5 พรรคการเมืองร่วมลงสัตยาบันรับ 9 ข้อเสนอแรงงาน ซื้อใจคนงาน

พรรคการเมืองชูนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ปี 25% ปรับ 300 บาท 400 บาท จนทะลุ 421  บาทต่อวัน   แถมโปรโมชั่นแรงงานนอกระบบทั้งแจกคูปองประกันสังคม-ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เอาใจแรงงานร่วมลงนามรับข้อเสนอ  9 ข้อ 

เมื่อวันที่   21  มิถนายน 2554  ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์   กรุงเทพฯ  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดเวทีสมัชชาแรงงานจุดยืนและข้อเสนอต่อนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 54    โดยมีตัวแทนผู้สมัคร สส.จากพรรคการเมืองเข้าร่วม 5 พรรค พร้อมตอบประเด็นคำถามข้อเสนอของผู้ใช้แรงงาน นำโดยนายชาลี   ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการครสท.และแกนนำเครือข่ายแรงงานเป็นผู้ถามใน  9  ประเด็นได้แก่

1. การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ฉบับที่ 87และ 98  เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง รวมทั้งแก้ไขพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518  ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

คำถาม ถ้าพรรคของคุณได้เป็นรัฐบาล จะรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ภายในกี่เดือน

2. ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมของขบวนการแรงงาน ที่ได้จากการล่ารายมือชื่อ 15,400 รายชื่อ โดยมีหลักการ 5 ข้อ ได้แก่ ระบบการบริหารองค์กรประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ ความโปร่งใส กระบวนการการตรวจสอบ หนึ่งคนหนึ่งเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา และ ประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน รอเข้าสภาอยู่

คำถาม ถ้าท่านเป็นรัฐบาล ท่านจะรับรองร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงาน 15,400 รายชื่อ หรือไม่ ภายในระยะเวลาเท่าใด

3. ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม และโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี

คำถาม  1. นโยบายการปรับค่าจ้างของพรรคการเมือง จะทำภายในกี่เดือน และข้อเสนอเรื่องค่าจ้างของผู้ใช้แรงงาน ที่สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ที่ คสรท. เคยเสนอไว้ 421 บาท เมื่อปี 2552 ซึ่งปัจจุบันภาวะทางเศรษฐกิจที่มีค่าครองสูงขึ้น ควรจะมีการปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พรรคของคุณจะมีแนวทางในการปรับค่าจ้างตามข้อเสนอของ คสรท. หรือไม่   2. การทำงานลักษณะเดียวกัน ประเภทอุตสาหกรรมเดียวกัน ปรับให้มีอัตราค่าจ้างเดียวกันทั่วประเทศได้หรือไม่ 3. ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เพราะคนงานไม่มีส่วนร่วมและเป็นอุปสรรคในการพิจารณาการขึ้นค่าจ้าง พรรคของคุณจะมีนโยบายนี้หรือไม่ และจะทำเมื่อไหร่

4. พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภค

คำถาม 1. ถ้าพรรคคุณเป็นรัฐบาล จะยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ 2. รัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปแล้วจะนำกลับคืนมาเป็นของประชาชน หรือไม่

5. สิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่สถานประกอบการของคนงาน เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่

คำถาม 1. ถ้าพรรคของจะมีแนวทางอย่างไรให้คนทำงาน มีสิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในเขตพื้นที่ทำงานได้ 

6.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

คำถาม 1.  ให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยคำนึงถึงกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (นายจ้าง ลูกจ้าง แรงงานที่เจ็บป่วย นักวิชาการ ภาคประชาชน) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ 2.  จะต้องคำนึงสัดส่วนของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม พรรคของคุณจะทำได้หรือไม่ 3.  ถ้าพรรคคุณเป็นรัฐบาล จะสนับสนุนงบประมาณให้แก่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ หรือไม่ ปีละเท่าไหร่

7. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน จากกรณีเจ้าของสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้าง

