน  โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย  โดยการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาฯจำนวน 12 คน  ทำหน้าที่คัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ  ผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงความรู้และประสบการณ์อันเป็นที่ประจักษ์  ซึ่งกรรมการมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี  และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน

เมื่อวันที่ 23  สิงหาคม  2554  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติด้านแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ค้างการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาก่อนที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยมีผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมด้านแรงงานจำนวนมากเข้าร่วมหลายกลุ่มที่โรงแรมมิราเคลแกรนด์คอนเวนชั่น กทม. ได้ข้อสรุปว่าร่างกฎหมายด้านแรงงานที่สมควรเสนอรัฐบาลให้พิจารณาเห็นชอบเพื่อรัฐสภาจะได้พิจารณา  คือ  ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ….  ที่เสนอโดย  นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน

ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ฉบับประชาชนเสนอ) มีสาระสำคัญ คือ
            1.  กำหนดให้สำนักงานประกันสังคม  มีฐานะนิติบุคคลสังกัดกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ  อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี  มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลบริหารจัดการอย่างกว้างขวางชัดเจนและให้กิจการของสำนักงานอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายแรงงานสัมพันธ์  กฎหมายเงินทดแทนและกฎหมายประกันสังคม  ค่าตอบแทนและสวัสดิการประโยชน์เกื้อกูลของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสำนักงานนี้  จะไม่น้อยกว่าอัตราที่เคยได้รับเดิม
          2.  กำหนดให้เลขาธิการสำนักงานต้องไม่เป็นข้าราชการ  พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่แสวงหากำไรเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมกับการบริหารกิจการประกันสังคม  โดยมาจากกระบวนการสรรหา  มีคุณสมบัติและวาระการทำงานตามที่กำหนด  มีอำนาจหน้าที่ในการทำงานชัดเจนตามระเบียบที่คณะกรรมการประกันสังคมกำหนด  รวมทั้งสิทธิครอบครองและการเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของสำนักงาน

 3.  กำหนดให้มีคณะกรรมการการลงทุนเป็นกลไกชัดเจนโดยมีองค์ประกอบ  คุณสมบัติ  กระบวนการได้มาและวาระดำรงตำแหน่ง  เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน  ให้เป็นไปโดยโปร่งใสและมีประสิทธิภาพตามนโยบายและแผนการลงทุนที่คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบ
          4.  กำหนดให้ผู้ประกันตน  นายจ้าง  หรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิรับรู้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกันสังคมและการส่งเงินสมทบ  รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารของคณะกรรมการชุดต่างๆ
          5.  กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์  กรณีประสบอันตราย  และกรณีทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงานตั้งแต่วันแรกที่เป็นลูกจ้าง  โดยใช้บริการได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งที่มีข้อตกลงกับสำนักงานประกันสังคม  และสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้รับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกับสถานพยาบาล

เพิ่มเติมประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายให้รวมถึงค่าใช้จ่ายส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันตน

ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  ที่เสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 14,000 กว่ารายชื่อ  ได้มีการเคลื่อนไหวเสนอต่อนายกรัฐมนตรีผ่านพรรคเพื่อไทย  เพื่อขอให้รัฐบาลยืนยันเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณา  เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2554  และได้ระดมผู้แทนหลายเครือข่ายแรงงานเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.พ.สุรวิทย์  คนสมบูรณ์  มารับหนังสือเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 

สำหรับร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอและคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเสนอต่อรัฐบาลไม่ควรเห็นชอบให้พิจารณาต่อไปมีจำนวน 5 ฉบับ  (ส่วนใหญ่เป็นร่างกฎหมายด้านแรงงานจำนวน 4 ฉบับ)  ได้แก่ 

ลำดับ

ที่

เรื่อง

สาระสำคัญ

เหตุผลที่ไม่ควรเห็นชอบร่างกฎหมายและข้อเสนอแนะ

1.

ร่างพระราช

บัญญัติ

การชุมนุมสาธารณะ   พ.ศ. ….

เป็นการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองบางประการเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะเมื่อมีการชุมนุมสาธารณะ

– เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการชุมนุมว่าชอบหรือไม่ชอบโดยกฎหมาย  ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

– เป็นการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ที่จะชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิมากกว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้เกิดการชุมนุมสาธารณะ

– การรักษาความสงบเรียบร้อยของการชุมนุมสาธารณะ  รัฐมีเครื่องมือทางกฎหมายหลายฉบับอยู่แล้วในการบังคับใช้ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายปกติหรือกฎหมายพิเศษ

– กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งเพียง 24 คนอาจเกิดข้อโต้แย้งภายหลังเกี่ยวกับองค์ประกอบที่ไม่ครบ 36 คน  ตามแนวบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2543

– คณะกรรมการได้รับฟังความเห็นของภาคประชาสังคมบางส่วนซึ่งเห็นว่าควรยับยั้งไว้ก่อน  และควรศึกษาวิจัยการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของสังคมไทยอย่างรอบด้าน  และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน  จึงจะมากำหนดในการให้มีร่างกฎหมายชุมนุมสาธารณะต่อไป

2.

ร่างพระราช

บัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ….

– แก้ไขเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

– แก้ไขเกี่ยวกับกับการแต่งตั้งที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม  คุณสมบัติ  และลักษณะต้องห้ามของกรรมการ  ที่ปรึกษาและกรรมการแพทย์

– แก้ไขระยะเวลาการขาดส่งเงินสมทบ  การคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ยกเลิกการตัดสิทธิผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีจงใจหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนเองประสบอันตราย  เจ็บป่วย  ทุพพลภาพ  หรือตาย  เพื่อขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์มากขึ้น

– เพิ่มหลักเกณฑ์และอัตราให้รัฐบาลออกเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนและให้รัฐออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นรายปีในอัตราเท่ากับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขที่จ่ายให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เพื่อให้คู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  หรือลดหย่อนการออกเงินสมทบในกรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงส่งผลต่อกิจการ  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง  รวมทั้งเพิ่มโทษอาญากรณีนายจ้างไม่ยื่นแบบรายการแสดงส่งเงินสมทบ

– เป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้จัดตั้งหรือแยกสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรที่มีการดำเนินการเป็นอิสระจากส่วนราชการ

– คณะกรรมการได้รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมด้านแรงงานแล้วเห็นควรผลักดันร่างกฎหมายของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายมากกว่า

3.

ร่างพระราช

บัญญัติแรงงานสัมพันธ์

พ.ศ. ….

แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับขั้นตอนการเจรจาต่อรอง  การไกล่เกลี่ย  และการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์  การคุ้มครองผู้จัดตั้งสหภาพแรงงาน  การใช้สิทธิของกรรมการสหภาพแรงงาน  การกระทำอันไม่เป็นธรรมและบทกำหนดโทษเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

– เนื่องจากยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 89

– คณะกรรมการได้รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมด้านแรงงานแล้วเห็นควรนำกลับมาพิจารณาใหม่

4.

ร่างพระราช

บัญญัติเงินทดแทน

พ.ศ. ….

ให้การคุ้มครองลูกจ้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคุ้มครองมากยิ่งขึ้น  โดยแก้ไขในบทบัญญัติต่างๆ  ได้แก่  ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย  การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อฟ้องคดีหรือแก้ต่างคดี  การกำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดจากการทำงาน  ฐานะและความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการและผู้รับเหมาค่าแรง  องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการแพทย์  การกำหนดอัตราหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขการจ่ายค่ารักษาพยาบาล  ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน  ค่าทำศพ  ค่าทดแทน  และเงินเพิ่มกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบหรือจ่ายไม่ครบจำนวน  หลักเกณฑ์การยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้าง  การแจ้งการประสบอันตราย  เจ็บป่วย  สูญหาย  การยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน และการพิจารณาคำร้องขอรับเงินทดแทน

– ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีปัญหาในหลักการและในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิบางประการ

– เป็นกฎหมายที่มีความสลับซับซ้อนสมควรได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

– คณะกรรมการได้รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมด้านแรงงานแล้วเห็นควรยับยั้งการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไว้ก่อน

5.

ร่างพระราช

บัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ….

จากการที่กิจการในประเทศไทยประสบภาวะขาดแคลนแรงงานบางประเภท  ทำให้จำเป็นต้องจ้างคนต่างด้าวซึ่งมิใช่ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามาในประเทศ  และเพื่อให้มีความชัดเจนและเหมาะสม  ตลอดจนให้การคุ้มครองคนหางานอย่างเป็นธรรมสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

– เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ  และแรงงานข้ามชาติ

– คณะกรรมการได้รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมด้านแรงงานแล้วควรยับยั้งการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไว้ก่อน

ที่มา : ข้อมูลในตารางทั้งหมด  คัดจากหนังสือด่วนที่สุดที่ ศปก. 95/2554  ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2554  เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาของรัฐสภา (หน้า 13-16) 

กราบเรียน  นายกรัฐมนตรี  เสนอโดย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

/////////////////////////////////////////////