เสนอรัฐไทยดูแลสิทธิสวัสดิการแรงงานข้ามชาติ ขจัดกระบวนการค้ามนุษย์

 

20160715_175114

ผู้นำสหภาพแรงงานเสนอให้รัฐจัดระเบียบการขึ้นทะเบียนการพิสูจน์สัญชาติ ดูแลสิทธิและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง

วันที่ 18 ธันวาคม 2559 เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ได้จัดงานเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากลในปี 2559 ตามที่องค์การสหประชาชาติ(UN) ได้ประกาศรับรองให้วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล” ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศตระหนักถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่อพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทาง ให้ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาล และทุกภาคส่วน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ลัทธิความเชื่อ สีผิวและเพศภาพ และในวันนี้ทางเครือข่ายได้จัดงานรณรงค์กันในหลายจังหวัดในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร เป็นการให้ความรู้และรณรงค์ให้ภาครัฐรวมถึงสังคม ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญและคุ้มครองแรงงานขาติชาติ หรือแรงงานเพื่อนบ้าน ในฐานะคนที่มาทำงานพัฒนาประเทศ

โดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ(MWRN) เครือข่ายคนทำงานกับประชากรข้ามชาติ (MWG) ได้ออกแถลงการณ์ เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา โดย 1 ใน 10 ของประชากรไทยเป็นประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564 ประชากรสูงอายุจะมีถึง 1 ใน 5 และในอีก 20 ปี (พ.ศ. 2578) โดยประมาณการ ว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด จากสัดส่วนผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น ได้ส่งผลสำคัญต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานและประสิทธิภาพของแรงงานในระบบโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ยังต้องพึ่งพาแรงงานแบบเข้มข้น

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การก่อสร้าง การบริการ ฯ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ , การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยจำนวนประชากรวัยแรงงานของไทยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.3 และประชากรกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี ลดลงถึงร้อยละ 18 ส่วนกำลังแรงงานไทยช่วงอายุ 15-30 ปี ลดลงร้อยละ 11 เป็นแรงงานสูงอายุมากขึ้น เฉลี่ย 51-60 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 อีกทั้งคนรุ่นใหม่มุ่งศึกษาในระดับอุดมศึกษามากขึ้น หลักสูตรการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการขาดแคลนแรงงานจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสร้างรายได้ ทำให้จำเป็นต้องมีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนในกระบวนการผลิต

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ประมาณการกันว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบเข้ามาทำงาน ตัวเลขที่อ้างอิงจากหน่วยงานต่างๆประมาณ 4,000,000 คนจากกลุ่มใหญ่ 3 ประเทศ คือ ประเทศเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศกัมพูชา แต่ในทางความเป็นจริงไม่มีใครหน่วยงานไหนระบุจำนวนที่แน่ชัดซึ่งอาจมีมากกว่านั้น ในขณะที่กระบวนการในการดูแลเพื่อให้คนงานข้ามชาติได้มีสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามหลักกติกาสากลขององค์การสหประชาชาติ(UN)ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ หลักการคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้องขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)รวมทั้งกฎหมายแรงงานของประเทศไทยที่ได้ให้การคุ้มครองในเรื่องสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับแรงงานไทย แต่ในความเป็นจริงแรงงานข้ามชาติกลับต้องพบปัญหาต่างๆอีกมากมายและเป็นปัญหาแบบเดิมๆ เช่น การเปลี่ยนนายจ้าง การยึดเอกสารประจำตัว การขึ้นทะเบียน การหาประโยชน์จากพวกนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐบางคน การประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน การเข้าถึงสิทธิเรื่องหลักประกันสุขภาพ การเข้าถึงระบบประกันสังคม อิทธิพลจากนายจ้างนายหน้า ข่มขู่คุกคาม บังคับ เกณฑ์แรงงาน ยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องทั้งจากผู้ปฏิบัติงาน องค์กร อาสาสมัครที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิแรงงานข้ามชาติและปรากฏตามสื่อ ทั้งสื่อทั่วไปและสื่อออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังในการละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดรายใหญ่ของการส่งสินค้าออกของประเทศไทย

images

แม้ว่า ประเทศไทยจะให้ความสำคัญและใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาให้มีความเป็นรูปธรรมในหลายด้านโดยเฉพาะในรัฐบาลปัจจุบัน เช่นการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออกนโยบายเพื่อความสะดวกรวดเร็วและคล่องตัวต่อผู้ปฏิบัติงานและแรงงานข้ามชาติเอง รวมทั้งในรัฐสภาโดยสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วนและผ่านความเห็นชอบของสภาเสนอต่อรัฐบาลเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว แต่ก็ยังมีปัญหาตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และเครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้

  1. รัฐบาลควรมีนโยบายและแนวทางระยะยาว ที่ชัดเจนในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและคนข้ามชาติทั้งหมดต่อการจัดระบบแรงงานข้ามชาติกับการเปิดเสรีอาเซียน รัฐบาลควรมีการจัดทำระบบทะเบียนแรงงานข้ามชาติโดยคำนึงถึงสิทธิต่างๆที่แรงงานควรได้รับ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ รัฐต้องกำหนดให้มีกลไกและหน่วยงานรับผิดชอบในทุกระดับ ต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่สอดรับสถานการณ์การย้ายถิ่นในภูมิภาค อันรวมถึง 1) แรงงานทีผ่านการพิสูจน์สัญชาติรวมถึงผู้ติดตาม 2) แรงงานที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานที่มีการนำเข้า(รวมถึงผู้ติดตาม) โดยการจัดการต้องมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับสิทธิมนุษยชนและปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนแรงงาน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากเพื่อให้เกิดความจูงใจให้แรงงานและนายจ้างเข้ามาจดทะเบียน จัดระยะเวลาที่เปิดจดทะเบียนให้เหมาะสม ประเภทกิจการที่เปิดให้จ้างแรงงานข้ามชาติจดทะเบียน โดยต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงกับงานที่แรงงานข้ามชาติทำอยู่และภาครัฐควรขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติต่อไปอีกเพื่อหน่วยงานต่างๆ สามารถเตรียมงานและปฏิบัติงานได้และจัดระบบการจ้างงานชายแดนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการจ้างแรงงานในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
  1. รัฐต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่จะทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติแรงงานข้ามชาติควรได้รับสิทธิที่เป็นมาตรฐานเดียวกับคนไทยและตามหลักการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน การร้องทุกข์ การได้ข้อมูลความรู้เรื่องสิทธิและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอย่างรอบด้าน
  1. รัฐต้องขจัดขบวนการนำพาและขบวนการนายหน้าแรงงานข้ามชาติ โดยขจัดช่องทางที่ทำให้เกิดกระบวนการนายหน้าในการนำเข้า การจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ และเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบป้องกันและปราบปราม และลงโทษนายหน้า ผู้ประกอบการ ผู้สนับสนุนและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับความผิดฐานลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือการค้ามนุษย์
  1. รัฐต้องจัดให้แรงงานข้ามชาติมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน โดยกำหนดเป็นนโยบายหรือคำสั่งรับรองและคุ้มครองสิทธิในเงินทดแทนของแรงงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติเพราะเหตุจากสถานการณ์เข้าเมืองใดๆ
  1. รัฐต้องแก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานเป็น 18 ปี พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง โดยยกเลิกกฎหมาย นโยบายในส่วนที่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และที่มีการละเมิดสิทธิเด็ก แก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานคือ อายุ 18 ปีบริบูรณ์และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ที่ใช้แรงงานเด็กและละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก
  1. รัฐต้องรับรองคุ้มครองและทำให้เป็นจริง ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของแรงงานข้ามชาติ โดยส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของกลไกคุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้เอื้อต่อการใช้สิทธิทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าแรงงานข้ามชาตินั้นจะมีลักษณะการเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม สิทธิที่จะมีล่ามภาษาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงขั้นตอนร้องทุกข์และอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือถูกละเมิดสิทธิ สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดให้ได้รับค่าชดเชย ค่าเสียหาย หรือการเยียวยาอื่นๆ ตามกฎหมาย
  1. การรับรองสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม รัฐต้องให้สัตยาบันรับรองและประกาศใช้ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ทั้ง 2 ฉบับ และให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2553 (เรื่อง การทำความตกลงกับต่างประเทศ การทำอนุสัญญาและสนธิสัญญาต่างๆ)
  1. หามาตรการและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสุขภาพรัฐบาลควรมีมาตรการและแนวทางการสนับสนุนด้านการเงิน  เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสุขภาพที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงความเป็นไปได้ของการมีระบบสุขภาพเดียว การกำหนดราคาค่าบัตรสุขภาพที่มีความเหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการซึ้งสามารถครอบคลุมการรักษาทุกโรค

