21 ปีเคเดอร์ความสูญเสียของแรงงาน-สถาบันความปลอดภัย

กลุ่มแรงงานจัดงาน 21 ปีแห่งความสูญเสีย188 ชีวิตคนงานเคเดอร์ สถานบันความปลอดภัยต้องเป็นองค์อิสระ พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกการนำเข้า หรือใช้แร่ใยหินในอุตสากรรมตามมติครม. 12เม.ย.54

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2557 สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)และภาคีเครือข่ายแรงงานพื้นที่อุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนจากแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีสมัชชาแรงงาน “การยกเลิกแร่ใยหิน ถึงข้อเรียกร้องสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ”ที่ห้องประชุมทองกวาว จามจุรีชั้น 1 โรงแรมทีเค พาเลช ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

10296581_795908727088809_5912306788960433321_n 10341535_639487106144769_5709193101388372396_n 10152995_797115610301454_1265214217023984170_n

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า 50 ปี ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการพัฒนา ตัวเลขแรงงานในภาคเกษตรลดลง ตลาดแรงงานสูงขึ้นในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ อีก 5 ปีแรงงานภาคกรรมจะแซงหน้าแรงงานภาคเกษตรกรรมที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบอาชีพอิสระภาคเกษตรกรจะลดเหลือเพียงร้อยละ 50 ของการจ้างงานทั้งหมดภายในทศวรรษหน้า

ในปี 2550 รายได้ของเกษตรกรประกอบด้วยไร่นาอยู่ที่ร้อยละ 38.9 และมีรายได้ที่มีจากการรับจ้างทั้งในและนอกภาคเกษตรร้อยละ 60 รายได้หลักของเกษตรกรจึงมาจากการเป็นแรงงานรับจ้าง

ในปี 2553 ไทยมีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) = 38.5 ล้านคน แบ่งเป็นนายจ้าง 0.75 ล้านคน ลูกจ้าง 16.42 ล้านคน เกษตรกร 13.55 ล้านคน ผู้ทำงานส่วนตัวนอกเกษตรกรรม 7.78 ล้านคน เมื่อรวมลูกจ้างและเกษตรกรเข้าด้วยกัน จะกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในสังคมไทยถึงร้อยละ 77.8 % ของกำลังแรงงานทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมแรงงาน” (wage-salary society)

สังคมแรงงานประกอบด้วย ลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ 16.4 ล้าน เกษตรกร (กึ่งชาวนา-กึ่งแรงงาน 13.5 ล้าน แรงงานข้ามชาติ ประมาณ 1-2 ล้าน รวมแรงงานรับจ้างทั้งหมด 32.0 ล้านคน

คนงานมีสถานภาพเป็น “แรงงานรับค่าจ้าง” ในด้านหนึ่ง เป็น “แรงงานพึ่งพิง” เป็นแรงงานที่ขาดปัจจัยการผลิต หรือที่ดินทำกิน จึงต้องพึ่งพิงการขายแรงงานเพื่อแลกกับค่าจ้างในการดำรงชีวิต และส่งเงินกลับไปต่างจังหวัดเพื่อเลี้ยงครอบครัว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็น “แรงงานที่ไม่อิสระ” เพราะการขายแรงงานเพื่อแลกกับค่าจ้าง ทำให้คนงานตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบุคคลอื่น หรือ นายจ้าง กฎระเบียนต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้าง-นายจ้าง จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกันรัฐจะต้องปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างลูกจ้าง-นายจ้างโดยให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมโดยทำให้เกิดการคุ้มครองแรงงานได้มีการตรากฎหมายขึ้นมา เช่นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน การทำโอ ฯลฯ กฎหมายส่งเสริมการรวมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง สิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และมีขบวนการเรียกร้องทางสากลให้มีการรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศไทย (ILO.) 2 ฉบับ คือฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วมที่มากกว่ากฎหมายที่มีอยู่ที่มองว่ายังไม่ส่งเสริมสิทธิเท่าที่ควร และมีกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม คุ้มครองการเจ็บป่วยนอกงาน ทุพพลภาพ ลาคลอด สงเคราะห์บุตร ประกันการว่างงาน ชราภาพ ตาย และกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินทดแทน เพราะเมื่อเกิด “สัญญาจ้างงาน” คนงานยอมรับค่าจ้าง (เช่น 300 บาท)แต่ก็ต้องไม่ทำงานให้กับนายจ้าง (8 ชั่วโมง) ในระหว่างการทำงาน ลูกจ้างอาจเกิดอันตรายระหว่างการทำงาน

ดังนั้น การใช้แรงงานอาจจะเกิดการละเมิดตัวบุคคลที่ติดไปกับการใช้แรงงาน จึงต้องมีการคุ้มครองตัวบุคคลด้วย จึงเป็นที่มาของกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินทดแทน ซึ่งกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบโดยจ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียว เพื่อให้นายจ้างตระหนักและเป็นความรับผิดชอบในการดูแลคุ้มครอง จัดหาอุปกรณ์ป้องกันดูแลความปลอดภัยให้กับลูกจ้าง

ความเป็นจริงก่อนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทค่าจ้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำมาก ในบางช่วง เช่น ปี 2549-2550 ช่วงที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นสูง การปรับค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของคนงาน ค่าจ้างต่ำ นำมาสู่การต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อหารายได้เสริม คนงานไทยจึงมีชั่วโมงการทำงานที่สูงสุดในเอเชียถึง 72 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ (8ชม. ทำงานปกติ + 4 ชม. ทำโอ ทำงาน 6 วัน/อาทิตย์) ซึ่งประเทศในแถมยุโรปจะทำงานเพียง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

ปัญหาของประกันสังคม คือให้ความคุ้มครองแรงงานที่มีสถานภาพลูกจ้าง-นายจ้าง หรือ คนงาน 16.4 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงแล้วขณะนี้มีตัวเลขผู้ประกันตนเพียง 10.3 ล้าน คนงานประมาณ 6.1 ล้าน ตัวเลขนี้หายไปไม่อยู่ในโครงการประกันสังคม จึงเชื่อได้ว่ายังมีคนงานอีกจำนวนหนึ่งที่นายจ้างไม่ได้นำเข้าสู่ระบบประกันสังคม ถ้ารวมแรงงานในภาคอุตสาหกรรม แรงงานในภาคเกษตร และแรงงานข้ามชาติ จำนวนทั้งหมด 32 ล้าน จะเห็นว่ากฎหมายประกันสังคมยังคุ้มครองคนงานน้อยมาก คือ ประมาณหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมด

กองทุนเงินทดแทน (ปี 2537) คุ้มครองการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุจากการทำงาน ในปี 2553 จากข้อมูลของกองทุนเงินทดแทน มีลูกจ้างอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน 8.2 ล้านคน มีตัวเลขต่ำกว่าผู้ประกันตน 2 ล้าน มีลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน 146,511 ราย และความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ในปี 2553 มีลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานทั้งหมด 146,511 คน จำนวน 5,047 คนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น “โรคจากการทำงาน” กว่า 90 % ของโรคจากการทำงาน เป็นอาการเจ็บป่วยจากการยกของหรือเคลื่อนย้ายของหนักอาการเจ็บป่วยจากท่าทางการทำงาน โรคผิวหนังจากการทำงาน โรคที่เกิดจากสารตะกั่ว สารสังกะสี สารเคมี มีการยอมรับ วินิจฉัยและทดแทนน้อยมาก ไม่ถึง 10 %

แร่ใยหิน (Abestos) ประเทศไทยใช้ แร่ใยหินมากว่า 30 ปี ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (ท่อน้ำทิ้ง กระเบื้อง) และในโรงงานผลิตผ้าเบรกรถยนต์และคลัช หรือ ที่ต้องใช้วัสดุที่มีการเสียดสี ทนความร้อน ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้บริโภคแร่ไยหินรายใหญ่ อันดับที่ 4 ของโลก ในช่วงปี 2540-2547 มีการนำเข้าแร่ใยหิน 116.5 ล้านกก. ต่อปี

ในปี 2547 มีคนงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหิน จำนวน 1,784 คน กระจายอยู่ใน 16 โรงงาน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคกลาง มีการวิจัย พบการปนเปื้อนของแร่ใยหินอยู่ในระดับที่เกินค่ามาตรฐานของประเทศอื่นๆในเอเชีย ในกองทุนเงินทดแทน ยังไม่พบผู้ป่วยที่ทำงานสัมผัสกับแร่ใยหิน การไม่ปรากฏการเจ็บป่วยที่เกิดจากการใช้แร่ใยหิน นั้น ประการที่ 1. ไม่มีคนงานที่ป่วยด้วยแร่ใยหิน ? 2. มีกรณีของคนป่วยแต่ไม่ได้มีการรายงาน สาเหตุอาจเกิดจากการขาดความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัยของแพทย์ 3. โรคนี้อยู่ในระยะฝักตัวและต้องใช้เวลาในการปรากฏอาการ 4. คนงานในโรงงานเหล่านี้ อาจมีการเข้าออกจากงานสูง จึงไม่ถูกปนเปื้อน และ 5 ไม่มีการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน จึงไม่มีรายงานกรณีการเจ็บป่วยด้วยมะเร็งที่เกิดจากแร่ใยหิน

ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิ คือ 1. คนงานขาดความรู้เรื่องโรคจากการทำงาน 2. ขาดความรู้เรื่องกฎหมายกองทุนเงินทดแทน 3. ปัญหาการวินิจฉัยของแพทย์ 4. ปัญหาของตัวกฎหมายที่มองแรงงานในฐานะปัจเจก มีความสามารถในการเข้าถึงสิทธิต่างๆตามกฎหมายด้วยตนเอง 5. การขัดขวางของนายจ้างในการเข้าถึงสิทธิ
สังคมขาดจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย บนพื้นฐานกับดักของความยากจน การจ้างแรงงานที่ทักษะต่ำ ค่าจ้างต่ำ ชั่วโมงการทำงานสูง มีปัญหาทางสุขภาพ และการขาดการศึกษา เป็นวงเวียนที่หมุนไป การเติบโตการพัฒนาทางเศรษฐกิจนำมาสู่การพัฒนาสังคม การต่อสู้เชิงเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง กับชนชั้นนำทำให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์สู่ชนชั้นล่าง การพัฒนาสังคมไม่ได้มาจากการหยิบยื่นให้ของรัฐ แต่เป็นเรื่องต่อสู้เพื่อให้ได้มา การจัดสวัสดิการมีสาเหตุมาจากรัฐถูกกดดันจากความขัดแย้งในสังคมและขบวนการภาคประชาชนและสหภาพแรงงาน

ยุคแห่งแสงสว่างในยุโรป ศต.ที่ 11 เป็นการต่อสู้ในเรื่องของความคิด ความมีเหตุและผล นำมาสู่แนวคิดที่ว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงออก” การปฏิวัติฝรั่งเศส ศต.ที่ 18 นำมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย การต่อสู้เรื่อง “เสรีภาพและความเสมอภาค” แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมือง การปฏิวัติอุตสาหกรรม ศต.ที่ 19 ระบบโรงงาน (factory system) การเข้ามาของทุนนิยม นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงาน การรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน กำเนิดและพัฒนาการของสหภาพแรงงาน นำมาสู่การออกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ความเท่าเทียมกันทางเพศ ห้ามใช้แรงงานเด็ก ฯลฯ เป็นการต่อสู้เรื่อง สิทธิทางสังคม และหลังสงครามโลก ปี 1945 จึงมีการจัดตั้ง “รัฐสวัสดิการ” ในยุโรปเมื่อพรรคสังคมประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล เป็นจุดเริ่มต้นของ “การปฏิรูป” การต่อสู้เรื่องสิทธิประวัติศาสตร์สากล คือเพื่อเสรีภาพการแสดงออก สิทธิทางการเมืองและสิทธิทางสังคม ซึ่งเมื่อย้อนดูการต่อสู้ในประเทศไทย คือเรื่องสิทธิทางสังคมสิทธิทางการเมือง และเสรีภาพทางการแสดงออก การต่อสู้ยังมีปัญหาการจัดสวัสดิการยังจัดจากเล็กไปก่อน เช่น ประชาสงเคราะห์ สวัสดิการชุมชน ความมั่นคงทางสังคม การคุ้มครองทางังคม เช่นประกันสังคมสู่การคุ้มครองทางกฎหมาย และสู่รัฐสวัสดิการ คือ ขั้นแรก ทุกคนต้องมีความมั่นคงทางสังคมขั้นต่ำ (Social Minima) ความมั่นคงทางสังคม เช่น การประกันสังคม ประกอบด้วย สวัสดิการรักษาพยาบาล สิทธิการลาคลอด ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ประกันว่างงาน และกรณีชราภาพ สวัสดิการสำหรับตนเอง ขั้นที่ 2 เพิ่มสิทธิประโยชน์ในประกันสังคม เช่น ขยายการคุ้มครองของการประกันสังคมถึงสมาชิกในครอบครัว ดังเช่นสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ การเพิ่มเงินทดแทนรายได้ และการจัดสวัสดิการสำหรับเด็ก ก้าวสู่การคุ้มครองทางสังคม การแทรกแซงของรัฐในมิติทางสังคม ตามแนวคิดที่ว่า “การพัฒนาสังคม” ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การเก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อนำจัดสวัสดิการถ้วนหน้า การกระจายรายได้ และนโยบายค่าจ้างสูง

