​“รู้จัก ILO ว่าด้วยคุ้มครองแรงงานหญิง-สิทธิความเป็นมารดา”

“รู้จักและเข้าใจอนุสัญญา ILO ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหญิง เกี่ยวกับสิทธิความเป็นมารดาและการคลอดบุตร”
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

27 กุมภาพันธ์ 2560
มาตรฐานการคุ้มครองลูกจ้างหญิงกรณีตั้งครรภ์และคลอดบุตรนั้น มีอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เข้ามาเกี่ยวข้องถึง 4 ฉบับ รวมถึงข้อแนะอีก 1 ฉบับ ไม่ใช่แค่ ILO ฉบับที่ 183 อย่างที่รณรงค์กันในปี 2560 นี้เพียงเท่านั้น (แต่แน่นอน ฉบับที่ 183 ปรับปรุงมาจาก 2 ฉบับแรก ดังนั้นในปัจจุบันแต่ละประเทศจึงรับเฉพาะ 183 และข้อแนะเท่านั้น)

อนุสัญญาฉบับแรกของ ILO ในเรื่องนี้โดยตรง เรียกว่า อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 3 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหญิงเกี่ยวกับสิทธิความเป็นมารดาและการคลอดบุตร ค.ศ.1919 (หรือประมาณปี พ.ศ. 2462 เกือบ 100 ปีมาแล้ว)

อนุสัญญาฉบับนี้เป็นการกล่าวถึงสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ โดยให้ความคุ้มครองอย่างไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องอายุหรือสัญชาติ และไม่ว่าการตั้งครรภ์จะเกิดจากการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม

โดยต้องให้สิทธิลาหยุดงานแก่ลูกจ้างหญิง ซึ่งมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าในช่วงระยะเวลาหกสัปดาห์ข้างหน้าที่ลูกจ้างนั้นอาจคลอดบุตรและห้ามนายจ้างเลิกจ้างขณะที่ลาคลอด หรือยื่นหนังสือเลิกจ้างโดยกำหนดอายุการจ้างงานสิ้นสุดในขณะที่ลาคลอด หรือไม่มาทำงานเป็นระยะเวลานานเนื่องจากเจ็บป่วยโดยที่แพทย์รับรองว่าเป็นเพราะการคลอดบุตร หรือเพราะการคลอดบุตรนั้นมีผลทำให้ลูกจ้างไม่มีความเหมาะสมกับงานนั้นอีกต่อไป เว้นแต่จะไม่มาทำงานเกินกว่าที่กฎหมายในแต่ละประเทศให้สิทธิลาหยุดได้นั้น ลูกจ้างอาจถูกเลิกจ้างได้ ตามมาตรา 4 ของอนุสัญญาดังกล่าว

ต่อมาในปี ค.ศ. 1952 ILO ก็ได้ออกอนุสัญญาฉบับที่ 103 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหญิงเกี่ยวกับสิทธิความเป็นมารดาและการคลอดบุตร ค.ศ.1952 (หรือประมาณปี พ.ศ.2495)

ตามอนุสัญญาฉบับนี้ได้ให้ความคุ้มครองในเรื่องต่างๆเพิ่มเติมขึ้นจากฉบับก่อน ดังนี้

(1) การลาคลอด ได้กำหนดระยะเวลาที่หญิงควรจะมีสิทธิในการลาคลอดไว้ไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ โดยที่หกสัปดาห์หลังควรจะเป็นการลาหลังคลอด แต่ถ้าวันคลอดล่าช้ากว่ากำหนดหรือกรณีเจ็บป่วยอันเป็นผลต่อเนื่องจากการตั้งครรภ ก็สามารถยืดระยะเวลาในการลาคลอดออกไปได้อีกตามมาตรา 3

(2) การจ่ายเงินเพื่อการดำรงชีวิตในระหว่างการลาคลอดบุตรและการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นในระยะตั้งครรภ์ก่อนคลอด หลังคลอดบุตร ลูกจ้างควรที่จะได้รับการรักษาพยาบาลตามความจำเป็น โดยมีสิทธิเลือกแพทย์และสถานพยายาลได้ ทั้งนี้อาจจะผ่านระบบประกันสังคมด้วยก็ได้ ตามมาตรา 4

(3) ในระหว่างการเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่ ควรให้หญิงได้มีสิทธิหยุดงานชั่วคราวในระหว่างชั่วโมงทำงานเพื่อให้นมบุตร โดยถือว่าการพักงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเวลาทำงานและต้องได้ค่าจ้างตามมาตรา 5

(4) ห้ามการเลิกจ้างหญิงในขณะที่ลาคลอดหรือยื่นหนังสือเลิกจ้าง โดยกำหนดอายุการจ้างงานสิ้นสุดในขณะที่ลาคลอด ตามมาตรา 6

ต่อมาในปี ค.ศ. 2000 ILO ก็ได้ออกอนุสัญญาฉบับที่ 103 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหญิงเกี่ยวกับสิทธิความเป็นมารดาและการคลอดบุตร ค.ศ.2000 (หรือประมาณปี พ.ศ.2543 ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของประเทศไทย ประกาศใช้ปี 2541)

ตามอนุสัญญาฉบับนี้มีหลักการเช่นเดียวกัน ฉบับที่ 3 และฉบับที่ 103 โดยได้เพิ่มเติมเรื่องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้หญิง ในเรื่องการใช้แรงงาน สุขภาพ และความปลอดภัย ของผู้หญิงซึ่งเป็นมารดาและบุตร โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางเศรษฐกิจสังคมและประเภทของกิจการ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 สนธิสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 อนุสัญญาว่าด้วยผู้ใช้แรงงานและความรับผิดชอบต่อครอบครัว ค.ศ.1981 และข้อแนะที่เกี่ยวข้อง โดยได้ให้ความคุ้มครองในเรื่องการใช้สิทธิลาแก่ลูกจ้างหญิงซึ่งตั้งครรภ์ จนกระทั่งหลังการคลอด ดังนี้

(1) เมื่อได้รับใบรับรองแพทย์หรือมีเหตุอันควรเชื่ออื่น (ตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศกำหนด) ยืนยันว่าลูกจ้างหญิงนั้นมีกำหนดคลอดบุตรเมื่อใด ลูกจ้างมีสิทธิลาได้อย่างน้อย 14 สัปดาห์ ตามมาตรา 4

(2) เมื่อมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าลูกจ้างเกิดเจ็บป่วยหรือเจ็บป่วยอย่างหนัก หรืออาจเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยอย่างหนัก อันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตร อาจมีการกำหนดระยะเวลาที่ให้สิทธิลาไว้เป็นพิเศษได้ ตามมาตรา 5

(3) ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างที่ลา โดยเป็นไปตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศกำหนด ซึ่งจะต้องเป็นอัตราที่เพียงพอต่อเงื่อนไขด้านสุขภาพ และมาตรฐานในการดำรงชีวิตของลูกจ้างและบุตร โดยต้องไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ส่วนของค่าจ้างก่อนการลาที่ลูกจ้างเคยได้รับ หรือของค่าจ้างที่จ่ายให้ โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงาน ตามมาตรา 6

(4) ห้ามนายจ้างเลิกจ้างในระหว่างลูกจ้างตั้งครรภ์ หรือไม่มาทำงานเนื่องจากลา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์ เว้นแต่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร หรือการดูแลเลี้ยงดูบุตร ตามมาตรา 8

นอกจากนี้ยังมีสิทธิหยุดงานชั่วขณะในระหว่างวันเพื่อให้นมบุตร หรือขอลดชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันเพื่อให้นมบุตร โดยสามารถนับชั่วเวลาดังกล่าวเป็นเวลาทำงาน และลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงที่หยุดงานนั้นด้วย ตามมาตรา 10

ในอนุสัญญาฉบับที่ 183 นี้ ได้มีข้อแนะเพิ่มเติม เรียกว่า ข้อแนะที่ 191 ว่าด้วยการคุ้มครองมารดาปี ค.ศ.2000

หลายคนอาจงงว่าอนุสัญญา กับ ข้อแนะ ต่างกันอย่างไร

ดังที่หลายคนทราบแล้วว่าภารกิจสำคัญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คือ การส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานที่ผ่านการรับรองจากที่ประชุมใหญ่แล้ว มาตรฐานแรงงานนั้นอยู่ในรูปของอนุสัญญาและข้อแนะ

อนุสัญญา มีลักษณะคล้ายๆกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เมื่อประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันแล้วก็ผูกพันตนเองที่จะต้องปฏิบัติตามบัญญัติ และเงื่อนไขของอนุสัญญาฉบับดังกล่าวนั้น

โดยเฉพาะหลังจากการให้สัตยาบันแล้ว ประเทศดังกล่าวนั้นต้องออกกฎหมาย ข้อบังคับ หรือแนวปฏิบัติภายในประเทศให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญา และต้องขจัดอุปสรรคในการปฏิบัติตามอนุสัญญา ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกกฎหมายหรือแนวปฏิบัติภายในประเทศที่ขัดกับอนุสัญญา

ส่วนข้อแนะ (Recommendation) นั้น ไม่ต้องมีการให้สัตยาบัน ข้อแนะจะเป็นส่วนขยายอนุสัญญาหรือเกี่ยวข้องกับปัญหาบางอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีพันธกรณีเป็นทางการเหมือนอนุสัญญา เป็นการระบุถึงวิธีการปฏิบัติด้านแรงงานเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้พิจารณานำไปเป็นแนวทางปรับใช้ภายในประเทศ

สำหรับในอนุสัญญาฉบับที่ 183 นี้ ได้มีข้อแนะเพิ่มเติม เรียกว่า ข้อแนะที่ 191 ว่าด้วยการคุ้มครองมารดาปี ค.ศ.2000 ที่ได้เสนอแนะไว้ว่า

(1) ประเทศสมาชิกควรจะขยายเวลาในการลาพักคลอดที่อ้างถึงในมาตรา 4 ของอนุสัญญาเป็นอย่างน้อยที่สุด 18 สัปดาห์ และควรจะมีบทบัญญัติที่ขยายวันลาคลอดในกรณีที่เป็นครรภ์แฝด (ดังนั้นจึงเห็นแล้วว่า 120 วัน มาจากเนื้อหาในส่วนนี้)

(2) ในกรณีที่มารดาเสียชีวิตก่อนครบวันลาพักคลอด หรือในกรณีที่มารดาเจ็บป่วยหรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากที่ได้คลอดบุตรแล้ว และอยู่ในช่วงก่อนวันลาพักคลอดครบกำหนด ซึ่งมารดาไม่สามารถเลี้ยงบุตรได้ บิดาของบุตรควรมีสิทธิได้รับเวลาในการลาพักคลอดส่วนที่เหลือของมารดา รวมทั้งเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน

(3) หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรทำงานที่ส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงงานที่ทำในเวลากลางคืน

(4) ควรมีสถานที่เลี้ยงเด็กและอุปกรณ์ในการให้นมบุตรที่ถูกสุขอนามัยและใกล้สถานที่ทำงาน

(5) แรงงานหญิงที่ลาพักคลอด มีสิทธิที่จะกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมหรือในตำแหน่งที่มีการจ่ายค่าตอบแทนในอัตราที่เท่าเทียมกัน

นอกจากทั้ง 3 อนุสัญญานี้แล้ว ในความเห็นส่วนตัวดิฉัน คิดว่ายังมีอีกอนุสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย ที่ต้องควรรับไปพร้อมกัน เรียกว่า อนุสัญญาฉบับที่ 156 ว่าด้วยผู้ใช้แรงงานและความรับผิดชอบต่อครอบครัว ค.ศ.1981 (the Convention concerning Workers with Family Responsibilities , 1981) เพราะเกี่ยวเนื่องกับการทำหน้าที่บิดา

อนุสัญญานี้ได้ให้ความหมายของ “ลูกจ้างที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว” ตามมาตรา 1 ข้อ 1-4 ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า

ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ซึ่งต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับบุตรที่อยู่ในความอุปการะ สมาชิกในครอบครัวที่เป็นญาติสนิท ซึ่งต้องการการดูแลหรือช่วยเหลืออย่างเห็นได้ชัด โดยความรับผิดชอบเช่นนั้น ทำให้เกิดข้อจำกัดหรือผลกระทบต่อโอกาสในทางเศรษฐกิจของลูกจ้าง ทำให้การให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการใช้สิทธิลาเพื่อดูแลรับผิดชอบต่อครอบครัวนั้น จึงได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 7 ซึ่งมีหลักว่า

มาตรการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไข และความเป็นไปได้ รวมถึงมาตรการที่เกี่ยวกับการฝึกอาชีพของแต่ละประเทศ ควรจะทำให้ลูกจ้างซึ่งต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว สามารถผสานระหว่างการทำงานตามสัญญาจ้างและความรับผิดชอบต่อครอบครัวได้อย่างเหมาะสม และทำให้สามารถกลับเข้าทำงานได้อีกภายหลังที่ได้ขาดงานเพราะความรับผิดชอบต่อครอบครัวดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ยังมีการให้ความคุ้มครองลูกจ้างจากการถูกเลิกจ้าง เพราะเหตุที่ลูกจ้างต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวด้วย ตามมาตรา 8 ซึ่งมีหลักว่า การที่ลูกจ้างต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวนี้ ไม่ควรเป็นเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างแรงงาน

กล่าวได้ว่าอนุสัญญานี้ ได้กล่าวถึง สิทธิของลูกจ้างที่เป็นบิดาเพื่อลาไปเลี้ยงดูบุตรหรือการลาเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่บิดา (Paternity leave) หรือการให้สิทธิลูกจ้างที่เป็นบิดาหรือมารดา ลาเพื่อดูแลเลี้ยงบุตรผู้เยาว์ (parental leave) ซึ่งแต่เดิมให้สิทธินี้เฉพาะหญิงเท่านั้น ซึ่งนี้คือการสร้างให้เกิดความเสมอภาคระหว่างหญิงชายอย่างแท้จริง