7 ปีวิทยุเสียงกรรมกร ยุคการปฏิรูปสื่อล้มเหลว

ในโอกาสครบรอบ 7 ปีของการก่อตั้ง “วิทยุเสียงกรรมกร ” หรือ Workers’ Radio FM 98.25 Mhz. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จัดงาน “เหลียวหลัง แลหน้า วิทยุเสียงกรรมกร ครบ 7 ปี” ขึ้น ณ ลานหลังที่ทำการสหภาพฯ ใกล้สวนรถไฟ เขตจตุจักร กทม. ในงานมีการเสวนา การออกร้านอาหารและสินค้าชุมชน รวมทั้งมีการแสดงดนตรีของ วงภราดร และ วงเพื่อนชาวนา

นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี ผู้อำนวยการสถานีวิทยุเสียงกรรมกร กล่าวรายงานว่า สถานีวิทยุเสียงกรรมกรก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2549 โดยใช้งบประมาณจากทุนสาธารณประโยชน์ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ สร.รฟท.บริจาคให้ในการดำเนินการ มีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นผู้อำนวยการสถานีคนแรก ซึ่งในปัจจุบันมีสถานีเครือข่ายวิทยุเสียงกรรมกร 6 สถานี คือ กรุงเทพ นครราชสีมา นครสวรรค์ ชุมพร ทุ่งสง และ หาดใหญ่ ทั้งนี้ได้มีการเผยแพร่ผ่าน www.srut.or.th ด้วย

สุพิเชฐ อำพล

นายอำพล ทองรัตน์ ประธาน สร.รฟท.กล่าวเปิดงานว่า ทุกวันนี้มีความจำเป็นที่ต้องสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนรถไฟ ต้องทำให้สหภาพแรงงานและขบวนการแรงงานมีความเข้มแข็งทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการเชื่อมประสานกับเครือข่ายอื่นทางสังคมไปจนถึงระดับสากลเพื่อสร้างพลังต่อต้านการขูดรีดจากระบบทุนนิยม การจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ให้สถานีวิทยุเสียงกรรมกรทำประโยชน์แก่มวลสมาชิกและองค์กร รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงของชนชั้นผู้ใช้แรงงานต่อไป

=k]u  อำพล รวม

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ตัวแทนจากองค์กรแรงงานภาคเอกชน กล่าวแสดงความยินดีที่สถานีวิทยุเสียงกรรมกรยืนหยัดมาได้ 7 ปีแล้วในยุคที่การสื่อสารมีความสำคัญมากในปัจจุบัน การมีวิทยุเสียงกรรมกรทำให้เชื่อมต่อกับสมาชิกได้ใกล้ชิดขึ้นทั้งการเผยแพร่ข่าวสารความรู้ต่างๆ แม้ว่าจะมีอุปสรรคเรื่องกำลังส่ง แต่การไปเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ทก็ทำให้เผยแพร่ได้อย่างกว้างขวางขึ้น จึงขอให้ยืนหยัดก้าวไปข้างหน้าต่อไป

ในการเสวนาเรื่อง “เหลียวหลังแลหน้า วิทยุเสียงกรรมกรครบ 7 ปี และอนาคตสื่อภาคประชาชน”  นายสุปัน รักเชื้อ สำนักข่าว INN ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้วได้มาช่วยทำสถานีวิทยุเสียงกรรมกรตามแนวคิดของ สมศักดิ์ โกศัยสุข ที่คิดว่ากรรมกรต้องมีสื่อ ซึ่งตนเองก็ได้เป็นผู้ร่วมจัดรายการ ชานชลาข่าว ด้วยการเสวนาวันนี้จึงถือเป็นการทบทวนสรุปบทเรียนการทำงานจากมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมในการทำวิทยุเสียงกรรมกรในสถานการณ์ปัจจุบันที่แม้จะมี กสทช.เกิดขึ้นมาดูแลเรื่องสื่อแล้ว แต่ก็ให้ความสนใจกับเรื่องทีวีดิจิตอลมากกว่าเรื่องวิทยุชุมชน

สมศักดิ์  สาวิทย์

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษา สร.รฟท. กล่าวถึงแนวคิดที่ต้องการทำวิทยุเสียงกรรมกรว่า เมื่อปี 2543  เคยไปประชุมเรื่องแรงงานที่ต่างประเทศแล้วถูกเชิญไปสัมภาษณ์รายการวิทยุหลายครั้ง ซึ่งมีการถ่ายทอดไปประเทศอื่นๆด้วย เมื่อหันมามองสหภาพแรงงานของไทยเห็นว่ามีข้ออ่อนในงานประชาสัมพันธ์ จึงคิดว่าสหภาพฯต้องมีสื่อ ซึ่งแรกๆก็เคยทำเสียงตามสายแต่ก็มีขอบเขตจำกัด จึงคิดทำวิทยุซึ่งสื่อสารได้ไกลและก็ง่ายกว่าทำสื่อประเภทอื่นๆ เริ่มต้นด้วยการชวนคนรู้เรื่องเทคนิคให้มาช่วย จากนั้นก็เข้าไปจัดรายการ คุยหนักๆกับสมศักดิ์ โกศัยสุข และปัจจุบันก็ทำรายการ แรงงานกับการเมือง แต่ที่ผ่านมาก็เห็นปัญหาการจัดรายการซึ่งมีแต่การเปิดเพลงมากกว่ารายการเนื้อหาที่มีประโยชน์ ทั้งนี้แม้สถานีไม่ต้องหากำไรเพราะรับการสนับสนุนจากสหกรณ์ แต่ก็ต้องทำให้คุ้มค่าในแง่เนื้อหา และคิดว่าถึงวันนี้ก็ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องเทคนิค การบริหารจัดการ และการสร้างคนทำงานวิทยุ เพื่อให้วิทยุเสียงกรรมกรเป็นกระบอกเสียงของคนงานได้ต่อไป

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ตอนแรกๆตนเองต้องดูทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัสดุอุปรณ์ต่างๆ เรื่องเทคนิคการติดตั้ง ปัญหาความหวาดระแวงจากรัฐ รวมทั้งผังรายการและชื่อสถานีซึ่งก็ได้ประชุมร่วมกับหลายฝ่ายก็ลงตัวที่ เสียงกรรมกร หรือ Workers’ Radio โดยสถานีที่หาดใหญ่เกิดก่อนเพราะสภาพแวดล้อมชุมชนเอื้อกว่า ส่วนที่ กทม.ตั้งความคาดหวังไว้สูงในแง่เนื่อหาเมื่อก่อตั้งแล้วก็ทั้งคุมเครื่องและจัดรายการเปิดสปอตเอง ด้านเนื้อหานอกจากเรื่องของสหภาพแล้ว ก็พูดเรื่องของรถไฟด้วย และก็มีส่วนเข้าร่วมกับการขับเคลื่อนทางการเมือง ส่วนการทำงานแรกๆก็มีใจมีอุดมการณ์คึกคัก หลังๆมาก็ถดถอยไปในแง่เนื้อหา จึงอยากฝากให้รุ่นหลังๆมีความมุ่งมั่น หาความรู้ ตรงต่อเวลา สรุปบทเรียนเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าเป็นสื่อของกรรมกรชาวไร่ชาวนาในยุคที่ทุนเองก็พยายามยึดครองสื่อ

ชาญวิทย์  รวม

นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ นักจัดรายวิทยุเพลงชีวิตกับชาญวิทย์เพื่อนประชาชน ได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสหภาพแรงงานของรัฐวิสาหกิจจึงไม่สนใจทำเรื่องสื่อวิทยุ เมื่อตอนมีสถานีวิทยุเสียงกรรมกรก็รู้สึกดีใจ แต่ต่อมาก็เห็นถดถอยไปซึ่งคิดว่ามาจากปัญหาการเห็นคุณค่าของวิทยุน้อยไป และไม่มีค่าใช้จ่ายสนับสนุนคนทำงาน  ในด้านการจัดรายการเคยเสนอบ่อยๆให้พูดเนื้อหาคั่นแทนการเปิดเพลงต่อเนื่องอย่างเดียว เช่นดึงเรื่องเดือดร้อนของภาคประชาสังคมอื่นๆมาพูด แต่ก็ไม่ค่อยมีคนทำ อยากเสนอให้มีการจัดสัมมนา ฝึกอบรม สรุปบทเรียนเป็นระยะ และอยากให้รัฐวิสาหกิจอื่นมาร่วมใช้ประโยชน์ด้วย

นายวิชาญ อู่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชน  กล่าวถึงสถานีวิทยุชุมชนว่าแรกๆก็ถูกเรียกว่าวิทยุเถื่อนไม่มีใครสนใจ ต่อมาภาคราชการ ภาคธุรกิจ เริ่มทุ่มทุนมาทำวิทยุชุมชนมากขึ้นเพราะเข้าถึงชาวบ้านในชุมชนได้มากกว่าสถานีวิทยุใหญ่ มีการลงทุนนับเป็นสิบล้านเพื่อโฆษณาสินค้าต่างๆ นักการเมืองก็ใช้วิทยุชุมชนให้หัวคะแนนจัดรายการต่อกับฐานมวลชน ปัจจุบันมีอยู่ 7-8 พันสถานี มีไม่กี่กลุ่มที่ยังไม่ตกเป็นของทุนธุรกิจ ภาพรวมของวิทยุชุมชนจึงตกต่ำลงไปมาก  ถือว่าการปฏิรูปสื่อล้มเหลว เพราะแม้มี กสทช.แต่ก็ปล่อยให้วิทยุธุรกิจจดทะเบียนไปกว่า 150 สถานีจากทั้งหมดที่จดทะเบียนแล้ว 160 กว่าสถานี ส่วนสถานีวิทยุเสียงกรรมกร ถือเป็นหนึ่งในส่วนน้อยของสถานีวิทยุชุมชนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ และคิดว่าแม้ผ่านมา 7 ปี ก็ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกต่อไป และมีบททดสอบในการยืนหยัดต่อไปมากกว่านี้

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน