17 ปีกับการผลักดันการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยเป็นองค์กรอิสระ

ลำดับ 17 ปีที่มากับการมีส่วนร่วมกันผลักดันการจัดตั้งองค์กรอิสระ : สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

                                                                                                                      โดย สมบุญ สีคำดอกแค

                                           ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย /8 ตุลาคม 2553

ปี พ.ศ.2536 เป็นปีที่เกิดโศกนาฎกรรมโรงงานตุ๊กตาไฟไหม้ บริษัทเคเดอร์อินดัสเตรียลไทย จ.นครปฐม ที่มีพี่น้องคนงานเสียชีวิตในระหว่างทำงานถึง 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกสาเหตุเพราะโรงงานเร่งแต่ผลผลิตและกำไร ไม่เคยใส่ใจเหลียวแลเรื่องสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ขณะเดียวกันก็เกิดการรวมกลุ่มผู้ป่วยโรคบิสซิโนซิส ปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายจากการทำงานรวมตัวกันเป็นสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  มีคนป่วยเข้ามาเป็นสมาชิกมากมายหลายโรคหลายอุตสาหกรรม ต่างมีปัญหาว่าพอป่วยแล้ว ถูกนายจ้างปฏิเสธการเจ็บป่วย  มีการบีบและปลดคนป่วยออกจากงานด้วยวิธีการต่างๆ เมื่อเข้าไปขอใช้สิทธิตามกฎหมายเงินทดแทนก็มีปัญหามาก   กองทุนเงินทดแทนจะวินิจฉัยว่าคนงานที่มีใบรับรองแพทย์ว่าเจ็บป่วยจากการทำงาน ว่าไม่ป่วยเนื่องจากการทำงาน คนงานที่ป่วยจึงต้องต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมกับกองทุน ส่วนคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เจ็บป่วยจากการทำงาน  ก็ถูกนายจ้างฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของกองทุนเงินทดแทน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯต้องรับเรื่องราวร้องทุกข์คนงานหลายร้อยคน และมีคดีที่ต่อสู้กันในศาลแรงงานกว่า 100 คดี คนงานที่เจ็บป่วยจากการทำงานในขณะนั้น ขาดที่พึ่งและต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว  จำได้ว่าตอนนั้นที่กลุ่มผู้ป่วยเรามีมติเข้าร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจน โดยการแนะนำของที่ปรึกษาคุณจะเด็จ เชาว์วิไล  และได้รับการประสานจากที่ปรึกษาให้ไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสุขภาพความปลอดภัย ที่สำนักกลางคริสเตียน  ก็ได้พบกับพี่อรุณี ศรีโต พี่ทวีป กาญจนวงศ์ อาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ เป็นครั้งแรกส่วนท่านอื่นๆที่จำไม่ได้ต้องขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ด้วย  ได้มีการพูดคุยกันถึงปัญหาคนงานที่เจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานที่มีจำนวนมาก จึงร่วมกันคิดค้นหาวิธีที่จะป้องกัน ก็ได้รูปแบบของการผลักดันให้เป็นองค์กรอิสระ เพื่อการคุ้มครองส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยของคนงาน คือควรที่จะมีการป้องกันมากกว่าการแก้ไขที่ปลายเหตุ  โดยจะผลักดันให้เป็นกฎหมาย ท่านอาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษรได้กรุณานำร่างกฎหมาย มาเป็นต้นร่างให้ทุกคนช่วยกันพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม  หลังจากนั้นเราก็ได้นำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามาประชุมกันในกรรมการสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ และสมาชิกผู้ป่วยเพื่อรับรู้ร่วมกัน สมาชิกทุกคนมีความพร้อมใจกันอย่างยิ่งเพราะไม่อยากเห็นคนงานคนอื่นๆต้องมาเจ็บป่วยและมีปัญหาการเรียกร้องสิทธิเหมือนตัวเอง เมื่อการชุมนุมครั้งใด สมาชิกสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯทุกคนก็ได้นำเงินที่ได้จากค่าทดแทนการเจ็บป่วย มาลงขันเพื่อตั้งเป็นกองทุน ไว้ช่วยเหลือคนงานที่เจ็บป่วยรวมทั้งการต่อสู้ทางกฎหมายและการขับเคลื่อนข้อเรียกร้องการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย

สำหรับการประชุมในวงของที่ปรึกษาสมัชชาคนจนที่เป็นหลักขณะนั้นก็จะมี พี่มด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) อาจารย์ชัยพันธ์ ประภาสะวัตร  คุณบุญเลิศ  วิเศษปรีชา คุณธีรวัจน์ นามดวง คุณนันทโชติ ชัยรัตน์  คุณบารมี ชัยรัตน์ คุณจะเด็จ เชาว์วิไล  พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล  ดร.วรวิทย์  เจริญเลิศ และอาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร ทุกท่านก็กรุณามาเข้าร่วมประชุมใน ที่ชุมนุมของสมัชชาคนจนด้วยไม่ว่าจะค่ำมืดดึกดื่นเพียงใด ไม่ว่าจะร้อน จะหนาวหรือฝนตก และร่วมการเจรจากับรัฐบาลทุกครั้ง  ซึ่งที่ปรึกษาทุกท่านช่วยพวกเราอย่างเต็มที่ ต่อเนื่องจนถึงวันที่ คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการให้ตั้งองค์กรอิสระสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการยกร่างซึ่งพวกเราก็ได้เชิญผู้นำท่านอื่นๆเสนอชื่อร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย คณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีองค์ประกอบดังนี้ 

1.รัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงานนายเอกพร รักความสุข  เป็นประธานกรรมการ

2.อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รองประธานกรรมการ

3.ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิฑูร รองประธานกรรมการ

4.ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นายนคร ศิลปะอาชา กรรมการ

5.เลขาธิการสำนักงาน กพ. กรรมการ

6.เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ        กรรมการ

7.ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือ ผู้แทน กรรมการ

8.อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หรือ ผู้แทน กรรมการ

9.อธิบดีกรมอนามัย หรือผู้แทน กรรมการ

10.อธิบดีกรมโรงงานหรือผู้แทน กรรมการ

11.เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม หรือผู้แทน กรรมการ

12.อธิบดีกรมบัญชีกลาง หรือผู้แทน กรรมการ

13.รองคณะบดีสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์ กรรมการ

14.ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย หรือผู้แทนกรรมการ

15.สภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน กรรมการ

16.นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ฯกรรมการ

17.นางวันเพ็ญ ภูตาโก กรรมการสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ฯ     กรรมการ 

18.นางสิริรัตน์ แป้นพรหม กรรมการสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯกรรมการ

19.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข กรรมการ

20.นายจะเด็จ เชาว์วิไล     มูลนิธิเพื่อนหญิง                กรรมการ

21.นพ.ชโลธร โลเจริญกุล  สมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ กรรมการ

22.นพ.อุษณากร อมาตยกุล สมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ กรรมการ

23.พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล  คลินิกอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รพ.ราชวิถี กรรมการ

24. นายบุญเลิศ วิเศษปรีชา  กองเลขาและปรึกษาสมัชชาคนจน  กรรมการ

25.นางสาวธีรนาถ กาญจนอักษร คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ

26.นางสาวอรุณี ศรีโต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสุขภาพความปลอดภัย  กรรมการ

27.นายธีรวัจน์ นามดวล  ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน  กรรมการ

28.รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายวงศ์ จั่นทอง        กรรมการและเลขานุการ

29.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      กรรมการและเลขานุการ

30.ผู้อำนวยการสถาบันความปลอดภัยฯ    กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

31.ผู้อำนวยการกองกฎหมายและข้อพิพาทแรงงานฯกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

32.นายทวีป กาญจนวงศ์   คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสุขภาพความปลอดภัย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

มีการประชุมอย่างเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง ทุกคนทุ่มเทกลับดึกๆดื่นๆ ทั้งประชุมในวงของกรรมการสมาชิกสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย วงประชุมที่ปรึกษาและวงประชุมคณะกรรมการยกร่าง  กว่าจะได้ ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ฉบับที่สมบูรณ์ก็ต้องใช้เวลากันทีเดียว  ในระหว่างที่สมัชชาคนจนชุมนุมเจรจากับรัฐบาล มีเพื่อนกรรมการอีกคนที่เสียสละ เช่น คุณบุญเลิศ วิเศษปรีชา ที่ทุ่มเทมาช่วยทำข้อมูลให้สภาเครือข่าย ฯ บางวันเรากลับดึกๆดื่นๆ แต่เช้ามืดก็ต้องวิ่งเอาเอกสารไปถ่ายเพื่อเข้าเจรจากับรัฐบาลเป็น 100 ชุด สมาชิกคนป่วยทุกคนที่ร่วมประชุมเจรจาด้วยกันกว่าจะกลับก็ดึกดื่นค่อนคืน บางคนก็เป็นลมในนั้นเพราะบรรยากาศทั้งร้อนทั้งเครียดแต่ทุกคนก็อดทน

 ต่อมาเมื่อกฎหมายไม่ถูกเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี จึงมีการจัดประชุมใหญ่ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์โดยมี  7สภาแรงงานเข้าร่วมประชุมและมีมติร่วมกันที่จะใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย  สำหรับสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯก็ได้ลงพื้นที่ต่างๆในสมัชชาคนจนไม่ว่าจะเป็นที่  ปากมูล ราศีไสล  และที่อื่นๆโดยใช้เงินจากกองทุนที่ผู้ป่วยที่ร่วมลงขันบริจาคเพื่อทำกิจกรรม  ช่วงนั้นก็ได้คุณวิจิตร พรมุลาผู้ป่วย กับ คุณจรรยา บัวศรี ตอนนั้นเธออยู่มูลนิธิเพื่อหญิง เหมารถคุณมั่น ชำนาญลงพื้นที่กันเพื่อขอสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ไปแต่ละครั้งบางทีก็ออกต่างจังหวัดถึง 10 วันติดต่อกัน  โดยดิฉันต้องทิ้งลูกสาวที่ยังเล็กไว้กับคนป่วยอย่าง พี่จำปี มณีสวัสดิบ้าง พี่พิณมณีบ้าง เพราะพ่อเขาก็ต้องทำงาน  ส่วนกองเลขาที่รวบรวมรายชื่อจะอยู่ที่คลินิกแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รพ.ราชวิถีที่มีคุณหมออรพรรณ์  เมธาดิลกกุลรับผิดชอบ แต่พอเข้าชื่อครบ 50,000 รายชื่อ ก็ได้พี่น้องแรงงานกลุ่มย่านอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ ปทุมธานี สระบุรี สมุทรปราการ ประมาณ 200 คน ช่วยกันนำ แบบเสนอเข้าชื่อไปมอบให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 พฤษภาคม 2542  ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ไทยก็ว่าได้ที่ร่างกฎหมายประชาชนเข้าสู่สภาเป็นฉบับแรกในสมัยนั้น  แต่ก็ยังไม่เสนอกฎหมายเข้าสู่สภาฯ เพราะเมื่อมีการออกกฎหมายลูก ได้กำหนดให้มีสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนแนบไปด้วย

การยื่นข้อเรียกร้องในนามสมัชชาคนจนทำมาโดยตลอดแต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าเกี่ยวกับการตั้งสถาบันฯ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตลอด ในส่วนกระทรวงแรงงาน ก็มีร่างกฎหมายตัวเองมาประกบตลอด ทำให้ร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยฯไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ได้ จนในสมัยที่คุณลดาวัลย์ วงศศรีวงศ์เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงาน จึงได้มีการเจรจาและมีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อบูรณาการร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเพื่อเป็นร่างเดียว จึงกลายมาเป็นร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการ)

ปี 2545 สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ทำข้อเรียกร้องข้อต้นๆของแรงงานกับรัฐบาลโดยเฉพาะในวันแรงงาน และทุกวันที่ 10 พฤษภาคม  คือ เรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ(ฉบับบูรณาการ)  แต่ต่อมากระทรวงแรงงานก็เสนอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ประกบกับ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ (ฉบับบูรณาการ) มาปี 2550 คณะสมานฉันท์แรงงานไทยจึงได้มีมติเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550เพื่อเสนอกฎหมาย โดยให้สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อน การเข้าชื่อต้องใช้ระยะเวลาเกือบ 3 ปี ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายกว่าจะครบ 10,000 รายชื่อในปี 53 ซึ่งก็ครบหลังกฎหมายเข้าสู่สภาแล้ว  การเข้าชื่อต้องทำด้วยความยากลำบากมาก  เพราะสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ เองก็ขาดแคลนงบประมาณ ที่จะใช้ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากในการดำเนินการ เช่น ค่าถ่ายเอกสาร ค่าเดินทาง หรืองบประมาณค่าประสานงาน ค่าเบี้ยเลี้ยงคนลงพื้นที่ ขณะที่งบกองทุนที่คนป่วยบริจาคก็หมดไปนานแล้ว  รายชื่อที่ได้รับการรวบรวมส่วนใหญ่แล้ว ได้มาจากกลุ่มคนงานในพื้นที่ของคุณบุญยืน สุขใหม่ กลุ่มแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก จ.ชลบุรี ที่ส่งมาอย่างสม่ำเสมอเกือบครึ่งหนึ่ง ของจำนวนทั้งหมดที่ได้รับการสนับสนุนมา 

ก่อนที่รายชื่อจะครบ 10,000 รายชื่อ สมัชชาคนจนได้เข้าเจรจากับรัฐบาลอีกครั้ง ดิฉันในฐานะประธานสภาเครือข่ายฯได้เข้าเจรจาร่วมกับคุณบุญยืน สุขใหม่ และพ่อครัวใหญ่คนอื่นๆกว่า 50คน ในข้อเสนอให้ตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และเรื่องอื่นๆ ก็ได้รับการติดต่อจาก อ.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท สส.พรรคประชาธิปัตย์  ในวันนั้นได้พาพวกเรามาเข้าพบกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข(นายวิทยา แก้วภาราดัย) ที่รัฐสภาเจรจาเรื่องขอให้ผลิตแพทย์เชี่ยวชาญสาขาอาชีวเวชศาสตร์และคลีนิกโรคจากการทำงานเพิ่ม  และอ.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ก็ยังได้แนะนำให้สภาเครือข่ายฯนำร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มายื่นให้ในวันหลังเพื่อ อ.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิทจะได้ขอแรงเพื่อน สส.เข้าชื่อสนับสนุน 20 รายชื่อ เสนอกฎหมายเข้าสภา  วันต่อมา ขณะที่เรากำลังรอ อ.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท  กันอยู่ 3-4 คน โดยมีดิฉัน คุณลิขิต ศรีลาพล คุณธฤต มาตกุลเจ้าหน้าที่ทั้งสอง คุณบุญยืน สุขใหม่ และคุณเขมทัศน์ ปานเปรม กองเลขาสมัชชาคนจนอยู่นั้น ก็เจอ สส.สถาพร มณีรัตน์ พรรคเพื่อไทย  เข้าโดยบังเอิญ(อดีตเป็นที่ปรึกษา รมช.ลดาวัลย์ วงศฺศรีวงศ์ (ที่ยกร่างสถาบันส่งเสริมฯฉบับบูรณาการ)ก็เลยเล่าให้ฟังเรื่องจะมายื่นกฎหมายกับ อ.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท สส.สถาพร มณีรัตน์ ก็เลยบอกว่าเอามาให้พี่เลย  พี่จะช่วยยื่นร่างกฎหมายให้อีกคนหนึ่ง ในนามพรรคเพื่อไทย  สส.สถาพร พูดว่า “พี่ก็ยังสงสัยว่าทำไมมันนานมากขนาดนี้  พี่เองก็ไม่ได้ติดตามมัวไปทำงานเรื่องเกษตร เอามาพี่จะช่วย”วันต่อมา ดิฉันเองก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณอรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน  ก็โทรมาว่าวันก่อนเจอคุณสถาพร มณีรัตน์  ในวง พ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้สมบุญ เอากฎหมายไปยื่นให้ ส.ส.สถาพร มณีรัตน์  และประกอบกับ  ช่วงวันที่ 8 กันยายน 2553สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯและคณะสมานฉันท์แรงงานไทยและพี่น้องแรงงานจาก สมุทรปราการ สระบุรี แรงงานสัมพันธ์ตะวันออก อยุธยา รังสิตปทุมธานี สระบุรี อ้อมน้อยอ้อมใหญ่ และองค์กรพัฒนาเอกชนฯ ได้ไปร่วมชุมนุมที่หน้าพรรคประชาธิปัตย์ประท้วงที่รัฐบาลทีนำร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯฉบับของกระทรวงแรงงานเสนอเข้าสภาฯ

นับว่ากระแสข่าวจากสื่อมวลชนต่างๆและพลังผลักดันเคลื่อนไหวของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกองค์กรทุกภาคส่วน ในช่วงนี้เอง และ การสนับสนุนจากแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน  ทำให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมเคลื่อนไหวกับสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯในสมัชชาคนจนมากขึ้น เช่น  เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   มูลนิธิเพื่อนหญิง   มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน  เครือข่ายภาคประชาชน กทม. ทำให้ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2552  พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ฉบับผู้ใช้แรงงาน ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระ 1 ไป รับร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัย ที่มี ผู้เสนอ 5 ฉบับรวมเป็น 7 ฉบับและจากการและพ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ที่เสนอโดย สส.รัชฎาภรณ์ และสส.สถาพร จึงทำให้ดิฉัน และ อ. วรวิทย์ เจริญเลิศ ได้ถูกเสนอชื่อแต่งตั้งจากสภาเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ร่วมกับกรรมาธิการท่านอื่นอีก 36 ท่าน ร่วมพิจารณา พ.ร.บ.ทั้ง 2 ร่างจนเสร็จสิ้นและผ่านเข้าสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระที่ 2 -3 ในวันที่ 22 กันยายน 2553 และเข้าวาระพิจารณารับหลักการของที่ประชุมวุฒิสมาชิกในวันที่ 4 ตุลาคม 2553

 ผลที่ได้ช่วยกันลงแรงร่วมพลังกันอย่างมากมายพร้อมเพียง จนทำให้ การจัดตั้งองค์กรอิสระสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยได้เข้าไปบรรจุอยู่ในหมวดที่ 6/1 มาตรา 51/1  และให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯขึ้นมาภายใน 1 ปี หลังกฎหมายประกาศใช้ แต่ขณะนี้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ฉบับที่มีการบรรจุการจัดตั้งสถาบันฯส่งเสริมความปลอดภัยนี้กำลังอยู่ในการประชุมพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อพิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 ตุลาคม 2553 เพื่อส่งให้สภาฯ มีมติรับรองอีกครั้ง  ดังนั้นสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯในฐานะองค์กรหลักที่รับผิดชอบร่วมกับทุกภาคี  มีความกังวลอยากจะเสนอผ่านสื่อมวลชนทั้งหลาย …ไปยังสมาชิกวุฒิสภา  ได้โปรดพิจารณาผ่านกฎหมาย  พ.ร.บ. ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเฉพาะหมวด 6/1 ทีมีการจัดตั้งองค์กรอิสระสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯด้วย

ทั้งนี้ผู้ร่วมผลักดันกฎหมายการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมระยะเวลาในการเรียกร้องผลักดัน ตลอดระยะเวลายาวนานถึง 17 ปี   เพื่อได้สืบสานเจตนารมณ์ของที่ผู้มีส่วนร่วมผลักดันหลายท่านที่ได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว  ทั้งผู้ป่วยจากการทำงาน เช่น คุณวัลลภ บุญที่สุด คุณไพรินทร์ สังข์รุ่ง  และท่านอื่นๆที่ไม่ได้เอ่ยนาม รวมทั้งที่ปรึกษาที่เป็นหลักสำคัญอย่าง ท่าน ศ.นิคม จันทรวิทุร ที่ดิฉันยังจำได้ดีวันสุดท้ายที่ได้เยี่ยมท่านที่ รพ. ท่านพูดว่า  ดีใจ คุณสมบุญ คุณทำดีแล้ว ขอให้ทำต่อไปนะ ท่าน อ.ธีรนาถ กาญจนอักษร  พี่มดวินิดา  ตันติวิทยาพิทักษ์ คุณนันทโชติ ชัยรัตน์  ที่ท่านหลังๆได้จากไปโดยไม่ได้สั่งลา  แต่ดิฉันเชื่อว่าหากดวงวิญญาณของท่านเหล่านี้ ถ้ายังวนเวียนอยู่ ท่านคงกำลังมองและรับรู้ และเอาใจช่วย……ในสิ่งที่พวกฉันและพี่น้องแรงงานและทุกภาคีกำลังต่อสู้เรียกร้องและปรารถนาซึ่งมันเป็นความหวังสุดท้ายที่  จะทำฝันร้ายที่ยาวนานนี้  ได้เปลี่ยนเป็นฝันดีที่เป็นความจริงสักที   และฝันจะลี่นนเป็นความจริงสักทีเป็นจริงได้หรือไม่นั้น…. ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ  ท่านสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน…….ในไม่กี่วันข้างหน้านี้…..ดิฉันในฐานะตัวแทนผู้ถูกผลกระทบ..ขอเถอะค่ะ….อย่าให้พวกเราต้องฝันร้ายต่อไปจนสิ้นลมหายใจเสียก่อนเลย

 เรารองมาฟังความในใจของพวกเขาที่เป็นผู้ป่วยจากการทำงาน  เจ้าขององค์กรสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ที่เล่าความรู้สึกกันบ้างนะคะว่า  ถึงวันนี้การเจ็บป่วยของพวกเขาพร้อม  กับ  การเรียกร้องสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ   เขามีความรู้สึกอย่างไร้บ้างกับ 17    ปี ของการต่อสู้เรียกร้อง 

นางเตือนใจ บุญที่สุดอายุ 48   ปี อยู่ ต.บางศรีเมือง จ.นนทบุรี  มีครอบครัวมีบุตร 2 คน เข้าทำงานที่ โรงงานทอผ้าปี 29 ถึงปี 33 มีอาการป่วยเหมือนๆกับเพื่อนคือไอมากมีเสมหะพันคออยู่ตลอดเวลารักษาทั้ง รพ.ของรัฐ  เอกชนและคลินิกที่ทางโรงงานจัดให้  อาการทรุดลงเรื่อยๆเหนื่อยหอบ หายใจติดขัดเป็นไข้บ่อยๆแล้วก็อ่อนเพลียมากๆ มีเพียงคุณหมออรพรรณ์ ที่ได้ช่วยชีวิตพวกเรา  และได้ใบรับรองแพทย์ให้พักรักษาตัว   ก็มีปัญหาตามมา    เพราะนายจ้างไม่ยอมรับการเจ็บป่วยและก็อยู่ในกลุ่มที่ถูกฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของแพทย์และกองทุนเงินทดแทนเข้ามารวมกลุ่มและลงเป็นกรรมการสหภาพ ต่อมาสามีของเราที่ป่วยเหมือนกันกับเราและกำลังเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ก็ถูกไล่ออก  เราทนไม่ไหวเพราะถูกบีบ จึงลาออกมาขายของหาเลี้ยงครอบครัว  สามีเราเขาก็เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันด้วยการมีที่ปอดเสื่อมสมรรถภาพและยังต้องมทุ่มเททำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ  ทำให้เรารู้สึกเคว้งคว้าง แต่ได้กลุ่มเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้มีกำลังใจและมีความมุ่งมั่น  เพื่อช่วยเหลือคนงานที่ป่วยคนอื่นๆ แล้วก็เริ่มสนับสนุนแนวคิด ที่จะเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันฯขึ้นมาดูแลลูกหลานแรงงานของเราในอนาคต เพราะมีสมาชิกคนป่วยมากมายทยอยมาให้สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ  ช่วยเหลือพวกเขา  แม้ปัจจุบันเราจะไม่ใช่คนขายแรงงานแล้วก็ตาม แต่จิตสำนึกเราไม่อาจอยู่นิ่งทนดูดายได้  พวกเราเข้าใจความรู้สึก  ทุกข์ร้อน  เจ็บป่วย และท้อแท้ ยามที่การเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ  โรคร้ายที่เรื้อรังรุมเล้า  กับ ปอดที่สูญเสียสมรรถภาพการทำงาน วันเวลาของการเรียกร้องต่อสู้ยาวนานร่วม 17 ปี  แล้ว  พวกเราก็ยังร่วมสืบสานเจตนารมณ์  ซึ่งขณะนี้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย  ดูใกล้จะเป็นจริง แต่พวกเราอาจอยู่ไม่ถึงวันแห่งความสำเร็จที่รอคอยก็ได้   เพราะพวกเราหลายคนเข้าสู่วัยชราภาพเต็มที่ (แก่ด้วยโรครุมเร้า) ต่างกับคนในวัยเดียวกันที่เขายังแข็งแรง  ก็อย่างที่สังคมได้รับรู้ และรู้จักพวกเราในนามสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ เหตุใดจึงมีแต่ป้าๆแก่ๆจะมาทรมานสังขารกันไปทำไม แต่ในใจพวกเรากับมีพลังสดใส ภูมิใจ  ดีใจว่า ความหวังการอุทิศแรงกาย  ใจ ทุนทรัพย์และสติปัญญาของพวกเราคนป่วยๆ ได้เป็นที่ยอมรับแก่สังคมมิได้สูญเปล่า และเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่ดูแลป้องกันทรัพยากรบุคคลของประเทศ เพราะนั่นคือเพื่อนพี่น้องลูกหลานผู้ใช้แรงงานของเรา  แม้พวกเราจะสิ้นลมไปจากภพนี้แล้ว  แต่พวกเราก็ได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มความสามารถ จนลมหายใจสุดท้ายจะมาถึง

นางสาวพิณมณี สายค้ำ  อายุ 68 ปีบ้านเดิมอยู่ราชบุรี ปัจจุบันอาศัยอยู่กับน้องสาว  ที่เตาปูน ทำงานทอผ้ามา 29 ปีแผนกปั่นด้ายเริ่มเจ็บป่วยปี 36 สิ้นสุดการรักษาปี 39 แพทย์ประเมินการสูญเสีย 11  ปีได้สิทธิจากเงินทดแทน 5 ปีที่มาเข้ากลุ่มผู้ป่วย  เพราะเมื่อเจ็บป่วย นายจ้างไม่ยอมรับการเจ็บป่วย เอารายชื่อไปฟ้องศาล จึงต้องมาต่อสู่ในกลุ่ม ที่ต้องเรียกร้องให้จัดตั้งสถาบันฯเพราะสงสารคุณหมออรพรรณ์ เมธาดิลกกุลโดนโจมตีต่อต้านจากนายจ้าง จึงอยากให้เกิดสถาบันฯมีแพทย์เชี่ยวชาญ วินิจฉัยโรคได้เยอะ และผู้เชี่ยวชาญ มารองรับแก้ไขปัญหาป้องกันคนงานไม่ให้เจ็บป่วย  ในความหวังขณะนั้นคิดว่าคงเป็นความจริงได้แค่ 50% เท่านั้นแต่มีความชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ  เพราะสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยเริ่มมีการขยายกลุ่ม มีเครือข่าย ปัจจุบันรู้สึกดีใจภูมิใจมาก  ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องมาตลอด ตอนนี้ตัวเองลำบากมาก อยากให้รัฐมาช่วยเหลือดูแลคนเจ็บป่วยอย่างเราที่ต้องต่อสู้กับชะตากรรมและการรอคอยคดีที่นานแสนนาน

นางสาวจรรยา สุขใหญ่ อายุ 66 ปี   เดิมอยู่ที่โคราชตอนนี้อาศัยที่เขาอยู่ เป็นบ้านเพื่อนที่ปลูกไว้ เขาก็ตายจากไปแล้วลูกหลานเขาก็เลยให้อาศัยอยู่ต่อไป ทำงานที่โรงงานทอผ้าตั้งแต่ปี 07 แผนกต่อด้ายห้องทอ ลาออกมาปี 38 อายุการทำงาน 30ปี   เริมป่วยปี 37  แพทย์สิ้นสุดการรักษาปี 39  ที่ต้องมารวมกลุ่มเพราะร่วมต่อสู้  ที่โรงงานมาฟ้องว่า  ฉันไม่ป่วยจากการทำงาน แรกๆไม่ค่อยรู้จักการเรียกร้องสถาบันฯ  รู้แต่ว่าถ้ามี  จะเป็นประโยชน์กับคนงานรุ่นหลังๆ  ตนเองไม่ได้มุ่งหวังอะไรมากว่า จะเป็นไปได้  แต่ก็อยากสนับความคิดเพื่อนๆ

นางอุไร ไชยุชิต อายุ 53 ปี  บ้านเดิมอยู่ที่ ชัยภูมิปัจจุบัน   อยู่บ้านพักทหาร  แถวราชวิถีเข้าทำงานปี 20 ออกมาปี 50รวมทำงานมานาน 30 ปี  อยู่แผนกปั่นด้ายประจำเครื่องรีด  การเจ็บป่วยนายจ้างไม่ยอมรับเลยมารวมกลุ่มสู้คดีกับนายจ้าง ได้กำลังใจจากกลุ่มและเพื่อนๆ  บางครั้งก็มีท้อแท้บ้าง  แต่ก็ได้กำลังใจ ได้คำปรึกษาแนะนำให้ต่อสู้ต่อไป  จึงอยากให้มีสถาบันฯ  เพื่อรองรับ  หวังมาตลอดว่าจะต้องเกิดขึ้นได้ หากเรายังรวมพลังเรียกร้องกัน  ปัจจุบันก็ดีใจ ที่มีข่าวความคืบหน้า และฝากว่าผู้ที่มีหน้าที่ จะเข้าไปในองค์กรสถาบันฯขอให้มีจิตสำนึก  มีความเข้าใจคนเจ็บป่วย ที่ทุกข์ยากลำบาก

นางปิยวดี ภิภพสมบูรณ์ อายุ 61 ปี  ลาออกจากงานเพราะนายจ้างไม่ยอมรับความเจ็บป่วย  ทำงานมานาน 22 ปี 6 เดือนป่วยตั้งแต่ปี 37  สิ้นสุดการรักษาปี 38 เข้ากลุ่มเพราะนายจ้างไม่ยอมรับใบรับรองแพทย์   ไม่ให้ลาหยุดงาน และถูกฟ้องอีก  ว่าไม่ป่วยจากการทำงาน ทางกลุ่มเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันอิสระ ก็เลยร่วมเรียกร้องด้วยเพื่อจะได้มีองค์กร  มาป้องกันไม่ให้คนงานมาป่วยแล้วต่อสู้ลำบากอย่างพวกเรา อยากให้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่คนงาน  ผู้ด้อยโอกาส และดูแลองค์กรสถาบันฯให้ดีๆต่อไป

นางกรชนกภรณ์ ทองตุ้ม อายุ 58  ปี อาศัยอยู่บ้านพักคนงานกับสามี   ที่ จ.นครปฐม  ทำงานในโรงงานตั้งแต่ปี 19 ลาออกปี 39แพทย์ประเมินการสูญเสียปอดให้ 7ปี  แต่ได้สิทธิเงินทดแทนการสูญเสียอวัยวะ แค่ 5 ปี  เข้ามาเป็นกรรมการเพื่อได้กำลังใจจากเพื่อนๆให้ต่อสู้ชีวิต  สู้กับโรคร้าย   เพราะตอนป่วยท้อแท้มากๆ จนรู้สึกว่าเรารอดตายมาได้  เพราะมีกำลังใจจากเพื่อๆในกลุ่ม การเจ็บป่วยโรงงานไม่ยอมรับและถูกบีบต่างๆนาๆ  ตอนนี้มีความภูมิใจ  ที่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯที่กลุ่มเรียกร้องมานานถึง 17ปี  กำลังจะสำเร็จเพื่อมาทำหน้าที่ป้องกันคนงานอื่นๆต่อไป

นางศรีเพชร ชมชื่น อายุ 60 ปี  ทำงานตั้งแต่ปี 19  ลาออกมาปี 47 เป็นผู้ป่วยโรคบิสซิโนซิส ปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย เข้าร่วมกลุ่มเพราะต่อสู้คดีกับนายจ้าง  เมื่อเรียกร้องสถาบันฯ  จะได้มีองค์กรมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูแลคนงานและโรงงานให้ปลอดภัย คนงานจะได้ไม่ป่วยแบบพวกเรา อยากให้รัฐดูแลคนป่วยจากการทำงาน ให้ดีๆอย่าทิ้งขว้างแบบพวกเราอีกเลย

นางสาวสุรีรัตน์  อยู่รอบเรียง อายุ 59  ปี ทำงานปี 15 –ปี 45 ออกงาน รวมการทำงานนาน 30 ปี  เป็นคน จ.บุรีรัมย์  ป่วยตั้งแต่ปี 36 สิ้นสุดการรักษาปี 38 การเข้ามารวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งรองประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ในสมัชชาคนจน คิดว่าถ้าอยู่สู้คนเดียวไม่ดีแน่ นายจ้างจะไม่ยอมรับ แล้วยังส่งฟ้องศาลอีก และการรวมกลุ่ม  ทำให้เป็นพลัง เหตุกลุ่มเรียกร้องให้มีสถาบันฯ  เพื่อดูแลคนงานป้องกันสิ่งแวดล้อมในโรงงานให้ดี  มีสภาพที่ปลอดภัย เราคิดว่าน่าจะประสบผลสำเร็จเพราะนานมากแล้วถึง 17ปีแล้วเราดีใจ ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเคลื่อนไหวและมีคืบหน้า  ทุกวันนี้เราจะใช้ชีวิตโดยเอาธรรมะมารักษาจิตใจ ตลอด  เงินเก็บก็หมดไป  ต้องขายที่ทางมาไว้กิน  และเป็นค่ารักษาตัวอยู่ขณะนี้   

นางบุญส่ง พิมพ์สวัสดิ์ อายุ 53  ปี   เข้างานปี 19  โดนปลดออกจากงานปี 3   7แพทย์ตีว่าสูญเสียการทำงานของปอด 14 ปี แต่สิทธิแค่ 5  ปี  รวมกลุ่มเพื่อจะได้รับการแก้ไขปัญหาเพราะช่วงนั้นเดือดร้อนมาก ไม่อยากให้คนงานรุ่นหลังเจอปัญหาเลวร้ายอย่างพวกเรา  แล้วคนป่วยก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย  และมาเข้าใจเรื่องสถาบันฯที่ทางกลุ่มเรียกร้องเพื่อคนข้างหลัง ได้มีระบบระวัง แก้ไขปัญหา ใหม่ๆก็ไม่แน่ใจว่าการเรียกร้องสถาบันฯจะเป็นจริงขึ้นมาได้หรือไม่  มีแต่ความหวัง จนถึงวันนี้รู้สึกดีใจภูมิใจ ที่เราเป็นกรณีตัวอย่างของการต่อสู้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในสังคม  ต่อไปถ้าประชาชนสุขภาพดี ประเทศก็จะเจริญมั่นคง การป้องกันจะดีกว่าการเยียวยา เพราะจะไม่ต้องสูญเสียงบประมาณและสูญเสียสุขภาพ

……………………………………………………………………………………………………………………………………..