แรงงานร่วมปฏิบัติการพลเมือง เลือกตั้ง 54 ชี้อนาคตประเทศไทย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน 90 องค์กรในภาคกลาง และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดเวที ปฏิบัติการพลเมือง เลือกตั้ง 54 ชี้อนาคตประเทศไทย “เสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554  ณ อาคารวิทยทัศน์ ศูนย์สัมมนาและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช เมืองทอง นนทบุรี เพื่อเป็นเวทีในการความร่วมมือของเครือข่ายทางสังคมร่วม ร่วมขับเคลื่อนการเลือกตั้งให้มีคุณภาพ ปราศจากความรุนแรง เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ประชาชนทั่วไปตระหนักในความสำคัญของการใช้สิทธิ์โดยพิจารณานโยบายพรรคเป็นสำคัญ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 900 คน โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยนำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบรวมถึงองค์กรแรงงาน และเครือข่ายแรงงานต่างๆ นำทีมผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบเข้าร่วมจำนวนกว่า 100 คน และได้ร่วมเสนอนโยบาย และอ่านแถลงประเด็นข้อเสนอของแรงงานต่อพรรคการเมืองดังนี้

แรงงานปัญหาของคนกว่า 38 ล้านคนที่พรรคการเมืองต้องใส่ใจ

ภาพรวมของแรงงานในประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้แรงงานราว 37 ล้านคน เป็นข้าราชการทหารตำรวจและพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างรัฐ 3.5 ล้านคน ที่เหลือเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคเอกชน แต่จากสถิติของสำนักงานประกันสังคมพบว่ามีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนอยู่ในระบบประกันสังคม เพียง 8,886,681 คน ที่เหลือราว 24.1 ล้านคนเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ยังมีแรงงานไทยที่ออกไปทำงานในต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งราว 470,000 คน และเชื่อว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายอีกราว 2 – 4 ล้านคน ฉะนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่คือคนส่วนใหญ่ของประเทศที่พรรคการเมืองทั้งหลายจะต้องให้ความสนใจ

ปัญหาของแรงงานในประเทศไทย

ผู้ใช้แรงงานแต่ละกลุ่มมีสภาพการจ้าง ค่าจ้าง สวัสดิการ หลักประกันเกี่ยวกับความมั่นคงในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันออกไป กล่าวโดยรวมแล้วแรงงานในประเทศไทยยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลาย เนื่องประเทศไทยยังไม่ยอมรับสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งทั่วโลกถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มีคนงานเป็นสมาชิกองค์กรแรงงานเพียง 1.3 % ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้แรงงานมีอำนาจในการต่อรองต่ำ ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง จึงมีสภาพการจ้างงานที่เลวร้าย ค่าจ้างต่ำมาก ทำให้คนงานแต่ละคนต้องทำงานล่วงเวลายาวนาน เพื่อให้ได้ค่าจ้างเพียงพอที่จะดำรงชีพอยู่ได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตต่ำ ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ระบบประกันทางสังคมยังไม่มีคุณภาพ และไม่ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ความไม่เป็นธรรมที่เกิดแก่คนงานคือรากเหง้าของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ต้นเหตุของปัญหา  สาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาแรงงานในประเทศไทยมี 4 ประการใหญ่คือ

          1. กรอบในการพัฒนาประเทศที่เป็นเสรีนิยมสุดโต่ง มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรม พึ่งพิงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นราคาถูก ให้น้ำหนักกับความสำเร็จทางเศรษฐกิจละเลยความเป็นธรรมทางสังคม

          2.  ค่านิยมและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอุปถัมภ์ ที่ไม่ยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนในสังคม วัฒนธรรมแบบนี้ได้สร้างระบบแรงงานสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ที่ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของแรงงาน

          3.  กลไก สถาบัน หน่วยงาน และกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงาน ไม่เอื้อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงาน ตรงข้ามมุ่งเอื้อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน

          4. ขบวนการแรงงานอ่อนแอ ไม่เป็นเอกภาพ เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับและส่งเสริมจากรัฐ

ข้อเสนอเพื่อ เปลี่ยนกรอบการพัฒนามาสู่การสร้างความสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมกับเกษตร เมืองกับชนบท ทุนกับแรงงาน ปฏิรูป และสร้างกลไก สถาบัน หน่วยงาน และกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานให้เอื้อประโยชน์ต่อแรงงาน อาทิ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ปัญหาด้านความไม่ปลอดภัย อาชีวอนามัย การประสบอันตราย และการเจ็บป่วยซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงและการสูญเสียเพิ่มมากขึ้น จากสถิติของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในปี 2553 มีตัวเลขผู้ใช้แรงงานในระบบภาคอุตสาหกรรมจำนวน 146,511 ราย ที่ประสบอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงาน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 619 ราย หรือมีผู้ใช้แรงงานที่เสียชีวิตจากการทำงานวันละ 2 คน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในภาวะเสี่ยงภัยต่อสารพิษสารเคมี เครื่องจักรที่ไม่ปลอดภัยในการทำงาน เสียชีวิตจากโรคจากสารเคมีและมลพิษในโรงงาน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทนได้

ในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นเรื่องที่ได้รับการพิจารณามากขึ้นทั้งในระดับลูกจ้าง และนายจ้าง เนื่องจากความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการดูแลสิทธิของแรงงาน กระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 ก็ได้บรรจุบทบัญญัติมาตรา 44 เอาไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทางาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวการณ์ทำงาน จนในที่สุดขบวนการแรงงานได้ผลักดันพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นผลสำเร็จในปีพุทธศักราช 2554

ภายในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้มีสาระสำคัญซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการเรียกร้องของคนงาน ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมสิทธิและการทำงานในเชิงการป้องกัน ปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานนั้น จะต้องประกอบเป็นองค์กรอิสระในการบริหารจัดการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน 

สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมป้องกันการแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัย โดยมีศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ในการติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัย ควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐอย่างเพียงพอ และได้รับดอกผลของกองทุนเงินทดแทนเป็นร้อยละ 20 ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ ที่มีสัดส่วน 11 คน แบ่งเป็น ประธาน 1 คน เป็นกรรมการฝ่ายลูกจ้าง 2 คน นายจ้าง 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ต้องมาจากการสรรหาและไม่ใช่ราชการที่มีเงินเดือนประจำ กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง 2 คน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (ผู้อำนวยการสถาบันฯ และเลขานุการต้องได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสถาบัน)

การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้

การประกันสังคม เป็นการให้หลักประกันทางสังคมในระยะยาวอีกระบบหนึ่งที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ประชาชนผู้มีรายได้แต่ละคนมีส่วนช่วยตนเองหรือครอบครัว หรือระหว่างผู้มีรายได้ในสังคมด้วยการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยมีนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ ร่วมกันจ่ายเงินสมทบ

สำหรับระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย ระบบประกันสังคมไทยดำเนินงานมากว่า 20 ปี และมีพัฒนาการทั้งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย การบริหารจัดการกองทุน ตลอดจนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในหลายด้าน 

ในปัจจุบันระบบประกันสังคมยังไม่สอดคล้องหรือเท่าทันต่อสถานการณ์แรงงาน กล่าวคือ 

          1) กฎหมายประกันสังคมยังมีข้อจำกัดยกเว้นกิจการที่ไม่บังคับใช้เป็นจำนวนมาก เช่น คนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างในภาคเกษตร หาบเร่แผงลอย และลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐและองค์การอิสระต่างๆ 

          2) สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยยังหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และไม่นำส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม 

          3) การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมยังขาดมาตรฐาน 

          4) การบริหารกองทุนโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ไม่โปร่งใส นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการปฏิรูปประกันสังคมในปัจจุบัน ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการระบบประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ, มีกลไกและกระบวนการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส, การขยายการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน การประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน การมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) และบัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล

ระบบค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการปรับค่าจ้างประจำปี ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงค่าครองชีพกับราคาสินค้าและบริการหรืออัตราเงินเฟ้อ 

ในปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของคนงานในแต่ละวัน คนงานจึงต้องทำงานล่วงเวลาเป็นประจำเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ ทั้งนี้ สถานประกอบการจำนวนมากกำหนดค่าจ้างโดยใช้เกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำ โดยไม่มีการปรับค่าจ้างประจำปีที่เหมาะสมการเรียกร้องค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมโอกาสมีงานทำที่มีคุณค่า (Decent Work) ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ดำเนินการให้มีการส่งเสริมแก่ทุกรัฐบาล องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในการเสริมสร้างคุณค่า (Decent Work Deficits) ในแต่ละประเทศ ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์รงงานไทยได้เรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม ในอัตรา 421 บาท เท่ากันทั้งประเทศ โดยทำการสำรวจค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพต่อวันต่อคน และค่าใช้จ่ายรายเดือนของคนงานในการยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว ตั้งแต่ปี 2552 ปฏิรูปองค์กรไตรภาคีและ หน่วยงานรัฐทั้งหลาย ปฏิรูปกฎหมายแรงงานสำคัญ ๆ เช่นกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

การเปลี่ยนค่านิยม วัฒนธรรมอุปถัมภ์แบบ “นายกับบ่าว” มาสู่ “การเป็นหุ้นส่วนทางสังคม” Social Partnership ที่ยอมรับในความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่สามารถคุยด้วยเหตุผลร่วมโต๊ะเดียวกันได้ โดยการส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงานทุกภาคส่วนอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับคนงานทุกภาคส่วน ด้วยการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง เนื่องจากเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานของการสร้างความเป็นธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับ และรับรองไว้ในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยมีภาคีสมาชิกจำนวน 183 ประเทศ

อนุสัญญาหลักทั้งสองฉบับนี้ยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 64 ว่าด้วย “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น …” การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้จึงเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกด้วย

การแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เนื่องจากสภาพปัญหากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีความสอดคล้องต่อการรองรับสิทธิแรงงานที่ถูกกำหนดไว้ในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิการรวมตัวเป็นองค์กร ทั้งแรงงานเอกชน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จึงควรมีการปรับปรุงให้มีความส่งเสริมและสนับสนุน คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน

นักสื่อสารแรงงาน โครงการพัฒนาสื่อ รายงาน