10 พ.ค.ขบวนการแรงงานยื่นรัฐเร่งส่งเสริมนโยบายความปลอดภัย

วันความปลอดภัยแห่งชาติ  ขบวนการแรงงานจับมือรัฐ จัดรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 188 ศพ เพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ผู้ช่วยรมว.แรงงาน เน้นนายจ้างร่วมกันดูแลคนงาน ย้ำเครื่องจักรเสียซ่อมได้  ชีวิตคนเสียซ่อมไม่ได้ 

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ ที่ จังหวัดนครปฐม วันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 188 ศพ และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน ซึ่งนับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนั้น ซึ่งทำให้คนงานเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ในปีนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และอีกหลายองค์กรได้จัดงาน "วันความปลอดภัยแห่งชาติ "ขึ้น ณ สำนักความปลอดภัย อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(ส่วนแยกตลิ่งชัน)เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยมีผู้ประกอบการ คนงานและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมงานจำนวนมาก 
 
นายอนุสรณ์  ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดงานวันความปลอดภัยแห่งชาติในครั้งนี้ว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้รับเกียรติให้เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่อยู่ไม่ใกล้และไม่ไกลย้อนหลังกลับไป เมื่อ 19 ปีก่อน เหตุที่เกิดวันนั้นความสูญเสียชีวิต 188 ศพ 

บาดเจ็บหลายร้อยคน จนมาถึงทุกวันนี้ก็ยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ถังเก็บสารเคมีระเบิดที่นิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เนื่องจากขาดการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดในส่วนของผู้ประกอบการณ์ คนงาน อยากฝากถึงผู้ที่มาร่วมงานในวันนี้ว่า ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญถ้าไม่ประมาท และช่วยกันป้องกันอย่างจริงจังทั้งผู้ประกอบการ คนงาน รวมทั้งภาครัฐ ต้องร่วมแรงร่วมใจกันในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นอีก และหวังอย่างยิ่งว่า 1ปีนับจากนี้ จะไม่ได้ยินข่าวอุบัติเหตุร้ายเกิดขึ้นกับโรงงานและคนงานอีก อยากจะมอบรางวัลความปลอดภัยในสถานประกอบการนั้น ๆ แทน อยากเห็นแต่ลูกจ้าง นายจ้างมีความสุข และท้ายที่สุดนี้ ตนอยากเน้นย้ำว่าชีวิตคนสำคัญที่สุด เครื่องจักรเสียซ่อมได้  แต่ชีวิตคนเสียซ่อมไม่ได้
 
ต่อมา ประธานในพิธีได้มีการมอบประกาศนียบัตรด้านความปลอดภัยให้กับสถานประกอบการด้านความปลอดภัยดีเด่น และผู้ที่สนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ด้วย 
 
ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายต่างได้จัดงานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีการจัดนิทรรศการความปลอดภัย บูทเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายชนิดต่าง ๆ ชีวอนามัย ความปลอดภัยในการทำงาน  การแสดงถึงวิธีการกูภัย การแสดงละครประกอบบทเพลงคิดถึงตุ๊กตา โดยกลุ่มวัฒนธรรมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และการสัมมนาด้านความปลอดภัย โดยในช่วงเช้าได้จัดให้มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานในทุกกรณีด้วย
 
ในการจัดงานครั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยนำโดยนายชาลี ลอยสูงประธาน(คสรท.) ได้ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลผ่านผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ในการมีนโยบายที่ชัดเจนต่อการคุ้มครองแรงงานให้เกิดความปลอดภัยจากการทำงานในอุตสาหกรรมอันตรายในประเทศไทย 

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กล่าวว่า แม้ว่าภาครัฐจะได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 สิงหาคม 2540 ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เรื่อง “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี”เป็นวาระแห่งชาติ 16 กรกฎาคม 2554 มีการบังคับใช้พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ตลอดจนการจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ (พ.ศ. 2555 – 2559)  กล่าวได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในมาตรา 44 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นมาตรการและแนวทางหลากหลายของกระทรวงแรงงานที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน 
 
เมื่อมาพิจารณาจากจำนวนอุบัติเหตุและมลพิษที่เกิดขึ้นจำนวนมากในสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ และอื่นๆ ได้สร้างความเสียหายให้แก่ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการที่ต้องสูญเสียชีวิต อวัยวะ ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากสารเคมี กระบวนการผลิต และมลพิษของสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ  อีกทั้งลูกจ้างหรือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต้องประสบความล่าช้า และความไม่เป็นธรรมในการได้รับการช่วยเหลือ เยียวยาและยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิอีกจำนวนมาก
 
เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ 10 พฤษภาคม 2555 จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานดำเนินการอย่างเร่งด่วน กำหนดให้มีมาตรการและกลไกการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานที่ชัดเจน ดังนี้
 
(1) รัฐบาลต้องทบทวนและเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งเสริมการลงทุน จากการใช้แรงงาน “ค่าจ้างถูก ทักษะต่ำ และผลิตภาพแรงงานต่ำ” มาสู่การพัฒนาที่เน้นการนวัตกรรม การแข่งขันด้วยคุณภาพแรงงาน และการพัฒนาทักษะแรงงาน ซึ่งความปลอดภัยในการทำงานถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของนโยบายอุตสาหกรรมและการส่งเสริมการลงทุนของรัฐ

(2) กระทรวงแรงงานต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมีมาตรการลงโทษสถานประกอบการที่ฝ่าฝืนละเลยการดูแลแรงงานให้เกิดความไม่ปลอดภัยในระหว่างการทำงาน 
 
(3) กระทรวงแรงงานต้องตระหนักถึงความสำคัญและการวางแนวปฏิบัติของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นสถาบันที่มีความเป็นอิสระ และมีทรัพยากรมากพอ ที่จะทำให้สามารถดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน และเรื่องอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพ ทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
 
(4) กระทรวงแรงงานต้องมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการสร้างความร่วมมือประสานงาน ตลอดจนการประชุม ปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานในพื้นที่ เพื่อรับทราบสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงและการแสวงหาหนทางและการป้องกันตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุ เพราะสหภาพแรงงานถือเป็นกลไกสำคัญในการทำงานด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานกับแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการแต่ละแห่ง โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายแก่แรงงานในพื้นที่ 
 
(5) กระทรวงแรงงานต้องยกเลิกกฎหมาย นโยบาย หรือแนวปฏิบัติทุกฉบับที่ทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และต้องส่งเสริม สนับสนุน มีมาตรการและกลไกที่ทำให้แรงงานสามารถเข้าถึงความปลอดภัยในการทำงานอย่างแท้จริง
 
กระมนต์  ทองออน นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าวแรงงานสมุทรปราการ เขตพื้นที่ชลบุรี – ระยอง รายงาน