ยุติที่ไม่เป็นธรรม กรณีคนงานโคบาเทค

11401175_1631066940444802_8845923346063026301_n

“พวกเราทำตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำทุกอย่าง บอกให้เรารอเราก็รอ ห้าเดือนที่พวกเราทนหลบฝน หลบแดด หลบลมอยู่ในเต็นท์ ทำไมถึงยังเป็นแบบนี้ ตอบหนูทีตอนนี้เจ้าหน้าที่ช่วยอะไรหนูได้บ้าง”

นี่คือคำตัดพ้อด้วยน้ำเสียงอัดอั้นปนสะอื้นของลูกจ้างที่ถามต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานกระทรวงแรงงาน ถึงกับทำให้อีกหลายคนที่ที่เห็นเหตุการณ์กลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ ความรู้สึกคับแค้นใจภาระหนี้สิน ปัญหาครอบครัว สารพัดปัญหาประเดประดังถั่งโถมเข้ามาหาพวกเธอ และเขาทันทีที่รู้ว่าถูกนายจ้างเลิกจ้าง ทำให้หลายคนหมดศรัทธาต่อกระบวนการทางกฎหมายและการทำงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ความท้อแท้กลับบ้านด้วยแววตาที่สิ้นหวังต่อระบบที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยตัดสินในฐานะคนกลางของรัฐ ด้วยความเชื่อต่อปัญหาความขัดแย้งที่น่าจะจบไปพร้อมกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทางสหภาพแรงงานที่ได้ลงรายมือชื่อรับรองร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง แต่นอกจากไม่จบแล้วยังได้สร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย

วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๗ หลังการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงานกับบริษัทฯเพียง ๔ วัน ลูกจ้างมารายงานตัวเข้าทำงานตามที่นายจ้างกำหนดไว้ แต่แทนที่ทุกคนจะได้เข้าไปทำงานตามที่เข้าใจ สมาชิกสหภาพแรงงานฯกว่าสองร้อยชีวิตกลับต้องไปอยู่รวมกันภายในเต๊นท์ที่ทางบริษัทฯจัดเตรียมไว้ให้ บริเวณหลังอาคารโรงงาน เหมือนค่ายกักกันที่ทางบริษัทฯจัดเตรียมไว้ให้ลูกจ้างบังอาจต่อกรกลับนายจ้าง แยกลูกจ้างออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นลูกจ้างเหมาค่าแรงและลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมีงานให้ทำ มีล่วงเวลาให้ทำ ไม่ต้องตากแดด ตากฝน ตากลม อีกส่วนเป็นพวกสมาชิกสหภาพแรงงานให้อยู่เฉยๆภายในเต๊นท์ ห้ามทำกิจกรรมอื่นๆแม้แต่การหารายได้เสริมชดเชยการไม่มีล่วงเวลาทำ เผชิญชะตากรรมท้าแดดลมฝนกันไป

มาตรการที่ฝ่ายนายจ้างนำมาใช้กับลูกจ้างของตน กลับโหมกระพือความขัดแย้งให้คุกรุ่นตลอดระยะเวลากว่าห้าเดือน แม้ว่าฝ่ายลูกจ้างจะพยายามอดทนทุกอย่างตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน แต่การไม่ยอมให้ลูกจ้างเข้าไปทำงานร่วมกับลูกจ้างอื่นๆ การไม่มอบหมายงานให้ ต้องอยู่ภายในเต็นท์ที่ไม่มิดชิด ต้องเผชิญทั้งพายุฝน ลมแรง ทำให้จนอดสงสัยว่านายจ้างเขาจ้างให้ลูกจ้างเหล่านี้มารับจ้างตากฝนตากลมเพื่ออะไร

11146608_1145905302092616_3664361799664016530_n

เมื่อต้องเจอกับมาตรการเช่นนี้ทางสหภาพแรงงานก็ต้องพึ่งกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งถือเป็นสิทธิที่กระทำได้ ทางสหภาพแรงงานฯได้ใช้สิทธิร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) เพื่อให้วินิจฉัยในประเด็นที่นายจ้างไม่ยอมมอบหมายงานให้ทำ ซึ่งต่อมาทางครส.ได้แจ้งว่าจะมีการวินิจฉัยคำร้องในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ หลังจากที่นายจ้างไม่มอบหมายงานให้ทำมาเป็นเวลากว่า ๕ เดือน

รุ่งอรุณแรกของการเริ่มงานในเดือนมิถุนายน๒๕๕ ที่น่าจะมีข่าวดีจากทางบริษัทฯหรืออย่างน้อยก็ควรเป็นวันที่ไม่ร้อนมาก ไม่มีฝนตก จะได้ไม่ต้องลำบากมากในการอาศัยอยู่ภายในเต็นท์ เป็นความปรารถนาของสมาชิกสหภาพแรงงานโคบาเทค ประเทศไทย เพราะวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นวันที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จะมีคำวินิจฉัยสั่งให้นายจ้างมอบหมายงานหรือไม่ แต่สิ่งที่ทุกคนนึกหวังไม่อาจเป็นไปได้แล้ว ก้าวแรกที่ลงจากรถรับส่ง ทุกคนแทบหมดแรง เมื่อเห็นประกาศเลิกจ้างพนักงาน ๙๙ คน ถูกนำมาปิดหน้าบริษัทฯเหมือนสายฟ้าฟาดลงมาทั้งที่ไม่มีเค้าพายุ ทุกคนต่างกังขาคำถามมากมายผุดขึ้น นายจ้างรู้ผลครส. ล่วงหน้าหรือเปล่าถึงได้เลิกจ้างล่วงหน้าก่อนคำสั่งออกในวันรุ่งขึ้น? ทำไมเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างทั้งที่ยังไม่ได้ขออนุญาตจากศาลแรงงานตามที่กฎหมายบัญญัติไว้?

ผิดหรือที่ลูกจ้างกลุ่มหนึ่งพยายามต่อสู้เรียกร้องให้นายจ้างช่วยมอบหมายงานให้ทำ ผิดหรือที่เขาเหล่านี้เลือกที่จะใช้กระบวนการขั้นตอนตามที่กำหมายกำหนด ผิดหรือที่พวกเขาปกป้องสิทธิความเป็นมนุษย์ ความเป็นลูกจ้าง ความเป็นองค์กรสหภาพแรงงาน คำถามเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากนายจ้างยอมที่จะจบปัญหาในอดีตและร่วมกันก้าวเดินไปสู่อนาคตข้างหน้า บนพื้นฐานความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ข้อเท็จจริงสหภาพแรงงานโคบาเทค ประเทศไทย

๑.สหภาพแรงงานโคบาเทค ประเทศไทย ทะเบียน รย.๕๙/๒๕๕๒ สำนักงานตั้งอยู่ ๒๔๔/๕๙ หมู่ ๔ ตำบล มาบยางพร อำเภอ ปลวกแดง จังหวัด ระยอง ๒๑๑๔๐

๒.สหภาพแรงงานโคบาเทค ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทโคบาเทค ประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ทางฝ่ายนายจ้างใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน

๓.ในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๘พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัด ชลบุรี ทางสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งถูกปิดงานจำนวน ๑๙๖ คนได้มาให้กำลังใจตัวแทนการเจรจาของสหภาพแรงงาน การเจรจา ไม่คืบหน้า มีการพักการเจรจาหลายครั้ง ทางฝ่ายลูกจ้างแจ้งว่า “ช่วงที่มีการพักการเจรจา ทางตัวแทนฝ่ายนายจ้างได้เดินเข้ามาพูดคุยกับสมาชิกสหภาพฯที่ยืนอยู่รอบๆบริเวณสำนักงานฯ ซึ่งทางสมาชิกสหภาพฯเห็นทางฝ่ายนายจ้างลงมานึกว่าจะกลับจึงเข้ามาคุยซักถามกัน แต่ทางประธานสหภาพฯได้ชี้แจงว่า เป็นเพียงการหยุดพักการเจรจา อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่ทหาร ได้ออกมาชี้แจงต่อสมาชิกสหภาพฯว่าจะช่วยพูดให้ฝ่ายนายจ้างเจรจาให้จบในวันนี้จึงเป็นเหตุการณ์ปกติ” และการเจรจาได้ข้อยุติและสมารถทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้ในเวลา ๑๐.๐๐น.ของวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๘ โดยทางฝ่ายนายจ้างได้ให้สมาชิกสหภาพฯไปรายงานตัวเข้าทำงานในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘

๔. วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ หลังจากที่สมาชิกสหภาพแรงงานได้รายงานตัวแล้ว ทางฝ่ายนายจ้างได้ให้ทุกคนไปอยู่รวมกันที่เต๊นท์ด้านหลังอาคารโรงงานที่ทางบริษัทฯได้เตรียมไว้ให้ พร้อมทั้งจัดห้องน้ำไว้ให้เฉพาะ ไม่ให้ใช้ปนกับพนักงานที่ทำงานอยู่ภายในอาคาร สำหรับพนักงานที่ตั้งครรภ์ทางบริษัทให้เข้าไปรวมกันอยู่ที่ห้องประชุม โดยไม่ต้องทำอะไรปัจจุบันมีจำนวน ๖ คน ทุกวันทำงานทุกคนต้องมาอยู่รวมกันที่โดยมีความพยายามเสนอเงื่อนไขให้สมาชิกสหภาพฯลาออก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เสนอให้ทางบริษัทเปิดเป็นโครงการจำใจจากโดยให้ค่าชดเชยตามกฎหมายบวกเงินพิเศษ ๒ เดือน โบนัส ๑เดือน กำหนดสิ้นสุดโครงการในวันที่ ๓ มิถุนายน เวลา ๑๒.๐๐ น.

๕.เนื่องจากนายจ้างไม่ยอมมอบหมายงานให้ทำ แต่กลับรับพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานจำนวนมากจากเดิมที่มีเพียง ๒๐-๓๐ คนปัจจุบันมีมากถึงประมาณ ๔๐๐ คน จากพนักงานทั้งหมดประมาณ ๕๘๐ คน ทางสหภาพแรงงานฯจึงได้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อให้วินิจฉัยให้นายจ้างมอบหมายงานให้ ต่อมาทางครส.ได้แจ้งว่าจะทำการวินิจฉัยคำร้องฯในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘

๖.เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ บริษัทโคบาเทค ประเทศไทย จำกัด ได้ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อสมาชิกสหภาพแรงงานโคบาเทค ประเทศไทย จำนวน ๑๐๐ คน และที่ปรึกษา ๑ คน รวม ๑๐๑ คน และทางบริษัทฯมีเงื่อนไขหากพนักงานยอมลาออกจะถอนฟ้องและยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้

๗.วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ บริษัทฯปิดประกาศเลิกจ้างพนักงาน จำนวน ๙๙ คน โดยแยกเป็น จ่ายค่าชดเชย จำนวน ๑๖ คน ไม่จ่ายค่าชดเชย ๘๓ คน (ยังไม่มีข้อมูลในการแยกเป็น๒กลุ่ม) โดยเหตุผลในการเลิกจ้างพอสรุปได้ ดังนี้

๑.ร่วมกันปิดล้อม พูดจาข่มขู่ และแสดงท่าทางอันเป็นการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ต่อผู้แทนนายจ้าง

๒. ไม่ให้ความร่วมมือกับบริษัทฯในการปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ และสร้างความขัดแย้งขึ้นภายในบริษัท

๓.ทำให้บริษัทฯเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วยการโพสรูปภาพที่เอาเสื่อมาบังฝนที่สาดเข้าเต๊นท์ลงในสื่อออนไลน์

๔.ทำผิดวินัยร้ายแรงของบริษัทฯข้อ๑.๑.๑,ข้อ๑.๑.๑๑,ข้อ๑.๙.๕,ข้อ๑.๙.๑๕,ข้อ๑.๙.๑๖,ข้อ๑.๙.๑๘

๕.กระทำผิดพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา๑๑๙ (๑) (๒ ) (๔) เลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย

๖.กระทำผิดพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา๑๒๓ (๑) (๒) (๓) เลิกจ้างได้แม้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับใช้

๗.กระทำผิดพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ เลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
จากพนักงาน ๘๓ คน ที่ไม่ได้รับค่าชดเชย แยกเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ ๗๒ คน ซับลีดเดอร์ ๙ คน ลีดเดอร์ ๒ คน(จาก๘๓ คน) มีคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ ๓ คนซึ่งเป็นคณะกรรมการลูกจ้าง ๑คน ยังคงเหลือคณะกรรมการสหภาพแรงงานที่ไม่ถูกเลิกจ้าง ๘ คนและรวมสมาชิกและกรรมการสหภาพแรงงานที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง ๑๙ คน แม้บริษัทฯจะประกาศเลิกจ้างแล้วแต่ก็ยังเปิดให้สมาชิกสหภาพฯที่ถูกเลิกจ้างมาลาออกเพื่อรับเงินช่วยเหลือได้

๘.วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้ประชุมเพื่อวินิจฉัยคำร้องของสหภาพแรงงานโคบาเทค ประเทศไทย เวลา ประมาณ ๑๗.๐๐ น. ทางพนักงานประนอมข้อพิพาทกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อสมาชิกสหภาพแรงงานโคบาเทคฯประมาณ ๕๐ ซึ่งสรุปได้ว่ามีคำวินิจฉัยให้บริษัทฯ มอบหมายงานให้เฉพาะสมาชิกสหภาพฯที่ยังไม่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน จำนวน ๑๙ คน

๙. พนักงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยที่ ๓๐ ปี อายุงาน ส่วนใหญ่ ๙-๑๑ ปี มีค่าจ้างไม่รวมสวัดิการเฉลี่ยที่ประมาณ ๙,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท มีค่ากะเช้า ๕๐๐ บาท/เดือน(ค่ากะอื่นไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เข้าทำงาน) ค่าข้าว ๑,๐๐๐ บาท/เดือน(ค่าข้าวช่วงทำล่วงเวลาไม่ได้) เงินช่วยเหลือค่าบ้าน ๑,๖๐๐ บาท/เดือน