2 เครือข่ายแรงงาน เสนอกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ต้องฉบับเดียว

2015-11-01 14.25.42

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) จัดแจงไม่เห็นด้วยกับมติ คณะทำงานร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน หลังมติเสนอแยกแรงงานเอกชนกับรัฐวิสากิจ

วันอาทิตย์ที่ 1พฤศจิกายน 2558 โรงแรมบางกอกพาเลส ห้องเพชรบุรี ชั้น 2 เขตราชเทวี กรุงเทพ จัดโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้จัดเสวนา “ทำไมร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับแก้ไขใหม่ต้องเป็นฉบับเดียว”

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคสรท.กล่าวว่า การร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของขบวนการแรงงานก็ต้องการที่จะให้กฎหมายนั้นออกมาคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้สิทธิการรวมตัว และการร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ครั้งนี้แม้ว่าทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจะมีตัวแทนเข้าไปร่วมร่างกฎหมายกับกระทรวงแรงงานแต่ว่าไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน ด้วยยังมีการแบ่งแยกแรงงานเอกชน ออกจากแรงงานรัฐวิสาหกิจ โดยยังคงเป็นกฎหมายคนละฉบับ ฉบับทางสรส. และคสรท.จึงมีมติในการที่จะให้ตัวแทนของทั้ง 2 องค์กร ได้เสนอให้ตัวแทนลาออกจากคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงานชุดดังกล่าว ด้วยไม่เห็นประโยชน์ต่อการรวมตัวเพื่อการสร้างความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็ง

นายโรเบิร์ต ไพค๊อฟสกี้ ผู้อำนวยการโซลิดาริตี้ประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานขององค์กรเป็นการส่งเสริมให้แรงงานในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิแรงงานระดับสากล คือสิทธิการรวมตัว และเจรจาต่อรองอย่างมีเสรีภาพ ซึ่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องปราศจากการแทรกแซงจากนายจ้างและรัฐ เพราะเสรีภาพและสิทธิดังกล่าวคงไม่มีนายจ้างคนไหนต้องการให้มีการรวมตัวเจรจาต่อรองของลูกจ้างจะส่งผลต่อการที่นำมาด้านสิทธิและสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนงาน ซึ่งการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของคนงานจะส่งผลต่อนายจ้างที่ตัองแบ่งปันผลประโยชน์ของนายจ้าง การที่ภาครัฐออกกฎหมายที่แบ่งแยกแรงงานเอกชน กับรัฐวิสากิจนั้นเพราะว่าไม่ต้องการให้แรงงานรวมตัวที่เข้มแข็งต่อรองผลประโยชน์กับรัฐจนส่งผลกับนายทุน หากคนงานไม่มีการรวมตัวต่อรองไม่มีอำนาจในการต่อรองอย่างแท้จริง อำนาจความมั่งคั่งของนายทุนที่มีอยู่ราว 1% ก็จะคงความมั่งคั่งเช่นเดิม การที่คนรวยเขัามามีอำนาจทางการเมืองการออกกฎหมายที่ทำให้อำนาจคนตัวเล็กตัวน้อยไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างคนงานทำให้คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น และแรงงานก็ไร้อำนาจต่อรอง การต่อสู้วันนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องทางอำนาจ จึงต้องถามว่าคนงานต้องการอะไรและทำอย่างไรให้คนงานมีสิทธิมีเสียง มีอำนาจในการต่อรอง คนงานยังต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างความเท่าเทียมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อคนงาน และไม่เห็นด้วยกับเศรษฐกิจที่เอารัดเอาเปรียบ

จากนั้นได้มีการเสวนาเรื่อง ทำไมต้องเป็นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียว โดยมี นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. นายบัญฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. และศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2015-11-01 14.24.26
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ กล่าวว่าทำไมรัฐต้องการที่จะให้มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2 ฉบับ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518 เป็นการเอื้อให้เกิดการรวมตัวของแรงงานในระดับ สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน และสภาองค์การลูกจ้าง ซึ่งมีแรงงานรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมในการตั้งสภาองค์การลูกจ้างและสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง และเมื่อมีการรัฐประหารของรสช.ก็มีการออกกฎหมายยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ออกร่างพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจมาใช้แทน ซึ่งยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการลูกจ้าง มีการตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ แต่ละกิจการรัฐวิสาหกิจ และมีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจมาขับเคลื่อนหลังจากนั้นเพื่อการยกเลิกพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ได้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 มาแทน ซึ่งต่างกับแรงงานสัมพันธ์ 2518 คือการตั้งสหภาพต้องเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจได้สหภาพเดียว และพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นสมาชิกได้เพียง 1 สหภาพเท่านั้น ความหมายการนัดหยุดงานถูกกำหนดไว้ว่า การที่ลูกจ้างตกลงไม่ทำงาน เฉื่อยงานและส่งผลให้งานรัฐวิสาหกิจได้รับผลกระทบกระทำไม่ได้ ไม่ว่าจะตกลงกันไม่ทำงานด้วยเหตุใดก็จะโดนข้อหานัดหยุดงาน เหตุที่ไม่มีการนำกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียวกันเพราะต้องการแบ่งแยกรัฐวิสาหกิจกับเอกชน การรวมตัวของรัฐวิสาหกิจมีการกำหนดอัตราสมาชิกขั้นต่ำว่าต้องไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 25 ของลูกจ้างทั้งหมดไม่นับลูกจ้างชั่วคราว
เป็นเหตุผลทางการเมืองที่รัฐมองว่ารัฐวิสาหกิจมีอำนาจต่อรองมากกว่า และการมองเชิงกิจการที่รัฐวิสาหกิจเป็นของรัฐไม่เหมือนเอกชนที่มีการแสวงหากำไร การบริหารต่างกันกับเอกชนเหตุผลที่ว่ารัฐวิสาหกิจมีการคอรัปชั่น และขาดทุนตลอดเวลาควรมีการแปรรูป หรือปฎิรูปใหม่ ช่วงรสช.ที่มีการแบ่งแยกทำให้ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม ซึ่งส่งผลต่อการรวมตัวของแรงงานเอกชนในระดับสหพันธ์แรงงาน และสภาองค์การลูกจ้าง ที่มีรัฐวิสาหกิจไปหนุนการรวมตัวอยู่ สิ่งที่แบ่งแยกของรสช.ที่ประสบผลสำเร็จเพราะความแตกแยกของขบวนการแรงงานเองด้วยในส่วนของแรงงานเอกชน และแรงงานรัฐวิสาหกิจที่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกออกของกฎหมายด้วย
นายสาวิทย์ แก้วหวาน กล่าวว่าความพยายามที่จะแบ่งแยกคนงานให้แตกแยกกัน เป็นการแบ่งแยกแล้วทำลาย เราก็ต้องรวมตัวกันภายใตัแนวคิดกรรมกรทั้งผองพี่น้องกัน ถามว่ามีแนวคิดการแบ่งแยกกฎหมายหรือไม่ ก็มีด้วยมองว่ากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518 ใช้มานานและไม่ทันสมัย แต่หลักคิดส่วนใหญ่ต้องการให้มีการรวมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว มีการค้นคิดร่วมกันว่าต้องมีการทำให้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีการร่างใหม่เพื่อให้ทันสมัยมากขึ้นมีการร่วมกันร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับสีม่วงร่วมกันเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันทั้งแรงงานเอกชน และรัฐวิสาหกิจฉบับเดียวกัน
การที่รัฐวิสาหกิจมีการใช้กฎหมายคนละฉบับทำให้เกิดแนวคิดของพนักงานรัฐวิสาหกิจบางส่วนที่มองว่าแยกกันก็ดี มีความชัดเจนด้านการรวมกลุ่ม แต่ตนเองและรัฐวิสาหกิจบางส่วนที่กว่า 50%ที่มีแนวคิดที่จะรวมตัวกันของแรงงานเข้าด้วยกัน การที่รัฐวิสาหกิจทำงานปฏิสัมพันธ์กันรัฐ และฝ่ายบริหารต่อสู้ต่อรองกับรัฐ ทำให้รัฐวิสาหกิจถูกแบ่งแยกกันออกไปเช่นกันทั้งด้านการปรับค่าจ้างเงินเดือน สวัสดิการ และตอนนี้ก็มีการแทรกแซงสูงจากผู้บริหาร อำนาจการต่อรองไม่มีทำให้เกิดการย่อยสลายการรวมตัวอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเพราะมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์นายทุน และนักการเมือง การที่มีแนวคิดตัังบรรษัทเข้ามาจัดการ ปฎิรูป 12 องค์กรรัฐวิสากิจที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการแปรรูปแบบไม่ให้มีสหภาพแรงงาน นี่ก็เป็นแนวคิดหลังการทำให้ขบวนการรวมตัวของรัฐวิสาหกิจอ่อนแอ ตอนนี้สมาชิกก็ลดลงเหลือเพียง 2 แสนคน
เหตุผลที่ต้องอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน เพราะรัฐวิสาหกิจไม่ควรอยู่กันแบบโดดเดี่ยวแล้ว ต้องมีการทำงานร่วมกันและร่วมกันเป็นขบวนการแรงงาน เพราะตอนนี้การที่เกิดการแบ่งแยกทำให้ความอ่อนแอในขบวนการแรงงานเกิดขึ้นขาดอำนาจต่อรอง การเรียกร้องของขบวนการแรงงานมีอะไรสำเร็จบ้าง ทั้งการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ98 ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ของขบวนการแรงงานที่ร่วมกันล่าลายมือชื่อเสนอ และกลายเป็นร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับบูรณาการ ที่รัฐยังคงมองใหัแบ่งแยกกัน
2015-11-01 14.24.59
นายชาลี ลอยสูง กล่าวว่า ขบวนการแรงงานก็มีการวิวัฒนาการในการแก้ไขกฏหมาย มีการร่างกฎหมายร่วมกัน วิวัฒนาการกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518ที่มี หากต้องการแก้ไขต้องมีการนำหลักการแรงงานของอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่87 และ98 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน และมีการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับขบวนการแรงงานเล่มสีม่วง และเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร 2540มีการให้สิทธิประชาชนเสนอกฎหมายได้ด้วยการล่าลายมือชื่อ ก็มีการล่าลายมือชื่อช่วงนั้นเพื่อเสนอกฎหมาย และช่วงปี 2546 ก็มีการประสานงานสภาองค์การลูกจ้างทุกกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งก็มีการร่วมร่างพระราชบัญญัติแรงงานฉบับใหม่ของขบวนการแรงงานที่รวมแรงงานทุกกลุ่มทั้งแรงงานเอกชน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานรัฐวิสาหกิจโดยใช้หลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และมีการล่าลายมือชื่ออีกครั้งเป็นร่างกฎหมายฉบับบูรณาการ และตกไป
เมื่อคสช.เข้ามาก็มีการนำร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ซึ่งเป็นส่วนราชการเข้าไปพิจารณา ซึ่งทางคสรท.ก็ยื่นค้านและให้นำมาบูรณาการใหม่เพราะว่าร่างของขบวนการแรงงานไม่ได้เข้าไปพิจารณา ทางคสช.ได้ส่งร่างกลับมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อให้มีการร่างแบบมีส่วนร่วมโดยตนได้เข้าไปทีส่วนร่วมโดยเอาร่างของกระทรวงแรงงานเป็นตัวตั้ง ซึ่งตนมองว่าต้องมีส่วนขององค์กรแรงงานอื่นเข้าร่วมร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ด้วย มีตัวแทนแรงงาน 6 คน ตัวแทนรัฐวิสาหกิจ 2 คน แต่กลุ่มลูกจ้าง 6 คนมี 2 คนที่เอาด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับบูรณาการ มีความขัดกันเองมีการมองว่าแรงงานนอกระบบไม่ควรอยู่ในกฎหมายมองว่าไม่มีนายจ้าง ถามว่าคนทำงานคือใคร และวันนี้มีการแยกกฎหมายรัฐวิสาหกิจออกไปมีการขอมติมีตนคนเดียวที่ยืนว่าต้องรวมกันอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียว ตัวแทนรัฐวิสาหกิจมองว่าหมวดสวัสดิการจะเป็นอย่างไร เพราะว่ารัฐวิสาหกิจมีสวัสดิการที่ดีกว่า ซึ่งตนมองว่าสามารถแยกเป็นหมวดๆได้ไม่จำเป็นต้องมีสวัสดิการแบบเดียวกันก็ได้ ต้องปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ก่อน ทางสภาองค์การลูกจ้างก็มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของตนเองอีกฉบับเช่นกัน และตอนนี้มีการประชุมผ่านไปแล้ว 3 ครั้งแล้ว ซึ่งมติสำคัญคือการแยกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ออกเป็น 2 ฉบับแยกแรงงานเอกชนกับแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกันเหมือนเดิม และยังมีการตั้งข้อสังเกตุต่อนิยามที่เรียกคนทำงาน
2015-11-01 14.23.54
ทั้งนี้ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง 6 คน ประกอบด้วย นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย นายบรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย นางสาวอัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นายบุญจันทร์ เจริญรัมย์ ฝ่ายกฎหมายสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจที่รัฐบาลพยายามแบ่งแยกแรงงานออกจากกันเพราะหากมีการรวมกันของแรงงานก็จะมีพลังอำนาจต่อรองสูง ด้วยการที่ถูกแบ่งแยกก็จะเห็นว่าแรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง ข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อรัฐก็จะเห็นว่ารัฐไม่ตอบสนอง การแบ่งแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์2518 แม้ว่ารัฐวิสาหกิจมีสิทธิในการรวมตัว แต่สิ่งที่รัฐวิสาหกิจไม่มีคือสิทธิการเจรจาต่อรอง ตั้งแต่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ปี 2543 แม้ว่ารวมตัวได้แต่ก็เหมือนคนไม่มีหัวใจคืออำนาจในการต่อรองการยื่นข้อเรียกร้องหัวใจคือต้องต่อรองกับผู้บริหารซึ่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีอำนาจในการอนุมัติเรื่องการเงิน สิ่งที่ผู้บริหารให้ได้คือต้องไม่เกี่ยวกับการเงิน และคนที่อนุมัติเรื่องการเงินคือครม. และครม.ก็ไม่ให้รัฐวิสาหกิจต่อรอง ทำให้สิทธิลูกจ้างรัฐวิสาหกิจจึงไม่เท่ากับลูกจ้างเอกชน และการที่แบ่งแยกสิทธิเพราะมีสภาพการการจ้างงานคนละประเภท ที่ต่างกันหรือ มีนายจ้างที่ต่างประเภทกันหรือ รัฐวิสาหกิจรับรู้ไหมว่าคุณไม่มีสิทธิต่อรองที่ต้องการปรับสภาพการจ้าง ความเป็นหนึ่งเดียวกันคือสิทธิของชนชั้นกรรมาชีพ ความเป็นชนชั้นที่ใช้แรงงานหาเลี้ยงตัว คนที่ทำงานเหล่านี้เป็นชนชั้นแรงงานทั้งสิ้น และต้องได้รับหลักประกันด้านสิทธิที่เท่ากันทั้งสิ้น และไม่มีประเทศไหนที่สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันทั้งสิ้นหากคนคิดเหมือนกันรวมตัวกันรัฐก็จะมีปัญหาทางการปกครอง การที่ขบวนการแรงงานชนะตอนนี้เป็นการสะสมความพ่ายแพ้มาก่อนทั้งสิ้น แต่ต้องต่อสู้อย่างเป็นขบวน หากองค์กรใดหยุดอยู่กับที่ก็จะไม่เป็นขบวนการแรงงาน จึงตัองมีโจทย์ในการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นขบวนเป็นเอกภาพ
เรื่องการออกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518  ภาคของการคุ้มครองแรงงานคือรัฐเป็นการคนเข้าไปทำให้ จัดให้ เช่นการจัดหางานให้ คุ้มครองเจรจาให้ การที่มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เป็นการรวมกลุ่มเพื่อที่จะจัดการด้านสิทธิสวัสดิการเองด้วยการเจรจาต่อรอง และช่วงที่ร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีการถกกันเรื่องการรวมตัวของรัฐวิสาหกิจว่าไม่ควรใช้กฎหมายฉบับเดียวกับเอกชนมาแต่อดีตแล้ว แต่ด้วยบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยช่วงนั้นก็ทำใหักฎหมายแรงงานสัมพันธ์ออกมาได้สิทธิการรวมตัวแต่ก็มีการผูกขาดไว้ด้วยการรวมตัวได้แต่ห้ามนัดหยุดงาน และต่อมาก็มีการห้ามเจรจาต่อรอง และตั้งได้เพียงสมาคมลูกจ้าง ในช่วงของปี 2534  และเมื่อปี 2543 การแบ่งแยกชัดเจนด้วยกฎหมาย และรัฐวิสาหกิจไม่มีสิทธิในการเจรจาต่อรอง ตนเห็นว่าแรงงานคือมนุษย์ก็ต้องมีสิทธิเทียบเท่ากันทุกคน เมื่อมีสิทธิเท่ากันก็ควรมีการรวมตัวและเจรจาต่อรองได้เช่นเดียวกันอย่าติดว่าเพียงเพราะว่าเรามีอย่างอื่นต่างกัน เช่นการจ้างงานต่างกัน นายจ้างต่างกัน ประเภทงานไม่เหมือนกัน หากใช้ทฤษฎีมาจับรัฐเป็นของใครรัฐจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองควบคุมแรงงานไม่ให้มีการเป็นปรปักษ์กับนายจ้าง และรัฐเองจะเป็นตัวที่ได้เชิญนายทุนมาลงทุน ด้วยการลดภาษี การไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง รัฐมองแค่ว่าให้แรงงานอยู่ได้เท่าที่อยู่ได้ และคาดว่าการลงทุนต้องได้กำไรไม่มีผลกระทบต่อการลงทุน ไม่มีการชุมนุม เรียกร้อง นัดหยุดงานเป็นต้น อย่าไปหลงทะเลาะกันว่านายจ้างต่างกัน สวัสดิการต่างกันต้องไม่รวมกลุ่มเดียวกัน

ต่อมาได้มีการแถลงข่าวและขอมติให้ตัวแทนของคณะกรรมการสมานฉันท์และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ถอนตัวจากการเป็นคณะทำงานร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์กระทรวงแรงงานด้วยมติเป็นเอกฉันท์

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน