การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
โดย เดชา กิตติวิทยานันท์ (ทนายคลายทุกข์) โพสต์ทูเดย์รายวัน (4 ก.ค.56)

OLYMPUS DIGITAL CAMERAมีผู้อ่านสอบถามมาเกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นจำนวนมาก ผมจึงขออนุญาตนำคำบรรยายของเนติบัณฑิตสภา กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งบรรยายโดย ศ.เกษมสันต์ วิลาวรรณ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแรงงานกลาง ซึ่งบรรยายไว้ 10 สาเหตุด้วยกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งมานำเสนอ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง หมายถึงการเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง การเลิกจ้างที่มีสาเหตุแต่ยังไม่สมควรถึงขนาดที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ การเลิกจ้างที่สาเหตุในการเลิกจ้างโดยไม่มีพยานหลักฐานที่จะนำสืบข้อเท็จจริงให้สมกับข้ออ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิด การเลิกจ้างไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอ หรือการเลิกจ้างโดยมีเจตนาจะกลั่นแกล้งลูกจ้างนั้น ซึ่งจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

กรณีเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ
ลูกจ้างฟ้องนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นายจ้างให้การว่า นายจ้างมิได้เลิกจ้างลูกจ้างเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างมิได้ต่อสู้ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ จึงต้องถือว่านายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 4789/2549)

กรณีเลิกจ้างที่กระทำผิด แต่ยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้าง
ลูกจ้างเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อมีกรณีขัดแย้งกับนายจ้างในเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อสินค้าซึ่งอยู่ในอำนาจของลูกจ้าง ลูกจ้างได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว แม้จะมีความบางตอนไม่เหมาะสมในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีถึงผู้บังคับบัญชา รวมทั้งไม่ควรที่จะให้ทนายความมาเกี่ยวข้องตอบโต้ในหนังสือแทนในการทำงานระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา แต่ก็ยังไม่มีเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ การเลิกจ้างลูกจ้างแม้ลูกจ้างจะมีมูลความผิดหรือมีความผิดอยู่บ้าง แต่ยังไม่สมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้แล้ว การเลิกจ้างนั้นก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 1347/2525)

กรณีการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด
การที่นายจ้างสั่งโดยให้ลูกจ้างไปทำงานบริษัทที่ฮ่องกง เป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้างไปเป็นนิติบุคคลอื่นต่างหากจากนายจ้างเดิม จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยจึงจะกระทำได้ เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอมโดยไม่ยอมทำสัญญาจ้างฉบับใหม่กับบริษัทใหม่ แต่นายจ้างให้พ้นจากตำแหน่งและจ้างคนอื่นทำงานแทนจึงเป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง การสั่งโอนลูกจ้างไปทำงาน ณ เมืองฮ่องกง จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 46/25237)

กรณีเลิกจ้างโดยเหตุอื่นนอกจากที่กำหนดในสัญญาจ้าง
นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาและนอกจากระเบียบข้องบังคับของนายจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 1253/2526)

กรณีการเลิกจ้างอันเป็นการลงโทษเกินระดับที่ได้กำหนดไว้
ลูกจ้างเล่นการพนันนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาปฏิบัติงาน ซึ่งตามระเบียบพิจารณาระดับการลงโทษของนายจ้าง ให้ถือเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับ โดยกำหนดระดับลงโทษไว้เพียงลดขั้นเงินเดือนมิได้ถือเป็นความร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก การที่นายจ้างไล่ลูกจ้างออกจากงาน เพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการลงโทษเกินระดับ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 1684/2526)

กรณีเลิกจ้างอันเป็นการลงโทษข้ามลำดับหรือข้ามขั้นตอน                                                            นายจ้างกำหนดข้อบังคับในการทำงานว่าพนักงานที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับจะถูกพิจารณาตามระดับขั้น คือตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ ฯลฯ และพนักงานที่ถูกลงโทษข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวมาแล้วแต่ยังคงกระทำผิดอย่างเดียวกันซ้ำอีกจะถูกลงโทษสถานหนักโดยการให้ออกงานได้ก็ต่อเมื่อได้ถูกลงโทษมาแล้วนายจ้างไล่ลูกจ้างออกจากงานทันที เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 3360/2526)

กรณีเลิกจ้างอันเป็นการลงโทษขัดต่อระเบียบของนายจ้าง
นายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างโดยให้ไล่ออกเป็นการขัดต่อระเบียบที่กำหนดไว้เป็นเพียงภาคทัณฑ์หรือตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน หรือค่าจ้างเท่านั้น คำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 2067/2529)

กรณีเลิกจ้างโดยอ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิด แต่ไม่มีพยานหลักฐาน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายจ้างไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าลูกจ้างได้เอาเสื้อผ้าเด็กไปจากร้านของนายจ้างหรือมีส่วนรู้เห็นในกรณีที่สินค้าของนายจ้างขาดหายไปแสดงว่าลูกจ้างมิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของนายจ้าง การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุสมควรและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 2729/2529)

กรณีเลิกจ้างด้วยเหตุเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง
ลูกจ้างเป็นพนักงานช่างภาคพื้นดินได้ลงนามรับรองความสมควรการเดินอากาศไป ทั้งๆที่ใบอนุญาตขาดต่ออายุ ซึ่งพนักงานคนอื่นๆก็เคยกระทำเช่นเดียวกัน แต่ไม่ถูกเลิกจ้าง กรณีของลูกจ้างเป็นเพราะได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม จึงได้ถูกนายจ้างตั้งกรรมการสอบสวนและมีคำสั่งเลิกจ้าง การที่นายจ้างเลิกจ้างกรณีนี้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานโดยไม่เท่าเทียมกัน การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง (คำพิพากษาฎีกาที่ 5324/2538)

กรณีการเลิกจ้างด้วยเหตุลดจำนวนลูกจ้าง
แม้นายจ้างมีสิทธิที่จะปรับปรุงหน่วยงานของตนเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร แต่การปรับปรุงหน่วยงานดังกล่าวต้องเป็นไปเหตุให้ลูกจ้างได้รับความเสียหาย หากลูกจ้างคนใดได้รับความเสียหายและไม่ยินยอม ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้น เพราะเหตุที่ลูกจ้างคนใดได้รับความเสียหายและไม่ยินยอม ถ้านายจ้างเลิกจ้างนั้นเพราะเหตุที่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 5396/2540)