25 ปีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ คนงานทวงปฏิรูปความปลอดภัย

คสรท. ยื่น 13 ข้อปฏิรูปความปลอดภัยให้คนงาน ในวาระ 25 ปี188 คน ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และ เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆได้จัดงานรำลึก 25 ปีเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ ที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยมีการใส่บาตรทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่คนงานเคเดอร์ที่ต้องเสียชีวิตถึง 188 คน และร่วมวางดอกไม้หน้าอนุสรณ์เตือนใจความปลอดภัยของคนงาน ที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการที่เกี่ยวข้องด้านในพิพิธภัณฑ์ฯ จากนั้นทั้งหมดได้เดินทางไปยังกระทรวงแรงงานเพื่อยื่นหนังสือต่อพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เรื่อง ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปเรื่องความปลอดภัยเนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ นั้น ทางคสรท.ได้จัดการรำลึกถึงกรณีความสูญเสียเนื่องในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 หรือย้อนไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เกิดเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่งผลให้คนงานนับพันต้องวิ่งหนีตายอลหม่าน เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 188 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน เพื่อไม่ให้ชีวิตของคนงานต้องสูญเปล่า สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และขบวนการแรงงานจากภาคส่วนต่างๆยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศให้ วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตรายและการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ ใช้เวลาถึง 21 ปีเพื่อผลักดัน “พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554” รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานจนเป็นผลสำเร็จ

จนถึงปัจจุบัน 7 ปีแล้วของการประกาศใช้กฎหมาย แต่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัด อีกทั้งขาดการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ มีบุคลากรที่จำกัด ทำให้สถานการณ์เรื่องความปลอดภัยยังอยู่ในสภาพที่ต้องผลักดันต่อไป โดยเฉพาะเรื่องสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ยังขาดทิศทางการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงาน ทำให้คนงานขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย และการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย การเข้าถึงการวินิจฉัยโรค รักษาเยียวยาและทดแทน สถานการณ์ล่วงเลยปรากฏการณ์และโรคใหม่ๆ ทางด้านอาชีวอนามัยจากการทำงาน อันตราย จากการใช้ การสัมผัสสารเคมี ทำให้คนงานต้องเจ็บป่วยทุกข์ทรมานอย่างมาก

ดังนั้นเนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ปี 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเร่งรัดในการปฏิรูปเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจังภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรเครือข่ายของผู้ผู้ใช้แรงงานดังต่อไปนี้

1.ขอให้ผู้เจ็บป่วยสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เจ็บป่วย /บาดเจ็บจากการงาน จนกว่าแพทย์จะสิ้นสุดการรักษา / ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีประกาศปี 2558 ให้เบิกได้ถึง 2 ล้าน แต่เข้าถึงสิทธิได้ยาก

2.ให้รัฐออกนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือกฎกระทรวงให้ชัดเจน ห้ามไม่ให้สถานประกอบการเบี่ยงเบนให้คนงานที่บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานไปใช้สิทธิอื่น เช่น ประกันสุขภาพหมู่ หรือ รักษาเอกชนโดยไม่ระบุว่าเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน มีบทลงโทษกรณีสถานประกอบการไม่ส่งเรื่องแจ้งคนงาน บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน เข้ากองทุนเงินทดแทน

3.การประเมินการสูญเสียสิ้นสุดการรักษาต้องให้คนงานรักษาให้ถึงที่สุดจนหายดี และเงินประเมิน ต้องทดแทนให้คนงานที่สูญเสียอวัยวะ อยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ตลอดชีพ

4.ขอให้คณะกรรมสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมใน คณะกรรมการแพทย์ หรือ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

5.ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยเนื่องใน “วันความปลอดภัยแห่งชาติ” ทุกปี เฉกเช่นเดียวกับวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจัดสรรให้แก่องค์กรของคนงานที่มีการทำงานและผลงานอย่างต่อเนื่อง

6.ให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)หรือผู้แทนเข้าเป็นคณะกรรมการ(บอร์ด)สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ อย่างน้อย 1 คนในฐานะองค์กรผลักดัน

7.ขอให้รัฐยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

8.ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ พร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือให้แก่ “สถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” และบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ มีความรับผิดชอบในภารกิจเข้มงวด ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ทั้งในเรื่อง การให้ความรู้ การป้องกัน การรักษา การเยียวยาและการฟื้นฟู เพื่อให้คนที่ประสบเหตุสามารถดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้ รวมทั้งการบริหารการจัดการ ขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและการตัดสินใจ

9.การตรวจสุขภาพประจำปีให้มีการตรวจแบบอาชีวเวชศาสตร์และต้องตรวจทุกคน แจ้งผลให้คนงานทราบ โดยมีสมุดพกประจำตัวการตรวจสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคน

10.ให้รัฐตรวจสอบสถานประกอบการทุกแห่ง ให้มีนโยบายปลอดภัย และมีคนปฎิบัติงานด้านความปลอดภัยอย่างจริงจังและมีส่วนร่วมจากคนงานในสถานประกอบการนั้น โดยให้คณะกรรมการความปลอดภัยมาจากองค์กรของลูกจ้างหากสถานประกอบการใดไม่มีให้คนงานเลือกตั้งกันเอง

11.ขอให้รัฐเร่งออกกฏหมายโรคจากการประกอบอาชีพ

12.ขอให้รัฐจัดให้มีคลินิกวินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงาน ทุกพื้นที่อุตสาหกรรม ที่มีระดับมาตรฐานเท่าเทียมกัน สามารถวินิจฉัยโรคได้ ที่สำคัญเมื่อวินิจฉัยคนงานว่าเจ็บป่วย / บาดเจ็บจากการทำงานแล้ว คณะกรรมการแพทย์ต้องยึดเป็นเกณฑ์ในการให้สิทธิกองทุนเงินทดแทน

13.ขอให้มีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำทุกโรงพยาบาล
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบและกลไกรวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดั่งที่รัฐบาลประกาศนโยบาย “Safety Thailand”ให้เป็นวาระแห่งชาติข้อเสนอทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวไปสู่เป้าหมายเรื่องความปลอดภัยของคนทำงาน