9 ธ.ค.ก.ม.เงินทดแทนฯ ขยายคุ้มครองลูกจ้างราชการ-มูลนิธิ

เฮลั่น 9 ธ.ค. กฎหมายเงินทดแทนฉบับใหม่ ขยายความคุ้มครองลูกจ้างราชการ-มูลนิธิ เป็นครั้งแรก ย้ำนายจ้างต้องขึ้นทะเบียน

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 261 เว็บไซต์ https://www.thairath.co.th/content เผยแพร่ข่าว ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ 3 ดินแดง ในกระทรวงแรงงาน ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมแถลงถึง พ.ร.บ.เงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 ธ.ค. ว่า กฎหมายเงินทดแทนที่จะบังคับใช้ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ประกันตน มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ลูกจ้างผู้ประกันตนที่มีกว่า 10 ล้านคน และขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างกลุ่มใหม่กว่า 1 ล้านคน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นครั้งแรก สปส.ได้เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินของนายจ้าง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงขอให้นายจ้างเตรียมตัวมาขึ้นทะเบียนลูกจ้างทั้ง 3 กลุ่ม ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.61 ไปถึงวันที่ 7 ม.ค.62 หากไม่มาดำเนินการจะมีโทษปรับตามกฎหมาย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า กฎหมายเงินทดแทนฉบับใหม่ ได้ขยายความคุ้มครองไปยังกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ

1.ลูกจ้างในส่วนราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างชั่วคราว มี 902,000 คน

2.ลูกจ้างในองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม ประมาณ 1 แสนคน และ

3.ลูกจ้างขององค์การระหว่างประเทศ อาทิ ลูกจ้างของสถานทูต

ซึ่งเดิม 3 กลุ่มนี้ ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์มาก่อน เพราะ พ.ร.บ.ฉบับเดิมจะคุ้มครองเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ทำงานบริษัทเอกชน ฉบับใหม่กำหนดให้นายจ้างเป็นฝ่ายจ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียว ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 480 บาทต่อคนต่อปี หรือร้อยละ 0.2 ของเงินเดือน ในส่วนของนายจ้างก็จะได้รับประโยชน์ด้วย โดยจะได้ปรับลดเงินเพิ่มตามกฎหมายจากเดิมร้อยละ 3 เหลือ 2 และเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ลูกจ้าง 3 กลุ่มใหม่ จะได้รับสิทธิ 4 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน และแพทย์สั่งให้หยุดงาน จะได้ค่าชดเชยการขาดรายได้ จากเดิมร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน ตั้งแต่วันแรกที่หยุดงาน กรณีทุพพลภาพจากการทำงาน จะได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี จากเดิมไม่เกิน 15 ปี กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานจะได้ค่าชดเชยการขาดรายได้ร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นเวลา 10 ปี จากเดิม 8 ปี รวมทั้งเพิ่มการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเท่ากับกองทุนประกันสังคม 40,000 บาท ที่สำคัญจะได้รับค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา เช่นเดียวกับลูกจ้างผู้ประกันตนทุกกรณี

ด้านนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาการเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างที่ได้จ้างงานวิธีเหมาค่าแรง จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเงินทดแทนเป็นครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันมีการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำให้คนเหล่านี้ได้รับสิทธิตามกฎหมายเป็นครั้งแรก อีกทั้งในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตแต่ยังมีบุตรที่อายุเกิน 18 ปี ที่ยังศึกษาอยู่ไม่เกินกว่าระดับปริญญาตรีก็จะได้รับสิทธิเงินทดแทนจนกว่าจบปริญญาตรีด้วย โดยสถานะของกองทุนขณะนี้มีเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 มีผู้ประกันตนใช้บริการเงินกองทุนทดแทนแล้วกว่า 5.8 หมื่นคน ส่วนปี 2561 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. มี 4.8 หมื่นคน วงเงินรวมกว่า 1-2 พันล้านบาทต่อปี

สปส.จัดเต็ม 109 คลินิกโรคจากการทำงานทั่วประเทศ ย้ำพร้อมให้บริการ ลูกจ้างที่เจ็บป่วยจากการทำงาน

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน สำนักงานประกันสังคม โดยนายแพทย์เสรี ตูจินดา ประธานคณะกรรมการแพทย์ กองทุึนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึง การดูแลคุณภาพชีวิตความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างในสถานประกอบการในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน นอกจากการสูญเสียรายได้แล้วบางรายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพหรือตาย ซึ่งทำให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนมากขึ้นอีกด้วย สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งโครงการคลินิกโรคจากการทำงาน เพื่อให้มีการดูแลลูกจ้างที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการทำงานอย่างเป็นระบบ คือ ให้การตรวจรักษา วินิจฉัยโรค และให้การรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน การเฝ้าระวัง/ป้องกัน และลดอุบัติเหตุจากการทำงาน พร้อมทั้งให้คำปรึกษา และส่งเสริมงานด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน แก่สถานประกอบการ ไปถึงการสนับสนุน ดำเนินการด้านการแพทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.เงินทดแทน และพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยในปี 2561 นี้ มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการคลินิกโรคจากการทำงานแล้วถึง 109 แห่ง เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 103 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย จำนวน 5 แห่ง และขณะนี้ได้มีโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 1 แห่ง

อย่างไรก็ตามในกรณีที่ลูกจ้างสงสัยว่า เจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานสามารถเข้าบริการตรวจวินิจฉัยได้ที่คลินิกโรคจากการทำงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดนขอให้นายจ้างยื่นแจ้งการประสบอันตรายตามแบบ กท. 16 ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ จังหวัด ที่ประจำทำงาน เพื่อขอหนังสือส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการคลินิกโรคจากการทำงาน หรือติดต่อคลินิกโดยตรง ในกรณีของผู้ประกันตนที่เข้ารักษาในสถานพยาบาลของตนเองเลือกไว้และมีคลินิกโรคจากการทำงาน สามารถเข้ารับบริการๆด้โดยตรง ทั้งนี้ติดต่อที่คลินิกประกันสังคมเพื่อตรวจวินิจฉัยคัดกรองเบื้องต้น หากแพทย์ผู้กระทำการตรวจวินิจฉัยสงสัยว่า เจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน จะส่งตัวลูกจ้างไปรักษาต่อที่คลินิกโรคจากการทำงาน กรณีลูกจ้างเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยไม่ได้แจ้งการประสบอันตราย หากผลการตรวจวินิจฉัยพบว่า ลูกจ้างเจ็บป่วยจากการทำงานขอให้นายจ้างยื่นแบบการประสบอันตราย (กท.16) ต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วัน เพื่อให้โรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในส่วนของกองทุนเงินทดแทนสำนักงานประกันสังคมโดยตรง แต่หากผลการตรวจลูกจ้างไม่เจ็บป่วยจากการทำงาน ลูกจ้างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากกองทุนทดแทนให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่โรงพยาบาลแล้ว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน