นักวิชาการแนะแรงงานเลิกพึ่งการเมือง – เร่งสร้างจุดยืน “ปชต.กินได้!”

นักวิชาการ ชี้ – การเมืองเปิดช่องรัฐแย่งซีน  ลดบทบาทขบวนการแรงงาน – แนะขบวนการแรงงานต้องเลิกพึ่ง หลังต่อสู้อย่างยาวนาน เร่งสร้างจุดยืน ประชาธิปไตยกินได้
 
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริคเอแร์ท ได้จัดประชุมเพื่อประเมินผลการดำเนินงานในรอบปี 2553 ณ รอแยลฮิลล์ รีสอร์ท  จ.นครนายก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้นำแรงงาน นักวิชาการด้านแรงงาน และองค์กรภาคประชาชน เข้าร่วมกว่า 80 คน
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อสรุปประเมินผลและวางแผนงานประจำปี 2554 เพื่อวิเคราะห์การทำงานในรอบปีที่ผ่านมาว่าประสบผลสำเร็จเพียงใดและร่วมกันวางแผนงานในการขับเคลื่อนขบวนการให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับการคุ้มครองและได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น
 
ด้านนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยมูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน กล่าวว่า สถานการณ์ด้านแรงงานมีข้อสังเกตุว่านั้นในปี 53 มีการตั้งสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้นกว่า 70 สหภาพแรงงาน แต่ภาพรวมผู้ใช้แรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 338,000 คนเศษ จากคนงานทั่วประเทศกว่า 35 ล้านคน แต่ก็เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาราวหนึ่งหมื่นคนเศษ ส่วนค่าจ้างแรงงานนั้นมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการขับเคลื่อนของแรงงานพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเรื่องค่าจ้างเป็นธรรมนั้น ไม่มีผลต่อการปรับค่าจ้าง ยังต้องพึ่งกระแสการเมืองและตัวนักการเมืองในการกำหนดทิศทางการปรับค่าจ้างเป็นหลัก เช่นการนำเสนอทิศทางการปรับค่าจ้างของนายกรัฐมนตรีที่ 250 บาทต่อวัน ทางองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยที่นำโดยนายมนัส โกศล เสนอปรับค่าจ้าง 10 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ส่วนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอแนวการปรับค่าจ้างที่เป็นธรรม ที่คนทำงาน ครอบครัวสามารถอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือ 421 บาทต่อวัน ซึ่งโดยสรุปค่าจ้างที่มีการปรับขึ้นเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยปรับขึ้นตั้งแต่ 8-17 บาทต่อวัน โดยส่วนใหญ่ที่มีการปรับค่าจ้างค้อนข้างสูงคือพื้นที่ภาคใต้ จึงคิดว่า การปรับค่าจ้างครั้งนี้ที่จังหวัดภูเก็ตปรับสูงเป็นประวัติศาสตร์น่าจะมากจากผลทางการเมืองมากกว่า ผลจากการขับเคลื่อนเรียกร้องของแรงงาน
 
นักการเศรษฐศาสตร์ชี้การเมืองแทรกแซงช่วงชิงเสนอนโยบายลดทอนความสำคัญขบวนการแรงงาน ยื่นผลประโยชน์ให้ผู้นำ มุ่งเน้นบรรลุเป้าหมายทางการเมือง
 
ด้าน ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ในปี  2554 จะมีการช่วงชิงด้านการเมืองค่อนข้างสูง มีการกำหนดนโยบายเฉพาะหน้าเพื่อเอาใจประชาชนกลุ่มภาคต่างๆเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ทางการเมืองในอนาคต รวมถึงจะมีการซื้อตัวผู้นำแรงงานในการให้เข้าไปมีส่วนร่วมทางตำแหน่งต่างๆทางการเมืองมากขึ้นเพื่อควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนไหว 
 
ตนขอเสนอว่า คนงานควรต้องมีจุดยืนที่มั่นคงโดยต้องไม่พึ่งพิงนักการเมืองมากนัก ต่อประเด็นการยื่นข้อเสนอต่างๆทางนโยบาย การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงาน การให้รัฐบาลการเมืองเข้ามาแก้ไขปัญหาให้มากเกินไปจนบางครั้งมากเกินกว่าความต้องการเช่นการกำหนดนโยบายประชาวิวัฒน์ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาทางการเมืองกับกลุ่มแรงงานนอกระบบบางกลุ่มเท่านั้นและเป็นกลุ่มแรงงานที่อยู่ในเขตกรุง ต้องสร้างอำนาจต่อรอง  แต่ควรใช้นักการเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ และต้องทำให้ประชาธิปไตยที่กินได้ ไม่ใช้ประชาธิปไตยแบบเลื่อนลอยเหมือนในปัจจุบัน
 
ชี้แรงงานยังคงขับเคลื่อนประเด็นผ่านการร้องขอให้นักการเมืองช่วยเหลือ
 
เช่นเดียวกับ อาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าวว่ายุทธวิธีที่ขบวนการแรงงานมักใช้ในการเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆมักพยายามใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้มีอำนาจในการขอความช่วยเหลือซึ่งจะไม่ยั่งยืนอีกทั้งขบวนการแรงงานเองก็ไม่มีความชัดเจนต่อประเด็นสิทธิเสรีภาพเช่นการปฏิวัติรัฐประหาร การใช้ พระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ก.)ฉุกเฉินและได้ให้ความเห็นถึงแนวโน้มในการปฏิวัติรัฐประหารว่ามีการพูดถึงในวงกว้างรวมถึงในต่างประเทศซึ่งการเมืองไทยตอนนี้เป็นช่วงระยะเปลี่ยนผ่านมีความไม่แน่นอนและมีความรุนแรงมากขึ้นตอนนี้พลังการเมืองนอกระบบได้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายกองทัพกำลังมีความเข้มแข็งมากขึ้นมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจไปในหลายรุ่นหลายส่วน เพิ่มบทบาทและอำนาจในทางการเมืองมากขึ้นในขณะที่พลังการเมืองในระบบปกติเช่น ระบบพรรคการเมือง ระบบรัฐสภาและพลังการเมืองที่อยู่เหนือระบบกลับเปราะบางและอ่อนแอลงขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน สภาพสังคมที่มีการแตกขั้วแบ่งข้างตามชนชั้นนำที่มีบทบาทในการเป็นผู้คุ้มครองอุปถัมภ์ แต่ผลประโยชน์กลับไปตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจกลุ่มทุนที่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมือง
 
พรณาราย ทุยยะค่าย นักสื่อสารแรงงานศูนย์สระบุรี และ
มงคล ยางงาม ศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ นครปฐม-สมุทรสาคร รายงาน