2015-12-19 14.00.26

ด้านนางสาวดาวเรือง ชานก ประธานสหภาพแรงงานแอล ที ยู ได้กล่าวถึงประเด็นการดูแลสิทธิแรงงานข้ามชาติว่า ในฐานเป็นคนงานที่ทำงานอยู่ด้วยกับแรงงานข้ามชาติในโรงงานในแผนกนั่งทำงานใกล้กัน และเป็นเพื่อนกัน ทำให้มองไม่เห็นเรื่องความแตกต่างเลย ทางสหภาพแรงงานซึ่งมีการรวมตัวกันตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มีการเปิดข้อบังคับเพื่อรับสมัครแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อการดูแลเรื่องสิทธิและสวัสดิการพื้นฐาน

“แม้ว่าจะมีอุปสรรค์เรื่องภาษาในการสื่อสารกันบ้างแต่เมื่อแรงงานมีปัญหาก็จะมาปรึกษาหารือตลอดซึ่งมีทั้งเรื่องความไม่เข้าเรื่องสิทธิประกันสังคม สวัสดิการต่างๆ ซึ่งบางครั้งทางบริษัทเองก็ให้ทางสหภาพแรงงานช่วยในการทำความเข้าใจกับแรงงานข้ามชาติด้วย อย่าประเด็นการถูกหักเงินประกันสังคม ความไม่รู้สิทธิที่ต่างจากหลักประกันสุขภาพที่เดิมแรงงานข้ามชาติเคยได้ใช้เมื่อเจ็บป่วยไปรักษา เขาจ่ายเพียง 500 บาท แต่ตอนนี้มีการหักเงินทุกเดือนตามรายได้แต่พอไปรักษาพยาบาลยามป่วยสิทธิไม่ได้ต่างจากเดิม ซึ่งทางสหภาพฯพยายามทำความเข้าใจถึงสิทธิต่างๆที่มีเพิ่มขึ้นแต่ปัญหาที่เห็นคือในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่ และรัฐควรมีการดูแลด้วยเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม” ดาวเรืองกล่าว

นางสาวดาวเรือง ยังกล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมาเรื่องการที่ต้องกลับไปจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติ อันนี้เป็นปัญหามากทั้งส่วนของแรงงานข้ามชาติและรวมถึงนายจ้างที่ต้องการแรงงานฝีมือคนเดิมกลับมาทำ หนักมากกับการที่แรงงานต้องเสียเวลาเกือบเดือนหรือบางคนเป็นเดือน และเสียค่าใช้สูงมากทั้งค่าเดินทางค่านายหน้าและอื่นๆอีกหลายอย่างบางคนเล่าให้สหภาพฯฟังว่า หากออกไปแล้วกลับมาก็อยากทำงานในโรงงานเดิมแต่ปัญหาไปนานนายจ้างรอไม่ไหวจ้างคนงานใหม่มาทำงานแทน ทำให้ต้องไปทำงานที่อื่นที่สวัสดิการไม่เท่าเดิมทำก่อนเพื่อรอที่จะกลับเข้าที่โรงงานเดิมเป็นต้น จึงอยากเสนอให้รัฐมีการอำนวยความสะดวกและจริงจังในหารจัดระบบการขึ้นทะเบียนหรือพิสูจน์สัญชาติโยเร่งด่วนประหยัดทั้งเวลา และเงินกว่านี้ด้วยการลดขั้นตอนมาจัดทำในประเทศไทยหรือจังหวัดที่เขาทำงานอยู่ ลดเรื่องนายหน้าที่หากินดูแลจัดระเบียบคนเหล่านี้อย่าให้เกิดการค้ามนุษย์ เป็นต้น

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน