“ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น”

ข้อเสนอต่อ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ด้วยสถานการณ์การเมืองขณะนี้อยู่ในช่วงการยุบสภาแล้ว ซึ่งสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นต่อไป ไม่ว่าจะด้วยการยึดกรอบรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตย หรือจะใช้วิธีพิเศษอื่นใดก็ตาม และจะช้าหรือเร็ว ก็ต้องเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป

SAM_0469

ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ จึงมีข้อเสนอของฝ่ายต่างๆเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ข้อขัดแย้งหลักๆที่แต่ละฝ่ายพูดต่อสาธารณะนั้นล้วนเป็นเรื่องการเมืองของนักการเมือง เช่นการทุจริตคอรัปชั่นโกงกินของนักการเมือง การเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจทางการเมือง

ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหาจากการเมืองอันนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในสังคมนั้นมีอยู่มากมาย แต่ไม่ค่อยถูกยกมาพูดถึงในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเช่น เรื่องนายทุนยึดครองที่ดินจนเกิดปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกิน เรื่องภาษีอัตราก้าวหน้าที่ต้องเก็บจากคนรวยเพื่อนำมาสร้างสวัสดิการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และอีกมากมาย

SAM_0442 SAM_0454

กล่าวเฉพาะเจาะจงไปที่ปัญหาของแรงงานชัดๆนั้น แรงงานทั่วประเทศทุกวันนี้ก็เผชิญปัญหาถูกโกงกินอย่างหนักเช่นกัน โดยถูกบรรดานายทุนซึ่งส่วนมากก็ล้วนสัมพันธ์โยงใยกับนักการเมืองทุกพรรคทุกฝ่าย หรือถูกนายทุนที่กลายเป็นนักการเมืองเสียเอง โกงกินค่าจ้างแรงงานอยู่ทุกวี่วันผ่านกฎเกณฑ์และกลไกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ นายทุนนักการเมืองต่างคอรัปชั่นโกงกินชีวิตของแรงงานจนพากันร่ำรวยมหาศาล ขณะที่แรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมต่างมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ลง ปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงเพิ่มมากขึ้น

โดยที่ผ่านมา หากฝ่ายแรงงานมีข้อเรียกร้องหรือแม้คิดจะเสนอกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาของแรงงาน นายทุนในคราบนักการเมืองหรือมีอิทธิพลต่อทุกพรรคการเมืองก็จะไม่สนใจไม่ยอมรับ สิทธิทางการเมืองของแรงงานจึงถูกจำกัดให้อยู่แค่ในสถานประกอบการ และก็ถูกนายทุนและนักการเมืองรวมหัวกันสกัดกั้นแทรกแซงเพื่อบั่นทอนพลังต่อรองของแรงงานให้อ่อนแอลง เป็นอย่างนี้มาทุกๆรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้ คสรท.ในฐานะองค์กรนำองค์กรหนึ่งในขบวนการแรงงาน จึงควรต้องคิดถึงการนำเสนอประเด็นนโยบายของแรงงานอย่างอิสระ และทำให้ข้อเสนอของแรงงานเด่นชัดขึ้นมาว่าจะได้รับการตอบสนองทางการเมือง เช่น สิทธิเลือกตั้งในเขตทำงาน สิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง สิทธิการเสนอกฎหมายโดยไม่ถูกปฏิเสธจากนักการเมือง ระบบยุติธรรมที่เป็นธรรมต่อแรงงาน ฯลฯ โดยควรต้องตระหนักถึงการนำเสนอที่ยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด เพราะสหภาพแรงงานคือองค์กรแบบประชาธิปไตย ซึ่งหากหลักการประชาธิปไตยไม่ถูกตีความแบบเบี่ยงเบนไป ปัญหาของบ้านเมืองก็คงยุติได้ และแรงงานก็จะได้รับประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มากกว่าระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจการเมืองถูกครอบงำโดยชนชั้นนำต่างๆในสังคมและต่างก็แย่งชิงสืบทอดอำนาจการเมืองกันระหว่างคนไม่กี่ตระกูล

ชนชั้นแรงานจึงต้องไม่ลืมอุทธาหรณ์ที่สอนสั่งกันต่อๆมาว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น”

ด้วยความสมานฉันท์

วิชัย นราไพบูลย์

15 ธ.ค.56