แรงงานโวยดัน กม.ปรองดองทิ้งประกันสังคม

แรงงานโวยรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรทิ้งกฎหมายประกันสังคมของแรงงานที่บรรจุเข้าวาระของสภาฯมานานหลายเดือน  แต่กลับเร่งเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองลัดคิวเข้าสภาผู้แทนราษฎรหวังผ่านวาระ1ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม  ด้านรองปลัดแรงงานบอกยังไม่เห็นร่างประกันสังคมของกระทรวงฯในกฤษฎีกาทั้งที่ผ่าน ครม.นานแล้ว  ส่วนเลขา รมว.แรงงานฯเร่งกระทรวงตามเรื่องที่กฤษฎีกาและเห็นว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะทั้ง 2 ร่างแตกต่างกันเล็กน้อย
 
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555  เวลา 15.30 น. ณ  ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 5  กระทรวงแรงงาน   นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย  ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม พร้อมด้วยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และแกนนำแรงงานอีกราว 30 คน เข้าพบนายสง่า ธนสงวนวงศ์  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ป่วยไม่สามารถมาพบคณะทำงานได้ตามนัดหมาย  โดยมีนายนคร ศิลปอาชา รองปลัดกระทรวงแรงงาน   นายอาทิตย์ อิสโม  อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมหารือด้วย
 
นางสาววิไลวรรณ  กล่าวว่า ที่มาวันนี้เพื่อให้ทางกระทรวงแรงงานเร่งรัดประสานไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับผู้ใช้แรงงานที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการและส่งร่างฯให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการตรวจพิจารณา ก่อนที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นยังติดค้างอยู่และไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาเมื่อไหร่  หากทางกระทรวงแรงงานเสนอร่างของกระทรวงแรงงานประกบด้วยก็ถือเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น และถือว่ากระทรวงแรงงานให้ความสำคัญ จึงอยากให้ช่วยด้วยติดตามด่วนเพื่อให้ทันก่อนปิดสมัยประชุม
 
นายนคร  รองปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะ 9 อยู่ด้วย กล่าวว่า ยังไม่เห็นร่างฯดังกล่าวเลย ถ้าเห็นร่างแล้วจะช่วยเร่งรัดให้  หรือถ้าคณะฯจะเข้าพบเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะประสานงานให้  เพราะเลขาฯจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในนำเสนอเรื่องต่างๆที่ออกจาก ครม. 
 
นางสาวอรุณี ศรีโต  กล่าวถามในที่ประชุมว่า เหตุใดร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพิ่งถูกเสนอเข้าสภาฯได้เพียงไม่กี่วัน แต่กลับมีข่าวคึกโครมว่าประธานรัฐสภาจะเร่งรีบบรรจุเข้าสภาฯเพื่อรับหลักการวาระ 1 ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้  แต่กับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ของแรงงาน  รัฐบาลและนักการเมืองกลับไม่สนใจทั้งที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่  ร่าง พ.ร.บ.ถูกบรรจุเข้าวาระของสภาฯมานานหลายเดือนแล้ว  แต่สภากลับไม่ยอมหยิบยกมาพิจารณา  หรือรัฐบาลและสภาฯจะมุ่งแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับนักการเมืองอย่างเดียว  ส่วนกฎหมายภาคประชาชนปล่อยทิ้งไป
 
จากความไม่ชัดเจนดังกล่าว นายสง่า  จึงให้ทางกระทรวงติดตามประสานไปที่กฤษฎีกาด่วนว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมอยู่ที่ไหนกันแน่หากรู้เรื่องแล้วให้แจ้งให้คุณวิไลวรรณ และคณะทราบเพื่อหาทางดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปซึ่งน่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะเท่าที่รู้ร่างทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกันแค่ 3 ข้อเท่านั้นคือ 1. เรื่องสถานะของสำนักงานประกันสังคม 2. เรื่องเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และ 3. เรื่องการจัดการกองทุนประกันสังคม  ทั้งนี้หากประกบทั้ง 2 ร่างเข้าสภาฯแล้วก็ให้ไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการ
 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน