สรส.ส่งจดหมายเปิดผนึกแจ้งสมาชิก ครม.ไม่เคารพกฎหมายปรับค่าจ้างไม่เป็นธรรม

20161007_100645

สรส.ส่งจดหมายเปิดผนึกต่อสมาชิก และสาธารณะหลังครม.ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างเงินเดือน เพื่อเรียกร้องความรัก ความสามัคคี รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในงาน และผลประโยชน์ มองว่ารัฐไม่เคารพกฎหมาย มติไตรภาคีที่เสนอ เพราะมติการปรับเงินเดือนไม่เป็นธรรมต่อคนที่ทำงานมานานเพราะไม่ได้รับการปรับเงินขึ้น

วันที่ 5 ตุลาคม 2559 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก เรื่อง “การปรับเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ”ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เนื่องจากสรส.ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) เพื่อให้มีการปรับเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ภายหลังที่ข้าราชการคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปรับเงินเดือนในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 นับตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2557 โดย สรส. ได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ซึ่งสาระสำคัญของหนังสือที่ สรส.ยื่นไป คือ “ให้มีการปรับเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจทุกตำแหน่งคนละ 1 ขั้น สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เลื่อนเงินเดือนเป็นระบบขั้น และในอัตราร้อยละ 4 สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เลื่อนเงินเดือนเป็นแบบอัตราร้อยละ(เปอร์เซ็นต์) โดยมิได้แบ่งแยก” และเรื่องดังกล่าวได้รับการพิจารณาเห็นชอบในหลักการและ ครส. ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาสภาพการจ้างใน ครส. พิจารณา

ผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ มีการเปลี่ยนแปลงจากข้อเสนอที่ สรส. เสนอไป กล่าวคือ “ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 43,890 บาทลงมาให้ได้รับการปรับคนละ 1 ขั้น สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เลื่อนเงินเดือนเป็นระบบขั้น และให้ได้รับการปรับในอัตราร้อยละ 4 สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เลื่อนเงินเดือนเป็นแบบอัตราร้อยละ (เปอร์เซ็นต์) ส่วนที่เกินกว่านั้นให้ได้รับการปรับคนละ 0.5 ขั้น สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เลื่อนเงินเดือนเป็นระบบขั้น และให้ได้รับการปรับในอัตราร้อยละ 2 สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เลื่อนเงินเดือนเป็นแบบอัตราร้อยละ(เปอร์เซ็นต์)” และเรื่องดังกล่าวก็นำกลับไปพิจารณาใน ครส.อีกครั้งซึ่งมติก็เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาสภาพการจ้างเสนอไป ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ได้นำเสนอต่อ ครม. ตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย

20161007_101221

แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยเลขาฯ ครม. ได้ส่งหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ความเห็น ซึ่งก็มีความเห็นที่หลากหลายและเรื่องดังกล่าวถูกนำเข้าไปพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่ง คนร. ได้ส่งเรื่องกลับให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็นำกลับเข้าพิจารณาใหม่ในคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 และ ครส. ก็ทบทวนเรื่องดังกล่าวใหม่ ที่สุดก็มีมติออกมา คือ “สำหรับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่มีอัตราเงินเดือนตั้งแต่ 43,890 บาทลงมาให้ได้รับการปรับคนละ 0.5 ขั้น สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เลื่อนเงินเดือนเป็นระบบขั้น และในอัตราร้อยละ 2 สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เลื่อนเงินเดือนเป็นแบบอัตราร้อยละ (เปอร์เซ็นต์) ส่วนที่เกินกว่านั้นไม่มีการปรับ” และเรื่องดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ส่งให้ ครม. พิจารณาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ซึ่ง ครม. มีมติออกมาก็เป็นไปเช่นเดียวกับที่ ครส. มีมติ สรุปคือ ลูกรัฐวิสาหกิจที่มีอัตราเงินเดือน 43,890 บาทลงมาได้รับการปรับ ส่วนที่เกินกว่านั้นไม่มีการปรับ

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในฐานะผู้เสนอเรื่อง ขอขอบคุณและเคารพในทุกความเห็น ที่ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการปรับเงินเดือนของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจจนออกมาเป็นผลสำเร็จแม้ไม่ได้เป็นไปตามที่ สรส. นำเสนอ 2 เรื่อง ในรัฐบาลชุดนี้ และเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึก ความไม่พึงพอใจของคนที่ไม่ได้รับการปรับ สรส. ก็พยายามผลักดันเต็มที่ ได้พยายามติดตามเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง ทั้งโดยหนังสือ และการแสดงตนของพี่น้องมวลสมาชิก สรส. แต่การเปลี่ยนแปลงยังยากที่จะควบคุม

20161007_095808

อย่างไรก็ตาม สรส. กรรมการบริหาร กรรมการกลาง กรรมการสาขาภูมิภาค และองค์กรสมาชิก จะได้ประชุมหารือถึงสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่ปกติในระบบไตรภาคี ซึ่งไม่ได้เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ตามขบวนการเจรจาต่อรองและกระบวนการทางกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อ ครส. มีมติแล้วขั้นตอนต่อไปคือต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. แต่สำหรับเรื่องนี้ผ่าน ครส. แล้ว กลับถูกส่งไปยังหน่วยงานที่มิใช่ไตรภาคีพิจารณาทบทวนแล้วส่งให้ ครส. พิจารณาตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็น ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงระบบไตรภาคี และมีหลายครั้งในรัฐบาลที่ผ่าน ซึ่ง ครม. มิได้ยึดเอามติของ ครส. เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ที่สุดก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกรณีการปรับเงินเดือนที่เกินกว่า 50,000 บาท ซึ่งองค์กรสมาชิกต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม และเรื่องการปรับโครงสร้างเงินเดือนที่ สรส. เป็นผู้เสนอจนเป็นมติ ครม. ออกมา ซึ่งลูกจ้างรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งได้รับการปรับไปแล้ว บางแห่งก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี ถึงประสบผลสำเร็จ คือตั้งแต่ปี 2550 จนมาสำเร็จเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้น นี่คือสัญญาณที่น่ากังวลยิ่ง

ดังนั้น สรส. จึงขอให้องค์กรสมาชิกได้ตระหนักในสิ่งเหล่านี้ ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากเราไม่ตระหนัก ไม่รัก ไม่สามัคคีกัน ไม่เป็นเอกภาพ ในอนาคตจะทำให้เราสูญเสียงาน สูญเสียความมั่นคง สูญเสียสิทธิประโยชน์ ที่คนรุ่นเก่าได้ต่อสู้ เรียกร้อง ปกป้องมาหลายยุคสมัย คนรุ่นหลังจำเป็นต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราจะต้องรวมพลังผลักดันร่วมกัน เช่น เรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปรับปรุงเรื่องสิทธิประโยชน์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่ สรส. ได้มีมติร่วมกันไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของคนงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องใช้พลังนำและพลังหนุนจากพวกเรา แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เชื่อมั่นว่าไม่ยากเกินกว่าพลังของพวกเรา หากพวกเราตระหนักในความรัก ความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียว และร่วมกันหาวิถีทางแห่งการแก้ไขในความผิดพลั้ง พลาด อย่างเข้าใจ อย่างเป็นเหตุเป็นผล หยัดยืน ยึดมั่น ในพลังชนชั้นของพวกเรา เราจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในไม่นาน

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของคนงานรัฐวิสาหกิจและคนงานทั้งผอง