100 ปีสตรีสากล33องค์กรเสนอผู้หญิงทำงานต้องมีคุณชีวิตที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2554 ณ,ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่าย 33 องค์กรประกอบด้วย 33 องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง และองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้มีการจัดเสวนาขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อแสดงถึงการให้ความสนใจในการครบรอบ 100 ปีสตรีสากลที่จะครบรอบในวันที่ 8 มีนาคม 2554 นี้ในการเสวนาในครั้งนี้ได้เรียนเชิญ ฯพณฯอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาเป็นกล่าวเปิดงานด้วย
 
ครั้งนี้ทางกลุ่มได้เสนอข้อเรียกร้องเพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันต่อรัฐบาลในโอกาส 100 ปีวันสตรีสากล ต่อหน้านายกรัฐมนตรีซึ่งมีใจความว่า “ ผู้หญิงทำงาน ต้องการคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน เพื่อผู้หญิง และทุกคน”
 
1.  ผู้หญิงทำงานทุกกลุ่ม ต้องได้ทำงานในระบอบสามแปดที่เป็นจริง โดยมีระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นจากเกิดจนตาย ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ ลูกจ้างภาครัฐ หญิงบริการ แรงงานเกษตรและประมงเพราะค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมและไม่เพียงพอ ทำให้คนทำงานหญิงส่วนใหญ่ต้องอดทนทำงานเกินวันละ 8 ชม.
 
-ให้แรงงานหญิงเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 60 ปี
 
-ยอมรับหญิงบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตรและประมง เข้าสู่ระบบประกันสังคม
โดยรัฐบาลช่วยส่งเงินสมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ให้มีระบบบำนาญประชาชน และให้รัฐตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการสุขภาพ แก่คนอาชีพบริการ โดยหักจากภาษี ธุรกิจบันเทิง และการท่องเที่ยว
 
-ต้องมีมาตรการเด็ดขาดห้ามการเลิกจ้างคนท้อง ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ราคาถูกกระจายทั้วถึงในชุมชน โรงงานหน่วยของรัฐและบริษัทเอกชน และจัดเสริมเจ้าหน้าที่บริการดูแลให้สอดคล้องกับเวลาของผู้หญิงทำงานอย่างจริงจัง
 
-รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา ในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงานเพราะการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก 
โดยให้พ่อมีสิทธิลางานดูแลลูกและแม่หลังคลอดบุตรเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง
 
2. ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิง อย่างมีคุณภาพวันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในอัตราสูง ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ถ้ามีระบบการตรวจสุขภาพที่ครบถ้วน มีคุณภาพ บริการฟรีหรือราคาถูก และเข้าใจผู้หญิง
 
-ส่งเสริมการแพทย์ที่ป้องกันความปลอดภัย และดูแลรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงานจนถึงระดับสถานีอนามัย เพื่อคุ้มครองดูแลโรคภัยต่อระบบอนามัยเจริญพันธุ์ จากสารเคมีภาคเกษตร
 
3. การคุ้มครองดูแลผู้หญิงจากทัศนคติ “เหมารวม” และ “เลือกปฏิบัติ” ต่อผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นกรณีตั้งท้องไม่พร้อม ความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศและถูกข่มขืน การส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาศักยภาพ-ความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน กระบวนการยุติธรรมที่มีอคติทางเพศ ตลอดจนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ
 
4.ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจและวางแผนทุกระดับ เช่น คณะกรรมการไตรภาคี กรรมการองค์กรอิสระ และ การมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นทุกระดับ
 
นี่คือข้อเสนอของกลุ่มสตรีทั้ง33องค์กร ที่มีต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้นำไปพิจารณาและดำเนินการในปีพ.ศ.2554 นี้..
 
 
ทวี  ประดับศรี นักสื่อสารแรงงานศูนย์สมุทรปราการ   รายงาน