คนงานกว่า 30 บริษัทร้องศูนย์อ้อมน้อย นายจ้างเย้ย รมว.แรงงาน สั่งหยุดไม่จ่ายค่าจ้าง

 

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา  นายตุลา ปัจฉิมเวช  ฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย รายงานในการประชุมศูนย์ว่า  ตั้งแต่เปิดศูนย์มา มีปัญหาการร้องเรียนจากคนงานประมาณ 30 บริษัท ซึ่งแม้ว่าจะมีคนงานมาร้องคนเดียว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหมือนกันกับคนงานทั้งโรงงาน  ประมาณว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 2,000 คนแล้วเฉพาะข้อมูลที่ได้จากผู้มาร้องเรียน   ปัญหาที่พบคือ เกือบทุกโรงงานร้องเรียนว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง  ต้องรอกิจการเปิด  มีกรณีการคัดชื่อออกหากไม่ยอมย้ายที่ทำงานไปที่อื่นตามคำสั่งของนายจ้าง  มีกรณีคนงานที่พุทธมณฑลสาย 5 ถูกสั่งให้ไปทำงาน ที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ลำพูน พอน้ำลดกลับมาดูบ้านและยืนยันขอทำงานที่เดิม  แต่นายจ้างจะถือว่าขาดงานและจะถูกลงโทษ  ยังมีกรณีคนงานหญิงร้องนายจ้างจัดที่พักพิงให้นอนรวมกันในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งผู้ชายผู้หญิง รู้สึกอึดอัด ไม่อยู่ก็ไม่ได้ไปทำงานลำบาก อาจถูกให้ขาดงานหรือมีความผิดฐานขัดคำสั่ง  ยังมีกรณีแรงงานข้ามชาติเกิดอุบัติเหตุเครื่องตัดนิ้วขาดและเป็นแผลที่มือต้องรักษาเอง  กรณีนี้ยังต้องรอล่ามแปลภาษามาช่วยสอบถามข้อมูลด้วย 
น.ส.ชนญาดา จันทร์แก้ว  ทนายความอาสาประจำศูนย์ช่วยเหลืออ้อมน้อยเปิดเผยว่า  จากข้อมูลผู้มาร้องเรียนที่บันทึกไว้ตั้งแต่ 26 พ.ย.–3ธ.ค.ทั้งสิ้น 41 ราย  ได้สอบถามจำนวนพนักงานคาดว่ามีคนงานได้รับผลกระทบแล้วจากกรณีต่างๆรวมไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอ  ปัญหาส่วนใหญ่ที่มาร้องเรียนมากที่สุดคือ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง  ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดต่อนายจ้างไม่ได้  นายจ้างสั่งหยุดงานไม่มีกำหนด  ถ้าไม่ไปทำงานที่อื่นนายจ้างจะไม่จ่ายและไล่ออก  น้ำท่วมไปทำงานไม่ได้ถูกหักค่าจ้างให้ออกและสมัครงานใหม่  นายจ้างหักเงินแต่ไม่ส่งประกันสังคม เป็นต้น  ซึ่งจะได้รวบรวมจัดทำข้อมูลเพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
 
นายโสภณ ทองโสภา ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานอ้อมน้อยกล่าวว่า  คนงานที่ประสบภัยส่วนใหญ่อยู่ห้องเช่าในซอยลึก อยู่กันเป็นพันคน ตึก 4-5 ชั้น อยู่ข้างบนอาจไม่เสียหาย  แต่เข้าออกลำบาก  มีปัญหามากเรื่องอาหารการกินและการเดินทางไปทำงาน  คนเดือดร้อนมากของไม่พอแจก มีแรงงานข้ามชาติมาขอของเยอะ  การลงพื้นที่ยากลำบากใช้รถลุยน้ำตอนกลางคืน  จึงใช้วิธีไปจัดตั้งชุมชนให้มีแกนนำมาเอาเอกสารไปถ่ายแจกให้ชาวบ้านกรอกเพื่อรับความช่วยเหลือรับถุงยังชีพ ซึ่งก็ต้องจำกัดให้พื้นที่ละไม่เกิน 50 ชุด เพราะมีของบริจาคน้อย  การลงพื้นที่ตอนเย็นทำให้พบคนงานมาก ได้ข้อมูลมาก
นายมงคล ยางงาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายสำรวจแจกจ่ายสิ่งของยังชีพของศูนย์  กล่าวว่า มีกรณีคนงานที่คนรับจ้างเลี้ยงลูกให้ไม่อยู่แล้ว จึงใช้เป็นเหตุผลเพื่อขอลางาน แต่นายจ้างไม่ยอม  และเห็นว่าการที่นายจ้างยืดเวลาการจ่ายค่าจ้างเป็นการบีบให้คนงานลาออก  คนงานมาสมัครงานใหม่ก็ต้องนับอายุงานใหม่ทำให้เสียสิทธิเสียโอกาส   คนงานบอกว่าถ้ายังเสียค่าเช่าห้องพักโดยไม่มีรายได้ก็อยู่ไม่ไหว คงต้องอพยพกลับถิ่นฐาน  ซึ่งคิดว่าหลังน้ำลดจะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน  และขณะลงพื้นที่ก็เห็นป้ายรับสมัครงานเต็มไปหมด
อนึ่ง รมว.แรงงานฯได้เคยลงพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมาและกล่าวกับผู้มาร้องเรียนปัญหาที่กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ไว้ตอนหนึ่งว่า “ แสดงว่าข้อมูลประชาสัมพันธ์ของเราไม่ดีพอนะ  ทางเราก็สั่งว่าถ้าน้ำท่วมแล้วให้หยุดงานโดยอัตโนมัติโดยไม่ถือเป็นความผิด  ประเด็นที่คุณวิไลวรรณพูดเนี่ย  ให้ทำข้อมูลมาเลย ทางเรามีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราตรวจสอบพบว่ามีโรงงานไหนเลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้าง อยู่ตรงไหน  เราก็มีหน่วยงานราชการรองรับปัญหาอยู่แล้ว”  
  ซึ่งนายตุลา ให้ความเห็นว่า  หลายกรณีเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำต้องเขียน คร.7  ทันที  อยากเสนอให้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยผลักดันให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดมาตั้งศูนย์รับเรื่องในพื้นที่ไม่ใช่รอให้คนงานไปร้องเรียน  เพื่อจะได้เห็นปัญหาที่แท้จริงและดำเนินการช่วยเหลืvแก้ปัญหาความเดิอดร้อนให้คนงานได้อย่างรวดเร็วทันการ
 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน