8 มีนากลุ่มผู้หญิงมองข้ามสีร่วมฉลองร้อยปี

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 เครือข่าย 33 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรแรงงานเอกชน แรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชาชนฯลฯ ได้ร่วมกันจัดงานเนื่องในโอกาส 100 ปี วันสตรีสากล ซึ่งได้มีการจัดเวทีเสวนา สัมมนายื่นข้อเสนอ รวมถึงประกาศเจตนารมณ์ การเดินรณรงค์เฉลิมฉลองจากบริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน  
 
นางสาวธนพร  วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้เป็นตัวแทนในการอ่านคำประกาศเจตนรมณ์ ในโอกาส 100 ปี วันสตรีสากล “พลังหญิงสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ชาย   เพื่อระบบสามแปด  สิทธิประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม  และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้หญิง”                  
“ 8 มีนา” คือสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคหญิงชาย   ประชาธิปไตย  และ   สิทธิมนุษยชน  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้หญิง   เราทั้งหญิง(และชาย)  ขอประกาศว่า  เราจะขับเคลื่อนต่อสู้ต่อไป  :  
 
(1)   ผู้หญิงทำงานทุกกลุ่ม  ต้องได้ทำงานในระบบสามแปดที่เป็นจริง     มีระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นจากเกิดจนตาย   ทั้งแรงงานในระบบ   นอกระบบ   ลูกจ้างภาครัฐ   หญิงบริการ  แรงงานเกษตรและประมง    เพราะค่าตอบ แทนที่ไม่เป็นธรรมและไม่พอเพียง  ทำให้คนทำงานหญิงส่วนใหญ่ต้องอดทนทำงานเกินวันละ 8 ชม. 
      – ให้แรงงานหญิงในระบบเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 60 ปี  
      – ยอมรับหญิงบริการ  แรงงานนอกระบบ   แรงงานภาคเกษตร และประมง    เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยรัฐบาลช่วยส่งเงินสมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง  ให้มีระบบบำนาญประชาชน    และให้รัฐตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการสุขภาพและสังคม   แก่คนอาชีพบริการ โดย หักจากภาษี ธุรกิจภาคบันเทิง และ การท่องเที่ยว 
     – ต้องมีมาตรการเด็ดขาดห้ามการเลิกจ้างคนท้อง   ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ  ราคาถูก    กระจายทั่วถึงในชุมชน  โรงงาน  หน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชน       และจัดเสริมเจ้าหน้าที่บริการดูแลให้สอดคล้องกับเวลาของผู้หญิงทำงานอย่างจริงจัง  
     – รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา  ในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงานเพราะการคลอดบุตร  การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก     โดยให้พ่อมีสิทธิลางานดูแลลูกและแม่หลังคลอดบุตรเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง
  
(2)  ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิง  อย่างมีคุณภาพ    วันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในอัตราสูง   ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้   ถ้ามีระบบการตรวจสุขภาพที่ครบถ้วน  มีคุณภาพ   บริการฟรีหรือราคาถูก และเข้าใจผู้หญิง 
   – ส่งเสริมการแพทย์ที่ป้องกันความปลอดภัย และดูแลรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงาน จนถึงระดับสถานีอนามัย  เพื่อคุ้มครองดูแลโรคภัยต่อระบบอนามัยเจริญพันธุ์   จากสารเคมีภาคเกษตร
 
(3) การคุ้มครองดูแลผู้หญิงจากทัศนคติ “เหมารวม”และ “เลือกปฏิบัติ” ต่อผู้หญิง    อาทิ     กรณีการตั้งท้องไม่พร้อม   ความรุนแรงในครอบครัว   การคุกคามทางเพศและถูกข่มขืน  กระบวนการยุติธรรมที่มีอคติทางเพศ      ตลอดจนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ   และมาตรการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ-ความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน   
  
(4) ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจและวางแผนทุกระดับ  เช่น คณะกรรมการไตรภาคี  กรรมการองค์กรอิสระ  และ การมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นทุกระดับ ประกาศ   ณ  อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย. 8 มีนาคม 2554
 
นางสาวธนพร  วิจันทร ได้กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นวันที่ผู้หญิงก้าวพ้นสี เพราะวันนี้มีผู้หญิงสีแดง ผู้หญิงสีเหลือง และผู้หญิงหลากสีมาร่วมกันเฉลิมฉลองร้องเพลงเต้นรำ พูดคุยกันเดินขบวนร่วมกันนนี่คือความยิ่งใหญ่ของผู้หญิง ที่จะร่วมสร้างสรรอนาคตร่วมกันเพราะผู้หญิงทั่วโลกคือพี่น้องกัน ข้อเสนอที่ได้มีการเสนอต่อนายกรัฐมนตรีก็เป็นการวัดใจว่ารัฐบาลจะเหลียวแลประเด้นผู้หญิงหรือไม่
 
ทั้งนี้ยังมีกรรมกรแดงเพื่อประชาธิไตยได้ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีโดยมีข้อเสนอดังนี้
 
1. ในเบื้องต้นเราต้องการร่วมสร้างรัฐสวัสดิการ สังคมให้มีหลักประกันในทุกด้านอย่างถ้วนหน้า เรียกว่าตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เช่นเรียนหนังสือฟรีอย่างมีคุณภาพ สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม สิทธิในการทำแท้งของสตรีที่เข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐ งานที่มีความหมายต่อสังคมค่าตอบแทนที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และมีเกียรติในสังคม การใช้ระบบ 3 แปด รวมถึงรัฐต้องสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
 
2. งบประมาณเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการต้องมาจากภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และภาษ๊เงินได้ ในอัตราก้าวหน้า คนมีมากต้องจ่ายมาก ยกเลิกภาษีทางอ้อม (VAT)
 
3.  ลดงบประมาณของรัฐที่ไม่จำเป็น เช่นงบประมาณทางการทหาร งบประมาณการโฆษณา และพิธีกรรมของรัฐที่ไม่จำเป็นต่อชนชั้นล่าง
 
4. รัฐสวัสดิการจะนำไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
 
5. การมีองค์กรสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง รัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้าต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นของแรงงานเพื่อการกำหนดนโยบายรัฐโดยตรง
 
6. เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อ ประชาธิปไตยที่แท้จริง
อีกทั้งมีกลุ่มผุ้หญิงจากพรรคการเมืองใหม่ได้ออกแถลงการร่วมรณรงค์ครั้งนี้ด้วยว่า วันที่  8  มีนาคม  2554  ในโอกาสครบรอบ  100  ปี วันสตรีสากล  ปัจจุบันนี้สตรีหลายประเทศ ได้เป็นผู้นำระดับสูงของประเทศ ทั้งเป็นประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ได้รณรงค์ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยการกดขี่ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้บัญญัติ ให้ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย  แต่ในทางปฏิบัติผู้หญิงก็ยังถูกกดขี่และเข้าไปมีส่วนร่วมในบทบาทของการเมืองน้อยมาก ประมาณ  11 %   ในโอกาส 100  ปี  วันสตรีสากล พรรคการเมืองใหม่ เห็นว่าการเมืองปัจจุบันมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะจริยธรรมและคุณธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างรุนแรง และเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ ซึ่งแน่นอนว่า  ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย  พรรคการเมืองใหม่ จึงได้เห็นคุณค่าและความเข้มแข็งของผู้หญิงซึ่งมีไม่ได้น้อยไปกว่าผู้ชาย นอกจากนั้นผู้หญิงยังมีความมุ่งมั่น จริงใจรอบครอบ สุขุม อดทนและอดกลั้น ได้มากกว่าผู้ชายในหลายๆกรณี พรรคการเมืองใหม่ จึงขอสนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนที่สนใจเข้ามาร่วมกันมีบทบาท ทางการเมือง เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างชายหญิงอย่างจริง ทั้งในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจและสังคม 
 
พรรคการเมืองใหม่ จึงขอเรียกร้องให้ผู้หญิงทุกท่าน  ได้ตระหนักในคุณค่าความรู้ความสามารถของตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง ขอเชิญชวนผู้หญิงทุกท่าน มาร่วมกันสร้างการเมืองใหมสร้างประชาธิปไตย สร้างความเท่าเทียม  ความเสมอภาคทางเพศ เพื่อให้เกิดสังคมประชาธิปไตย ที่มีสิทธิเสรีภาพ  เสมอภาค ภราดรภาพ ในสังคมไทยให้เป็นจริงอย่างยั่งยืนตลอดไป 
 
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน