ร้องกรรมการสิทธิรัฐมนตรีคลังละเลยบังคับใช้กฎหมายกองทุนออมฯ

ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบระดับชาติพร้อมผู้ได้รับผลกระทบเข้าร้องเรียนิมนุษยชนแห่งชาติ หวังให้ตรวจสอบและฟ้องร้อง กระทรวงการคลังกรณีละเลยไม่เปิดรับสมัครสมาชิกตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 257 กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA OLYMPUS DIGITAL CAMERA
นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบระดับชาติ กล่าวว่าการมาครั้งนี้ของเครือข่ายเพื่อขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาฟ้องร้องกระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐที่ละเลยการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 84 (4) ที่บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง
2. การชะลอการบังคับใช้กฎหมายยิ่งทำให้ประชากรภาคแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพอย่างทั่วถึง ตกอยู่ในความเสี่ยงเรื่องความยากจนในวัยสูงอายุ อันเนื่องมาจากไม่มีช่องทางหรือโอกาสเข้าถึงระบบการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิต เนื่องจากแนวคิดของกองทุนการออมแห่งชาติตั้งอยู่บนพื้นฐานของการออม (การสะสมเงิน) และการสมทบร่วมของรัฐบาล สมาชิกแต่ละคนมีบัญชีบำนาญเป็นของตนเอง การได้รับบำนาญยามชราภาพมากหรือน้อยขึ้นกับระยะเวลาของการจ่ายเงินสะสมและการได้รับเงินสมทบร่วมจากรัฐบาล การเลื่อนเวลาการเปิดรับสมัครสมาชิกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก่อให้เกิดผลเสียหายโดยตรงกับผู้ที่มีความตั้งใจจะสร้างหลักประกันยามชราภาพเหล่านี้
3. ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์ สตรีวัยเจริญพันธุ์มีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลง ผู้สูงอายุไทยมากกว่าครึ่งเคยหรือกำลังพึ่งพาการเกื้อหนุนทางการเงินจากลูกหลาน แต่ในอนาคตจะยิ่งเป็นไปได้ยาก กอปรกับผู้สูงอายุไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ดังนั้นโดยหลักการแล้ว สังคมไทยกำลังจะต้องพึ่งพาระบบบำนาญในฐานะลูกหลานที่ดีที่จะช่วยประกันความมั่นคงด้านรายได้ยามชราภาพต่อไปจนวันสุดท้ายของอายุขัย แต่การที่ยังไม่เปิดให้มีการรับสมัครสมาชิกยิ่งทำให้รัฐบาลเองก็ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินเข้าไปเกื้อหนุนผู้สูงอายุเหล่านั้นในรูปแบบอื่นๆเพิ่มขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแรงงานในระบบหรือลูกจ้างในสถานประกอบการที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ที่พบว่าในทุกเดือนลูกจ้างเหล่านี้ต้องถูกหักเงินในรูปแบบของเบี้ยประกันส่งเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 180 เดือน เบี้ยประกันนี้ถูกหักจากค่าจ้างหรือเงินเดือนทุกเดือนๆ โดยนายจ้างเป็นผู้หักเงินและนำส่งกองทุนประกันสังคมแทนผู้ประกันตน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ชราภาพ หรือเงินบำนาญรายเดือนหลังเกษียณ แต่หากย้อนกลับไปดูกลุ่มเป้าหมายของกองทุนการออมแห่งชาติ จะพบว่าหากรัฐบาลไม่ผลักดันให้คนกลุ่มนี้มีส่วนร่วมจ่ายเพื่อสร้างหลักประกันยามชราภาพ แต่กลับใช้งบประมาณแผ่นดินจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพเพียงประการเดียว จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างแรงงานสองกลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมรับเงินบำนาญชราภาพโดยตนเองมีส่วนร่วมจ่ายเบี้ยประกัน แต่ทว่ากลุ่มเป้าหมายของเบี้ยยังชีพกลับได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบใดๆ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าระบบดังกล่าวได้สร้างให้เกิดความไม่เป็นธรรมในประชากรแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบ ในแง่ของการได้รับประโยชน์จากรัฐและการแบกรับภาระทางภาษีอาการ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของสังคมไทยในอนาคต

OLYMPUS DIGITAL CAMERA OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นางนีรมล สุทธิพรรณพงศ์ แรงงานนอกระบบ เขตทุ่งสองห้อง หลักสี่ กรุงเทพฯกล่าวว่า ตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการไม่บังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นสวัสดิการของประชาชน ตนได้ร่วมขับเคลื่อนร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแรงงานนอกระบบทุกคนได้มีหลักประกันยามชราภาพ ถือได้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญเป็นหลักประกันคุณภาพแห่งชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีในการเป็นพลเมืองของประเทศ
ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการออมภาคประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ เป็นแนวทางหนึ่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านหลักประกันในชีวิตของคนยากจนและส่งเสริมความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงอายุ กล่าวได้ว่าเป็นการส่งเสริมการออมสำหรับสมาชิกที่เป็นแรงงานนอกระบบกว่า 24.6 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการรองรับในวัยเกษียณอายุ ทั้งนี้มีการบังคับใช้เป็นกฎหมายมาตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554
นับตั้งแต่วันที่กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ และกระทรวงการคลังได้จัดงานเปิดตัวกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 แต่บัดนี้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าสู่การมีหลักประกันทางรายได้ในยามชราตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้เสร็จภายในปี 2556
ทั้งนี้ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบระดับชาติ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายแรงงานนอกระบบหลายกลุ่มอาชีพในระดับพื้นที่ เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายแท็กซี่ เครือข่ายมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เครือข่ายหาบเร่แผงลอย เครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้าน เครือข่ายตัดเย็บเสื้อผ้า และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 อ้างเหตุผลว่า ต้องการปรับปรุงให้กฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้นโดยไม่ดำเนินงานตามเงื่อนเวลาที่กฎหมายและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกำหนดไว้ ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิได้รับบำนาญตลอดชีพในอนาคตของแรงงานนอกระบบจำนวนมากที่รอคอยโอกาสนี้ จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาฟ้องร้องกระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐที่ละเลยการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ด้วย
นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่แรงงานนอกระบบและเครือข่ายออกมารักษาสิทธิด้วยการเดินเข้ามาร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯต่อประเด็นการไม่บังคับใช้กฎหมายของหน่อวยงานรัฐ ตนในฐานะตัวแทนที่ออกมารับหนังสือจะดำเนินการส่งหนังสือโดยคณะกรรมการสิทธิฯถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อให้ตอบถึงเหตุผลการที่ไม่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ซึ่งคงต้องให้เวลาอย่างน้อย 2 อาทิตย์ พร้อมทั้งจะมีการตั้งคณทำงานพิเศษเฉพาะเรื่องนี้ขึ้นเพื่อติดตามความคืบหน้าโดยถือเป็นนโยบายเร่งด่วน
นักสื่อสารแรงงาน รายงงาน