การปฏิรูประบบความปลอดภัย การทำงานเชิงการป้องกัน ต้องมีการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยที่มี “ความเป็นอิสระ” แต่หลักการของการทำงานอิสระของสถาบัน ไม่สามารถบรรลุในความเป็นจริงได้ตามร่างกฎหมายในปัจจุบัน เพราะ มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และ ขาดความเป็นอิสระในด้านการบริหารและการจัดการ ตามร่างกม. งบประมาณของสถาบัน จะมาจาก 3 แหล่งใหญ่ๆคือ เงินอุดหนุนจากรัฐ ไม่ได้มีการระบุชัดเจน เช่น จำนวนเงินที่จะจัดให้เท่าใด การจัดสรรงบประมาณในระยะยาว ฯลฯ คณะกรรมการความปลอดภัย ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย จะได้งบประมาณจากกองทุนเงินทดแทนเพื่อดำเนินงานส่งเสริมความปลอดภัย แล้วคณะกรรมการความปลอดภัยจึงจะพิจารณาจัดสรรให้กับสถาบันอีกทอดหนึ่ง

สถาบันฯ สามารถขอเงินสนับสนุนจากกองทุนเงินทดแทนได้ แต่ก็ต้องทำเป็นโครงการเสนอเข้าไปในแต่ละปี คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จะพิจารณาให้เป็นรายๆ เป็นเงินให้แบบโครงการวิจัย จำนวนเงินไม่มาก จะเห็นได้ว่า จำนวนเงินที่ถูกจัดสรรให้ ที่มาจาก 3 แหล่ง มีความไม่แน่นอนสูง จำนวนเงินไม่มากพอที่จะสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันความปลอดภัย ไม่เพียงพอที่จะทำงานใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม สถาบันต้องมีความมั่นคงในการทำงาน รัฐมีความรับผิดชอบทางสังคม จะต้องจัดเงินสนับสนุนให้สถาบันเป็นรายปี กองทุนเงินทดแทนจะต้องจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับสถาบัน 15-20 % ของดอกผลที่เกิดจากดอกเบี้ยเงินฝาก (หรือ ประมาณ 150-250 ล้านบาททุกๆปี) เพราะการมีสถาบันที่ทำงานเชิงการป้องกัน (prevention) จะช่วยลดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยในการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลและการจ่ายเงินทดแทน สถาบันจะสามารถทำงานเชิงการป้องกัน ต้องให้อำนาจกับสถาบันในการเข้าไปในสถานประกอบการ ในกรณีเมื่อเกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน หรือ อุบัติเหตุในการทำงาน เพื่อสืบค้นหาข้อมูล ทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวลผล เพื่อวางแนวทางในแก้ปัญหา และการทำงานที่ปลอดภัยในอนาคต มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (ศูนย์ Hot-line) ที่ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานของสถาบันที่จะเข้าไปเก็บข้อมูลในโรงงาน การให้อำนาจในการเข้าไปในโรงงาน ไม่ใช่เป็นการตรวจโรงงาน หรือ บังคับใช้กฎหมาย (enforcement) ซึ่งอำนาจและหน้าที่นี้เป็นของรัฐ หรือ กองตรวจของกระทรวงฯ แต่ถ้าไม่ให้สถาบันมีอำนาจเข้าไปในโรงงาน และ รับเรื่องราวร้องทุกข์ สถาบันก็จะขาดข้อมูลในการทำการศึกษาหรือทำงานในเชิงการป้องกันได้

คณะกรรมการควรมาจากกระบวนการสรรหา ที่มาของคณะกรรมการของสถาบันความปลอดภัย ประธานคณะกรรมการจะต้องไม่เป็นข้าราชการ เพื่อหลีกเลี่ยง conflict of interest คณะกรรมการต้องมาจากกระบวนการคัดเลือกเพื่อให้ได้ผู้ที่เหมาะสมกับการทำงานด้านความปลอดภัย เป็นองค์กรจตุภาคีโดยมีผู้แทนจากลูกจ้าง นายจ้าง รัฐและองค์กรผู้ป่วยจากการทำงาน ถ้าให้กฎหมายนี้ออกมา ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปได้ แต่จะได้สถาบันที่ทำงานแบบหน่วยงานของรัฐ แบบราชการ ควรชะลอกฎหมายนี้ไว้ก่อนเพื่อให้รัฐบาลหน้าดำเนินการต่อ ควรใช้โอกาสนี้รณรงค์ให้มีการออกเป็น พ.ร.บ. อย่างน้อยก็เป็นกฎหมายที่ผ่านรัฐสภา

ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอเวทีวิชาการ ถึงผลกระทบต่อการใช้แร่ใยหินในอุตสาหกรรมต่างๆ และถูกนำมาสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม ได้มีการพูดถึงอันตรายจากแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง หากเกิดการฟุ้งกระจาย แร่ใยหินถูกใช้ในอุตสาหกรรมในหลายประเภทด้วยทนความร้อน เช่นผ้าเบรก คลัช กระเบื้อง ฝ้ามุงหลังคาฯลฯ

10171000_797115676968114_5164789601185227150_n  10286799_638792236214256_4198629677874945540_o 10345757_795908853755463_8412286390601484602_n

โดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เป็นตัวแทนประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขององค์กรแรงงานกลุ่มต่างๆ เพื่อให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน ด้วยผ่านมา 21 ปีแห่งความตายของผู้ใช้แรงงานในโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ได้จุดประกายการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการคุ้มครองปกป้องชีวิตของคนงาน โดยให้มีการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย และอาชีวอนามัยที่เป็นอิสระ และดำเนินการคุ้มครองในประเด็นความปลอดภัยในสถานที่ทำงานอย่างครอบคลุมรอบด้าน โดยที่ตระหนักว่า ปัญหาความปลอดภัยในสถานประกอบการเป็นปัญหาขนาดใหญ่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับโครงสร้างทางสังคมที่มีความซับซ้อนนับตั้งแต่นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความเข้มแข็งขององค์กรแรงงานไปจนถึงวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคม

ในเรื่องนโยบายที่ทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เพราะเป็นภัยเงียบในสังคม ที่คนไทยต้องตายด้วยโรคมะเร็งร้าย ทำลายปอดเยื่อหุ้มปอดมาช้านานกว่า 70 ปี ปัจจุบันทั่วโลกหลายประเทศได้งดนำเข้าเลิกใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินไปหมดแล้ว ตามประกาศขององค์กรอนามัยโลกWHO องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)แต่ประเทศไทยกับนำเข้าเป็นอันดับต้นๆของทวีปเอเชีย ถึงแม้มีมติครม.(คณะรัฐมนตรี)เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554ให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน แต่ก็ยังถูกบ่ายเบี่ยงให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจ้างนักวิจัย และทำแผนยกเลิกที่ยืดเยื้อไม่เด็ดขาดให้กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบอยู่เกือบ 3 ปี ทั้งนี้เพราะกลุ่มทุนยังเป็นแก่ผลกำไรออกมาต่อต้าน ราชการบางส่วนยังรับนโยบายมาจากนักการเมืองที่เอาผลประโยชน์ทางการค้ากับประเทศที่ส่งออกแร่ใยหิน มาแลกกับสุขภาพความปลอดภัยและความตายของประชาชน เครือข่ายแรงงาน 50 องค์กรจึงประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามมติครม.งดนำเข้าและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินไคลโซไทลทันที
2. ขอให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานชะลอการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯฉบับของกระทรวงแรงงานที่ขาดการมีส่วนร่วม โดยขอให้เปิดเวทีทบทวนเนื้อหาของร่างสถาบันฯของผู้ใช้แรงงาน และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
3. ขอให้พัฒนาระบบการวินิจฉัยโรค รักษาเยียวยาผู้ป่วย เพื่อนำไปสู่การเผยแพร่ป้องกันโรคตั้งแต่ระยะแรก
4. ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำแผนเสนอครม.โดยต้องงดนำเข้า และยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินทันที
5. จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินและสร้างระบบลงทะเบียนของผู้ที่เคยมีประวัติสัมผัสใยหินในอดีตและปัจจุบัน
6. ขอให้เผยแพร่พิษภัยแร่ใยหิน และผลการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุขไปยังหน่วยงานต่างๆ
7. ให้การศึกษาวิธีการรื้อถอน และจัดการฝุ่นจากการรื้อถอนที่ปลอดภัยจากฝุ่นแร่ใยหินรวมทั้งเฝ้าระวัง

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน