2 องค์กรแรงงาน ออกโรงป้อง 7 คนนักสู้รถไฟ ยื่นบอร์ดให้ยุติการหักเงิน พร้อมคืนสิทธิ

2 องค์กรแรงงานออกโรงป้อง 7 คนนักสู้รถไฟ ยื่นบอร์ดให้ยุติการหักเงิน พร้อมคืนสิทธิ

วันนี้ (17 เม.ย.62) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ (ALCT) นำโดยนายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานฯ กับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายลาเร่ อยู่เป็นสุข เลขาธิการฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายกุลิศ  สมบัติศิริ ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย(ประธานบอร์ด) เรื่อง ขอให้ยุติการการบังคับคดีกับผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) โดยมีนายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า เป็นผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย มารับหนังสือ

โดยนายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาฯกล่าวว่า  จากสถานการณ์ ปี 2552 ตามที่ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) ได้มีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยเมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขบวนรถไฟตกราง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนเป็นเหตุมีมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของรถจักรที่ใช้ทำขบวน ซึ่งผลจากการสอบสวนภายในที่การรถไฟฯตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเอง รวมทั้งคำพิพากษาของศาลแล้ว อันนี้ทางสภาฯก็เข้าใจว่าทางการรถไฟเองก็ไม่ได้เลิกจ้างผู้นำแรงงานทั้ง 7 คน แต่ว่าก็ยังไม่ได้คืนสิทธิให้ทั้งหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ผู้นำสหภาพรถไฟทั้ง 7 คนจ่ายค่าเสียหายให้แก่การรถไฟฯเป็นเงินจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จ ซึ่งปัจจุบันรวมเป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาท และทราบว่าภายหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมา

การรถไฟฯได้เริ่มดำเนินการบังคับคดีหักเงินจากผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟฯทั้ง 7 คนแล้ว นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จากจำนวนยอดเงินตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงินที่สูงมากโดยจำนวนเงินที่ต้องถูกหักชดใช้ค่าเสียหายต้องใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะครบตามจำนวน ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาและครอบครัว ซึ่งผู้นำบางคนขณะนี้ได้เกษียณอายุแล้วและต้องเอาเงินยังชีพ(บำนาญ)หลังเกษียณมาชดใช้ค่าเสียหายทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก โดยทางสภาฯ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 73 สหภาพแรงงาน 73200 คนอยากให้ทางการรถไฟฯให้ความเป็นธรรมกับผู้นำแรงงานทั้ง 7 คน ได้โปรดพิจารณาดำเนินการงดการบังคับคดี ยุติการหักเงินชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด และคืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ออกจากงานให้แก้ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟทั้ง 7 คนด้วย

 

ด้านนายลาเร่ อยู่เป็นสุข เลขาธิการคสรท. กล่าวว่า ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประกอบด้วย สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ มาร่วมกับทางสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ครั้งนี้ เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องขอให้พิจารณาคืนสิทธิต่างๆให้กับทางคุณสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ และผู้นำแรงงานรวม 7 คน ซึ่งอยากให้มองถึงผลกระทบกับทางครอบครัวคนงานรถไฟที่ต้องถูกหักเงินเดือน และบำนาญชราภาพไป

ด้วยคนเหล่านี้ถือว่ามีคุณูปราการต่อการรถไฟฯเนื่องจากทำงานมานาน และการเรียกร้องของพวกเขาก็เพื่อสร้างความปลอดภัยของการเดินทางของประชาชนและคนทำงาน ซึ่งทางการรถไฟก็ได้มีการปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ทางคสรท. จึงอยากให้ทางการรถไฟยุติการดำเนินการหักเงินผู้นำแรงงานรถไฟทั้ง 7 คน ด้วยทราบมาว่าบางท่านเหมือเงินเดือนใช้เพียง 300 บาทเท่านั้น อยากให้คิดถึงครอบครัวเขาด้วยว่าจะอยู่อย่างไร ท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้ฝ่ายใต้เงินเดือน 300 บาท

ในส่วนของ นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการฯ กล่าวถึงการดำเนินการของการรถไฟฯว่า ทางการรถไฟฯไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นดังกล่าว มีการประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน ตอนนี้รอข้อมูลจากฝ่ายกฎหมายอยู่ และคิดว่าอีกไม่นานน่าจะได้ข้อมูล เพื่อสรุปร่วมกัน ซึ่งในส่วนของคุณสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯก็ตามทุกครั้งที่ประชุมในคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งทางผู้บริหารก็เข้าใจถึงความเดือดร้อนของพนักงานทั้ง 7 คนอยู่ คิดว่าอีกไม่นานนาจะมีทางอกร่วมกัน การมาของขบวนการแรงงานทุกท่านวันนี้ก็ถือว่าเป็นตัวเร่งที่จะให้ทางการรถไฟต้องรีบดำเนินงาน

ทั้งนี้ทางสภาฯยานยนต์ ฯยังมอบดอกไม้ให้กับผู้บริหารการรถไฟฯ และมอบเงินช่วยเหลือครอบครัว 7 ผู้นำสหภาพแรงงานด้วย

นักสื่อสารแรงงานรายงาน