7 องค์กรแรงงาน แถลงอย่าสองมาตรฐานต้องขึ้น 300 บาททันทีทั่วประเทศ

เครือข่ายองค์กรแรงงาน แถลงรัฐนโยบายปรับค่าจ้าง 300 บาท ต้องเท่าเทียม พร้อมกันทั่วประเทศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน ปรับ 7 จังหวัด เมินแรงงานที่เหลือ พร้อมเตรียมยื่นฟ้องร้องศาลปกครองฐานไม่ปฏิบัติตามสัญญาประชาคมที่ประกาศไว้

ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค ดินแดง กรุงเทพมหานคร  เครือข่ายองค์กรแรงงานประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 5 สภาองค์การลูกจ้าง และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ร่วมกันแถลงการณ์ เรื่อง นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน… ต้องเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้รณรงค์หาเสียงโดยประกาศว่า หากได้รับการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล จะดำเนินการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศในทันที ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากพึงพอใจกับนโยบายดังกล่าวและให้การสนับสนุนนโยบายนี้ จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล  

พวกเรา  เหล่าผู้ใช้แรงงาน ต่างคาดหวังว่ารัฐบาลจะนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติทันทีตามที่สัญญาไว้ แต่กลับมีพลังกดดันอย่างเข้มข้นจากฝ่ายผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง จนทำให้รัฐบาลยินยอมลดเป้าหมายในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวลง จนล่าสุดมีข่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการนโยบายนี้เฉพาะใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล และภูเก็ต

          พวกเรา เครือข่ายองค์กรแรงงาน อันประกอบด้วยองค์กรแรงงานระดับชาติ ดังมีรายชื่อข้างล่าง ได้ติดตามประเด็นค่าจ้างมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่า การปรับค่าจ้างเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และจะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ผู้ใช้แรงงานในทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบเท่าเทียมกัน ดังข้อเท็จจริงที่ได้จากสำรวจค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานในหลายจังหวัด พบว่า ผู้ใช้แรงงานในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ใช้แรงงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่มีค่าครองชีพไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น พวกเรา เครือข่ายองค์กรแรงงาน จึงขอแสดงจุดยืนในประเด็นค่าจ้างดังต่อไปนี้

1.  ขอสนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้ เพราะเราเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยได้ทำการศึกษามาเป็นอย่างดีก่อนการรณรงค์หาเสียง ว่าสามารถทำได้ และนโยบายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาประชาคมระหว่างพรรคกับประชาชนที่เลือกพรรคมาอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้แรงงานในภาคเหนือและภาคอีสาน ดังนั้น รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยต้องไม่เลือกปฏิบัติกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานในต่างจังหวัด

2.  พวกเรา เครือข่ายองค์กรแรงงาน จะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการตามนโยบายค่าจ้าง 300 บาท จนประสบผลสำเร็จ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่แท้จริง

——————————————————-

เครือข่ายองค์กรแรงงาน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย

สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย

สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย

สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย

สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งชาติ

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

ณ วันที่ 5 กันยายน 2554