กลุ่มผู้ป่วยท้วงข้อเสนอรมว.แรงงานร่างพรฎ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

เครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯชวนเครือข่ายแรงงาน ร่วมทักท้วงข้อเสนอรมว.กระทรวงแรงงาน ต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  

 14 ส.ค.55 นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยเนื่องจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร และ )ปฎิตราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์)  มีหนังสือตอบคำถามของสำนักงานปฎิรูปกฎหมาย  ที่ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นข้อเสนอของประชาชนและได้มีมติ เสนอความเห็นกรณี  ลงนามโดยนำ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย  มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯถึงนายกรัฐมนตรีไป 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทางรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ออกเป็นหนังสือส่งไปถาม รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์) ต่อความเห็นของคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย ซึ่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แนบความเห็นของกระทรวงแรงงานที่ตอบมาโดยสรุปได้ดังนี้
 
ข้อเสนอที่ 1. อำนาจหน้าที่ ที่เครือข่ายแรงงานขอให้มีการบรรจุศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นการซ้ำซ้อนกับกรมสวัสดิการ และเพิ่มขั้นตอนให้ชักช้า ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตอบว่า "ไม่มีปัญหาในการประสานขอข้อมูล หากหน่วยงานใดไม่ให้ข้อมูล สามารถร้องเรียนมาได้ เพื่อให้สั่งการต่อไป"
 
ข้อเสนอที่ 2. กระบวนการได้มาของคณะกรรมการ บริหาร ไม่จำเป็ฌนต้องเป็นข้าราชการกินเงินเดือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตอบว่า "ให้ความสำคัญต่อความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์สูง ทางด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ และด้านการบริหารจัดการ ที่จะมาเป็นประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ จึงต้องเปิดกว้างไม่ว่าจะมาจากรัฐหรือเอกชน
 
นางสมบุญ กล่าวแม้ว่า "เป็นข้อเสนอจากสำนักงานปฎิรูป (คปก.) และเครือข่ายแรงงานกระทรวงแรงงาน ก็ยังมีคำตอบเช่นเดิม เป็นคำชี้แจงแบบที่ข้าราชการ ในชุดอนุกรรมการยกร่าง ที่โต้แย้งเหตุผลกันไว้ทุกประเด็น นั่นแสดงว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มิได้ออกความคิดเห็นเองเลยแต่อย่างใด แต่หยิบยกประเด็นขัดแย้งทั้งหมดระหว่างอนุกรรมการยกร่างฝ่ายผู้ใช้แรงงาน และ อนุกรรมการยกร่างฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างที่เป็นตัวแทนจากสภาองค์การลูกจ้างและราชการ ที่นำตอบในหนังสือส่งถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี" ซึ่งประเด็นนี้  "ในนามเครือข่ายแรงงาน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน ต้องขอความร่วมมือพี่น้องแรงงานทุกท่านทุกองค์กร  ให้ทำหนังสือ คัดค้านข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน" เพราะตนเห็นว่า "รัฐมนตรียังไม่ได้ใช้อำนาจในการพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน หรือข้อเสนแนะของคระกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) แต่อย่างใด" โดยนำข้อเสนอความเห็นตามแบบที่ราชการเสนอไว้เดิมทุกประเด็น ไม่ได้ใช้อำนาจทางการเมืองให้ความเป็นกลาง  จึงขอให้เครือข่ายแรงงาน ได้พิจารณาปัญาหาที่เกิดขึ้นเป้นการเร่งด่วน เพื่อมีมาตราการเสนอแนะต่อคำตอบของกระทรวงแรงงานโดยด่วนต่อไป
 
หมายเหตุ : หนังสือคปก.ถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรว่าการกระทรวงแรงงาน ดังนี้ 
 
บันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….เสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555
     
 
กรณีจากการศึกษา วิเคราะห์ และรับฟังความคิดเห็นร่วมกันกับผู้แทนฝ่ายต่างๆ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. โดยเห็นด้วยให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ตามมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยให้เป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพราะองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัตินี้ต้องการให้เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดทำบริการสาธารณะ ไม่แสวงหากำไร และอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน
 
ขณะที่กระบวนการได้มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เห็นควรให้กำหนดจำนวน ที่มา และคุณสมบัติ โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ประธานกรรมการบริหาร ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เนื่องจากภารกิจของคณะกรรมการบริหาร ไม่ใช่คณะกรรมการกำหนดนโยบาย หรือวางแนวทางของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เท่านั้น แต่เป็นคณะกรรมการที่ต้องทำหน้าที่บริหารเพื่อให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งข้าราชการประจำโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ยังมีข้อจำกัดด้านเวลาในการทำงานในฐานะประธานกรรมการบริหาร อีกทั้งหากประธานกรรมการบริหารเป็นข้าราชการจะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่ต้องการให้เป็นอิสระในการดำเนินงาน
 
สำหรับกรรมการโดยตำแหน่ง ในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกระทรวงแรงงานเสนอให้มีจำนวน 3 คน สมควรลดจำนวนเหลือ 2 คน ได้แก่ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวมีภารกิจหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ ภารกิจ อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
ส่วนกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละสองคน คปก.เห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างสมควรเป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการ และลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ เช่น ลูกจ้างจำนวนไม่เกิน 50 คน เลือก 1 คนมาเป็นผู้แทนไปเลือก โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการให้ใช้ฐานข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมโดยใช้สถานประกอบการเป็นหน่วยเลือกตั้ง สำหรับลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ ให้ลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ คปก.เห็นว่า ควรเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากจำนวน 2 คนเป็น 3 คน
 
ในแง่อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ คปก.เห็นว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ในมาตรา 8 โดยกำหนดให้เป็น มาตรา 8 (7/1) การรับเรื่องร้องเรียนเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหา และศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอมาตรการส่งเสริมการป้องกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
 
หากพิจารณาในบทเฉพาะกาล คปก.เห็นว่า ควรกำหนดให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำหน้าที่ดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปควรจะพัฒนาพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นพระราชบัญญัติแทนพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดตั้งสถาบันที่มีความเป็นอิสระ และมีทรัพยากรมากพอ ให้สามารถดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพการทำงาน รวมถึงหลักประกันในการดำรงชีพ ทั้งในระหว่างทำงานและพ้นภาวะการทำงาน
 
 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน