ผู้ใช้แรงงานร่วมชี้ชะตาก้าวต่อไปของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ในสถานะสถาบันด้านแรงงาน

ผู้ใช้แรงงานร่วมชี้ชะตาก้าวต่อไปของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ในสถานะสถาบันด้านแรงงาน

สรุปโดย กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2563 มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริดเอแบรท์ (FES) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ก้าวต่อไปของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในสถานะสถาบันด้านแรงงาน : บทบาทและการสนับสนุน” โดยสรุปเนื้อหาภาพรวมของวิทยากรในแต่ละช่วงของกิจกรรมไว้ดังนี้

ส่วนแรก กล่าวเปิด

เริ่มต้นเปิดประชุมปฏิบัติการโดย คุณปรีดา ศิริสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) กล่าวถึง FES ให้ความสำคัญเรื่องของความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางสังคม การแบ่งปันในระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และตั้งอยู่บนความสมานฉันท์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาสู่สังคมประชาธิปไตย ซึ่งเหตุผลของการจัดงานร่วมกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เนื่องจากแรงงานส่วนมากมีความกังวลต่อความมั่นคงการจ้างงาน ด้วยเหตุการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลให้แรงงานถูกเลิกจ้าง และมีแรงงานที่ยังไม่ถูกเลิกจ้างแต่มีความกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างในอนาคต ดังนั้นสหภาพแรงงานต้องเตรียมความพร้อมในข้อเรียกร้องของตนเอง เพื่อให้แรงงานมีอำนาจการต่อรองและทำให้ภาครัฐรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น

FES และพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จึงเห็นความสำคัญต่อการจัดเตรียมการศึกษาให้แก่แรงงาน เพราะจะทำให้แรงงานมีความเข้มแข็งมากขึ้น จึงพยายามผลักดันเรื่องของ “สถาบันการศึกษา” แม้เวลานี้แต่ละสหภาพแต่ละแห่งมีฝ่ายงานด้านการศึกษา แต่ขาดทิศทางที่กำหนดแนวทางร่วมกันของขบวนการแรงงาน เป้าหมายของการจัดงานเพื่อให้เกิดการสนทนาและปรึกษาหารือให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ท้ายที่สุดจะเป็นข้อสรุปต่อบทบาทของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสำหรับการทำงานด้านการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานไทย และให้ภาคส่วนทางสังคมและรัฐตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ขณะที่ภาครัฐต้องจัดเตรียมนโยบายรองรับต่อสถานการณ์ที่เกิดความกังวลและไม่มั่นคงของแรงงาน ซึ่งในอนาคตอาจไม่ใช่เฉพาะโรคระบาด แต่มีความเสี่ยงอื่น เช่น เทคโนโลยีใหม่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และอื่น ๆ

ถัดมา อาจารย์ สุนี ไชยรส รองประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวถึง พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก่อตั้งขึ้นมาด้วยเงินทุนของสหภาพแรงงาน รวมถึงมีการสนับสนุนจาก FES ส่วนสถานการณ์ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ พบว่า สถานประกอบการในทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและปัญหาในระยะยาว ดังนั้น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้คาดหวังให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกลายเป็นสื่อกลาง และมีแผนปฏิบัติการร่วมกันเพื่อก้าวต่อไปและประสบความสำเร็จร่วมกัน

ส่วนที่สอง การระดมตัวตนและความคาดหวังจากองค์กรแรงงานต่าง ๆ

ผู้นำแรงงานที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ มีผู้แทนมาจากสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มย่านอุตสาหกรรมสระบุรีและใกล้เคียง กลุ่มย่านอุตสาหกรรมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มูลนิธิสหภาพไทยเรยอน สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ส่วนใหญ่ให้ความคาดหวังต่อบทบาทและภารกิจของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยไว้ดังนี้

  1. เป็นแหล่งการศึกษาทางประวัติศาสตร์ และยกระดับให้เป็นสถาบันศูนย์กลางทางการศึกษา เพื่อให้ความรู้แก่แรงงาน เพราะแท้จริงแล้วที่มีรากเหง้าเดียวกัน ถ้าสหภาพแรงงานตระหนักเรื่องนี้ จะทำให้เกิดการส่งต่อรุ่นต่อรุ่นเพื่อให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสืบสานอุดมการณ์ต่อไป
  2. เป็นแหล่งศูนย์กลางและเชื่อมโยงให้กับแรงงานทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐวิสากิจ ภาคเอกชน และแรงงานนอกระบบ รวมถึงการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ให้เป็นพื้นที่ของการปรึกษาหารือ และสร้างขบวนการแรงงานให้รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเอกภาพ และขับเคลื่อนในเป้าหมายเดียวกัน
  3. เป็นแหล่งการศึกษาที่ควรดำเนินกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษา ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์แรงงานและให้ความรู้ทางการศึกษาแรงงาน ที่ไม่มีในหลักสูตรการศึกษา และเข้าใจว่าการบรรจุในหลักสูตรนั้นไม่สามารถเป็นไปได้
  4. เป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางอาชีพใหม่แก่ผู้นำและสมาชิกจากทุกภาคส่วน เพื่อให้มีรายได้จากอาชีพเสริม เพราะเวลานี้รายได้ทางเดียวไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

นอกจากนี้พบว่ามีข้อเสนอจากผู้นำแรงงาน ซึ่งคาดหวังให้เกิดการปรับตัวของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย การสร้างการยอมรับเรื่องของแรงงานร่วมกันในสังคม อีกทั้งยังมีเรื่องของการจัดหารายได้และสถานที่ตั้ง ซึ่งเป็นความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเอง

ส่วนที่สาม บทบาทหน้าที่ และผลกระทบจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในขบวนการแรงงาน

คุณวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นำเสนอว่า พิพิธภัณฑ์ไม่มีการหารายได้เหมือนกับสหภาพแรงงานที่มีระบบสมาชิกและการจัดเก็บค่าบำรุง จากที่ผ่านมา 27 ปี พิพิธภัณฑ์ให้คุณค่าต่อสังคมนานาประการ ซึ่งเป็นบทบาทของผู้นำแรงงานรุ่นเก่าที่สร้างและพัฒนาไว้ ถ้าไม่รักษาไว้อาจไม่มีพิพิธภัณฑ์แรงงานจนถึงบัดนี้ ทั้งนี้การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในปี 2536 เริ่มต้นจากผู้เกี่ยวข้องหลายคนตั้งใจชำระประวัติศาสตร์แรงงานและใช้เวลาสนทนาหาแนวทางกว่า 2 ปี นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นมาได้จากแรงกายของผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งยังมีการสนับสนุนด้านต่าง ๆ โดย FES หลังจากนั้นในปี 2546 ก็มีการปรับปรุงอาคารและสถานที่ของพิพิธภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง แต่สถานการณ์เวลานี้พิพิธภัณฑ์แรงงานกำลังประสบปัญหาเรื่องของเงินทุนและสถานที่ ซึ่งบริเวณโดยรอบมักกะสันจะถูกสร้างรถไฟความเร็วสูง

สถานการณ์ของขบวนการแรงงานไทยเกิดความแตกแยกมาโดยตลอด ทั้งที่ในประวัติศาสตร์เคยมียุคทองของขบวนการแรงงานไทย คือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ต้องถูกทำลายในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ใช้วิธีการแบ่งแยกรัฐวิสาหกิจออกจากขบวนการแรงงาน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน สหภาพแรงงานภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจไม่ทราบภูมิหลังว่าเดิมทีแล้วเป็นพี่น้องกัน ที่สำคัญขบวนการแรงงานเคยมีการรวมตัวกันเป็นสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนเรื่องของประชาธิปไตยและเอกภาพของขบวนการแรงงาน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ผู้ใช้แรงงานควรย้อนกลับไปศึกษาภูมิหลังความเป็นมา เพราะแท้จริงแล้วแรงงานมีรากเหง้าเดียวกัน

ระยะแรกของการก่อตั้ง เคยประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางของการจัดทำพิพิธภัณฑ์แรงงาน แต่การจัดแสดงสิ่งของประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและบอกเล่าเรื่องราว ไม่เฉพาะการจัดแสดงเท่านั้น เพราะเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ คือ “การหล่อหลอมสำนึกของผู้ใช้แรงงานผ่านด้วยวิธีการของการศึกษา การค้นคว้าวิจัย และการฝึกอบรม” ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยสนทนากันในที่ประชุมของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยตั้งแต่ต้น แต่ในปัจจุบันภารกิจด้านนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ ส่วน FES ให้การสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมาตลอด ซึ่งไม่ใช่การสนับสนุนเงินทุนอย่างเดียว แต่ยังเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งไต้หวันเคยมาศึกษาดูงานและนำกลับไปสร้างโดยใช้เงินทุน 4,000 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนงบประมาณโดยรัฐบาลไต้หวัน ทางกลับกัน รัฐบาลไทยไม่สนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ทั้งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและมีความเป็นสากลมาก่อน เนื่องจากผู้เข้าชมมีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีนักสหภาพแรงงานหลายแห่งใช้พิพิธภัณฑ์แรงงานเป็นแหล่งเรียนรู้และการศึกษา อีกทั้งยังมีนักศึกษามากกว่า 20 สถาบัน เข้ามาศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยมีตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา

ภารกิจของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ยังมีการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ เป็นรูปแบบของประวัติศาสตร์แรงงานสัญจร เช่น สหภาพแรงงานสยามโตโยต้า และสหภาพแรงงานเด็นโซ่ และอีกหลายสหภาพ เพื่อให้สมาชิกเกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภายในองค์กรแรงงาน ส่วนของงานวิชาการของพิพิธภัณฑ์แรงงาน อาจารย์สุนี ไชยรส เคยร่วมทำหลักสูตรการฝึกอบรมกับมูลนิธิเอเชียในช่วงหลังปี 2554 เริ่มตั้งแต่การสร้างแกนนำและเป็นชุดวิชาเพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรม ต่อมาเมื่อไม่มีเงินทุนสนับสนุน ส่งผลให้กิจกรรมต่าง ๆ ต้องยุติลง เพราะกิจกรรมดังกล่าวเป็นการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนภายนอก

เดิมที พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเคยเป็นสถานศึกษาและฝึกอบรมเพื่อสร้างและพัฒนานักสหภาพแรงงาน ถ้าย้อนกลับช่วงหลังปี 2540 พบว่าผู้ใช้แรงงานประสบปัญหาเรื่องของการใช้เทคโนโลยีการทำงานจึงได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ และตั้งแต่ปี 2553 ได้พัฒนาแรงงานให้เป็นนักสื่อสารแรงงาน เพื่อผลิตเนื้อหาและเผยแพร่ข้อมูลให้แก่สมาชิก ทั้งนี้ความเข้าใจสื่อต้องพิจารณาให้ครอบคลุมและรอบด้าน โดยเฉพาะการสร้างเนื้อหา (Content) ต้องมีการฝึกทักษะเพื่อยกระดับตนเองให้สามารถสื่อสารได้ นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับ Thai PBS และนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ เพื่อให้มีการสร้างคนทำสื่ออย่างต่อเนื่อง

นอกจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นแหล่งการเรียนรู้และการศึกษา ยังเป็นศูนย์วัฒนธรรมแรงงานที่บ่งชี้ถึงตัวตนและรากเหง้าของแรงงาน ซึ่งพิพิธภัณฑ์มีทั้งเอกสาร ไฟล์ดิจิทัล เทป วิดีโอ คำสัมภาษณ์ต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญด้านแรงงานในประเทศไทย ที่สำคัญประวัติศาสตร์แรงงานแสดงให้เห็นการเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีด จึงเกิดแนวคิดสหภาพแรงงานที่นำเข้าจากต่างประเทศบฐานประชาธิปไตย บางกลุ่มเชื่อหลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ทำงานร่วมกันได้ หรือบางกลุ่มเชื่อหลักการความเป็นอิสระจากกันระหว่างทุนและแรงงาน จึงเป็นเหตให้ผู้ใช้แรงงานเกิดความแตกแยกและเอกภาพไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม บทบาทของขบวนการแรงงานมีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเมืองมาโดยตลอด ซึ่งผู้นำแรงงานที่จะประกอบอาชีพนักการเมืองต้องศึกษาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เพราะมีบทเรียนการต่อสู้หลายเรื่องราว

การศึกษาประวัติศาสตร์แรงงานนอกจากเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงแล้ว ยังสามารถศึกษาผ่าน “วัฒนธรรมเพลงและวรรณกรรม” เป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน ส่วนเสื้อยืดแรงงานใช้ในการรณรงค์ประเด็นหรือข้อเรียกร้องต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นการทำเสื้อยืดตราสหภาพของบริษัทและก็พิมพ์โปสเตอร์เพื่อใช้เป็นข้อเรียกร้อง ซึ่งปัจจุบันอาจสะดวกมากขึ้นเพราะมี Printer สามารถผลิตได้เอง รวมทั้งยังมีการจัดงานเสวนาและรำลึกวีรชนแรงงาน เชิญผู้นำแรงงานที่เคยมีบทบาทในขบวนการมาเล่าเรื่องราวให้ฟัง และจัดทุกขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อให้เห็นการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งค่าจ้าง ประกันสังคม และสวัสดิการแรงงานอื่น ๆ อีกทั้งขบวนการแรงงานไทยยังต้องตระหนักถึงวิถีชีวิตและการต่อสู้ที่เปลี่ยนรูปไป ดังที่ “ภาพถ่าย” ก็บ่งบอกชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน เหมือนกับกรณีภาพของแรงงานที่ใช้อ่างอาบน้ำรวมในหอพัก แสดงให้เห็นว่าการสนทนาหารือและรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานสามารถทำได้ไม่ยาก แต่วิถีชีวิตของแรงงานเช่นนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเมื่อสถานประกอบการใช้รถรับส่งพนักงานแทน ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้แรงงานรวมตัวได้ยากขึ้น ซึ่งมีผลต่ออำนาจการต่อรองกับนายจ้าง

ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเคยร่วมจัดงานกับสภาองค์การลูกจ้างหลายแห่ง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระดมทุนเพื่อแจกเงินให้แก่บุตรหลานของผู้ใช้แรงงานที่ประสบกับการว่างงานในช่วงปี 2540  และยังทำหน้าที่รวบรวมสิ่งของเพื่อช่วยเหลือร่วมกับองค์กรแรงงานต่าง ๆ ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในช่วงปี 2554

คุณวิชัย นราไพบูลย์ นำเสนอ “ยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอดของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย” ไว้ดังนี้

1.“สถานที่” ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาบริเวณมักกะสัน ซึ่งมีตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์มานำเสนอแนวทางเรื่องนี้ให้แก่พิพิธภัณฑ์แรงงาน เท่าที่ทราบล่าสุดอาจถูกย้ายสถานที่ แต่จะสร้างสถานที่ให้ใหม่ นอกจากนี้เคยมีหนังสือที่คณะกรรมาธิการการแรงงานในสมัยที่ คุณเอกพร รักความสุข เป็นประธานกรรมาธิการฯ ในปี 2548 ซึ่งสามารถใช้ยืนยันต่อการรถไฟว่าจะสงวนพื้นที่ให้แก่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจำนวน 1 ไร่

2.“การหารายได้” ไม่มีทุนสำรองและมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้เคยได้รับเงินบริจาค 300,000 บาท จากพี่สาวของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ นอกจากนี้ยังได้บริจาคจากองค์กรแรงงานทำให้ภารกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ และพิพิธภัณฑ์แรงงานก็ผลิตสื่อให้เป็นการตอบแทนเงินบริจาค อีกทั้งมีแหล่งทุนที่เคยให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น จาก สสส. เป็นต้น

3.“บทบาทของการเป็นสถาบันการศึกษาด้านแรงงาน” เป็นภารกิจที่ได้กล่าวไปแล้วในส่วนก่อนหน้า จุดเริ่มต้นครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เนื่องจากเป็นภารกิจที่ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ได้เคยสนทนาและปรึกษาหารือมาก่อนแล้ว

ส่วนอีกสองยุทธศาสตร์นี้ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้

4.“การทำงานกับองค์กรอื่น

5. “การตลาด” เพื่อประชาสัมพันธ์ กล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยไม่ต้องลงทุนค่าสื่อโฆษณาใด ๆ เพราะมีการเข้ามาถ่ายทำเพื่อออกอากาศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งพิพิธภัณฑ์ถือเป็นที่รู้จักไม่เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่กล่าวไปก่อนหน้า แต่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและพิกัดสถานที่ในเว็บไซต์

สถาบันแรงงานกลางในมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มีแนวคิดหลัก คือ การให้องค์กรแรงงานเข้ามาใช้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นสถาบันแรงงานเพื่อการศึกษา การค้นคว้าวิจัย และการฝึกอบรม เพราะมีเป้าหมายคือการทำให้ขบวนการแรงงานมีความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพ ซึ่งเวลานี้ไม่สามารถต่อสู้ได้ในระดับสถานประกอบการ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและถูกเลิกจ้าง จึงเห็นความสำคัญที่จะต้องมีนโยบายรองรับเรื่องเหล่านี้ ส่วนแนวทางของสถาบันแรงงานกลางเน้นที่การฝึกอบรมร้อยละ 10-15 ที่เหลือให้วิธีการแบ่งปัน เรียนรู้ร่วมกัน และมีการลงพื้นที่ภาคสนาม เช่น โครงการลดภาวะโลกร้อน เพื่อให้เห็นความเดือดร้อนของชุมชน ฝึกให้เกิดการทำงานเชิงข้อมูล สอนการวิจัยแบบง่ายสำหรับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในครั้งนั้นให้ให้ รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ มาสอนและสร้างแกนนำช่วยขับเคลื่อนในเรื่องนี้

ส่วนที่สี่ การอภิปรายเสริมสร้างจิตสำนึกอุดมการณ์ด้านแรงงาน เรื่อง พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย : คุณค่าหรือส่วนเกินของขบวนการแรงงานและสังคมไทย

(1) พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในมุมปรัชญาเศรษฐศาสตร์การเมือง โดย ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์

เริ่มต้นจากเล่าตัวตนและความเกี่ยวพันกับพิพิธภัณฑ์ในช่วงการก่อตั้ง คือ ความไม่รู้ในตัวเองโดยยกตัวอย่างอาชีพที่ตนเองทำ ถูกสอนให้รู้จักระบบการศึกษา และแสวงหาความรู้นอกจากตัวเองเพื่อถ่ายทอดให้แก่คนอื่น แต่ไม่เคยเรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องของตัวเอง เหมือนกับผู้ใช้แรงงานที่ถูกสอนให้ต่อสู้ การเจรจาต่อรอง และใช้ชีวิตนอกเหนือเวลาทำงานเพื่อดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน เป็นการทำเพื่อคนอื่น แต่รู้จักเรื่องของตัวเองน้อย อีกทั้งรู้ว่าขบวนการแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความเป็นมาอย่างไร เมื่อถามถึงสหภาพของตนเองมีความเป็นอย่างไรกลับไม่รู้เรื่องนี้ นอกจากนี้แรงงานไทยมีวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ จึงเกรงใจไม่กล้าทวงบุญคุณ อันที่จริงการได้รับสวัสดิการแรงงานและข้อตกลงของสภาพการจ้างงานเช่นนี้ล้วนผ่านการต่อสู้มาโดยตลอด ขณะที่นายจ้างก็มีวิธีการทั้งไล่ออก กลั่นแกล้ง และอื่น ๆ อีกทั้งการเรียกร้องลาคลอด 90 วัน กลายเป็นผู้เรียกร้องไม่ได้ใช้สิทธินี้ แต่กลับเป็นคนที่ไม่ได้เรียกร้องได้ใช้สิทธินี้

พิพิธภัณฑ์แรงงานช่วยให้รับรู้ได้ด้วย “การเห็น” ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ปรัชญา และอุดมการณ์ เพื่อให้เห็นความสำคัญที่มีต่อแรงงาน เพราะจริงแล้วแรงงานเป็นขบวนการที่เคลื่อนไหวไปข้างหน้า ต้องมีความเป็นเอกภาพและยึดโยงเป็นหนึ่งเดียว ทั้งนี้ขบวนการแรงงานขับเคลื่อนไปในทางเดียวกันต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวสองประการ ซึ่งแรงงานจะได้จากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คือ

1) ผลประโยชน์ร่วมกัน จะทำให้แรงงานมีอำนาจการต่อรองเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้

2) อุดมการณ์และความเชื่อที่มีร่วมกัน ให้รู้ว่ามีความเป็นมาของรากเหง้าเดียวกัน เพื่อทำให้เกิดความผูกพันและก้าวข้ามผลประโยชน์ที่มีความขัดแย้งกันในบางประการ

ในช่วงปี 2536 ได้รับเชิญให้เป็นนักวิชาการที่มีส่วนร่วมในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมีความคิดในระยะเวลานั้นต่อพิพิธภัณฑ์แรงงาน คือ “ศูนย์กลางการศึกษาและช่วยลดระยะเวลาการเรียน” ทั้งยังเข้าร่วมเหตุการณ์ของการนัดหยุดงานหนึ่งคืนและชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจะทำให้ทราบเรื่องราวทั้งหมดของประวัติศาสตร์แรงงาน