คำถาม กรณีที่มีการเลิกจ้าง ไม่เป็นธรรม กับคนงาน นายจ้างไม่จ่าย ลอยแพคนงาน ทางเรามีข้อเสนอเรื่องการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ถ้าพรรคคุณเป็นรัฐบาล จะทำภายในกี่เดือน

8.การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

คำถาม 1. แนวนโยบายการขยายกรอบกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ พรรคของคุณจะมีนโยบายเรื่องนี้หรือไม่ และจะทำได้เมื่อไหร่  2. แรงงานนอกระบบ ต้องมีส่วนร่วมในการ ยกร่างกฎหมายลูกของ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผู้ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ควรมีสิทธิเข้าสู้ระบบประกันสังคม ม. 33  พรรคของคุณจะมีนโยบายเรื่องนี้หรือไม่ และจะทำได้เมื่อไหร่  และรัฐบาลต้องสนับสนุนผู้ประกันตนในมาตรา 40 โดยรัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบครึ่งหนึ่งของผู้ประกันตน ตลอดไป พรรคของคุณจะมีนโยบายเรื่องนี้หรือไม่ และจะทำได้เมื่อไหร่

9. การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

คำถาม 1. พรรคการเมืองมีแผน นโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติระยะยาวอย่างไร ที่ไม่ใช่นโยบายบริหารจัดการรายปี หรือรายการขึ้นสู่อำนายของพรรคการเมืองที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา 2. พรรคการเมืองมีแผนนโยบายอะไรที่ทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครอง และเข้าถึงระบบบริการของรัฐและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การส่งเงินสมทบ และสิทธิที่เหมาะสมกับตัวแรงงานข้ามชาติ (ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และสิทธิในการรวมตัว เจรจาต่อรอง เป็นต้น)

นพ.บุรณัชย์    สมุทรักษ์   โฆษกพรรคประชาธิปัตย์   กล่าวว่า  เรื่องอนุสัญญาไอแอลโอนั้นคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว แต่ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าขัดต่อมาตรา 190  วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอต่อรัฐสภาก่อนหรือไม่  ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่ขัด ดังนั้น  หากพรรคได้เป็นรัฐบาลต่อก็ดำเนินการได้ภายใน 1 เดือนที่เข้าไปทำงาน  เรื่องการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ก็เห็นด้วยว่า ควรมีการให้สิทธิแรงงานในการรวมตัว ตามจริงแล้วการชุมนุมของแรงงานมีการร้องรำทำเพลงสนุกสนาน ซึ่งต่างประเทศไม่มี กลไกก็ร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ขณะนี้อยู่ในกฤษฎีกา รอเข้าสู่การพิจารณา หากเข้าไปเป็นรัฐบาลคงทำพร้อมกันกับการรับรองอนุสัญญาไอแอลโอทั้ง 2 ฉบับ 

ส่วนประกันสังคมเห็นด้วยกับการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ และการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมจะใช้ทั้งฉบับแรงงาน และฉบับกระทรวงแรงงานมาปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกัน  รวมทั้งขยายไปสู่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม และจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ  25% ใน 2 ปี หากปรับสูงเกินไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่การที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทังประเทศคงเป็นไปได้ยาก เพราะคนงานแม่ฮ่องสอนจะให้มีค่าจ้างเท่ากับกรุงเทพฯคงไม่ได้ การแก้ไขระบบโครงสร้างการบริหารของอนุกรรมการจังหวัด ให้เป็นตัวแทนของแรงงานจริงถือเป็นอีกทางออกหนึ่ง ส่วนเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น เมื่อเข้าไปบริหารประเทศก็เป็นว่า มี 2 แห่งที่ต้องมีการเข้าทำการพัฒนา คิดว่ารัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับความมั่นคง และถือเป็นการบริการจะไม่ขายเด็ดขาด และเห็นด้วยกับการนำปตท.กลับมาเป็นของประชาชน เพราะขณะนี้ปตท.ถูกผูกขาดโดยเอกชนซึ่งเป็นสิทธิที่เอกชนไม่ควรจะได้

ส่วนการจัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯ ทางแรงงานกับภาครัฐต้องหาทางออกร่วมกันในการกำหนดสัดส่วนอนุกรรมการตั้งสถาบัน หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะมีการนำข้อเสนอของเครือข่ายฯเข้ามาพิจารณา การประเดิมงบประมาณ ก็คงเป็นไปตามที่ต้องใช้การที่ทำงานของสถาบันเป็นการให้เกิดการป้องกัน และตั้งกองทุนฯ และการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงฯ ควรเน้นการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้นายจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างอย่างเข้มงวดจริงจัง การให้มีการตั้งกองทุนอาจเป็นประเด็นปัญหาบ้าง แต่ก็น่าสนใจ และกำลังให้มีการจัดการศึกษาว่า จะนำวิธีการใดมาใช้ เพื่อมาให้คนงานต้องมาฟ้องร้อง ซึ่งคนงานยังมีเงินประกันว่างงาน  และการดูแลแรงงานต่างด้าวควรดูแลตามกฎหมายให้เท่าเทียมกันแรงงานไทยยกเว้นการตั้งสหภาพแรงงาน

นายจารุพงศ์     เรืองสุวรรณ  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า เรื่องอนุสัญญาไอแอลโอ หากได้เป็นรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันทีคาดว่าภายใน  6  เดือนดำเนินการแล้วเสร็จ  เนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วได้ผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว จะนำมาทบทวนในครม. ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรีแล้วความว่าไม่เข้ามาตรา 190 วรรค 2 จึงไม่ต้องนำไปสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณาอีก หลังจากมีการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับแล้ว ต้องมีการแก่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาแน่นอน

พรรคจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น  300 บาทต่อวัน เพื่อปรับฐานเงินประกันสังคมให้สูงขึ้น  เนื่องจากขณะนี้เงินบำนาญชราภาพซึ่งอยู่ประมาณ  2-3 พันบาทไม่เพียงควรจะอยู่ที่  5-6  พันบาท  ส่วนประกันสังคมจะปฏิรูปให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เลือกกรรมการประกันสังคมโดยตรงจากแรงงานซึ่งต้องหารือกันว่าจะเป็นลักษณะเลือกแบบหนึ่งคะแนนเสียงหรือเป็นกลุ่มอาชีพ และสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคมโดยจ่ายเงินสมทบตามกลุ่มอาชีพซึ่งแต่ละกลุ่มอาชีพไม่เท่ากัน และเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มอาชีพมากำหนดกฎเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบ และรัฐบาลต้องสนับสนุนด้วย

สภาพปัญหารัฐวิสาหกิจคือ เป็นการผูกขาดและขาดการแข่งขันเท่าที่ควร แต่เห็นด้วยกับการที่ไม่ขายรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องเปิดให้มีการแข่งขันได้ จะคิดไหมว่า ภาคเอกชนมาผลิตไฟฟ้าและให้ประชาชนมีสิทธิในการที่จะเลือกใช้ไฟฟ้าของบริษัทใดหรือรัฐวิสาหกิจก็ได้ โดยต้องมีกองทุนเข้ามาสนับสนุน ควรวางระบบพัฒนารัฐวิสาหกิจให้โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก

เรื่องสิทธิในการเลือกตั้งของผู้ใช้แรงงาน ตามความจริงข้อเสนอของแรงงานมีอยู่แล้ว และในส่วนของเจ้าบ้านต้องแจ้งภายใน 15 วัน ให้ทะเบียนราษฎรเข้ไปตรวจสอบการเข้าอยู่อาศัยของคนงานที่ไปเช่าบ้าน และเดียวนี้มีการแจ้งย้ายปลายทางได้ ทะเบียนราษฎร เจ้าบ้านจะต้องทำหน้าที่ย้ายเข้าย้ายออกจากบ้านเช่า

