40 องค์กรแรงงาน หนุนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. ….

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 เครอข่ายแรงงาน 40 องค์กร ได้ยื่นหนังสือต่อ นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายแรงงาน และประธานกรรมาธิการ การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง      ชี้แจง และสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. ….

นายกษิดิส ปานหร่าย ผู้แทนเครือข่ายแรงงาน เป็นผู้แทนในการแถลงว่า เนื่องจากในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และนายกสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … เนื่องจากสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มงบประมาณของภาครัฐ และสร้างภาระให้ประเทศชาติในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็น 1. การเพิ่มบทนิยามคำว่าการจ้างงานรายเดือน เป็นการเพิ่มต้นทุนของนายจ้าง และควรเป็นเรื่องการทำสัญญาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น ไม่ควรบังคับหลักการปฎิบัติของนายจ้างต่อลูกจ้างให้เท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติอันพึงมีลงเป็นกฎหมาย เนื่องจากมีกฎหมายเดิมบังคับใช้อยู่แล้ว 2. การปรับลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ จะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนขององค์กร และควรเป็นเรื่องของนายจ้างและลูกจ้างที่จะใช้แรงงานสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาความอยู่รอดขององค์กร 3. สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี การให้สิทธิพนักงานเป็นของนายจ้าง จึงไม่เห็นควรจะแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ เป็นต้น

        ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ยื่นเข้าสภาผู้แทนราษฎรโดย ส.ส.สุเทพ อู่อ้น พรรคก้าวไกล สัดส่วนปีกแรงงาน ด้วยหลักการหลักว่า ระบบสวัสดิการและการคุ้มครองที่ดีจะทำให้ผู้ใช้แรงงานสามารถพัฒนาตัวเองได้ต่อเนื่องภายใต้งานที่มั่นคง และจะทำให้การสร้างสรรค์ในชีวิตด้านอื่น ๆ ตามมา ขณะเดียวกัน ระบบกฎหมายและสวัสดิการด้านแรงงานที่สูงขึ้นจะกระตุ้นให้นายจ้างพัฒนาการผลิตที่เป็นมิตรกับแรงงาน ชุมชน รวมถึงจะส่งผลให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ๆ มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นข้างต้นที่สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และนายกสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ได้ยื่นหนังสือคัดค้านมา ดังนี้

  1. ประเด็นการเพิ่มบทนิยามคำว่า “การจ้างงานรายเดือน” เป็นการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา ส่งผลให้แรงงานมีความมั่นคง ปลอดภัย ชีวิตมีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนายจ้างจะมีต้นทุนการหาแรงงานต่ำลง เนื่องจากการจ้างงานแบบชั่วคราว มีอัตราการลาออกสูง ยิ่งทำให้นายจ้างเสียต้นทุนค่าฝึกพนักงานใหม่เพิ่ม ยิ่งทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตแบบซ้ำซ้อนให้ตัวนายจ้างเองอีกด้วย
  2. ประเด็นการลดชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์ เป็น 40 ชั่วโมง และให้มีวันหยุด 2 วันต่อสัปดาห์ อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนในการจ้างแรงงานสูงขึ้น และทำให้ผลผลิตที่ได้รับอาจไม่ได้จำนวนเท่าเดิม แต่จะส่งผลดีต่อธุรกิจที่จ่ายค่าจ้างเป็นชั่วโมงในช่วงเศรษฐกิจซบเซา นายจ้างสามารถหันไปเพิ่มค่าจ้างให้แรงงานผลิตภาพสูงได้มากขึ้น (หากเพิ่มชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา 10% ผลิตภาพจะต่ำลง 2-4%) และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการบริหารองค์กรได้อีกด้วย ในส่วนของตลาดแรงงานจะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น แรงงานในระบบกว่า 17 – 20 ล้านคน รวมถึงแรงงานนอกระบบจะมีความยืดหยุ่นในด้านเวลาการใช้ชีวิต ครอบครัว สุขภาพ และมีเวลาว่างในการพัฒนาทักษะตนเองได้มากยิ่งขึ้น
  3. ประเด็นการเพิ่มสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี จาก 6 วัน เป็น 10 วัน โดยได้รับสิทธิเต็มเมื่อทำงานเกิน 120 วัน ประเด็นนี้ส่งผลให้ลูกจ้างเครียดน้อยลง ทำให้เกิดการทำงานที่มั่นคงมากขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการช่วยเพิ่มความปลอดภัยในสถานประกอบการสำหรับอาชีพที่อันตรายและความเสี่ยงสูง เพราะแรงงานจะมีสมาธิทำงานที่มากขึ้น ช่วยแก้อาการหมดไฟในการทำงานได้เป็นอย่างดี และแรงงานมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น (เพิ่ม Productivity) ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดแรงงานไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาคบริการจะมีการขยายตัวกว้างขึ้น ซ้ำยังเป็นการกระตุ้นให้นายจ้างพัฒนาระบบบุคลากรได้อีกด้วย (การค้นคว้าเพิ่มเติมค้นพบว่า ในอเมริกาส่วนใหญ่ ลูกจ้างมักใช้วันลาไม่หมด และไทยในยุคสมัยปัจจุบันที่มีวัฒนธรรมนิยมการทำงาน Active ลูกจ้างมีแนวโน้มจะใช้วันลาไม่หมดเช่นกัน)

และสองเหตุผลโต้แย้งของฝั่งสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และนายกสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ที่กล่าวอ้างในการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับนี้ว่า

หนึ่ง “ควรเป็นเรื่องการทำสัญญาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น หรือควรเป็นเรื่องของนายจ้างและลูกจ้างที่จะใช้แรงงานสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน” ในความเป็นจริงนั้น ลูกจ้างไม่เคยได้รับการแสดงความคิดเห็นก่อนการทำสัญญาจ้างงาน การจ้างงานเกิดขึ้นโดยการที่ลูกจ้างเซ็นสัญญาตามที่นายจ้างระบุเท่านั้น หากไม่เซ็นสัญญาจะไม่ถูกทดลองงานและบรรจุเป็นพนักงานตามลำดับ และสถานประกอบการขนาดต่าง ๆ ที่ไม่มีสหภาพแรงงานภายใน ลูกจ้างมักไม่มีอำนาจในการต่อรอง หารือ หรือได้ใช้แรงงานสัมพันธ์หารือร่วมกับนายจ้างในทุกด้าน

สอง “เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณของภาครัฐ” หากย้อนไปดูงบประมาณในการช่วยเหลือแรงงานภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของภาครัฐ มักมาจากเงิน 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ งบการคลัง ในการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ยกเว้นเกษตรกร นักศึกษา โปรแกรมเมอร์ และแรงงานอาชีพอื่น ๆ ที่สามารถทำงานที่บ้านได้ (รัฐอ้างว่าไม่ได้รับความเดือดร้อน) เป็นต้น ด้วยการสร้างเงื่อนไข กรอกยื่นสิทธิ ทบทวนสิทธิ ผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้แรงงานหลากหลายอาชีพและช่วงวัยเกิดอุปสรรคการกรอกยื่นสิทธิ รวมถึงถูกคัดกรองตกหล่นเป็นจำนวนมาก และงบประกันสังคม ที่รัฐออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานในระบบ (ม.33) โดยใช้เงินประกันตนของแรงงานเองในการช่วยเหลือ ปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีการคืนงบส่วนนี้คือแรงงานที่ประกันตนแม้แต่น้อย หากจะกล่าวให้เห็นภาพชัดเจนว่างบประมาณของภาครัฐ เมื่อเกิดวิกฤติจะช่วยเหลือประชาชนแรงงานมากน้อยเพียงใด อาจเปรียบเทียบได้จากงบกู้ช่วงโควิด-19 เมื่อปี 2020 จำนวน 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น พ.ร.ก.ปล่อยกู้ SMEs 5 แสนล้านกว่าบาท และ พ.ร.ก.พยุงหุ้นกู้ให้บริษัทขนาดใหญ่ 4 แสนล้านกว่าบาท ในขณะมีงบ 5.5 แสนล้านบาทเพียงก้อนเดียวในการเยียวยาประชาชนและผู้ใช้แรงงานนอกระบบ เป็นต้น

ผู้ใช้แรงงานกว่า 30 ล้านคนในตลาดแรงงานไทย ล้วนประสบปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และปัญหาการถูกละเมิดกฎหมายแรงงาน โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นช่วง 3 ปีนี้ ยิ่งส่งผลให้นายจ้างใช้ช่องว่างทางกฎหมายแรงงานในการเอาเปรียบและเลือกปฏิบัติกับลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมเกิดวิกฤติและไม่สามารถดีขึ้นได้ในที่สุด และจากการค้นคว้าวิจัยค้นพบว่า กลุ่มนายจ้างที่มักคัดค้าน โดยเฉพาะในประเด็นลดชั่วโมงการทำงาน และประเด็นเพิ่มสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี มักเป็นกลุ่มนายจ้างระบบสะสมทุนแรงงาน ตลอดจนมีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ดังนั้น การยื่นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. …. จึงเป็นการแก้ไขทุกปัญหาข้างต้นผ่านการจัดการระบบสวัสดิการแรงงานขั้นต่ำ อย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมแก่ผู้คนในสังคม สุดท้ายแล้ว หากปราศจากการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มงบประมาณภาครัฐในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมมากยิ่งขึ้นในอนาคต และจะยิ่งเป็นการสร้างภาระให้ประเทศชาติมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

จึงเรียนมาเพื่อชี้แจง และแสดงเจตนารมย์ถึงการสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับดังกล่าว

        นายสุเทพ อู่อ้น กล่าวว่ามีความยินดี และจะมีการนำหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการดำเนินการต่อไป ด้วยเป็นข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว และต้องการให้มีกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานอย่างแท้จริง

นักสื่อสารแรงงานรายงาน