ความเลวในประวัติศาสตร์ของรมต.แรงงาน ประเทศไทย เมื่อไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงาน

ปรองดอง1OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ยงยุทธ เม่นตะเภา คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

แม้ว่าวันนี้ผมจะติดภารกิจเป็นวิทยากรอยู่ที่เขาใหญ่ในงานสัมมนาของสหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์ แต่พลันที่ได้รับข่าวสารมาว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 24 มีนาคม 2556 ได้ลงมติไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับผู้ใช้แรงงานหรือฉบับ 14,264 รายชื่อ ผมก็อึ้งและตกใจมิใช่น้อย

เนื่องจากนี้เป็นกฎหมายแรงงานฉบับแรกของประเทศไทยที่ภายหลังจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มาตรา 17 กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นรายชื่อ มีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายของประชาชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

เร่งประกันสังคม

และต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็ได้ระบุไว้ในมาตรา 163 เรื่องการปรับลดผู้เสนอกฎหมายเหลือเพียง 1 หมื่นรายชื่อ รวมทั้งกำหนดให้ต้องมีผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าชี้แจงหลักการร่างกฎหมายฉบับนั้น รวมทั้งในการพิจารณากฎหมายในขั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ (วาระ 2) จะต้องมีตัวแทนของภาคประชาชนที่เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของคณะกรรมาธิการทั้งหมด

แน่นอนก่อนหน้านั้นผมสังหรณ์ใจอยู่แล้วว่า อย่างไรก็ตามสภาฯชุดนี้ ที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อแน่นอน ทั้งจากเหตุผลเรื่องการมีตัวแทน 1 ใน 3 แล้ว

รวมทั้งก่อนที่มีการลงมติเพื่อรับหลักการวาระ 1 วาระ 1 ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนการพิจารณาว่าจะรับหลักการแห่งร่างกฎหมายนั้นหรือไม่ โดยให้ผู้เสนอร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะกี่ร่างก็ตามที จะต้องอภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นจึงเปิดให้มีการอภิปรายคัดค้านหรือสนับสนุน เมื่อการอภิปรายสิ้นลงสุดแล้วที่ประชุมจะลงมติว่าจะรับหลักการแห่งร่างกฎหมายฉบับนั้นหรือไม่ ถ้าที่ประชุมมติรับหลักการก็จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 แต่ถ้าไม่รับหลักการ ร่างกฎหมายนั้นก็เป็นอันตกไป

แต่ก่อนลงมติรับหลักการนั้น พรรคเพื่อไทยนำโดยนายไพจิต ศรีวรขาน สส.นครพนม และนายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกสภาผผู้แทนราษฎร (สส.)บัญชีรายชื่อและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เป็นผู้เสนอให้ประธานลงมติรับร่างกฎหมายประกันสังคมทีละร่าง

กล่าวคือ วันนี้มีร่างกฎหมายประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณา 4 ฉบับ คือ ฉบับรัฐบาล, ฉบับผู้ใช้แรงงาน, ฉบับที่เสนอโดยสส.เรวัติ อารีรอบ และฉบับที่เสนอโดย สส.นคร มาฉิม เนื่องจากให้เหตุผลว่า ร่างกฎหมายประกันสังคมบางร่างไม่ตรงกับหลักการร่างของรัฐบาล และตนเองก็ควรมีสิทธิเลือกว่าจะรับหรือไม่รับกฎหมายฉบับใดบ้าง

อย่างไรก็ตามมีสส. พรรคประชาธิปัตย์ทั้งนคร มาฉิม ผุสดี ตามไท และอีก 3 คน ที่ไม่เห็นด้วย และบอกว่าควรต้องรับร่างทั้ง 4 ร่าง เพราะการแยกกันรับแบบนี้ โอกาสที่ร่างกฎหมายของผู้ใช้แรงงานจะถูกไม่รับมีสูงมาก (และในที่สุดมันก็เป็นความจริง!!!)

ทั้งๆที่ข้ออ้างเรื่อง หลักการไม่ตรงกัน ผมจำได้ว่า สมัยนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการพิจารณารับร่างกฎหมายส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีร่างของผู้ใช้แรงงาน ที่เสนอผ่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์(สส.)นคร มาฉิม และสส.สถาพร มณีรัตน์ มีการบรรจุเรื่องสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานไว้ด้วย ซึ่งแตกต่างจากร่างรัฐบาล

แต่สภาฯในสมัยนั้นก็โหวตรับร่างทุกร่างในวาระ 1 และไห้ไปพิจารณารายมาตราในขั้นกรรมาธิการแทน ดังนั้นข้ออ้างนี้จึงถือได้ว่า “ตั้งใจจะไม่รับร่างผู้ใช้แรงงานอยู่แล้ว” เพราะที่ผ่านมาสภาฯก็มีบรรทัดฐานในการรับร่างกฎหมายแรงงานในประเด็นที่หลักการและเหตุผลไม่ตรงกันมาแล้ว

แม้ว่าประธานในที่ประชุม คือ นายเจริญ จรรย์โกมล พรรคเพื่อไทย จะสามารถตัดสินใจได้ว่าควรเป็นไปในทิศทางใด แต่สุดท้าย ผมคิดว่าคงมีการเตี๊ยมกันแล้วใน สส.เพื่อไทย เมื่อประธานเปิดให้โหวต และสุดท้ายก็มีมติว่าให้แยกกันรับร่างทีละร่าง แน่นอนสุดท้ายร่างของผู้ใช้แรงงาน กับร่างของ สส.นคร มาฉิม ก็มีผู้เห็นด้วยเพียง 80 คนเท่านั้น จาก สส.ในห้องทั้งหมด 326 คน และร่างฉบับนี้ก็ตกไปในที่สุด คือ ไม่ถูกพิจารณาในกระบวนการนิติบัญญัติไทยอีกต่อไป

แน่นอนผมถือว่า นี้คือกระบวนการทำลายภาคประชาชนและเสียงของผู้ใช้แรงงาน เพราะหลังจากนั้นเมื่อพิจารณา พรบ.ประกันสังคมเสร็จ สภาผู้แทนราษฎรได้ล่มทันที คือ เพราะหลังจากพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมเสร็จ ได้มีการพิจารณาร่างพรบ.ประกันวินาศภัย ต่อ พบว่า มี สส.อยู่ในห้องประชุมเพียง 235 คน ซึ่งจริงๆแล้วต้องอยู่ครึ่งหนึ่ง คือ 249 คน ทำให้สส.พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสนอให้นับองค์ประชุม และพบว่า สส.ที่หายไป คือ สส.พรรคเพื่อไทย ที่โหวตไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคม นี้เอง กว่า 70 คน

นั้นแปลว่า มีความตั้งใจจากพรรครัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทยอยู่แล้วที่จะไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งฉบับของ สส.นคร มาฉิม ด้วย

ซึ่งคนหนึ่งที่ไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับนี้ ชื่อ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมต.แรงงานนี้เอง

แน่นอนร่างกฎหมายของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คือ การสังคายนากองทุนประกันสังคมที่มีการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายมาโดยตลอดนั่นเอง !!! แล้วใครล่ะ จะกล้าให้ผู้ใช้แรงงานในฐานะเจ้าของเงินตัวจริงมายุ่ง เพราะรัฐบาลและนายจ้างก็จะไม่สามารถคอร์รัปชั่นได้อีกต่อไป มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะกฎหมายฉบับผู้ใช้แรงงานนี้พยายามเสนอใหม่ว่า

–          มีความครอบคลุมกลุ่มแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ

–          มีความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม โดยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ต้องมาจากการเลือกตั้งจากคณะกรรมการ ไม่ใช่เป็นข้าราชการเช่นในปัจจุบัน เพื่อจะได้ดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาบริหารได้

–          องค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมืออาชีพ มีความเป็นอิสระปราศจากกลุ่มผลประโยชน์ นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการเลือกตัวแทนแรงงานเข้ามาเป็นตัวแทนที่ต้องมีวิธีการสรรหาตัวแทนที่สามารถเป็นตัวแทนของแรงงานได้อย่างแท้จริง

–          การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้เท่าเทียมกับระบบอื่นๆ

–          ความยั่งยืนของกองทุน การเพิ่มเพดานการเก็บเงินจากไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทให้มากขึ้นเป็นต้น และหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมในอนาคตต่อไป

เหล่านี้คงเป็นประเด็นที่ไปขัดแข้งขัดขานักการเมืองที่หวังฮุบกองทุนประกันสังคมหลายๆคนจนไม่พอใจ และเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ถือได้ว่านี้คือความอัปยศมากในการเมืองไทย เพราะคือการสกัดกั้นที่จะไม่ให้มีตัวแทนของผู้ใช้แรงงานผู้ยกร่างได้เข้าไปร่วมพิจารณาในชั้นกรรมาธิการตามจำนวน 1 ใน 3 ตามรัฐธรรมนูญกำหนด

ถือได้ว่าเป็นการทำลายหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยทางตรง คู่ขนานไปกับประชาธิปไตยทางอ้อมที่ใช้อำนาจผ่านผู้แทนราษฎร แต่นี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม กลับใช้อำนาจของตนทำลายอำนาจของประชาชน เท่ากับว่าสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้ถูกทำลายลงด้วยส.ส. (เฮงซวย) เหล่านี้ เพราะถ้ากฎหมายฉบับไหนที่ประชาชนร่างขึ้นมาไม่ถูกใจบรรดาพวกนักลากตั้งเหล่านี้ ก็จะตกไปทั้งหมดสภาไม่มีโอกาสได้พิจารณาเนื้อหาสาระเลย

นี้เป็นความเลวในประวัติศาสตร์ของรมต.แรงงาน ประเทศไทย เมื่อไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงาน

………………………………………………..