ส่วนการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยควรมุ่งส่งเสริมความปลอดภัยโดยใช้ระบบไตรภาคีทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการต้องเป็นคนที่รู้ปัญหา เป็นกลางจริง และระดับโรงงานช่วยกันดูแลเน้นใช้เทคโนโลยี การวิจัยและมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความปลอดภัยเพราะปัจจุบันค่ารักษาผู้บาดเจ็บจากการทำงานอยู่ที่ปีละ 4 พันล้านบาท แต่งบตั้งกองทุนอยู่ที่ 1 พันล้านบาท

การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง หากนายจ้างเจ้งไม่จ่ายค่าชดเชยให้นำเงินกองทุนมาจ่าย หากนายจ้างจ่ายค่าชดเชยแล้ว ก็สามารถนำเงินคืนจากกองทุนได้ การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่ดี

กรณีการคุ้มครองแรงงานนอกระบบนั้น เนื่องจาก แรงงานนอกระบบมีจำนวนมาก กลุ่มแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง ต้องให้มีการรวมตัวรวมกลุ่มได้ จะมาทำประกันกลุ่มในการส่งเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อดูว่า อาชีพไหนมีความรุ่งเรือง หรืออาชีพไหนที่มีสภาพไม่ดี รัฐจะสมทบเพิ่มให้ ปัญหาเพราะแต่ละอาชีพมีรายได้ไม่เท่ากัน จึงควรดูแต่ละกลุ่ม แต่ละสมาคม และการดูแลแรงงานต่างด้าวนั้นไทยควรยกร่างกฎหมายขึ้นมาดูแลทั้งในเรื่องค่าจ้าง การศึกษา สุขภาพอย่างเป็นระบบ  เนื่องจากในปีพ.ศ.2558 จะเกิดประชาคมอาเซียน รวมทั้งเตรียมจัดทำอนุสัญญารองรับแรงงานอาเซียนและวางมาตรการดูแลแรงงานไทยให้แข่งขันกับแรงงานต่างชาติได้

นายมนัส     โกศล    ผู้สมัครสส.พรรคชาติไทยพัฒนา  กล่าวว่า  มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาของแรงงาน โดยนำนโยบายแรงงานทั้ง 9 ข้อไปผลักดัน การที่มาลงสมัครในพรรคชาติไทยพัฒนา เนื่องจากแรงงานนอกระบบอีก 24 ล้านคนที่ไม่ได้มีสิทธิในการรวมตัว เรื่องอนุสัญญาไอแอลโอนั้นเห็นว่ารัฐบาลต้องรับรองและต้องออกกฎหมายลูกรองรับตามรัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2550 ที่ระบุให้องค์กรต่างๆจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 ซึ่งต้องมีการแก้ไขทันที เพราะปัญหาแรงงานที่ยังถูกนายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือการกระทำอันไม่เป็นธรรมยังมีอยู่จำนวนมาก

ส่วนเรื่องการปฏิรูปประกันสังคม เห็นด้วยกับปรับโครงสร้างการบริหารให้เป็นองค์กรอิสระ รวมทั้งการใช้บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล  ทั้งนี้  การแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมพรรคจะยึดตามร่างพ.ร.บ.ฉบับของแรงงานเป็นหลัก แต่การที่จะนำร่างพ.ร.บ.ฉบับของคณะกรรมการสมานฉันท์เสนอคงเป็นไปไม่ได้ เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ มีเจ้าของราว 10 ล้านคน แต่หากเป็นรัฐบาลจะผลักดันแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมเข้าสู่วาระที่สองของสภาฯทันที 

นโยบายพรรคปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันและยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากไม่มีตัวแทนลูกจ้างอย่างแท้จริง  กรณีข้อเสนอเรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตนเห็นด้วยว่าไม่ควรมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่การที่จะเอารัฐวิสาหกิจที่ขายไปแล้วอย่าง ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) กลับมาเป็นของรัฐวิสาหกิจคงเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐวิสาหกิจที่มีการยุบไปมีหลายแห่งแล้ว กรณีการใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นแก้ไขไม่ยาก มีบัตรประกันสังคมออนไลน์ บัตรประกันสังคมมีเลขบัตรประชาชน อยู่แล้ว ควรมีการแก้ระเบียนสิทธิในการเลือกตั้งโดยให้ผู้ใช้แรงงานที่มีบัตรประกันสังคมใช้สิทธิตามบัตรประกันสังคม ซึ่งการที่ตนทำงานอยู่ที่สมุทรปราการมานานมีแรงงานที่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการจำนวนมาก แต่ไม่มีสิทธิเลือกสส.สว. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ โดยถือว่าเป็นประชากรแฝงมาอาศัยทำงานเท่านั้น จึงคิดว่าสามารถทำได้หากได้เป็นรัฐบาล

เรื่องความปลอดภัยในการทำงานนั้น รัฐธรรมนูญ กำหนดมาตรา 44 ให้มีการกำหนดกฎหมายคุ้มครองเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม  แต่วันนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดกล่าวถึงในส่วนของร่างพ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ตนคิดว่า เงินทุนมีพันล้าน ดอกผลนำมาจากกองทุนเงินทดแทน 32 เปอร์เซ็นต์ แก้เพิ่มจาก 22 เปอร์เซ็นต์ ต้องให้มีการปรับกรรมการให้มีสัดส่วนเท่ากันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

ส่วนการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงฯควรเน้นบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 118  และตั้งกองทุนสงเคราะห์แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง    ส่วนการดูแลแรงงานนอกระบบมีนโยบายให้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสลิปเงินเดือน เช่น  แม่ค้า  เกษตรกร ส่งเงินคนละ 100 บาทเป็นเวลา 100  วันก็สามารถกู้เงินธนาคารได้  1 แสนบาทคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 

นายสมศักดิ์    โกศัยสุข   หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่  กล่าวว่า เรื่องอนุสัญญาไอแอลโอนั้นจะต้องต่อสู้กันต่อไป ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสหภาพแรงงานน้อยที่สุด มีสมาชิน้อยมากแค่ 4 แสนคน ท่ามกลางสิทธิในการรวมตัวของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติไม่มี หากได้เข้าสู่การเมืองจะต้องมีการผลักดันให้เกิดสิทธิการรวมตัวของแรงงาน เรื่องกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ คิดว่ายังไม่มีความคุ้มครองแรงงานทั้งระบบและแรงงานรัฐวิสาหกิจด้วย จึงคิดว่าควรจะใช้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ฉบับเดียวกัน การปฏิรูปประกันสังคมพรรคจะยึดตามข้อเสนอของแรงงาน และยึดร่างพ.ร.บ.ฉบับของแรงงานเป็นหลัก รวมทั้งเสนอให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะภาคเกษตร และการจ่ายเงินสมทบนั้น ภาครัฐ ควรจ่ายในอัตราที่เท่ากับผู้ประกันตน และนายจ้างอย่าตีตั๋วเด็ก เพราะจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้

ส่วนนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศขณะนี้ควรปรับเป็น 421 บาทต่อวัน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตอยู่ได้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ

เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานรัฐที่มีการส่งรายได้เข้าสู่กองทุน เพื่อให้นำเงินมาใช้ในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญเติบโต และยังเป็นการช่วยให้ประชาชนได้รับการบริการที่ถูก เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เป็นสวัสดิการให้ประชาชนด้วย และควรยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  11  ฉบับ เนื่องจากผลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำให้คนไทยถูกโกงเงินภาษีและเงินรายได้ต่างๆไปแล้ว 1 ล้านล้านบาทเช่น แปรรูปปตท.มีรายได้ปีละ  2  แสนล้านบาทแต่เงินเข้าสู่รัฐ  4-5  หมื่นล้านบาท   จึงควรเอาปตท.กลับคืนมาเป็นของประชาชน

การใช้สิทธิในการเลือกตั้งข้อเสนอของแรงงานนั้น การที่นักการเมืองไม่ยอมให้มีการจัดให้สิทธิแรงงาน เพราะว่า หากแรงงานสามารถที่จะใช้สิทธิเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)ในพื้นที่ได้ก็จะเกิดอำนาจการต่อรองทางการเมืองมากขึ้น

ส่วนการจัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯควรมุ่งส่งเสริมป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานเป็นหลักมากกว่าเน้นการชดเชยค่ารักษาพยาบาล สถาบันควรมีงบในการทำงานอย่างเพียงพอ 5 พันล้านบาท การบริหารเพื่อการทำงานวิจัย ทำข้อมูล เพื่อให้เกิดการป้องกันอย่างครบวงจร และการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงฯ ควรเน้นบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้นายจ่ายชดเชยกรณีเลิกจ้างอย่างเข้มงวด ส่วนการดูแลแรงงานต่างด้าวควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

นายโอฬาร   กาญจนกาศ  ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า พรรคมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศใน 4 ปี แบ่งเป็นปีละ  50 บาทเพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ  ส่วนประกันสังคมรับทุกข้อเสนอของแรงงานและจะผลักดันให้ถึงที่สุด อีกทั้งพรรคมีนโยบายให้เงินค่ารักษาพยาบาลแก่ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบในลักษณะคูปองคนละ 5 พันบาทต่อปีโดยแยกเป็นคูปองใบละ 100 บาทและผู้ประกันตนจ่ายเพิ่มอีก 50  บาทก็เข้าสู่ประกันสังคมได้ รวมทั้งจ่ายค่ารักษาเพิ่มเป็น 2 เท่า  พรรคคิดว่า หากเป็นรัฐบาลจะไม่นำรัฐวิสากิจที่เกิดผลกระทบต่อประชาชนไปขาย ปตท.ที่จะนำกลับมานั้นต้องดูว่า จะนำกลับอย่างไร ต้องดูแต่เห็นด้วยว่าจะนำกลับมาอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง แต่อย่างไรต้องมีการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สามารถ

ส่วนการจัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯนั้นเห็นด้วยและจะกำหนดสัดส่วนอนุกรรมการให้ดีที่สุด ในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติคิดว่าควรให้ได้รับค่าจ้างสวัสดิการเท่ากับแรงงานไทย

ทั้งนี้ หลังตอบคำถามตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆได้ร่วมลงนามข้อตกลงสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยทั้ง 9 ข้อ เพื่อการผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป หลังการได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล

ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์   คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายของพรรคการเมืองเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำค่อนข้างที่จะเกทับกันสูงโดยเสนอตัวเลขแข่งขันรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นบ่อนทั้งๆที่การพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นระบบไตรภาคีทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและภาครัฐซึ่งไม่มีใครสามารถบงการได้  “ไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคการเมืองจึงไม่รู้ถึงกระบวนการการได้มาซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำ  หากจะให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายพรรคการเมืองก็จะต้องล้มระบบไตรภาคีเท่านั้น”    

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  นโยบายโดยรวมของพรรคการเมืองในขณะนี้เป็นผลประโยชน์ระยะสั้นที่ให้ประชาชน แต่ระยะยาวประเทศชาติจะเสียหาย ส่วนนโยบายแรงงาน มองเพียงเรื่องการแข่งขันกันเสนอนโยบายปรับค่าจ้าง ยังขาดเป้าหมายการพัฒนาขบวนการแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีการปรับตัวให้เท่าทันกับการแข่งขันของโลก ซึ่งสะท้อนว่าแต่ละพรรคการเมืองไม่รู้เรื่อง หรือไม่ให้ความสำคัญกับแรงงาน โดยเฉพาะนโยบายของภูมิใจไทยที่จะเอาเงินประกันสังคมมาจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง ยิ่งไม่สามารถทำได้ เพราะเงินประกันสังคมเป็นของผู้ประกันตน ไม่ใช่ของรัฐบาล

ส่วนข้อเรียกร้องของ คสรท.ยังขาดประเด็นเรื่องสวัสดิการในที่ทำงาน จึงขอแนะนำให้แรงงานควรมีพรรคการเมืองเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานเองในสภา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคใหญ่ก็ได้ โดยต้องการสนับสนุนพรรคที่เราคิดว่าเป็นตัวแทนของแรงงาน “การเรียกร้องผ่านพรรคการเมืองที่มีนายทุนเป็นหลัก จะไม่ได้อะไร นอกจากเศษเนื้อที่โยนมาให้เท่านั้น ถ้าแรงงานมีตัวแทนเป็นพรรคการเมืองในสภา ซึ่ง คสรท.มีสมาชิกกว่า 280,000 คน เท่ากับฐานเสียงของ สส. แบบบัญชีรายชื่อ วาระแรงงาน จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง”

รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานโครงการสตรีและเยาวชนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แรงงานอย่าตกหลุมพรางนักการเมืองที่ใช้การลดแลกแจกแถมจูงใจ ทั้งยังไม่รู้จะได้จริงหรือไม่ การแก้ปัญหาแบบนี้ไม่มีทางทำให้แรงงานเข้มแข็งได้ และไม่ทำให้แรงงานมีอำนาจการต่อรอง “ข้อเสนอที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า หลังจากนี้จะได้รับการเลือกตั้งแล้วจะเหลียวแลหรือไม่ เห็นด้วยหากมีตัวแทนแรงงานที่เป็นสส.เข้าไปนั่งทำหน้าที่ในสภาฯ เพื่อต่อรองทรัพยากรและประโยชน์ที่พึงได้ แม้อาจดูไกลเกินไป แต่เป็นเรื่องที่ควรขบคิดในฐานะที่แรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่รัฐบาลที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองไม่เคยคิดถึงแม้แต่รัฐบาลเดียว

นางสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า นโยบายแรงงานของแต่ละพรรคไม่เห็นอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากจะสู้กันว่า ใครให้มากกว่าใครเท่านั้น เหมือนว่าแข่งกันซื้อเสียงผู้ใช้แรงงานล่วงหน้า โดยเอาภาษีประชาชนมาแจก ไม่ได้คิดว่าเรื่องค่าแรงไม่สำคัญ เพียงแต่ต้องการให้มองถึงความเป็นธรรม และกำหนดให้เท่ากันทั้งประเทศ บนพื้นฐานตัวเลขค่าแรงที่ความเหมาะสม เป็นไปได้ ไม่ใช่รอให้ผู้ใช้แรงงานออกมาเรียกร้องตามท้องถนน

การนำเสนอนโยบายครั้งนี้ ไม่เห็นนโยบายด้านประกันสังคม มีบ้างที่ไปคาบเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพ แต่ยังเดินตามแนวทางเดิม ประชาธิปัตย์ยืนยันใช้บัตรประชาชนใบเดียวภายใต้เงื่อนไขต้องอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่เพื่อไทยหนักกว่าคือจะคืนชีพ 30 บาทรักษาทุกโรค สิ่งที่ขาดจริงๆคือ ทำอย่างไรให้เรื่องสุขภาพเป็นมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ ทั้งหลักการจ่ายเงิน และสิทธิประโยชน์ โดยยกเลิกการจ่ายเงินประกันตน เพราะกลุ่มแรงงานที่จ่ายเงินสมทบได้ประโยชน์น้อยมาก แถมได้รับบริการที่ห่วย ซึ่งในประเด็นนี้ก็ถูกระบุไว้ในข้อเสนอของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป แต่กลับไม่ปรากฏในนโยบายของพรรคใด

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน