“7 ปรากฎการณ์ลงทุนจากต่างประเทศ” บีโอไอสุดปลื้ม คนงานสุดแป้ก นโยบายรถยนต์ไฟฟ้าผงาด หุ่นยนต์แทนที่ และทาง (ไม่) รอดของสหภาพแรงงานไทย

7 ปรากฎการณ์ลงทุนจากต่างประเทศ” บีโอไอสุดปลื้ม คนงานสุดแป้ก นโยบายรถยนต์ไฟฟ้าผงาด หุ่นยนต์แทนที่ และทาง (ไม่) รอดของสหภาพแรงงานไทย

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

26 กรกฎาคม 2561

ย้อนไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2561 มีข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งด้านแรงงานรายงานว่า Mr. Yosuhiro Morita ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการด้านแรงงาน (Chairman of Labor Committee) ปัจจุบันทำงานที่บริษัทบริดจสโตน ประเทศไทย และคณะจากหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (The Japanese Chamber of Commerce-JCC) เข้าพบนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือใน 3 เรื่องสำคัญ คือ

(1) การแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ให้มีการจ่ายค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วันสุดท้าย ทั้งนี้ทาง JCC กังวลว่าสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนมากอาจเตรียมตัวเรื่องงบประมาณไม่ทัน

(2) การตีความคำว่า “งานในลักษณะเดียวกันตามมาตรา 11/1 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541” ที่บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทางสถานประกอบการต้องจัดสวัสดิการในรูปแบบใด อย่างไร

(3) ความคืบหน้าการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลไทยจะให้สัตยาบันได้ภายในปี 2562 ทั้งนี้ทาง JCC มีข้อกังวลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรสหภาพแรงงานและสมาคมนายจ้างที่แก้ไขตามร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์หลายประการ

แน่นอนเมื่อภาคธุรกิจเอกชนเป็นฝ่ายเข้าหารือภาครัฐโดยตรงในครั้งนี้ จึงมีแนวโน้มที่สามารถตีความได้ว่า ทั้ง 3 ประเด็นด้านกฎหมายที่กระทรวงแรงงานกำลังแก้ไขหรือบังคับใช้ไปแล้ว ไม่เอื้อต่อ “ทุนญี่ปุ่น” ที่มาลงทุนในประเทศไทยและย่อมมุ่งหวังกำไรสูงสุดอย่างแน่นอน และภาครัฐควรใคร่ครวญหรือหยิบยกมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

คำถามสำคัญ คือ ปรากฎการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้ฝ่ายองค์กรแรงงานไทยได้เรียนรู้อะไรบ้าง ?

          แต่ก่อนที่จะไปตอบคำถามนี้ ดิฉันอยากฉายภาพปรากฎการณ์บางอย่างที่แวดล้อมในเบื้องต้น รวม 7 ปรากฎการณ์ก่อน ดังนี้

  • ความสำคัญของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCC) กลไกภาคธุรกิจที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่นในไทยเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • 8 ธันวาคม 2560 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับผ่านนโยบายเศรษฐกิจใหม่ “New Abenomics”
  • 8 ค่ายรถยนต์ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายชิ้นส่วนรถยนต์หนาวๆร้อนๆ
  • อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยกับการเติบโตในครึ่งปีหลัง 2561 และปี 2562
  • การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์กับการขาดแคลนแรงงานฝีมือ และการเข้ามาแทนที่ด้วยหุ่นยนต์
  • การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเมษายน 2561 มีผลกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกลุ่ม SMEs เท่านั้น
  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกดึงดูดเม็ดเงินลงทุน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง

       

          กล่าวคือ (ปรากฎการณ์ที่ 1) : ความสำคัญของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCC) กลไกภาคธุรกิจที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่นในไทยเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) คือ หนึ่งในหอการค้าญี่ปุ่นในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 1,762 บริษัท จากกว่า 5,000 บริษัทของญี่ปุ่นในไทย (เมษายน 2561) ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2497 โดยมีจำนวนสมาชิกเริ่มต้นเพียง 30 บริษัท วัตถุประสงค์สำคัญขององค์กร คือ การช่วยเหลือด้านต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ธุรกิจเหล่านั้นเจริญเติบโตมีผลกำไรได้เป็นอย่างดี[1]

ทั้งนี้พบว่าประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด ตัวเลข ณ ปี 2560 ประมาณ 53,561 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยลงทุนในสิงคโปร์ 39,649 ล้านเหรียญสหรัฐ, อินโดนีเซีย 26,696 ล้านเหรียญสหรัฐ, เวียดนาม 14,651 ล้านเหรียญสหรัฐ และมาเลเซีย 12,668 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ (ส่วนประเทศที่มีการลงทุนในไทยรองจากญี่ปุ่น คือ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และพลังงาน)[2]

ปัจจุบัน JCC มี Mr.Michinobu Sugata จากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นประธาน มีรองประธาน 4 คน ที่น่าสนใจ คือ  Mr.Shinji Nakano จากบริษัทซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ไทยแลนด์ , Mr.Norio Saigusa จากบริษัทมิตซูบิชิ (ประเทศไทย) , Mr.Hidekazu Ito บริษัท พานาโซนิค แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด โครงสร้างองค์กรประกอบด้วย 15 ชมรม แยกตามประเภทของธุรกิจ เช่น ยานยนต์ , อิเลคทรอนิคส์ , เหล็ก , โลหะ , ปิโตรเคมี , เคมีภัณฑ์ , สิ่งทอ ฯลฯ

ทั้งนี้งานสำคัญของ JCC ในปี 2561 ที่เผยแพร่เมื่อมิถุนายน 2561 คือ

  • การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยให้เติบโตได้มากที่สุด
  • ให้ความสำคัญกับการลดระยะเวลาของกระบวนการผลิต (Lead time) มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในอนาคตอันใกล้
  • ให้ความสำคัญกับการลงทุนใน “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ตามที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

ในปี 2561 หอการค้าญี่ปุ่น (JCC) ได้เปิดเผยผลสำรวจโดยอ้างอิงข้อมูลจาก BOI ประเทศไทย ระบุว่า การลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นมาไทยเพิ่มขึ้น 8 % ในปี 2560 โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 คือ ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 256 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 133,002 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 47 ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศ (282,643 ล้านบาท) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร โลหะ ประมาณ 61,200 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการผ่อนคลายกฎระเบียบทางธุรกิจของรัฐบาลไทยในหลายๆเรื่อง

ทั้งนี้ BOI ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน 132 โครงการ มูลค่า 36,645 ล้านบาท เฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีโครงการได้รับอนุมัติแล้ว 49 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 28,499.6 ล้านบาท ซึ่งให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นสูงสุดคือ ยกเว้นภาษีเงินได้ 13 ปี ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในพื้นที่ EEC 1,016 บริษัท

ทั้งนี้บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย 44 % วางแผนขยายการลงทุนในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่นักลงทุนหลักในพื้นที่ EEC คาดว่าจะยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอด (First S-Curve) ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ[3]

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยยังเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่ตลอด เป็นเพราะนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ต่อเนื่องทุกปี แม้ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปแต่ทุกรัฐบาลก็ยังส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติอยู่เสมอ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นจึงกล่าวได้ว่าการเมืองไม่ส่งผลต่อการลงทุนแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ล่าสุดบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลายๆบริษัทได้ทยอยเข้ามาตั้งบริษัทในไทยเพิ่ม[4] อาทิ

  • โตโยต้า แมททีเรียล แฮนด์ลิ่ง กรุ๊ป ผู้ผลิตและให้บริการรถโฟร์กลิฟต์
  • ฮิตาชิ คอนสตรักชั่น แมชีนเนอรี่ ผู้ให้บริการเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง
  • ไดกิ้น เคมีคอล ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ
  • ซูมิโตโม ริโกะ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า
  • โคโนอิเกะ ทรานส์สปอร์ต ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และคลังสินค้า
  • แบนโด เคมิคอล ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
  • เซกิกุย เคมิคอล ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก
  • โคเบลโก้ บริษัทในกลุ่มโกเบ สตีล กรุ๊ป
  • ฮิตซ์ บริษัทในเครือฮิตาชิ โซเซน บริษัทรับสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ เป็นต้น

มีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ

  • เมื่อเดือนธันวาคม 2560 บริษัทไทยซัมมิทโอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ได้ร่วมทุนกับบริษัท วาย-เทค คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น และจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ชื่อ “ไทยซัมมิท วาย-เทค
    โอโตพาร์ท”
    จำกัด ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท เพื่อออกแบบ พัฒนา ผลิต ทำการตลาด และขายชิ้นส่วนยานยนต์แบบขึ้นรูปที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยกลุ่มไทยซัมมิท ถือหุ้น 51 % และวาย-เทค คอร์ปอเรชั่น 49 %
  • บริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมทุนกับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไก่รายใหญ่ของไทย ตั้งโรงงานแปรรูปไก่ที่จังหวัดสระบุรี ในนามของ “บริษัท เอเชี่ยน เบสท์
    ชิคเก้น จำกัด”
    ทุนจดทะเบียน 1,833 ล้านบาท มิตซูบิชิ ถือหุ้น 50% เบทาโกร 25% และอิโตแฮม 25% โรงงานแห่งนี้จะมีกำลังผลิต 30,000 ตันต่อปี สำหรับป้อนให้กับธุรกิจอาหารในญี่ปุ่น

          (ปรากฎการณ์ที่ 2) : 8 ธันวาคม 2560 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับผ่านนโยบายเศรษฐกิจใหม่ “New Abenomics”

“Abenomics” คือนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ตั้งแต่เริ่มใช้ในปี 2556 เป็นต้นมา ที่ประกอบไปด้วยนโยบายย่อย คือ มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและมาตรการการคลังเพื่อแก้ไขภาวะเงินฝืดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย กระตุ้นการลงทุน การบริโภคและการส่งออก และมาตรการปฏิรูปโครงสร้างตลาดแรงงานเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนวัยทำงานด้วยการจ้างงานสตรีที่มีอายุมากขึ้นรวมถึงแรงงานต่างชาติ เช่น จากประเทศไทย (ในปี 2559 มีแรงงานต่างชาติทำงานในญี่ปุ่นประมาณ 1 ล้านคน)

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในปี 2560 ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานหดตัวลงอย่างพลิกผัน ดังนั้นการปรับนโยบายใหม่ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปฏิวัติด้านผลิตภาพ และการปฏิวัติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ นโยบายใหม่ที่จะขับเคลื่อนญี่ปุ่นไปสู่อนาคต

เป้าหมายหลักของการปฏิวัติผลิตภาพ คือ ผลิตภาพของแรงงานต้องเพิ่มขึ้นสองเท่ากลายเป็นอัตรา
2 % ต่อปี และเพิ่มค่าจ้างขึ้น 3% ทั้งนี้การนำหุ่นยนต์มาใช้กับทุกอุตสาหกรรมและทุกด้านในชีวิตประจำวันจะช่วยเพิ่มผลิตภาพเป็นสำคัญ เช่น การใช้ AI และหุ่นยนต์ในสถานที่ดูแลระยะยาวเพื่อรักษาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้และลดภาระของผู้ดูแล หรือการใช้รถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ขับขี่รถ ส่วนเป้าหมายของการปฏิวัติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ การลงทุนในด้านการศึกษาและสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก มีการเปิดตัว “The Council for Designing 100 Year Life Society” เพื่อสร้างความมั่นคงทางสังคมให้กับคนทุกวัย

นโยบายนี้เมื่อมาพิจารณาที่การจ้างงานโดยตรง พบว่า รัฐบาลเปิดโอกาสให้บริษัทจ้างงานแบบรับค่าแรงเป็นรายชิ้นงานหรือรายวัน กระทั่งทำงานไม่เต็มเวลา ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องรับภาระด้านสวัสดิการและสามารถปรับเปลี่ยนบุคลากรได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ยังได้เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกฎระเบียบการจ้างงานมากขึ้น ลดบทบาทขององค์กรตัวแทนคนงาน เช่น สหภาพแรงงาน

นอกจากนี้ยังมีการผ่อนคลายกฎระเบียบสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการจ้างงานหลายข้อซึ่งทำให้แรงงานได้รับผลกระทบทางด้านลบมากขึ้นทั้งประเด็นค่าจ้างแรงงานที่ต่ำลง และการไม่พัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น การอนุญาตให้บริษัทจ้างคนงานแบบไม่ประจำที่จัดส่งโดยบริษัทนายหน้าได้อย่างไม่จำกัดเวลา ตราบใดที่เปลี่ยนตัวคนงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

          (ปรากฎการณ์ที่ 3) : 8 ค่ายรถยนต์ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายชิ้นส่วนรถยนต์หนาวๆร้อนๆ

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่ามีการอนุมัติให้บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (จ.ระยอง) ลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก ที่อุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง รวมถึงกรณีบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และเมอร์เซเดส-เบนซ์ รวมมูลค่าลงทุน 18,000 ล้านบาท ส่วนฮอนด้าอยู่ในระหว่างการรอพิจารณา

ก่อนหน้านั้นพบว่ามีหลายค่ายรถยนต์ที่ประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับโครงการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ ซึ่งประกอบด้วย (1) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า หรือ HEV (Hybrid Electric Vehicle) (2) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งคิดอัตราภาษีสรรพสามิตแค่ 50 % และ (3) รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) คิดภาษีสรรพสามิตแค่ 2 %

โดยพบว่าในช่วงสิ้นปี 2560 มีผู้ประกอบการ 5 ราย ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฮบริด ประกอบด้วย

  • มาสด้า ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 11,4000 ล้านบาท โดยใช้โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์
    จ.ระยอง เป็นฐานกำลังการผลิต 120,000 คัน/ปี ทั้งนี้มาสด้าร่วมมือกับซัพพลายเออร์ลงทุนเกี่ยวกับชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้กับรถยนต์มาสด้าทุกรุ่นและรถยนต์ในกลุ่มไฮบริด ผ่านโรงงานมาสด้า พาวเวอร์เทรน เมนูแฟคเจอริ่ง (MPMT) ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี ซึ่งจะมีการลงทุนเพิ่มอีกราว 7,200 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องยนต์จาก 30,000 เครื่องต่อปี ไปเป็น 1.22 แสนเครื่องต่อปี เพื่อส่งออกไปยังโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศมาเลเซียและเวียดนาม รวมทั้งป้อนให้กับโรงงาน
    ออโต้อัลลายแอนซ์ในประเทศไทย
  • นิสสัน ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 10,960 ล้านบาท ใช้โรงงานนิสสัน กม.21 บางนา-ตราด กำลังการผลิต 80,000 คัน/ปี
  • โตโยต้า ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 20,000 ล้านบาท ใช้โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 70,000 คัน/ปี โดยได้มีความร่วมมือกับไทยซัมมิทในการปรับปรุงชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้สอดรับกับรถยนต์ในกลุ่มนี้
  • ฮอนด้า ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,070 ล้านบาท ใช้โรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ
    จ.ปราจีนบุรี กำลังการผลิต 37,000 คัน/ปี
  • ซูซูกิ ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 2,500 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช
    อีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง กำลังการผลิต 12,000 คัน/ปี

นอกจากนี้ยังมีค่ายยุโรปยื่นขอรับการส่งเสริมในกลุ่มรถยนต์ประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริด อีก 3 ราย ประกอบด้วย

  • บีเอ็มดับเบิลยู ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 705 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง กำลังการผลิต 100,000 คัน/ปี
  • เมอร์เซเดส-เบนซ์ ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 600 ล้านบาท ใช้โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ จ.สมุทรปราการ กำลังการผลิต 8,000 คัน/ปี
  • เอ็มจี ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,030 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี กำลังการผลิต 7,000 คัน/ปี

พบว่าในปี 2561 นี้ ทาง BOI ได้เริ่มต้นการพิจารณาอนุมัติในโครงการต่างๆเหล่านี้แล้ว โดยเริ่มจากบีเอ็มดับเบิลยูเป็นแห่งแรก อย่างไรก็ตามแม้ในวันนี้รถยนต์ไฟฟ้าจะยังเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่อนาคตอันใกล้รถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของราคารถยนต์ถูกลง ประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่างจากรถยนต์ใช้น้ำมัน รวมถึงการมีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับความต้องการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี 7 พฤษภาคม 2558 ที่กำหนดแนวทางส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟา รวมถึงชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้งานในประเทศและส่งออก

ดังนั้นหากสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเช่นนี้ ผู้ประกอบการภาคชิ้นส่วนยานยนต์ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากผู้ผลิตยานยนต์เปลี่ยนไปผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและไม่เลือกที่จะผลิตยานยนต์ในไทย แรงงานกว่า 650,000 ราย อาจได้รับความเสี่ยง เนื่องจากแรงงานกว่า 450,000 ราย ทำงานกับผู้ผลิตเทียร์ 1 เทียร์ 2 และเทียร์ 3 มีแรงงาน 1 แสนราย ทำงานกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ และอีก 1 แสนราย ทำงานกับโรงงานประกอบรถยนต์

ปัจจุบันรถยนต์ 1 คัน ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งสิ้นประมาณ 30,000 ชิ้น/คัน แต่ส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ประมาณ 1,500 ชิ้น/คัน  แปลว่าอย่างน้อยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้นกว่า 800 บริษัท จํานวนแรงงาน 326,400 คน

อย่างไรก็ตามพบว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยตลาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด ดังนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ จะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากยังคงมีความต้องการใช้ชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์สันดาปควบคู่กับระบบไฟฟ้า (แบตเตอรี่) โดยคาดการณ์ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างเป็นรูปธรรมอาจต้องรอเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ไปในทิศทางเดียวกันโดยในปี 2565 ประเทศไทยจะมีผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าปีละ 10,000 คัน คิดเป็น 1 % ของยอดขายรถยนต์โดยรวม และในปี 2036 คาดว่า ยอดขายรถยนต์ครึ่งหนึ่งจะเป็นของ Battery EV และ Plug-in HEV

สำหรับประเทศที่ถือว่าเป็นผู้นำระดับโลกในรถยนต์ไฟฟ้า นั่นคือประเทศนอร์เวย์ โดยเกือบหนึ่งในสามของรถยนต์ที่จำหน่ายในปี 2559 นั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ความสำเร็จนี้มาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่สร้างแรงจูงใจใหญ่ให้กับผู้ใช้รถยนต์ โดยผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับการยกเว้นภาษี, ค่าใช้ทางพิเศษ, มีที่จอดรถฟรี, และสามารถขับรถในช่องเดินรถประจำทางสาธารณะได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้านี้ยังพบว่า ผลกระทบจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่สินค้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากประเทศจีน จะได้รับการลดอากรขาเข้าลงเหลือ 0% ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างภาษีรถยนต์ในประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

          (ปรากฎการณ์ที่ 4) : อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยกับการเติบโตในครึ่งปีหลัง 2561 และปี 2562

อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 มีการแถลงข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อปรับเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ปี 61 ที่คาดว่ารวมยอดผลิตรถยนต์ทั้งปี 2561 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.07-2.1 ล้านคัน จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 2 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1.1 ล้านคัน 55 % ของยอดการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา วิเคราะห์ว่าเป็นผลมาจาก

  • ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์ของไทยได้อานิสงส์จากการส่งออก Eco-car ตามเงื่อนไขของโครงการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีผลให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ในระดับสูงกว่า 1 ล้านคันมาโดยตลอด ทั้งนี้พบว่าการส่งออก Eco-car ตามเงื่อนไขของ BOI โดยค่ายรถที่คาดว่าจะต้องเร่งส่งออกตามเงื่อนไขดังกล่าว อาทิ โตโยต้าและมาสด้า
  • ผู้บริโภคภายใต้โครงการรถคันแรกบางส่วนต้องการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ หลังภาระหนี้ทยอยหมดลง กอปรกับค่ายรถยนต์จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและข้อเสนอพิเศษ และแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง
  • รัฐบาลเวียดนามผ่อนคลายความเข้มงวดในการนำเข้ารถยนต์จากไทย ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามได้ประกาศใช้มาตรการทดสอบการปล่อยมลพิษ และความปลอดภัยกับรถยนต์นำเข้าทุกล็อตตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 (จากเดิมตรวจสอบรถยนต์นำเข้าเฉพาะล็อตแรก) มีผลให้ค่ายรถชะลอการส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนามชั่วคราว อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยเจรจาเพื่อขอให้เวียดนามผ่อนคลายความเข้มงวดในการตรวจสอบรถยนต์นำเข้าจากไทย ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบให้ลดน้อยลง
  • การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียจะเติบโตดีต่อเนื่องหลังการปิดโรงงาน Toyota และ GM ในออสเตรเลีย ตั้งแต่ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ถือเป็นโอกาสขยายการส่งออกรถยนต์บางรุ่นไปตลาดออสเตรเลีย
  • ตลาดส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่จะขยายตัวดีตามทิศทางเศรษฐกิจและยังได้ปัจจัยหนุนจากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV ที่ภาษีนำเข้าลดเป็น 0 % ในปี 2561
  • การพัฒนาเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ทั้งในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และธุรกิจโลจิสติก จะหนุนความต้องการรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดกลาง-เล็กเพิ่มมากขึ้น พบว่า ผู้ผลิต/ประกอบรถบรรทุก รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง ได้อานิสงส์จากการนำมาใช้ในโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ผนวกกับความต้องการรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้ามีแนวโน้มดีขึ้น และยังมีโอกาสขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการขยายการลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
  • ผู้ผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่เพื่อการโดยสาร (รถบัส) คาดว่าจะขยายตัวดีตามทิศทางการลงทุนของธุรกิจท่องเที่ยวและรถโดยสารเอกชน รวมทั้งความต้องการรถโดยสารประจำทางของภาครัฐ (ขสมก.) และการทยอยปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถไมโครบัสตามมาตรการรัฐ ขณะที่ตลาดส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวดีโดยเฉพาะตลาดอาเซียน
  • อัตราการถือครองรถยนต์ของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 232 คันต่อประชากร 1 พันคน เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่ 431 คันต่อประชากร 1 พันคน จะยังเป็นโอกาสในการเติบโตของตลาดในประเทศ

ปัจจุบันในปี 2560 สถานะของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในตลาดโลกพบว่า ไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์ทุกประเภทเป็นอันดับ 12 ของโลก อันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน ขณะที่ตลาดรถยนต์ในไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 20 ของโลก อันดับ 6 ของเอเชีย และอันดับ 2 ของอาเซียน เมื่อพิจารณาจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

สำหรับทิศทางตลาดรถยนต์ในระยะยาว การปรับเปลี่ยนนโยบายของทางการไทยที่จะหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และการวางเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาค จะมีผลให้ผู้ประกอบการวางแผนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม รวมถึงการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง

ประการต่อมาเมื่อมาพิจารณาในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์โดยตรง พบว่า

ในปี 2560 ไทยมีสถานะเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนฯทุกประเภทเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 14 ของโลก ทั้งนี้มีการส่งออกไปยังฐานผลิตยานยนต์ในอาเซียน (โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม) สัดส่วนรวมกัน 28 % ของมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนฯรวมของไทย และมีการส่งออกชิ้นส่วนฯ ไปยังฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญอื่นๆ ของโลก อาทิ สหรัฐฯ (สัดส่วน 15%) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 8%) เป็นต้น

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์นั้น

  • ความต้องการชิ้นส่วนเพื่อการทดแทน (REM) คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งของจำนวนรถยนต์สะสมที่มีอายุมากกว่า 5 ปี (รถยนต์ในโครงการรถคันแรกมีอายุครบ 5 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนฯ เพิ่มขึ้นตามอายุและระยะทางการใช้งาน
  • การส่งออกชิ้นส่วนฯ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง จากการย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งมีความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี และเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงกับฐานการผลิตยานยนต์ทั่วโลก จะหนุนให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ ไทยยกระดับคุณภาพและเทคโนโลยีการผลิต และสามารถขยายการส่งออกได้ต่อเนื่อง
  • อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่มีกว่า 1,100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ Tier 2–Tier 3 สนองตอบความต้องการในตลาด REM อาจมีความเสี่ยงจากการที่ผู้ผลิตต่างชาติโดยเฉพาะ SME ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยและแข่งขันในตลาด REM มากขึ้น
  • คาดว่ารายรับของผู้ผลิตส่วนประกอบ , ชิ้นส่วนยานยนต์ และผู้ผลิตยางรถยนต์จะเติบโตดี ผู้ประกอบการจะมีโอกาสทำกำไรได้ต่อเนื่อง ขณะที่ผู้จำหน่ายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์จะได้ประโยชน์จากปริมาณยานยนต์จดทะเบียนสะสมที่เพิ่มขึ้น โดยความต้องการในตลาดประกอบยานยนต์ (OEM) ในประเทศจะเติบโตต่อเนื่องตามปริมาณการผลิตยานยนต์ที่ขยายตัวดี ส่วนตลาดเพื่อการทดแทน (REM) REM) ยังเติบโตตามปริมาณยานยนต์สะสมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สาหรับตลาดส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวตามนโยบายของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกในภูมิภาค
  • เริ่มมีการลงทุนชิ้นส่วนฯ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในไทยโดยเฉพาะแบตเตอรี่ อาทิ ค่ายโตโยต้าลงทุนผลิตแบตเตอรี่นิเกิลเมทัลไฮดราย , ค่าย BMW วางแผนลงทุนผลิตแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน เป็นต้น สถานการณ์เช่นนี้จะกระทบความต้องการใช้ชิ้นส่วนฯ บางประเภทในตลาด OEM ในระยะยาว อาทิ เครื่องยนต์ หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ระบบจ่ายน้ำมัน ถังน้ำมัน ระบบจุดระเบิด เกียร์ เป็นต้น
  • ขณะที่ชิ้นส่วนฯ บางประเภท อาทิ ชิ้นส่วนช่วงล่าง (Suspension) ตัวถัง ระบบส่องสว่าง อุปกรณ์ภายในรถ เป็นต้น จะยังมีความต้องการต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนฯ ที่ยังมีความจำเป็น
  • นอกจากนี้รถยนต์ไฟฟ้า BEVs ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังจะช่วยยืดอายุการใช้งานชิ้นส่วนฯ บางประเภทมีผลให้ความถี่ในการเปลี่ยนชิ้นส่วนฯ ลดลง เช่นยางรถยนต์ ผ้าเบรก เป็นต้น อีกทั้งรถยนต์ในอนาคตจะมีระบบช่วยในการขับขี่ให้ปลอดภัยมากขึ้น อาจมีผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลง ส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนฯ ในตลาด REM มีแนวโน้มลดลงด้วย

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในอนาคตอันใกล้นี้ มีแนวโน้มว่ารัฐบาลอินโดนีเซียกำลังจะปรับปรุงเงื่อนไขการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศใหม่ด้วยการบังคับให้ผู้ผลิตเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (local content requirement) มาเป็น 90 % โดยนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชิ้นส่วนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทยซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 รองจากตลาดญี่ปุ่น

พบว่า ผู้ส่งออกชิ้นส่วน/อุปกรณ์ยานยนต์ไปอินโดนีเซีย 10 อันดับแรก ได้แก่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์แมนูแฟคเจอริ่ง, บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย), บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์, บริษัทฮีโน่มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย), บริษัทโตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์), บริษัทไทย-สวีดิชแอสเซมบลีย์, บริษัทอีซูซุ โกลบอล ซีวี เอ็นจิเนียริ่ง เซ็นเตอร์, บริษัทซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ไทยแลนด์, บริษัทนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) และบริษัทเอ็นทีเอ็น แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์)[5]

          (ปรากฎการณ์ที่ 5) : การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์กับการขาดแคลนแรงงานฝีมือและการเข้ามาแทนที่ด้วยหุ่นยนต์

จากรายงานของ International Federation of Robotics (IFR) ระบุว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบที่ต้องจัดการเอง (Manual) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 แต่สำหรับในอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงความต้องการตลาด ทำให้การใช้งานระบบอัตโนมัติสามารถตอบสนองต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยปัจจุบันการผลิตและการประกอบยานยนต์ทั่วโลกมีแนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดที่ลดลง ค่าแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ (กันยายน 2560) คาดการณ์ว่าหุ่นยนต์อาจเข้ามาทำงานแทนแรงงานไทยกว่า 6.5 แสนคน ภายในปี 2573 ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robots: IR) ทั้งส่งเสริมกิจการที่ผลิตหุ่นยนต์ และส่งเสริมให้มีการใช้หุ่นยนต์ รวมถึงจากสถานการณ์ที่การใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานเริ่มมีความคุ้มค่ามากขึ้นในปัจจุบัน

กลุ่มอุตสาหกรรมแรกๆที่แรงงานมีโอกาสถูกแทนที่ คือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) และมีลักษณะงานที่ทำซ้ำ ๆ กันอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องดื่ม ที่มีการจ้างงานรวมกันราว 2 ล้านคน

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์ต่อการผลิตรถยนต์ของไทยที่อยู่ในระดับ 16 ตัวต่อการผลิตรถยนต์ 1,000 คัน มีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับ 40 ตัวต่อการผลิตรถยนต์ 1,000 คัน แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการจะลงทุนในหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต

ในปี 2559 ประเทศไทยมีการนำเข้ามาหุ่นยนต์ราว 13,500 ตัว ส่วนมากใช้ในโรงงานยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม

ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนในหุ่นยนต์ในงานเชื่อมสปอต (spot welding) สามารถทดแทนการใช้แรงงานได้ประมาณ 5 คนต่อตัว ซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณตัวละ 3.5 – 4.5 ล้านบาท กับต้นทุนการจ้างแรงงานเชื่อมสปอตในปัจจุบันที่มีค่าแรงวันละ 400 – 480 บาท พบว่าระยะเวลาที่ผู้ประกอบการจะคุ้มทุนจากการลงทุนในหุ่นยนต์จะอยู่ที่ราว 8-10 ปี

ขณะที่การใช้งานหุ่นยนต์สำหรับงานทั่วไปในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 1.2 ล้านบาทต่อตัว และสามารถทดแทนแรงงานได้ราว 2 คนต่อตัว ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะคุ้มทุนภายในระยะเวลา 6-10 ปี จากอัตราค่าจ้างในปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 300 – 450 บาทต่อวัน

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาคุ้มทุนกับอายุการใช้งานหุ่นยนต์ที่มีอายุประมาณ 8-12 ปี จึงสามารถสรุปได้ว่า ณ ระดับค่าจ้างในปัจจุบัน การลงทุนในหุ่นยนต์เพื่อทดแทนการใช้แรงงานอยู่ในระดับที่คุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว สอดคล้องกับที่สถาบันยานยนต์ (พฤษภาคม 2561) ระบุว่าแนวโน้มกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ เริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 2563 ไทยจะมีการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ถึง 70 % สูงที่สุดในอาเซียน

ปัจจุบันพบว่าภาคเอกชนไทยหลายรายนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงานเพื่อทดแทนแรงงานคน ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการผลิต เช่นกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ที่ในสิ้นปี 2560 ได้มีแผนการเพิ่มหุ่นยนต์ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ให้ได้ 2,000 ตัว โดยบริษัทนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงานตั้งแต่ปี 2555 จนปัจจุบัน (2560) มีจำนวน 1,765 ตัว และ 3 ปีที่ผ่านมา สามารถทดแทนคนงานได้ถึง 5,000 คน เช่น การใช้หุ่นยนต์แขนกลผลิตชิ้นส่วนแผงเหล็กกั้นระหว่างห้องเครื่องกับคอนโซนรถยนต์ของบริษัทไทยซัมมิท แหลมฉบัง โอโตพาร์ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำงานแทนคน จากเดิมที่ต้องใช้แรงงาน 15 คน ลดเหลือแค่ 5 คน ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตได้มากถึงร้อยละ 50[6]

          (ปรากฎการณ์ที่ 6) : การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเมษายน 2561 มีผลกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกลุ่ม SMEs เท่านั้น

จากการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อมีนาคม 2561 พบว่า มีเพียงภาคการผลิตบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ผลกระทบโดยรวมยังค่อนข้างจำกัดทั้งในแง่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงานเฉลี่ย ต้นทุนการผลิตรวม และราคาสินค้าผู้บริโภค รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน

กลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและอยู่ปลายน้ำของสายพานการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบมากทั้งผลทางตรงและผลทางอ้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ เป็นต้น กลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากค่าแรงที่ถูกกว่า

อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เนื่องจากมีสัดส่วนการจ้างแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึงราวร้อยละ 40 โดยเฉพาะ SMEs ภาคเกษตรซึ่งมีสัดส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากถึงราวร้อยละ 80

อย่างไรก็ตามทางภาครัฐได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ทั้งโครงการช่วยเพิ่มผลิตภาพ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการให้ SMEs สามารถนำค่าจ้างรายวันไปหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ 1.15 เท่า จึงคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือ SMEs ในช่วงของการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่กำหนดให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 1.15 เท่า ของค่าจ้างรายวันที่จ่ายแก่ลูกจ้าง ส่าหรับค่าจ้างที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2561

หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าเครื่องจักรที่นำมาปรับเปลี่ยนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งครอบคลุมถึงการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในกิจการเพื่อยกระดับการบริหารจัดการ , ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 200 ของเงินลงทุน/ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการจัดฝึกอบรมบุคคลากรให้มีทักษะเฉพาะทางที่สูงขึ้น อาทิ การวิเคราะห์ระบบข้อมูล (Big Data Analysis) Big Data Analysis)

          (ปรากฎการณ์ที่ 7) : อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกดึงดูดเม็ดเงินลงทุน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง

ในปี 2559 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยมีจำนวนผู้ผลิตประมาณ 400 ราย ส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าส่งต่อให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ชั้นนำของโลก อาทิ มิตซูบิชิ ,โซนี่ , แอลจี , ซัมซุง , โตชิบา เป็นต้น และ (2) ผู้ผลิตสัญชาติไทยทั้งผู้รับจ้างผลิตสินค้าแบรนด์อื่น และผู้ผลิตที่มีการพัฒนาแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าของตนเอง ตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไทยกลุ่มเครื่องปรับอากาศ เช่น ทาซากิ , ซัยโจ-เดนกิ  ,ยูนิแอร์ , เซ็นทรัลแอร์ เป็นต้น กลุ่มพัดลม เช่น ฮาตาริ , แอคคอร์ด , มาสเตอร์คูล เป็นต้น[7]

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 65-75 % ของปริมาณการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ อาเซียน (สัดส่วน 22.4 %) สหรัฐฯ (14.4 %) ญี่ปุ่น (13.9 %) สหภาพยุโรป (12.5 %) โดยเป็นการส่งออกเครื่องปรับอากาศสัดส่วน 22.1 % ของมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โทรทัศน์และวิทยุ 12.9 %ตู้เย็น 8.5 % เครื่องซักผ้า 5.2 % คอมเพรสเซอร์ 4.4 % วีดีโอ 2.3 % และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น 44.6%

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรม ดังนี้

  • ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศจะมีปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและกาลังซื้อภาคครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นภายหลังจากภาระหนี้โครงการรถคันแรกทยอยครบกำหนด ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยฟื้นตัวทำให้มีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคบางส่วนจะมีความต้องการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากกลุ่มคนชั้นกลาง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชา ยังไม่มีฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศทำให้จาเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า
  • ยังมีปัจจัยหนุนจากความต้องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศเป็นระบบอินเวอร์เตอร์ที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าซึ่งจะหนุนความต้องการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ แนวโน้มตลาดเช่นนี้จะส่งผลให้รายรับของผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตดีต่อเนื่อง
  • ไทยยังคงได้อานิสงส์จากการเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อส่งออกที่สำคัญ และมีศักยภาพในการแข่งขันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าทำความเย็น (อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่ คอมเพรสเซอร์ เป็นต้น) ซึ่งบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ยังมีแผนขยายการลงทุนในไทยต่อเนื่องโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์และส่วนประกอบเพื่อเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาคจึงยังหนุนการเติบโตของการส่งออก
  • ในระยะปานกลาง -ยาว อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมใหม่ จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง อาทิ กลุ่มเครื่องทำความเย็น และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น
  • ขณะเดียวกันยังพบว่า สิทธิประโยชน์ที่ BOI ให้แก่นักลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกันกับไทย พบว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ EEC มีมากกว่าของประเทศอื่น ๆ และมีข้อจำกัดน้อยกว่า รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอีกหลายประการ นับว่าเป็นข้อได้เปรียบของไทยที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้

ดังนั้น จากการฉายภาพให้เห็นทั้ง 7 ปรากฎการณ์การลงทุนจากต่างประเทศในไทย รวมถึงคณะจากหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (The Japanese Chamber of Commerce-JCC) เข้าพบอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงสะท้อนอะไรให้ฝ่ายองค์กรแรงงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานต่างๆได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

  • นโยบายของรัฐบาลไม่ว่ายุคสมัยใดยังคงมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การรวมตัวเป็นองค์กรแรงงานและการเจรจาต่อรองเพื่อการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ยังถูกมองว่าเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ยังคงมอบอำนาจในการตัดสินใจเรื่องค่าจ้าง สภาพการจ้าง สวัสดิการของคนงานให้กับนายจ้างและฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ กระบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนข้ามชาติเข้ามาดำเนินกิจการ มีมาตรการหลายอย่างเพื่อกีดกันคนงานไม่ให้รวมตัวกัน บรรษัทข้ามชาติส่วนหนึ่งมีนโยบายเชิงรุกเพื่อที่จะทำลายสหภาพแรงงานในรูปของการนำกลไกทางกฎหมาย กระบวนการทางศาล และกลไกกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือมากกว่าการเผชิญหน้าหรือปะทะโดยตรงแบบในอดีตที่ผ่านมา
  • การปรับตัวของรัฐราชการไทยโดยตรง ในการเป็นกลไกจัดตั้งคณะทำงาน คณะอนุกรรมการ หรือคณะกรรมการที่ตัวแทนมาจากภาคส่วนต่างๆทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อมาทำหน้าที่แทน “องค์กรแรงงานระดับต่างๆ” กระทั่งแทน “สหภาพแรงงาน” เพื่อทำหน้าที่เชื่อมความเข้าใจนายจ้าง-ลูกจ้างในกิจการที่มีแนวโน้มด้านการละเมิดสิทธิแรงงานสูงและนายจ้างไม่ยอมรับบทบาทสหภาพแรงงาน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เองยิ่งลดทอนความขัดแย้งในสถานประกอบการที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เหลือในรูปคณะกรรมการที่มีการประชุมเป็นครั้งๆไป และมองเป็นปัญหาระดับสถานประกอบการไม่ใช่ปัญหาระดับโครงสร้าง ที่ “ทุนข้ามชาติ” มีแนวนโยบายกำจัดบทบาทองค์กรแรงงานให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้ทุนมีกำไรสูงสุด
  • บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยแม้จะมีความเข้าใจและมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานในประเทศตนมาก่อน เช่น บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นหรือจากประเทศทางยุโรป แต่พอมาลงทุนในไทยกลับไม่ยอมรับการมีสหภาพแรงงาน เพราะคาดหวังที่จะเข้าประกอบกิจการเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเผชิญกับการรวมตัวและเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานหรือองค์กรแรงงานต่างๆ และยิ่งมีทัศนะเชิงลบต่อสหภาพแรงงานก็ยิ่งทำให้การรวมตัวจัดตั้งของคนงาน ยังถือเป็นเรื่องยากแม้ในบริษัทข้ามชาติที่มีธรรมเนียมการทำงานกับสหภาพแรงงานมาก่อนก็ตาม
  • บทบาทของ “ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์” หรือ “ชมรมบริหารบุคคลต่างๆ” กลายเป็นกลไกสำคัญของการอยู่รอดของ “สหภาพแรงงานในสถานประกอบการ” พบว่าปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงานในปัจจุบันมักเป็นความขัดแย้งเชิงข้อกฎหมาย เนื่องจากทั้งนายจ้างกับลูกจ้างต่างมีความรู้และประสบการณ์เรื่องกฎหมายแรงงานมากขึ้น นายจ้างตัวจริงที่เป็นทุนข้ามชาติมักจะลดการเผชิญหน้าโดยตรง แต่จะกำหนดหรือมอบนโยบายหลัก และมอบหมายให้“ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์” หรือ “ฝ่ายบุคคล”เป็นผู้เจรจาต่อรองแทน สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารของกลุ่มบุคคลนี้กับสหภาพแรงงาน หรือ “ชมรมบริหารบุคคล” กับ “องค์กรแรงงานระดับสูงเหนือกว่าสหภาพแรงงาน” ที่มีวิธีคิดกำกับอยู่เบื้องหลัง “ไพร่-ศักดินา/นาย-บ่าว” หรือ “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” หรือ “ความสัมพันธ์อุปถัมภ์แบบพ่อลูก” เหล่านี้คือทิศทางและผลสรุปที่จะชักนำให้นายจ้างตัวจริงมีมติออกมาในรูปแบบต่างๆ
  • คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 องค์กรภาคธุรกิจ คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยังคงเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ฝ่ายทุนภาคธุรกิจสามารถเข้าไปมีอิทธิพลเหนือการกำหนดนโยบายของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลไกและช่องทางของ กรอ. นี้เองก็ได้เป็นประตูบานสำคัญที่ทำให้ฝ่ายทุนสามารถเข้าสู่กลไกอื่นๆ ของรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย คณะกรรมการชุดต่างๆที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐได้กำหนดให้มีตัวแทนของฝ่ายทุนเข้าไปอยู่ในองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่างๆเสมอไป ขณะที่ภาคแรงงานมักถูกมองข้ามว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ควรมีสิทธิในกระบวนการตัดสินใจดังกล่าวร่วมด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เอาเข้าจริงแล้วท้ายที่สุดเมื่อทุนยังดำเนินไปด้วยวิถีทุน การปรับบทบาททัศนคติของบุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้องในกระบวนการด้านแรงงานต่างๆ  เพื่อให้เกิดกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่สัมฤทธิ์ผลสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนั้น น่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ในห้วงเวลาปัจจุบันนี้

แน่นอนนี้ย่อมมิพักใช่เรื่องที่สามารถกระทำได้เร็ววัน เพราะต้องมีการนำหลักคิดเรื่องความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาและการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการที่รัฐสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมเป็นภาคีพันธมิตร (alliance) ในการพัฒนาของรัฐในทุกระดับ  ยอมรับบทบาทของสหภาพแรงงานในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (Fully equal partners) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานและเพื่อเพิ่มผลผลิตควบคู่กันไป ยืดหยุ่นทางการปฏิบัติด้านแรงงานสัมพันธ์ไม่ใช่การยึดข้อกฎหมายประการเดียว โดยเฉพาะการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้สหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานระดับต่างๆได้เติบโต มีบทบาทสำคัญในการจัดการวิถีชีวิตของตนเอง ทั้งด้วยการร่วมกันภายในสถานประกอบการและมีส่วนร่วมกับภาครัฐในวงกว้าง เพื่อให้บรรลุแนวทางเป้าหมาย “การทำงานที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง”

—————————————————————————–

[1] สารจากประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ประธานลำดับที่ 54 นายมิจิโนบุ ซึงาตะ มิถุนายน 2561

[2] ไทยคว้าอันดับ 1 ประเทศน่าเริ่มต้นธุรกิจที่สุดในโลก โพสต์ทูเดย์วันที่ 26 ม.ค. 2561 และรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (เอกสารอัดสำเนา)

[3] สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายเดือนปี 2560 โดย BOI

[4] ทัพธุรกิจญี่ปุ่นดาหน้าลงทุนไทย “สมคิด”โรดโชว์รอบใหม่ดึง SME ประชาชาติธุรกิจ 29 มกราคม 2561

[5] ประชาชาติธุรกิจ 18 พฤษภาคม 2561

[6] ไทยซัมมิทเพิ่มหุ่นยนต์ 2,000 ตัวสิ้นปีนี้ https://www.voicetv.co.th/read/523282

[7] ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธันวาคม 2560