ถัดมาเป็นการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ทำให้เห็นการครอบงำทางสังคมให้เชื่อความคิดชุดใดชุดหนึ่ง ซึ่งการพูดความจริงก็เป็นการพ้นไปสู่ความจริงแล้วถือเป็นการปฏิวัติแล้ว และทำให้เกิดการพลิกความเชื่อที่เคยหล่อหลอมกันมา ทั้งยังให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของอารยธรรม เป็นพัฒนาการที่มีความเจริญแตกต่างไปจากธรรมชาติ ซึ่งอารยธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีแรงงานมนุษย์ จึงเป็นที่มาของการพูดถึงแรงงานเป็นผู้สร้างสรรค์โลก เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตความเป็นอยู่ อีกด้านในแง่ของการปกครองก็ ต้องคลุมความเชื่อคนให้อยู่ มีตัวอย่างสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การแบ่งความแตกต่างของคนในชาติออกเป็นสองกลุ่มระหว่าง ชาติคือปากท้องประชาชน และเอกภาพของชาติคือไม่มีประชาชน

ถ้ามองแง่ของเศรษฐศาสตร์การเมือง การสร้างสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ เป็นการใช้อำนาจสร้างความเชื่อให้คนเหล่านี้เป็นคนอีกพวก (*ผู้สรุปเข้าใจว่าเหมือนกับผู้นำแถวหน้าขบวนการแรงงานที่ไปพวกเดียวกับรัฐและทุน ทั้งที่สำนึกทางชนชั้นเป็นคู่ตรงข้ามกัน) แต่ไม่ใช่คนพวกนี้ที่เป็นพวกเดียวกัน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่สร้างแต่กลับไม่ใช่เจ้าของ สิ่งเหล่านั้นกลับตกเป็นของนายทุนซึ่งเป็นคนส่วนน้อย เหมือนคนส่วนใหญ่ถูกกล่อมเกลาให้เชื่อเรื่องของชนชั้นและให้รู้จักสงบปากสงบคำ เช่น ให้ทำงานก็ดีแล้วและให้นึกถึงบุญคุณในวันที่รับเข้ามาทำงาน ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ของระบบแรงงานสัมพันธ์แบบแบบอุปถัมภ์ในระบบทุนนิยม แบ่งออกเป็นฝ่ายหนึ่งขายแรงงานและอีกฝ่ายซื้อแรงงาน

แม้แต่คำว่า Employee และ Employer ในต่างประเทศเรียกว่าผู้รับจ้างและผู้จ้าง แต่การจ้างงานในประเทศไทย ถูกแปลให้เรียกว่าลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยนายจ้าง เพราะเป็นคำที่สะท้อนว่าสองฝ่ายมีอำนาจไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นปัจจัยทางภาษาและวัฒนธรรมที่คอยกดทับและอุปถัมภ์ จึงเป็นการใช้อำนาจเพื่อรักษาประโยชน์และความมั่งคั่งเพื่อควบคุมอีกฝ่ายไว้ จากข้างต้นเป็นเหตุให้สังคมใช้การควบคุมด้วยจิตสำนึกหรือความเชื่อเพื่อสร้างความหวาดกลัว ดังนั้น ถ้าผู้ใช้แรงงานไปพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจะวิธีการหนึ่งของการปฏิวัติความเชื่อเหล่านี้ออกไปได้

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นส่วนเกินหรือขาดไม่ได้ จึงต้องมีการสร้างจิตสำนึกร่วมกัน เวลานี้สหภาพแรงงานหลายแห่งไม่มีภารกิจเสริมสร้างในเรื่องนี้ เป็นเหตุผลให้ต้องหล่อหลอมสำนึกร่วมกัน โดยสนับสนุนให้ผู้นำและสมาชิกของสหภาพไปศึกษาที่พิพิธภัณฑ์แรงงาน นอกจากนี้ “ควรให้พิพิธภัณฑ์แรงงานเป็นแหล่งปฐมนิเทศร่วมกับสหภาพแรงงาน เพราะถ้าแรงงานทุกคนตระหนักว่าเป็นเรื่องของจิตสำนึกทางชนชั้น (Class consciousness)” ย่อมทำให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้และไม่ใช่ส่วนเกินจากขบวนการแรงงานและสังคม

(2) พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในมุมอุดมการณ์สิทธิแรงงาน โดย อาจารย์ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

เริ่มต้นจากการเล่าตัวตนและความเกี่ยวพันกับพิพิธภัณฑ์ในช่วงการก่อตั้ง ส่วนตัวมีความสนใจประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็กและเป็นวิชาที่เรียนมาควบคู่กับภูมิศาสตร์ จึงเป็นแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากการเล่าเรื่องของครู อีกทั้งการศึกษาระดับปริญญาโทเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และมีความสนใจภาพยนตร์และร่วมกันทำกับคุณโดม สุขวงศ์ ในปี 2527 และไปศึกษาดูงานที่เยอรมนีในปี 2528 ถัดมาอีก 2 ปีได้เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเกริก และเคยตั้งสหภาพอาจารย์แห่งแรก แต่ถูกห้ามเพราะความไม่สอดคล้องของกฎหมาย

เมื่อลาออกจากมหาวิทยาลัยเกริกไปทำงานที่ FES มีความสนใจแต่เดิมที่อยากทำพิพิธภัณฑ์และได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านแรงงาน จึงไปศึกษาดูงานที่เยอรมนีอีกครั้งเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับพี่น้องแรงงาน จนร่วมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยขึ้นหลังจากเหตุการณ์ของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นสูงเสมอไป อีกทั้งเคยมีความคิดจะทำพิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นโดยรัฐ

ภูมิหลังของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีคุณูปการต่อสังคม เพราะแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานอย่างกล้าหาญเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากการกดขี่และครอบงำโดยรัฐ ซึ่งพิพิธภัณฑ์แรงงานเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงชัยชนะทางการเมือง ขณะเดียวกันขบวนการแรงงานเลือกข้างอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย และประกาศตนว่าเป็นศัตรูกับเผด็จการมาโดยตลอด

ความสำคัญของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คือ การส่งเสริมอุดมการณ์ (Ideology) และจิตสำนึกทางชนชั้น (Class consciousness) แต่รัฐไม่ต้องการให้แรงงานทุกคนคิดเหมือนกัน จึงใช้วิธีการทำให้แรงงานถูกครอบงำให้เกิดจิตสำนึกแบบที่รัฐครอบงำลงมาเป็นอุดมการณ์ เช่น ให้ยอมรับความสูงต่ำ ให้ยอมรับการกดขี่ขูดรีดให้เหมือนเป็นเรื่องปกติ เป็นต้น ทั้งที่อุดมการณ์คือสิ่งที่อยากจะเห็นและมีอยู่ในสังคม เมื่อกล่าวถึงอุดมการณ์จึงแบ่งออกเป็นแกนนอน คือ เศรษฐกิจ (ซ้ายคือสังคมนิยม ขวาคือทุนนิยม) และแกนตั้ง คือ การเมือง (บนคือประชาธิปไตย ล่างคืออำนาจนิยม)

บทบาทของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยต้องพิจารณาแนวทางว่าจะส่งเสริมและสร้างอุดมการณ์แบบใด รวมทั้งจะทำหน้าที่ปลดปล่อยให้แรงงานหลุดออกจากจิตสำนึกที่ถูกรัฐครองอำนาจนำ (Hegemony) เพื่อเอารัดเอาเปรียบ คอยครอบงำและกำกับ จึงเห็นว่า “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยต้องสร้างจิตสำนึกให้แรงงานมีความมั่นคงใจในตัวเอง รวมกลุ่มแล้วสามารถท้าทายต่อกรอบคิดดั้งเดิมที่เป็นคามสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์” เนื่องจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์แรงงานก็บ่งชี้ความสำคัญ เช่น ห้องจัดแสดงที่ 2 เคยถูกขวานจามที่ประตูและร่องรอยดังกล่าวถือเป็นหลักฐานที่สำคัญ รวมทั้งอนุสาวรีย์ศักดิ์ศรีแรงงานด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานเป็นหญิงและชายผลักกงล้อบดขยี้รถถังของเผด็จการทหาร อีกทั้งยังกลายเป็นโลโก้ของพิพิธภัณฑ์

อย่างไรก็ดี แรงงานต้องทำความเข้าใจกรอบแรงงานสัมพันธ์ โดยแบ่งออกเป็นสามประการ คือ (1) เอกภาพนิยม (Unitarianism) เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่งและมีวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ (2) พหุนิยม (Pluralism) เป็นความสัมพันธ์ที่ยอมรับความหลากหลายและใช้วิธีการประนีประนอมระหว่างกัน เพื่อให้แต่ละฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งแนวทางนี้วิธีการที่ใช้และเป็นไปได้มากที่สุดในระบบทุนนิยม (3) มาร์กซิสต์ (Marxism) เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างนายทุนและแรงงาน

หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยต้องสร้างจิตสำนึกให้แรงงานท้าทายต่อความอยุติธรรมในสังคมประชาธิปไตย ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์แรงงานต้องให้ขบวนการแรงงานเข้ามาเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นความยั่งยืน สิบปีก่อนหน้านี้เคยร่างยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดให้สหภาพแรงงานแบ่งจ่ายค่าบำรุงสมาชิกแก่พิพิธภัณฑ์ เพื่อจะทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่ต้องกิจกรรมหารายได้ที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นผ้าป่าและงานวิ่ง เพราะถ้ามีรายได้แล้ว พิพิธภัณฑ์จะสามารถดำเนินภารกิจที่ควรทำต่อไปได้

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นส่วนเกินหรือขาดไม่ได้ หากจิตสำนึกทางชนชั้นเป็นเรื่องสำคัญ ย่อมมีแค่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่ขับเคลื่อนภารกิจเรื่องนี้ เพราะโลกหลังโควิด แรงงานไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อการมีงานทำ และแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในสหภาพ ซึ่งสหภาพแรงงานต้องนึกถึงคนอื่นให้มากขึ้น นอกจากนี้เห็นด้วยต่อการเป็นสถาบันเพราะเป็นเรื่องของการสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึก ซึ่งในปัจจุบันไม่มีสถาบันของแรงงาน จึงเสนอให้ชักชวนมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และอื่น ๆ มาผนึกกำลังร่วมกัน เพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีความยั่งยืนและมีความชัดเจนในภารกิจ แต่ไม่เห็นด้วยกับการทอดผ้าป่าเพราะไม่ใช้ภารกิจของพิพิธภัณฑ์ แต่ก็เข้าใจว่าเวลานี้มีความจำเป็นแต่ไม่ควรเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในระยะยาว ที่สำคัญเวลากล่าวถึงสหภาพแรงงานที่มีการจัดเก็บค่าบำรุงสมาชิกก็คล้ายคลึงกับการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีการเก็บภาษี จึงสนับสนุนหลักการนี้เพื่อร่วมสมทบเงินให้แก่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และให้แรงงานเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในฐานะการเป็นเจ้าของร่วมกัน

(3) พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในมุมการศึกษาด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน โดย อาจารย์ สุนี ไชยรส

เริ่มต้นจากการเล่าตัวตนและความเกี่ยวพันกับพิพิธภัณฑ์ในช่วงการก่อตั้ง เรียนและเติบโตมาพร้อมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วได้ทำงานกับพี่น้องกรรมกร เคยปลอมตัวเป็นกรรมกรโดยใช้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปสมัครงานทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงทำให้เข้าใจสภาพการทำงานเป็นอย่างไร หลังจากนั้นได้เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และเกิดการต่อสู้ที่มีการใช้ความรุนแรงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เวลานั้นมีคำขวัญสามประสาน เพราะมีความร่วมมือระหว่างนักศึกษา ชาวนา และกรรมกร อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานคือเรื่องของการเมือง ถ้าการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็มีผลกระทบต่อแรงงาน เพราะก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีกรรมกรถูกไล่ตีและทำร้ายร่างกาย บาดเจ็บล้มตาย และหนีเข้าป่า

แรกเริ่มไม่ได้มีส่วนร่วมกับการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย แต่เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เพราะการขับเคลื่อนเครือข่ายผู้หญิงรัฐธรรมนูญในปี 2535 และต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จนได้เชื่อมโยงกับภาคส่วนแรงงานในสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี2539 และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นระยะเวลา 8 ปี หลังจากนั้น จึงค่อย ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ถัดมาเป็นเรื่องของสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน จะเห็นว่านักศึกษาตื่นตัวจากสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของแรงงานหรือกรรมกรที่ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดต่อแรงงานคือผู้สร้างโลก เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นช่วงที่ปกครองประเทศโดยเผด็จการทหารสืบเนื่องมายาวนานกว่าทศวรรษ ห้ามไม่ให้แรงงานรวมตัวและประท้วง จนมาถึงจุดสุกงอมและเกิดการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลโดยขบวนการนักศึกษา อย่างไรก็ตามการมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทำให้เรื่องราวของเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทำให้เป็นเรื่องราวที่ถูกกล่าวถึงและเป็นเหตุที่มาของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ้ายกระดับมาอีกของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา คือ ควรมีคนเล่าเรื่องนิทรรศการหรือใช้เทคโนโลยีช่วยในเรื่องนี้ และอีกระดับคือควรทำพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิตเพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวมาถึงปัจจุบัน และเหตุที่ต้องสร้างอนุสรณ์สถานเพราะมีเรื่องราวที่มีผู้คนเข้าร่วมกว่า 5 แสนคน แต่กว่าจะก่อสร้างขึ้นมาได้และดำเนินการต้องใช้งบประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้การต่อสู้ที่ผ่านมาไม่ใช่เฉพาะปัจจัยของอุดมการณ์ แต่มีอีกหลายปัจจัยประกอบกัน จึงเห็นว่าต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบัน พัฒนาเนื้อหาและเล่าเรื่องราวให้ดี มีเรื่องราวใหม่และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พัฒนาไปโดยปริยายหรือแผนงานที่ออกแบบขึ้น

กลับมาที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ต้องมีการอบรมของสหภาพแต่ละแห่ง และทำอย่างไรให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เน้นที่กระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เพราะเห็นว่าหลักสูตรของการศึกษาควรนำมาต่อยอดและร่วมกันคิด ทั้งแรงงานและนักวิชาการต้องมาออกแบบสิ่งที่ต้องการเรียนรู้เพื่ออบรมสร้างแกนนำเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและนำไปต่อยอดสร้างคนรุ่นต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ไม่เฉพาะแต่จิตสำนึกหรือจิตอาสาที่ดูแลองค์กร แต่ต้องเป็นจิตสำนึกสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนอุดมการณ์แรงงาน เข้าใจในสภาพปัญหาและโครงสร้าง นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์แรงงานต้องทำให้เรื่องราวเหล่านี้ร้อยเรียงและชีวิตของเนื้อหา ที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์แรงงานต้องร่วมขับเคลื่อนให้ขบวนการแรงงานเคลื่อนตัวพร้อมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ผู้หญิง แรงงานนอกระบบ ซึ่งต้องให้กลุ่มคนที่หลากหลายเหล่านี้มาร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างพลังให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหว

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นส่วนเกินหรือขาดไม่ได้ ปัจจุบันดำรงอยู่ได้ด้วยเงินทุนสนับสนุน และมีการบริจาคเงินจากองค์กรแรงงานเพื่อแลกเปลี่ยนให้ผลิตสื่อ และถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเป็นคลังความรู้ให้แก่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย หากมาร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งจะก็เป็นการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ในอีกทางหนึ่ง แต่เวลานี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางในอนาคตของพิพิธภัณฑ์แรงงานจะเป็นอย่างไร จะถูกขับไล่ออกเพราะการปรับปรุงบริเวณพื้นที่มักกะสันหรือต้องต่อสู้กันจนโยกย้ายไปหาสถานที่ตั้งที่อื่นหรือไม่ หากเกิดเรื่องแบบนี้ เชื่อมั่นว่าพี่น้องแรงงานจะลุกขึ้นมาต่อสู้ไปด้วยกัน

ส่วนที่สี่ การเสวนาแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ของผู้นำสหภาพแรงงาน เรื่อง “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย : มีหรือไม่มีต่างกันอย่างไร” นานาทัศนะผู้นำของสหภาพแรงงานไทย

ความคิดเห็นของผู้ร่วมแลกเปลี่ยน ทั้งหมดเห็นพ้องร่วมกันของการดำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เพราะเห็นว่าเป็นแหล่งการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่สร้างจิตสำนึกทางชนชั้น ทั้งยังเป็นสถานที่ที่ให้เห็นการต่อสู้ที่ผ่านมาของผู้นำแรงงานรุ่นก่อน อันเป็นคุณูปการที่สำคัญของแรงงานและสังคม นอกจากนี้จะ “สรุปโดยจำแนกทัศนะในภาพรวม” ไว้ ดังนี้

(1) พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ให้แรงงานรุ่นต่อไปรับรู้ถึงเรื่องราวของการต่อสู้ของแรงงาน เพราะจริงแล้วมีรากเหง้าเดียวกันและแรงงานเป็นผู้สร้างชาติ  จึงต้องทำให้เห็นการปะทะกันระหว่างประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นแรงงานบอกเล่าและประวัติศาสตร์ที่ถูกครอบงำโดยรัฐ เพื่อให้ผู้รับฟังหรืออ่านได้เกิดการเปรียบเทียบสองชุดข้อมูลดังกล่าว และที่สำคัญต้องขบคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้ขบวนการแรงงานไทยมีความเป็นเอกภาพและมีความยั่งยืน

(2) พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นแหล่งการเรียนรู้และค้นคว้าทางประวัติศาสตร์แรงงาน สามารถใช้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญต้องเปิดกว้างความร่วมมือจากแรงงานทุกกลุ่ม และไม่จำกัดเฉพาะขบวนการแรงงาน แต่รวมถึงขบวนการการเคลื่อนไหวทางสังคมต่าง ๆ

(3) พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นสำนึกและการมีส่วนร่วมของแรงงาน แต่ผู้นำแรงงานที่มีบทบาทในสหภาพแรงงาน ต้องกลับไปสื่อสารกับคณะกรรมการและสมาชิก เพื่อให้เข้าใจเจตจำนงของพิพิธภัณฑ์ เพราะเวลานี้มีแรงงานที่ไม่รู้จักพิพิธภัณฑ์และไม่มีความสนใจเรื่องนี้

(4) พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เป็นแหล่งการศึกษาและเป็นเหตุที่มาให้ผลักดันเป็นสถาบันแรงงานเพื่อมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผู้นำและสมาชิกในองค์กรแรงงาน รวมถึงให้เกิดการส่งต่อความรู้จากผู้นำแรงงานรุ่นเก่าสู่ผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ ที่สำคัญคือการสร้างผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ และอาจมองไปถึงการทำอย่างไรให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีส่วนร่วมต่อการปฐมนิเทศสมาชิกของสหภาพแรงงาน เพื่อให้เห็นว่าแรงงานก็มีประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การถ่ายทอดประวัติศาสตร์ด้านเดียวของฝ่ายนายจ้าง

(5)  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยต้องช่วยสร้างอุดมการณ์และจิตสำนึกทางชนชั้น ให้แรงงานมีส่วนร่วมมากขึ้น กล่าวคือ สหภาพแรงงานต้องมีภารกิจไม่จำกัดเฉพาะในสถานประกอบการ และการสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกัน แต่ต้องให้ความสำคัญมาถึงปัญหาแรงานในระดับอุตสาหกรรมและปัญหาสังคม เพราเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองของแรงงาน

(6) พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ต้องทบทวนการบริหารจัดการภายใน ได้แก่ 1) วิธีการของการหารายได้ที่ยั่งยืน ไม่ใช่การพึ่งพิงเงินทุนภายนอก หรือการบริจาค อาจเริ่มจากให้ผู้นำแรงงานที่เป็นคณะกรรมการของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกลับไปทบทวนแผนงานประจำปีของสหภาพแรงงาน เช่น จัดสรรงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุน เป็นต้น 2) กำหนดเป้าหมายของการมีส่วนร่วมชัดเจนเพื่อให้เกิดความเจ้าของร่วมกันในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 3) การสื่อสารบทบาทของสถาบันและสร้างความน่าเชื่อถือให้สังคมยอมรับ 4) การจัดนิทรรศการเฉพาะเรื่องหรือหมุนเวียน หรือจัดทำเสื้อรณรงค์ โปสเตอร์ เพื่อจัดจำหน่ายหารายได้

——————————————————————–

ท้ายนี้ ผู้สรุปเนื้อหาได้สนทนากับ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ระหว่างนั่งรถตู้เดินทางกลับจากงานประชุมเชิงปฏิบัติการ ในประเด็นของการแปลคำว่า Trade Union

“โดยความเห็นส่วนตัว ขอรณรงค์ให้พี่น้องแรงงาน เลิกเรียกคำว่า “สหภาพแรงงาน” เพราะแท้จริงแล้ว Trade Union” ควรแปลเหมือนกับที่ ปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า “สหอาชีวะแรงงาน” (กรรมกร) เพราะมีความหมายสอดคล้องเป็นการรวมกลุ่มของแรงงานหลากหลายอาชีพและอุตสาหกรรม ซึ่งขบวนการแรงงานต้องไม่จำกัดเฉพาะในสถานประกอบการ แต่ต้องต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบายแรงงาน”