แรงงานนอกระบบ” กับ “อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87-98” : เพราะไม่อยู่ภายใต้นิยามคำว่า “ลูกจ้าง” การรวมตัว-เจรจาต่อรองจึงมีข้อจำกัด

DSC05741

มอเตอร์ไซต์

โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ 

นักวิชาการคณะกรรมการสมายฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

ประเด็นนำเสนอ(1)      ภาพรวมสถานการณ์ปัญหาแรงงานนอกระบบในประเทศไทย 

(2)      เงื่อนไขทางกฎหมายที่ทำให้แรงงานนอกระบบเข้าไม่ถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

(3)      รู้จักและเข้าใจอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 : ความสำคัญต่อแรงงานนอกระบบในเรื่องการรวมตัว-เจรจาต่อรอง 

(4)      การขับเคลื่อนและรณรงค์ของสหภาพแรงงานในประเทศไทย ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98: จาก พ.ศ.2547-2556 10 ปีของการเรียกร้อง

เพราะสิทธิการจัดตั้งองค์กรและการเจรจาต่อรองของแรงงานในประเทศไทย มีความสัมพันธ์กับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรวมตัวเพื่อจัดตั้งองค์กร การเจรจาต่อรอง และการระงับข้อพิพาทแรงงานของลูกจ้างและนายจ้าง

แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ยังมีบทบัญญัติจำกัดการใช้บังคับแก่กิจการหรือลูกจ้างในความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น กล่าวคือ

(1)  ผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างเท่านั้น ซึ่งหมายถึง ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ดังนั้นจึงทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ  ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เกษตรกร ฯลฯ จึงไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้

(2)  ลูกจ้างที่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานและเป็นกรรมการและอนุกรรมการของสหภาพแรงงาน  ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และทำงานในกิจการประเภทเดียวกันเท่านั้น

(3) ลูกจ้างข้ามชาติและลูกจ้างไทยที่มีอายุไม่ถึง 20 ปีและไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการเดียวกันหรือประเภทกิจการเดียวกันจะไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานและรับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการ มีสิทธิแค่เพียงสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้เท่านั้น  เช่น  ลูกจ้างในกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย  ไม่สามารถรวมตัวกับแรงงานชาวไร่อ้อยที่ทำงานรับจ้างอิสระได้ เพราะมีรูปแบบการจ้างงานที่ต่างกัน  แม้ว่าจะเป็นวัตถุที่ป้อนสู่โรงงานน้ำตาลทรายเหมือนกันก็ตาม

20120904_140048DSC08244

ดังนั้นกลุ่มแรงงานนอกระบบจึงมีข้อจำกัดในการเข้าไม่ถึงการบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 อย่างยิ่ง

อีกทั้งต้องยอมรับว่าเป็นการยากที่แรงงานนอกระบบจะสามารถรวมตัวกันได้อย่างต่อเนื่อง เพราะลักษณะการทำงานที่เป็นอิสระ ขาดองค์กรและกลไกสนับสนุน และส่วนใหญ่ไม่มีข้อตกลงการจ้างแรงงาน จึงไม่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานและเรียกร้องต่อรองสภาพการจ้างและข้อพิพาทแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

แม้แต่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งลักษณะงานเอื้อต่อการรวมตัวกัน และมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนมีความพยายามพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็ยังพบว่ามีเพียงไม่ถึง 10% ของผู้รับงานไปทำที่บ้านที่มีการรวมกลุ่มกัน

การขาดกลุ่ม/องค์กรที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้แทนกลุ่ม เป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญในการยกระดับปรับสถานภาพของแรงงานนอกระบบทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเจรจาต่อรอองกับผู้ว่าจ้าง และการนำเสนอและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐ

ผลก็คือ การพัฒนาแรงงานนอกระบบมีความคืบหน้าค่อนข้างช้าและอาจไม่ตรงตามความต้องการและสภาพปัญหาของแรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและตัดสินใจเท่าที่ควร

สำหรับในสังคมประชาธิปไตยแล้ว การให้การยอมรับการรวมตัวเป็นองค์การของแรงงาน ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่จะกระทำได้ และมีการบัญญัติรับรองถึงเสรีภาพในการรวมตัวเป็นองค์การ และการเจรจาต่อรองในกฎหมายระหว่างประเทศหลายๆฉบับ โดยเฉพาะในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างที่บัญญัติรับรองในเรื่อง เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นองค์การและการเจรจาต่อรอง คือ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่นานาอารยประเทศถือว่าเป็นอนุสัญญาขั้นพื้นฐานทางด้านแรงงานที่สำคัญ

เพราะการรวมตัวของแรงงานเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มเดียวกัน ถือว่าเป็นการใช้พลังของตน เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องค่าจ้างและสภาพการทำงานในเศรษฐกิจและสังคมทุกระดับ ดังนั้นการรวมกลุ่มจึงไม่ใช่แค่เพียงรวมระดับสถานประกอบการเท่านั้น คือ เพียงแค่กลุ่มแรงงานในระบบ แต่การรวมตัวของแรงงานนอกระบบ คือ การรวมตัวระดับภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว แม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศมาแต่แรกเริ่ม แต่ประเทศไทยก็เป็นประเทศภาคีสมาชิกที่เหลือไม่กี่ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวนี้

รวมทั้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานเองก็ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนโดยผลประชาพิจารณ์เมื่อปี 2555 พบว่าประชาชนร้อยละ 87 เห็นด้วยกับการดำเนินการตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้รับ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาครัฐ นายจ้าง และผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีโลก

ดังนั้นในปัจจุบันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และองค์กรสมาชิกทั้งจากกลุ่มแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติจึงได้รวมตัวและผลักดันในรูปแบบต่างๆให้รัฐบาลไทยเร่งให้สัตยาบัน โดยมีการรณรงค์เรียกร้องมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

(1) ภาพรวมสถานการณ์ปัญหาแรงงานนอกระบบในประเทศไทย

สังคมไทยเผชิญกับสภาวะการขยายตัวของจำนวนแรงงาน รวมทั้งการจัดประเภทของแรงงานที่หลากหลายมากขึ้น กล่าวคือ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อพฤษภาคม 2556 พบว่าประเทศไทยมีกำลังแรงงาน รวมทั้งสิ้น 38.85 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 14.05 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ 24.8 ล้านคน

นอกจากนี้จากงานศึกษาวิจัยด้านแรงงานในทางสังคมศาสตร์ยังพบว่าสามารถจำแนกประเภทของแรงงานที่สำคัญได้ถึง 7 กลุ่ม โดยทุกกลุ่มล้วนมีแนวโน้มการขยายตัวที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

(1) แรงงานในระบบ

(2) แรงงานนอกระบบ

(3) แรงงานข้ามชาติ

(4) แรงงานผู้สูงอายุ

(5) แรงงานผู้หญิง

(6) แรงงานในระบบผู้พิการหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน

(7) แรงงานไทยในต่างประเทศ

2.͹ØÊÑ­­Ò ILO.87-98DSC08246

แรงงานนอกระบบ (Informal Sector)

“เศรษฐกิจนอกระบบ”  คือ  ต้นตอของการเกิดแรงงานนอกระบบที่เป็นผลพวงของเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบชีพอิสระขนาดเล็กและกลุ่มผู้รับเหมาช่วง (Sub contractor) ในระบบอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ทำงานในระบบพันธสัญญา(Contract Farming) ในอุตสาหกรรมการเกษตร แรงงานกลุ่มนี้มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น (Labor Intensive)  แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองกฎหมายตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และนโยบายอื่นๆ ที่มีอยู่ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมก็ไม่สอดคล้องกับบริบทของความเป็นแรงงานนอกระบบ

แรงงานนอกระบบ ในที่นี้หมายถึง แรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองในระบบการประกันสังคม เป็นกำลังแรงงานที่ครอบคลุมประชากรไทยเกือบกึ่งหนึ่งของประเทศ 

อย่างไรก็ตามแต่ละหน่วยงานก็ได้มีการให้คำจำกัดความตามวัตถุประสงค์ของแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกันไป ได้แก่

(1)   สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายว่าหมายถึง การประกอบอาชีพและธุรกิจซึ่งไม่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ โดยจำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่

–          กลุ่มการผลิต เช่น เกษตรกรรายย่อย แรงงานรับจ้างภาคเกษตร ผู้รับงานมาทำที่บ้าน ผู้รับจ้างรายย่อย ธุรกิจระดับครัวเรือน ธุรกิจชุมชน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ

–          กลุ่มการค้าและบริการ ได้แก่ หาบเร่แผงลอย การรับซื้อของเก่า

–          กลุ่มบริการขนส่ง เช่นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้โดยสาร รถแท็กซี่

–          กลุ่มกิจกรรมภาคครอบครัว เช่น การทำงานบ้าน การดูแลคนชรา เป็นต้น

(2)   สำนักงานสถิติแห่งชาติ  ให้ความหมายแรงงานนอกระบบโดยอ้างอิงกับความหมายของแรงงานในระบบว่าหมายถึง ผู้ที่ทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่การทำงานไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน

(3)   กระทรวงแรงงาน จำแนกแรงงานนอกระบบเป็น 7 กลุ่ม โดยมีแนวคิดเช่นเดียวกับ ILO ว่าหมายถึง (1) ผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้รับจ้างทำของ (2) สหกรณ์เครดิตยูเนียน (3) เกษตรกรและชาวประมง (4) คนขับยานพาหนะรับจ้างนอกระบบ (5)  ผู้ประกอบอาชีพอิสระในและนอกภาคเกษตร (6) ลูกจ้างของนายจ้างที่ไม่ได้ทำงานทั้งปี (7) ลูกจ้างทำงานบ้าน

(4)   สำนักงานประกันสังคม ให้ความหมายว่า แรงงานนอกระบบเป็นผู้ทำงาน มีรายได้ และไม่มีนายจ้าง หรือไม่อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายประกันสังคม

20120904_091112Untitled-3

จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ.2555 พบว่ามีจำนวนแรงงานนอกระบบสูงถึง 24.8 ล้านคน (ชาย 13.4 ล้านคน หญิง 11.4 ล้านคน) ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมประมาณ 15.5 ล้านคน

แรงงานนอกระบบในบริบทต่างๆ 

แรงงานผู้สูงอายุอีกมิติหนึ่งของแรงงานนอกระบบในปัจจุบันและอนาคต

โครงสร้างประชากรของประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ  ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์ จากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีการคาดคะเนว่าในปี พ.ศ.2568 หนึ่งในห้าของประชากรไทยจะมีอายุมากกว่า 60 ปี และในปี พ.ศ.2593 เกือบหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมดจะเป็นผู้สูงอายุ

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในปี 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้สูงอายุที่ทำงาน 3.2 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 8.3 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานในฐานะของแรงงานนอกระบบถึงร้อยละ 90.3 ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครองจากการทำงาน

กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้ผลิตอยู่ที่บ้าน 

กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านมีสถานภาพการทำงาน 2 รูปแบบ คือ

(1) ผู้รับเหมาช่วงงาน (Subcontractors) หรือผู้รับเหมาช่วงงานตามรายชิ้น (piece-rate workers) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงงานมาทำที่บ้านและได้รับอัตราค่าจ้างตามชิ้นงาน หรือเรียกว่า “ผู้รับงานไปทำที่บ้าน”

(2) ผู้ผลิตอยู่ที่บ้านที่เป็นผู้ประกอบการอิสระ (Self-employment) ซึ่งมักพบว่ามี 2 สถานภาพ โดยเป็นผู้ทำการผลิตเพื่อจำหน่าย และในบางครั้งมีการรับเหมาช่วงงานอีกด้วย ในแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้มีการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพและบางกลุ่มมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้าน/ผู้ผลิตอยู่ที่บ้านโดยการทำงานในประเภทอาชีพต่างๆกัน

เกษตรกรพันธสัญญา

กลุ่มชาวไร่ชาวนาที่รับแนวทางการผลิตใหม่มาใช้ในการผลิต ซึ่งสังคมไทยเรียกว่า “เกษตรพันธสัญญา” ในรูปแบบการเกษตรที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างบริษัท, ตัวแทนห้างร้านกับเกษตรกร ในการร่วมกันทำการผลิตสินค้าทางการเกษตร ซึ่งมีทั้งสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนกลุ่มเกษตรกรผู้ที่ไม่ได้ทำการผลิตภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่า “พันธสัญญา” ก็กลายเป็น “เกษตรกรรับจ้าง” เป็นแรงงานนอกระบบที่ทำงานตามเงื่อนไขของบริษัทและตัวแทนผู้ประกอบการ

แรงงานภาคบริการ

ในที่นี้หมายถึง ลูกจ้างและพนักงานบริการตามร้านอาหาร  หาบเร่และแผงลอย คนเก็บขยะ คนรับซื้อของเก่า หมอนวดแผนโบราณ  คนขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างและรถแท็กซี่สาธารณะ  และคนทำงานบ้าน คนทำงานบ้านหรือคนรับใช้ในบ้าน เป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มหนึ่งที่มีสถานภาพทั้งที่เป็นคนไทยและแรงงานข้ามชาติ

ปัจจัยสนับสนุนให้เกิดแรงงานนอกระบบ

(1)      วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ตลาดแรงงานตึงตัว มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และลดขนาดสถานประกอบการ ทำให้คนงานถูกปลดออกจำนวนมาก และเคลื่อนย้ายเข้าสู่เศรษฐกิจนอกระบบ

(2)      สภาวะความยากจนของประชากร โดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตรซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบของไทย มีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 15.5 ล้านคน

(3)      ปัจจัยด้านประชากร อันเนื่องมาจากการเติบโตของกำลังแรงงาน ทำให้มีแรงงานส่วนเกินมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานในชนบท ทำให้มีการย้ายแรงงานจากภาคเกษตรในชนบท เข้าสู่ภาคเศรษฐกิจนอกระบบในเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงและเด็ก

(4)      โลกาภิวัฒน์ผลักดันให้ธุรกิจมีการแข่งขันสูง จึงส่งเสริมให้ธุรกิจผลักดันคนงานในระบบไปสู่การจ้างงานนอกระบบ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนการจ้างงานไปจ้างคนงานชั่วคราวหรือคนงานรายชิ้นที่ไม่มีหลักประกันการทำงาน ไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ/ผลประโยชน์ทดแทน นอกจากนี้โลกาภิวัฒน์ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากการประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ไปเป็นการประกอบอาชีพอิสระที่เสี่ยงต่อความมั่นคงด้านรายได้ หรือเป็นผู้ค้าขายเล็กๆน้อยๆ

(5)      การขยายตัวของธุรกิจที่มี “ความชำนาญพิเศษที่ยืดหยุ่น” แทนที่จะใช้แรงงานปกติในสถานประกอบการขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว ก็มีการขยายบริษัทให้มากขึ้น มีการกระจายการผลิตและการบริหารจัดการ โดยกระจายไปตามทำเลต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมการแข่งขัน ทำให้มีการจัดจ้างแรงงานนอกระบบที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าและไม่มีมาตรฐานการจ้างงาน ทำให้สัมพันธภาพของนายจ้างลูกจ้าง ของสถานประกอบการยุ่งยากมากขึ้น เพราะไม่ชัดเจนว่าใครคือนายจ้าง เกิดเครือข่ายโยงใยการจ้างงานไปทั่ว ทำให้การเรียกร้องสิทธิประโยชน์ทำได้ยากขึ้น

(6)      แรงงานนอกระบบมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจทั้งนอกและในระบบอย่างมาก เพราะงานหลายอย่างในระบบก็ใช้วิธีเหมาช่วงไปให้ธุรกิจในเศรษฐกิจนอกระบบ ส่งผลให้แรงงานนอกระบบขาดสถานะทางกฎหมาย มีการจ้างงานที่ไม่มั่นคง มีวิธีการจ้างงานที่แตกต่างไปจากแบบแผนทั่วไป มีรายได้จำกัด/ไม่สม่ำเสมอ มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งขาดสิทธิของแรงงานไป เช่น สิทธิในการรวมตัว การเจรจาต่อรอง การได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน (เช่น วันหยุด ชั่วโมงการทำงาน สวัสดิการ ฯลฯ) อาจถูกเอารัดเอาเปรียบ และเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง เป็นต้น

P5100295P9150321

ภาพรวมสถานการณ์ปัญหาแรงงานนอกระบบในประเทศไทย

(1) ไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม เนื่องจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ อย่างเพียงพอว่ากลุ่มผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวมีบทบาทต่อเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศชาติ และมีบริบทของความเป็นแรงงานทับซ้อนกับบทบาทความเป็นพลเมือง ปัญหาและความต้องการของแรงงานนอกระบบกลุ่มที่ควรจะได้รับการพัฒนา ส่งเสริม คุ้มครอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี

(2) ข้อจำกัดของกฎหมายเพื่อการคุ้มครองแรงงาน ประกอบด้วยกฎหมายหลักๆ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และถึงแม้ปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนผลักดันให้มีกฎหมายมาดูแลคุ้มครองโดยเฉพาะ ได้แก่ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และพระราชกฤษฎีกาฯว่าด้วยการขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ มาตรา 40 พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 แต่กฎหมายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดมากเรื่องการบังคับใช้และการเข้าถึงของกลุ่มแรงงานนอกระบบ

(3) ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม การทำงานของแรงงานนอกระบบยังไม่สามารถกำหนดค่าจ้าง ค่าผลิต ด้วยตนเองได้ขึ้นอยู่กับกลไกการจ้างงานและการตลาด แม้จะทำงานในลักษณะและมีคุณค่าเดียวกันกับที่ผลิตอยู่ในโรงงานก็จะไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองจากพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และไม่มีอำนาจในการต่อรอง

(4) งานและรายได้ไม่ต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับภาวะการตลาด ระบบการจ้างงานและผู้บริโภค ทำให้ไม่มีความมั่นคงในการทำงานไม่สามารถวางแผนการผลิต แผนการทำงานและการจัดการรายได้ของตนเองและครอบครัวได้ ในขณะเดียวกันก็ตกอยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องถูกการเอารับเอาเปรียบจากผู้ว่าจ้างหรือนายทุน เนื่องจากไม่มีทางเลือกหรือทางออกในการประกอบอาชีพที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

(5) ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล บริการภาครัฐและสวัสดิการที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการทั้งในระหว่างที่มีงานทำและหลังเกษียณอายุการทำงาน เนื่องจากมีความหลากหลายในการประกอบอาชีพ เช่น รับจ้าง ผลิตเพื่อขาย กระจายอยู่ทั้งในชุมชน นอกชุมชน และตามสถานที่ที่สามารถหารายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ตลาด ริมถนน ตามศูนย์การค้า สนามบิน เป็นต้น รวมถึงงานไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการรวมตัวที่ไม่เข้มแข็งเพื่อเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารและบริการภาครัฐที่มีระเบียบและเงื่อนไขในการให้บริการ หรือถึงแม้จะมีการรวมกลุ่มก็เป็นกลุ่มขนาดเล็ก ประกอบกับการไม่เข้าใจในตัวตนและสิทธิในฐานะที่เป็นแรงงาน จึงไม่มีอำนาจในการต่อรองทั้งกับผู้ว่าจ้าง ผู้ซื้อสินค้าหรือผลผลิต หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

6. ปัญหาสุขภาพและสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากสถานที่ทำงานของแรงงานนอกระบบขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำดังกล่าวเบื้องต้น ซึ่งต่างจากแรงงานในระบบที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง ประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานของประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในระบบโรงงาน ไม่ได้คุ้มครองครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบอย่างชัดเจน

ในขณะที่แรงงานนอกระบบเองก็ขาดความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานรวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและให้บริการด้านสุขภาพ ยังไม่ได้เป็นความสำคัญของการให้บริการด้านอาชีวอนามัยที่เพียงพอแก่กลุ่มแรงงานนอกระบบ ก่อให้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพของผู้ทำการผลิตที่บ้านในหลายประการ  ได้แก่  โรคทางเดินหายใจ  สายตาเสื่อม อาการแพ้ทางผิวหนัง  โรคเครียด   หูตึง  โรคกระเพาะอาหาร  อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  และอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิต  ในขณะเดียวกันก็เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชน  ได้แก่  ปัญหาขยะ  ฝุ่นละออง  เสียงดัง  และการทิ้งน้ำเสียซึ่งมีสารเคมีปนเปื้อนและส่งผลต่อคุณภาพน้ำใต้ดินและพืชผลของชุมชน

P3080082P6060085

สถานการณ์ปัญหาแรงงานนอกระบบเฉพาะกลุ่ม

กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน  

เนื่องจากการผลิตและการจำหน่ายขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดและผู้บริโภค จึงส่งผลต่อการได้รับค่าตอบแทนไม่เป็นธรรมและรายได้ไม่แน่นอน  แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ และมีรายได้ไม่แน่นอน แม้จะทำงานในลักษณะและมีคุณค่าเดียวกันกับที่ผลิตอยู่ในโรงงานก็ตาม เนื่องเพราะแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  และขาดการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองค่าแรงของตน งานไม่ต่อเนื่องไม่สม่ำเสมอ  ขึ้นอยู่กับภาวการณ์ขาย การตลาดของสินค้าหรือสถานการณ์ของสังคม ทำให้ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ไม่สามารถวางแผนการผลิตและแผนการทำงานได้

ในขณะเดียวกันความไม่ปลอดภัยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัย ชุมชน รวมถึงคนในครอบครัวก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันเนื่องจากเงื่อนไขการทำงาน และความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมาก่อนจึงยังมีความตระหนักน้อยในปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น

กลุ่มเกษตรกรพันธสัญญา

ภายใต้การพัฒนาของรัฐที่เน้นนโยบายการเกษตรแบบใหม่  โดยรัฐเปิดโอกาสให้บริษัทและกลุ่มทุนเข้ามาจัดการ และวางแผนพัฒนาระบบการเกษตรของประเทศ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรที่อยู่ในระบบพันธสัญญา โดยเฉพาะสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและสวัสดิการในการรับจ้างที่เกษตรกรไม่เคยได้รับภายใต้กระบวนการผลิต โดยเฉพาะการถูกเอารัดเอาเปรียบทางด้านการลงทุนและการตลาดที่ไม่มีหลักประกันความมั่นคงทางการผลิต การกำหนดราคาซื้อที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่าไว้ในข้อตกลง

กลุ่มเกษตรกรพันธสัญญา ถือว่าเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่เผชิญปัญหาหนักหน่วงในเรื่องความยุติธรรม ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของบริษัท โดยที่ยังไม่มีกลไกการดูแลและแก้ไขปัญหา

แรงงานผู้สูงอายุ 

ปัญหาการทำงานของแรงงานผู้สูงอายุ คือ อยู่ในสภาพการทำงานที่เสียเปรียบ รายได้ไม่มั่นคง และได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่จำกัด อัตราจ้างงานต่อวันและต่อชั่วโมงของผู้สูงอายุจะต่ำกว่าค่าจ้างลูกจ้างประเภทอื่นๆ และผู้สูงอายุส่วนมากมีรายได้ที่ไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุโดยเฉพาะในชนบทมักจะประสบปัญหาความยากจน ร้อยละ 90 ของคนอายุมากกว่า 60 ปี ทำงานในงานนอกระบบ และมีสัดส่วนที่สูงมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกือบหนึ่งในสามประกอบกิจการของตนเองหรือเป็นหุ้นส่วนกับผู้อื่นซึ่งเป็นจำนวนสองเท่าของสัดส่วนของผู้ทำงานทั้งหมด 

แรงงานภาคบริการ 

ลักษณะสถานการณ์ปัญหามีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ปัญหาในภาพรวมที่กล่าวถึงในเบื้องต้น  ปัญหาเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจนคือใน กลุ่มแรงงานรับใช้บ้าน คือถูกมองว่าเป็นงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจในเชิงเศรษฐศาสตร์ จึงส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิการเข้าถึงบริการของรัฐ ทำให้สภาพชีวิตของแรงงานประเภทนี้ต้องตกอยู่กับการถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ เช่น ทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ หรือทำงานให้กับคนในครอบครัวและเครือญาติของนายจ้าง แต่ได้รับค่าแรงหรือค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายเพียงคนเดียว บางรายของลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงก็ถูกคุกคามข่มขืนทางเพศ พร้อมทั้งขาดอำนาจการต่อรอง สิ่งสำคัญที่แรงงานรับใช้ในบ้านประสบปัญหา คือ การถูกควบคุมกีดกันมิให้ติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกหรือญาติ และไม่มีวันหยุดพักผ่อนที่แน่นอน

P902032920130902_105647

(2) เงื่อนไขทางกฎหมายที่ทำให้แรงงานนอกระบบเข้าไม่ถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

การศึกษาถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขทางกฎหมายที่ทำให้แรงงานนอกระบบอยู่นอกเหนือไปจากการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงเหตุผลที่แม้ว่าจะมีการบัญญัติกฎหมายแรงงานออกเป็นกฎหมายฉบับต่างๆแต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้กฎหมายต่างๆเหล่านั้นไม่ครอบคลุมไปยังแรงงานนอกระบบ

โดยเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้แรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานได้ นั่นคือ การไม่มีสถานะ “ลูกจ้าง” ตามที่พระราชบัญญัติ พ.ศ.2541 ได้ให้คำนิยามไว้ในมาตรา 5 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร จึงทำให้แรงงานนอกระบบไม่อยู่ในขอบเขตคุ้มครองของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งการอยู่นอกเหนือคำนิยามดังกล่าว สามารถอธิบายข้อจำกัดและเงื่อนไขได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

(1) การไม่อยู่ภายใต้คำนิยาม “ลูกจ้าง” เพราะรูปแบบการทำงานเป็นการจ้างทำของ

แนวคิดกฎหมายเรื่องการ “จ้างทำของ” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการ “จ้างแรงงาน” ซึ่งบางกรณีอาจจะเป็นการยากในการแยกชนิดการจ้างหรือประเภทสัญญาทั้งสองประเภทนี้ได้ แม้ว่าสัญญาทั้งสองประเภทต่างก็ตั้งอยู่บนแนวคิดหลักกฎหมายเอกชนที่เน้นเสรีภาพในการทำสัญญา และมีการจ่ายค่าจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกันก็ตาม

หลักการสำคัญของสัญญาจ้างทำของ คือ การที่ผู้รับจ้างทำงานมีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอยู่ในอำนาจการควบคุม บังคับบัญชาและลงโทษจากผู้ว่าจ้าง หรือที่เรียกว่า หลักการ “ควบคุมการทำงานและการบังคับบัญชาลงโทษ” ซึ่งมุ่งเน้นแต่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงชั่วโมงการทำงานหรือระยะเวลาการทำงาน แม้จะเป็นงานในรูปแบบเดียวกัน แต่หากผู้ว่าจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือผู้รับจ้างก็อาจกลายเป็นการจ้างแรงงานได้

ทั้งที่คำนิยามกฎหมายแรงงานทุกฉบับไม่เคยระบุเรื่องการบังคับบัญชาว่าเป็นเงื่อนไข หรือองค์ประกอบการเป็นลูกจ้างหรือนายจ้างแต่อย่างใด แต่เมื่อลักษณะและความสัมพันธ์ของการจ้างงานนั้นไม่ใช่การจ้างแรงงาน แต่กลับอยู่ในรูปแบบของการจ้างทำของซึ่งไม่ใช่รูปแบบการจ้างแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ทำงานในการจ้างงานรูปแบบนี้จึงไม่ใช่ “ลูกจ้าง” ที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานฉบับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคำนิยามต่างๆ

(2) ค่าตอบแทนในการทำงานไม่อยู่ในความหมายของ “ค่าจ้าง”

จากคำนิยามของคำว่าลูกจ้างตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติ พ.ศ.2541 จะเห็นได้ว่าคำว่า “ค่าจ้าง” เป็นเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งของการอยู่ภายใต้คำนิยามลูกจ้างตามกฎหมายนี้ แม้กฎหมายจะได้บัญญัติไว้อย่างกว้างว่าไม่ว่าค่าจ้างจะถูกเรียกในแบบใดก็ตาม

แต่ก็ยังพบปัญหาที่ตามมา คือ การที่ผู้ทำงานไม่ได้รับค่าตอบแทนมาจากนายจ้าง แต่กลับได้มาจากผู้อื่น เช่น ผู้ใช้บริการหรือลูกค้าในรูปแบบของค่าบริการเต็มจำนวนหรือส่วนแบ่งค่าบริการ  รวมถึงการได้รับเงินสมนาคุณเพิ่มเติมจากการบริการจากผู้ใช้บริการ เช่น ค่าทิป ซึ่งค่าตอบแทนแรงงานรูปแบบต่างๆนี้ไม่ใช่
“ค่าจ้าง” ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้ที่ทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ใช่ “ลูกจ้าง” ที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน

(3) การไม่ได้ขึ้นทะเบียนสถานประกอบการหรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนนายจ้าง–ลูกจ้าง

การทำงานในสถานประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนสถานประกอบการหรือทะเบียนพาณิชย์ ไม่ว่าจะโดยการขาดความรู้ด้านกฎหมาย (แม้แต่สถานประกอบการที่ขายสินค้าเป็นเงินเพียง 20 บาทขึ้นไปต่อวัน ต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์ ตามที่ได้มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ฉบับที่ 1-9) หรืออาจจะด้วยเหตุผลจองผู้ประกอบการที่ต้องการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีก็ตาม

จึงส่งผลให้แรงงานผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานประกอบการดังกล่าวขาดโอกาสในการได้รับการตรวจสอบมาตรฐานการทำงานและความปลอดภัยจากการทำงาน รวมถึงการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานฉบับต่างๆ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนนายจ้าง–ลูกจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม ก็จะทำให้ลูกจ้างในสถานประกอบการดังกล่าวไม่มีสิทธิที่จะได้เข้าสู่การประกันตนที่จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆภายใต้กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้างนี้ยังพบว่าเป็นปัญหาอยู่มาก

ดังเช่นที่ได้มีการจัดทำสถิติข้อร้องเรียนของสำนักงานประกันสังคมซึ่งได้ปรากฏว่า ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่แจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้าง สูงเป็นอันดับแรกของจำนวนข้อร้องเรียนทั้งหมด

P5010210

(3) รู้จักและเข้าใจอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 : ความสำคัญต่อแรงงานนอกระบบในเรื่องการรวมตัว-เจรจาต่อรอง 

การรวมตัวของพี่น้องแรงงานนอกระบบ เช่น ในรูปแบบเครือข่ายแรงงาน ศูนย์ประสานงานแรงงาน หรือสภาแรงงานนอกระบบ ถือได้ว่าเป็นความจำเป็นและเป็นหนทางที่ดีที่สุดทางหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบ เพราะการรวมตัวเป็นองค์กรเปรียบเสมือนปราการด่านแรกที่จะทำให้พี่น้องแรงงานนอกระบบมีโอกาสในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างหรือภาครัฐ เพื่อให้ตนสามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานรวมถึงสิทธิด้านอื่นๆของตนเองได้

อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างที่บัญญัติรับรองในเรื่อง เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นองค์การและการเจรจาต่อรอง คือ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 มีชื่อเต็มว่า “อนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวเป็นองค์การและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน ค.ศ.1948”

อนุสัญญานี้มีสาระสำคัญ 3 ประการ ที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการแรงงานเติบโตอย่างมากคือ

(1) คนทำงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ

นั่นหมายความว่า นายจ้างและคนทำงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานในภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ หรือแรงงานข้ามชาติ พวกเขามีสิทธิที่จะรวมตัวจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกองค์การของตนโดยเสรี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนได้อย่างอิสระโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตล่วงหน้าจากหน่วยงานใด นอกจากนี้การคุ้มครองเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นองค์การตามอนุสัญญานี้ต้องปราศจากการเลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ อาชีพ ศาสนา เพศ อายุ ความคิดเห็นทางการเมือง สีผิว ของเขาเหล่านั้น

(2) องค์การของคนทำงานและนายจ้าง มีเสรีภาพในการที่จะยกร่างธรรมนูญข้อบังคับองค์การของตนเอง คัดเลือกผู้แทนของตน และการจัดการบริหารองค์การของตน โดยที่รัฐจะต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือจำกัดสิทธิดังกล่าว

(3) องค์การของคนทำงานหรือนายจ้างที่จัดตั้งขึ้น มีสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้ง เข้าร่วมกิจกรรม หรือเข้าเป็นสมาชิกกับองค์การในประเทศและต่างประเทศใดๆได้โดยเสรี

นอกจากนี้อนุสัญญาฉบับที่ 87 นี้ ยังได้จัดให้มีคณะกรรมการด้านเสรีภาพในการสมาคม เป็นกลไกพิเศษขึ้นมาเพื่อควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ มีหน้าที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นองค์การของรัฐสมาชิก แม้ว่ารัฐสมาชิกจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ก็ตาม

อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 มีชื่อเต็มว่า “อนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวเป็นองค์การและสิทธิในการเจรจาต่อรอง ค.ศ.1949”

อนุสัญญานี้มีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ

(1) คุ้มครองคนงานจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

นั้นหมายความว่า รัฐต้องให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน เพื่อให้คนทำงานไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพได้ หรือต้องออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน รวมถึงการให้ความคุ้มครองจากการถูกเลิกจ้าง เพราะการที่คนทำงานเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงาน

(2) องค์การที่คนทำงานหรือนายจ้างจัดตั้งขึ้น ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการกระทำที่ทำให้เกิดการแทรกแซงระหว่างกัน ตั้งแต่ในขึ้นตอนของการก่อตั้ง การปฏิบัติ รวมถึงการบริหารงาน

นั้นหมายความว่า ภาครัฐต้องมีหน้าที่กำหนดมาตรการที่ให้ความคุ้มครองแก่องค์การของนายจ้างและองค์การของคนทำงานให้ปลอดจากการแทรกแซงกันและกัน

แรงงานนอกระบบ1บำนาญ3

(3) ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจา โดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์การนายจ้างกับองค์การของคนงาน

ข้อดีของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ต่อแรงงานนอกระบบ

(1)      การให้สัตยาบัน เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศ เพราะเป็นการแสดงว่าประเทศไทยยอมรับมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กำลังนำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า

(2)      การให้สัตยาบันจะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง และแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในประเทศให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เช่น แรงงานนอกระบบมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน และไม่ถูกแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ  เป็นการใช้มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจนอกระบบเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งและรณรงค์

(3)      การให้สัตยาบันในระยะยาวจะช่วยสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน โดยเฉพาะการลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างกลุ่มแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ เนื่องจากแรงงานทุกคนจะได้รับการคุ้มครองทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดในกระบวนการผลิต

(4)      ขบวนการแรงงานได้เรียนรู้ยุทธศาสตร์การจัดตั้งแบบใหม่ ที่เหมาะกับแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งอาจหมายถึง การกำหนดคู่เจรจาใหม่ เช่น ในกรณีของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย คู่เจรจาควรเป็นเทศบาลแทนที่จะเป็นนายจ้าง รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์และข้อเรียกร้องในการต่อรองร่วมกันใหม่ เช่น เป็นการต่อรองร่วมกันบนพื้นฐานของอุตสาหกรรม และหลักการประนีประนอมแทนที่จะเป็นการต่อรองบนพื้นฐานของบริษัท มีการปรับวิธีการรับสมาชิกให้เข้ากับสถานการณ์ของแรงงานนอกระบบ โดยมีเป้าหมายไปที่แรงงานหญิงและเยาวชนเป็นพิเศษ

อีกทั้งได้มีการคิดค้นการรวมกลุ่มและจัดตั้งแรงงานนอกระบบในแบบใหม่ๆ โดยเปลี่ยนจากบริการซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแรงงานสัมพันธ์ กรยุติข้อพิพาทแรงงาน และการเจรจาต่อรองในนามลูกจ้าง ไปสู่นโยบายและบริการซึ่งเกี่ยวโยงกับการเจรจาต่อรองกับคู่เจรจาใหม่ๆ การเข้าถึงสินเชื่อรายย่อย และการขยายขอบเขตของกฎหมายแรงงาน

(5)      แรงงานนอกระบบกับสหภาพแรงงานของกลุ่มแรงงานในระบบ สามารถรวมตัวเป็นกลุ่มเดียวกันได้ ซึ่งจะมีข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

–          เป็นโอกาสที่จะขยายฐานสมาชิกนอกเหนือไปจากสมาชิกที่อยู่ในสถานประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่สหภาพแรงงานกำลังสูญเสียสมาชิกจากการปลดออกจากงานและอำนาจการต่อรอง

–          ทำให้สหภาพแรงงานสามารถเป็นตัวแทนแรงงานมากขึ้น

–          แรงงานนอกระบบและสหภาพแรงงานต่างได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีเวทีการอบรมทักษะเฉพาะที่สำคัญต่างๆร่วมกัน

–          ทำให้อำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานเข้มแข็งขึ้น โดยสร้างการยอมรับและขยายความสัมพันธ์ไปสู่ผู้รับเหมาช่วงและแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน

–          เป็นโอกาสให้ดำเนินการจัดตั้งในชุมชนที่ไม่อยู่ในสถานประกอบการ

–          ได้รับความสนใจในวงกว้างขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถของสหภาพแรงงานในการกระทำที่เกี่ยวข้องกับมวลชน

–          เชื่อมโยงสมาชิกสหภาพแรงงานกับครอบครัวของสมาชิกซึ่งทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ

–          สามารถรักษาความสัมพันธ์กับสมาชิกสหภาพแรงงานและให้บริการสมาชิกที่ถูกบังคับให้ออกจากภาคเศรษฐกิจในระบบ เช่น ถูกปลดออกจากงาน เป็นต้น

–          ปรับปรุงฐานการเงินและทรัพยากรของสหภาพแรงงานให้ดีขึ้น

–          ปรับปรุงการรับรู้ที่ผิดๆเกี่ยวกับสหภาพแรงงานและบทบาทสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในสถานประกอบการเท่านั้น

–          สหภาพแรงงานจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดตั้งตามประเภทของอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิต เช่น แรงงานเกษตรกรรม แรงงานขนส่ง โดยสหภาพแรงงานได้มีการนำแรงงานนอกระบบเข้ามารวมด้วย โดยรับเป็นสมาชิกเข้ามาอยู่ในโครงสร้างที่มีอยู่แล้วหรือรับให้องค์กรแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกอยู่ในสังกัดก็ได้

ข้อพึงสังเกตต่อการรวมกลุ่มของแรงงานนอกระบบ

ด้วยลักษณะที่หลากหลายของแรงงานนอกระบบ การทำงานเพื่อสร้างให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานนอกระบบจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ร่วมด้วย ได้แก่

(1)   แรงงานนอกระบบไม่ได้มาจากกลุ่มเดียวกัน และอาจมีผลประโยชน์แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

(2)   แรงงานนอกระบบอาจมีพื้นฐานความสนใจที่แตกต่างจากสมาชิกสหภาพแรงงานส่วนใหญ่ เช่น มีความผูกพันในด้านเชื้อชาติ ครอบครัวและเครือญาติมากกว่าความรู้สึกร่วมในฐานะชนชั้นแรงงานเดียวกัน

(3)   บ่อยครั้งที่พบว่าแรงงานนอกระบบต้องทำงานดิ้นรนให้อยู่รอดในชีวิตประจำวันมากเสียจนไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขายังมองไม่ออกว่าการกระทำดังกล่าวหรือการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จะช่วยแก้ปัญหาความจำเป็นพื้นฐานของพวกเขาได้อย่างไรในทางปฏิบัติ

(4)   ด้วยลักษณะของงานที่ไม่มีความมั่นคง ทำให้แรงงานมักกังวลว่าจะสูญเสียการจ้างงานเมื่อเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานหรือรวมกันเป็นกลุ่มองค์กรตนเอง

(5)   แรงงานนอกระบบโดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานที่บ้านและในกิจการขนาดเล็ก เป็นกลุ่มที่อาจจัดตั้งองค์กรได้ยาก ใช้เวลาและทรัพยากรมาก มีค่าใช้จ่ายสูง

(6)   สมาชิกสหภาพแรงงานที่มีอยู่อาจไม่เข้าใจเหตุผลในการจัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบ และอาจคัดค้านไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งจำเป็นต่อการเข้าถึงแรงงานนอกระบบ

(4) การขับเคลื่อนและรณรงค์ของสหภาพแรงงานในประเทศไทย ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98: จาก พ.ศ.2547-2556 10 ปีของการเรียกร้อง

นับตั้งแต่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งที่ได้เข้าร่วมการเป็นสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO-International Labour Organization) และได้มีการตั้งสำนักงานสาขาขึ้นในกรุงเทพฯ สหภาพแรงงานไทยและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้พยายามรณรงค์ในการส่งเสริมการให้สัตยาบัน และปฏิบัติตามมาตรฐานอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เช่น มีการยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีในวันแรงงานเรียกร้องให้รับรองสัตยาบันในอนุสัญญาทั้งสองฉบับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน คือ ปี 2556

2552-2553

กระบวนการทำงานของสหภาพแรงงานไทยได้ก่อให้เกิดความร่วมมือกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศโดยตรงเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ได้มีการรวมตัวจัดตั้งเป็น “คณะทำงานเพื่อสนับสนุนอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ98 (Working group to promote ratification)” โดยมีนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเป็นประธานคณะทำงาน เมื่อเดือนมิถุนายน 2552

ผลจากการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การประสานของ “คณะทำงาน” ทำให้กระทรวงแรงงานออกคำสั่งที่ 324/2552 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2552 แต่งตั้ง “คณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98” โดยมีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ 46 คน เข้าร่วม ประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล 12 คน ฝ่ายนายจ้าง 16 คน ฝ่ายลูกจ้าง 15 คน  และนักวิชาการแรงงาน จำนวน 3 คน ทั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลไทยควรจะดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ขั้นตอนต่อไป คือ การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา

ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 คณะทำงานได้มีการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในการรณรงค์ โดยมีผู้นำแรงงานจาก 30 องค์กรเข้าร่วม แผนการทำงานประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักดังนี้

(1) สร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักรู้ต่อกลุ่มแรงงานและประชาชนทั่วไปในความจำเป็นของอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98

(2) จัดให้มีเวทีเพื่อการเรียนรู้ในเขตอุตสาหกรรม 7 แห่ง

(3) การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลให้สัตยาบันตามอนุสัญญา

2.͹ØÊÑ­­Ò ILO.87-98DSC05939

ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2552 และปี พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นวันงานที่มีคุณค่าสากล คณะทำงานและองค์กรเครือข่ายแรงงานได้มีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98

อีกทั้งยังมีการจัดเวทีร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่ออภิปรายถึงอุปสรรคและโอกาสของการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 จนในที่สุดนำไปสู่การแต่งตั้งคณะทำงานไตรภาคีที่มาจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยและฝ่ายรัฐบาล เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการให้สัตยาบันอนุสัญญาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจระดับประเทศและความมั่นคง

โดยกลุ่มคณะทำงานดังกล่าวได้มีการประชุมหลายครั้งมาตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552, 15 ธันวาคม 2552, 18 มกราคม 2553, 23 กันยายน 2553 และปลายเดือนธันวาคม 2553

ผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2553 กลุ่มคณะทำงานทั้ง 3 ฝ่ายได้มีมติเห็นชอบในการให้สัตยาบันอนุสัญญาและเสนอคณะรัฐมนตรีให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมและให้สัตยาบัน จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อไปยังรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงความเห็นชอบต่อไป

แต่เนื่องมาจากความไม่สงบทางการเมือง อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯและอีกหลายแห่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน พ.ศ.2553 กิจกรรมทั้งหมดของกลุ่มแรงงานที่ดำเนินการในเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ในช่วงเวลานั้นจึงหยุดชะงักไปชั่วคราว

ต่อมาจึงมีการขับเคลื่อนอีกครั้งในเดือนกันยายน 2553 มีการจัดงานแถลงข่าวและอภิปรายในหัวข้อ “หนึ่งปีกับการสนับสนุนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 : ความคืบหน้าและความท้าทาย” โดยความร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์กร FES (The  Friedrich-Ebert-Stiftung) และองค์กร ACILS (The American Center for International Labor Solidarity) ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ มีนักสหภาพแรงงานเข้าร่วมประมาณ 100 คน การประชุมนี้มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการตื่นตัวให้เห็นความสำคัญในการให้สัตยาบันอนุสัญญา รวมถึงฟื้นฟูกิจกรรมของกลุ่มแรงงานที่มักมีปัญหาและอุปสรรคเนื่องมาจากความไม่สงบทางการเมือง

จนในที่สุดวันที่ 14 ธันวาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง

2554

15 กุมภาพันธ์ 2554 มีการหารือระหว่างคณะทำงานและสหภาพแรงงานกว่า 35 แห่ง เพื่อระดมความคิดเห็นและแสวงหาแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อให้รัฐสภารับรองอนุสัญญาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างก็ให้คำรับรองคำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนการยอมรับและการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวต่อไป

3 พฤษภาคม 2554 คณะรัฐมนตรีขอถอนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้ง 2 ฉบับ ฉบับที่ 87 เนื่องจากพบว่าอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวข้องกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และจะมีการออกกฎหมายลำดับรอง จึงขอถอนหนังสือสัญญาทั้งหมดออกไปก่อน เพื่อรอดำเนินการจัดทำกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จก่อน

มาตรา 190 ระบุว่า “…ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย…”

นั่นคือ หากเข้าข่ายมาตรา 190 ต้องให้คณะรัฐมนตรีเสนอรัฐสภาเพื่อทำประชาพิจารณ์ จากนั้นจึงนำกลับให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง แต่หากไม่เข้าข่ายมาตรา 190 สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ทั้งนี้หากได้รับความเห็นชอบแล้ว สามารถส่งต่อให้กระทรวงการต่างประเทศเพื่อแจ้งจดทะเบียนให้สัตยาบันได้ทันที โดยอนุสัญญามีผลใช้บังคับหลังจากการให้สัตยาบันแล้ว 12 เดือน

11 พฤษภาคม 2554 เกิดเหตุการณ์ยุบสภา มีการเปลี่ยนรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อุปสรรคสำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยในช่วงปลายปี พ.ศ.2554 ทำให้กระบวนการการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวหยุดชะงักอีกครั้ง ความวิตกกังวลและความสนใจมุ่งไปที่การแก้ปัญหาในเรื่องผลกระทบและการฟื้นฟูประเทศจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในขณะที่รัฐบาลก็มีแผนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีการถอนการเสนอให้พิจารณาเรื่องของการให้สัตยาบันอนุสัญญาออกจากรัฐสภาตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ.2554

อย่างไรก็ตามภายหลังจากการเข้ามาทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ ท่าทีต่อการผลักดันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ยังไม่มีความชัดเจน แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความแล้วว่า อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯปี 2550 และได้ส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงานส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศ เพื่อลงนามรับรอง

แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสู่รัฐบาลภายใต้พรรคเพื่อไทย อนุสัญญาดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองและกระทรวงแรงงานได้มีการปรับเปลี่ยนหลักการเหตุผลใหม่ทั้งหมด และนำมาสู่การจัดประชาพิจารณ์ในปี 2555

2555

ในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น พบว่าเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 ทางสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดจ้างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ดำเนินโครงการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ

(1) เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ภาคีที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้เรื่อง การให้สัตยาบันอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ 98 ของประเทศไทย

(2) เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของแรงงาน หากประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ 98

(3) เพื่อให้ภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูล แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ของประเทศไทย

(4) เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ กลุ่มเป้าหมาย คือ ภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวม 400 คน ทั้งนี้ได้กำหนดการจัดเวที 5 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 19 มิถุนายน 2555 ศิรินาถ การ์เด้นท์ จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 มิถุนายน 2555 โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 3 วันที่ 28 มิถุนายน 2555 โรงแรมชลจันทร์ จ.ชลบุรี ครั้งที่ 4 วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 โรงแรมสยามธานี จ.สุราษฎร์ธานีครั้งที่ 5 วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพมหานคร

นอกจากนั้นแล้วการเคลื่อนไหวรณรงค์ที่สำคัญในปี 2555 ของสหภาพแรงงานไทย คือ เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2555 ที่โรงแรมอามารี วอเตอร์เกต ประตูน้ำ กรุงเทพฯ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับสภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้มีการจัดประชุมเพื่อผลักดันรัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร และเจรจาต่อรอง เพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

โดยเป็นการประชุมที่เน้นไปที่การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาการการขับเคลื่อนของคณะทำงาน สหภาพแรงงาน รวมถึงในส่วนของกระทรวงแรงงานเอง ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการขับเคลื่อนผลักดันต่ออย่างเข้มข้น เพื่อให้กระบวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น ผ่านแนวทางการทำงานรูปแบบต่างๆ

2556

มีความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่สำคัญ โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 มีการประชุมร่วมระหว่างส่วนราชการเพื่อหาข้อยุติเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดการประชุมร่วมระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเห็นและหาข้อยุติ เรื่อง การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 โดยมีนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นประธานการประชุม และมีนายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงนายอิทธิพล แผ่นเงิน ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ คณะผู้บริหารสำนักแรงงานสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่ รวม 50 คน  เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมนิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

นอกจากนั้นในส่วนของสหภาพแรงงานไทย พบว่าคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานในระดับพื้นที่ จัดทำโครงการ “การขับเคลื่อนและรณรงค์ของสหภาพแรงงานในระดับพื้นที่ ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98” ขึ้นมา ในระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2556 โดยการสนับสนุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับแรงงานในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงในเรื่องการรณรงค์และมีกิจกรรมเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาในระดับจังหวัด เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรณรงค์และนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ต่อไปในอนาคต

********************************

[1] เอกสารฉบับนี้จัดทำโดยนางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์  ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2556 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามโครงการ “การขับเคลื่อนและรณรงค์ของสหภาพแรงงานในระดับพื้นที่ ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรอง อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98” ระยะเวลาดำเนินการ กรกฎาคม – ธันวาคม 2556 ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกับองค์กรสมาชิกทั้งแรงงานในระบบ  แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณสุจิน รุ่งสว่าง คุณชาลี ลอยสูง และคุณยงยุทธ เม่นตะเภา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สำหรับการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันต่อความไม่เป็นธรรมในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของพี่น้องแรงงานนอกระบบในประเทศไทย

เอกสารฉบับนี้อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากรายงานการศึกษาเรื่อง สถานการณ์แรงงานนอกระบบกับการคุ้มครองทางกฎหมายในประเทศไทย โดยคุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