10 ปี ข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย : ถดถอย หรือ ก้าวหน้า?????

P5010210

ยงยุทธ เม่นตะเภา บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

16 มีนาคม 2546 ถือได้ว่าเป็นวันเปิดตัวคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน คสรท.เป็นพื้นที่การรวมตัวขององค์กรแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานกว่า 34 องค์กร และองค์กรสมาชิกสหภาพแรงงาน 207 องค์กร โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรณรงค์ประเด็นปัญหาแรงงานที่เป็นปัญหาร่วมของแรงงานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการรณรงค์เชิงนโยบาย  การยื่นข้อเรียกร้อง และติดตามความก้าวหน้าของข้อเรียกร้องต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในสังคมระหว่างผู้ใช้แรงงานกับรัฐและทุน งานหนึ่งที่สำคัญของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี คือ การจัดงานวันกรรมกรสากล (1 พฤษภาคมของทุกปี) และการยื่นข้อเรียกร้องประจำปี ร่วมกับองค์กรเครือข่ายแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อีกไม่กี่วันจะครบรอบ 10 ปี ของการจัดงานวันกรรมกรสากล ที่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการแยกจัดงานจากสภาองค์การลูกจ้างต่างๆที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดงานจากกระทรวงแรงงาน ในนามของ “คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ” ทั้งนี้งบประมาณที่ คสรท. และองค์กรเครือข่ายใช้ในการจัดงานมาจากวิธีลงขันบริจาคจากองค์กรสมาชิกใน คสรท.และองค์กรร่วมจัดงาน (ยกเว้นเพียงปี 2553 ที่ คสรท. และ สรส.ตัดสินใจร่วมจัดงานวันกรรมกรสากลกับ 12 สภาองค์การลูกจ้าง และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เพื่อรวมพลังเรียกร้องรัฐบาลเร่งให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และจุดเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2554 ที่ในตอนแรกก่อนเดือนเมษายน คสรท. และ สรส. ได้เข้าร่วมประชุมกับสภาองค์การลูกจ้างมาตลอด แต่พอมีมติให้จัดประกวดเทพธิดาแรงงานในวันที่ 1 พฤษภาคม ทาง คสรท. และสรส. จึงถอนตัวจากการจัดงานดังกล่าว) ประเด็นสำคัญที่ คสรท. มีการแยกจัดงานจากสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ที่คงเน้นเพียงกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน คือ ต้องการสื่อสารต่อสาธารณชนให้เห็นปัญหาผู้ใช้แรงงาน ที่ในรอบปีที่ผ่านมาวิถีชีวิตของแรงงานจำนวนมหาศาลยังถูกขูดรีด เอารัดเอาเปรียบจากรัฐและทุน ถูกเลือกปฏิบัติจากนโยบายเศรษฐกิจด้านการลงทุนของรัฐ ต้องเผชิญกับรายได้ต่ำ ไร้สิทธิ ไร้โอกาส ไร้อำนาจ และไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นกระบวนการลดทอนความเหลื่อมล้ำและหยุดยั้งความอยุติธรรมที่ถั่งโถมสู่ผู้ใช้แรงงาน คือ การที่รัฐต้องเปิดโอกาสให้แรงงานได้รวมตัว-เจรจา-ต่อรองอย่างเสมอภาค และนั่นถึงนำมาสู่การเข้าถึงสิทธิแรงงานและความเป็นธรรมที่แรงงานพึงได้รับอย่างแท้จริง

เพื่อให้เห็นพัฒนาการและความเคลื่อนไหวของข้อเรียกร้องที่ทาง คสรท. ร่วมด้วย สรส. และองค์กรเครือข่ายแรงงานได้ยื่นต่อรัฐบาลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นประโยชน์ต่อการติดตามข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงานต่อไป บทความนี้จะนำเสนอใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

(1) จุดเริ่มต้นวันกรรมกรสากลในประเทศไทย: จากชิคาโกถึงวังสราญรมย์และสวนลุมพินี

(2) เปิดข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ปี 2547-2556: 10 ประเด็นสำคัญในรอบ 10 ปี

P5010430P5010065

(3) 5 ข้อเรียกร้องที่เสนอมาตลอด 10 ปี ดูเหมือนว่าจะ “ก้าวหน้า” แต่แท้จริง “ถดถอย”

 จุดเริ่มต้นวันกรรมกรสากลในประเทศไทย : จากชิคาโกถึงวังสราญรมย์และสวนลุมพินี

แน่นอนการจัดงานวันกรรมกรสากลหรือวันแรงงานแห่งชาติในประเทศไทย ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งเริ่มหลังจากที่เกิดเหตุการณ์จลาจลที่ “เฮย์มาร์เก็ต” ไปถึง 60 ปี

“จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต” ณ ที่แห่งนี้ คือ ที่มาของวันกรรมกรสากล ที่ประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่ต่างยึดถึงวันดังกล่าวเป็นวันรำลึก เพราะย้อนไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 (หรือ พ.ศ. 2429) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สหพันธ์แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่ และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง “ระบบสามแปด” คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การประท้วงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองชิคาโกที่บริเวณจัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต

ล่วงมาถึง ค.ศ. 1889 (พ.ศ.2432) ซึ่งในขณะนั้นการนัดหยุดงานของคนงานในแทบทุกกิจการอุตสาหกรรมได้ขยายไปทั่วโลก จึงทำให้ในที่ประชุมสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส จึงมีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันกรรมกรสากล” เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ “เฮย์มาร์เก็ต” และการตระหนักร่วมกันถึงคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานทั่วโลกที่ยังถูกกดขี่จากรัฐและทุนอยู่ และรวมถึงการเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่เป็นธรรม

สำหรับในประเทศไทยแล้ว มีการจัดงานวันกรรมกรสากลครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพร่วมกับสมาคมไตรจักร์

ปีต่อมา พ.ศ. 2490 การชุมนุมวันกรรมกรสากลมีขึ้นที่สนามหลวง ในปีนี้ถือเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพไทยครั้งใหญ่ที่สุด เพราะมีการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย”

P5010097

แต่แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจโดยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และได้ห้ามจัดงานวันกรรมกรสากล ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้เริ่มต้นอย่างชัดเจนในการเข้ามาแทรกแซงการรวมตัวของกรรมกร โดยรัฐบาลได้จัดตั้ง “สหบาลกรรมกรแห่งประเทศไทย” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมกรรมกรไทย” และ “สมาคมแรงงานเสรีแห่งประเทศไทย” โดยให้เงินสนับสนุนและจัดหาสำนักงานให้ จากจุดนี้จึงทำให้กรรมกรเกิดความแตกแยก และในที่สุดสมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเป้าหมายของการทำลายก็ล่มสลายลงในที่สุด

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.2499 ได้มีผู้นำกรรมกรหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองคนงาน กลุ่มนี้รวมตัวกันในนาม “กรรมกร 16 หน่วย” เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อให้กรรมกรตั้งสหภาพแรงงานได้ จนในที่สุด 1 มกราคม พ.ศ. 2500 ประเทศไทยก็มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับแรก รวมทั้งในปีนี้รัฐบาลยังได้เปลี่ยนชื่อจาก “วันกรรมกรสากล” เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ”

แต่กรรมกรมีโอกาสได้เฉลิมฉลองดีใจกันไม่นาน 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การเคลื่อนไหวของกรรมกรกลับเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง ผู้นำกรรมกรจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง

จนกระทั่ง พ.ศ.2517 หลังยุคเบิกบานประชาธิปไตย รัฐบาลโดยกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย จึงได้กลับมาจัดงานวันแรงงานแห่งชาติขึ้นอีกครั้งที่สวนลุมพินี เน้นการเฉลิมฉลอง ทำบุญตักบาตร การแสดงนิทรรศการความรู้และกิจกรรมของแรงงาน ตลอดจนมีการอภิปรายต่างๆ รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กล่าวคำปราศรัยแก่ผู้ใช้แรงงาน

P5010453P5010441

ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้น การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจึงอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานฯมาโดยตลอด ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา กระทรวงแรงงานได้จัดสรรงบประมาณประจำปีสนับสนุนการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติแก่คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปีละ 1.6 ล้านบาท และในปี 2555 สูงถึง 5.1 ล้านบาท ส่วนปี 2556 รวม 3.5 ล้านบาท

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2489 จนถึงปัจจุบัน 67 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันกรรมกรสากลของไทยถูกแทรกแซงจากรัฐบาลมาโดยตลอด เนื้อหาและรูปแบบของการจัดงานเน้นไปในเรื่องกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน เช่น แข่งขันกีฬา ตอบปัญหาชิงรางวัล การแสดงดนตรีจากนักร้องชื่อดัง มากกว่าการสะท้อนปัญหาและวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน และการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันที่ 1พฤษภาคม ก็เป็นเพียงพิธีกรรมประกอบงานให้สมบูรณ์เพียงเท่านั้น

เปิดข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ปี 2547-2556 : 10 ประเด็นสำคัญในรอบ 10 ปี

นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (2556) นับได้ว่าเป็นเวลา 10 ปีพอดี ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดงานวันกรรมกรสากลที่แยกออกมาจากคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ

แน่นอนข้อเรียกร้องแต่ละปีมีทั้งความเหมือนและความต่างจากคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ เช่น ข้อเรียกร้องหนึ่งที่เหมือนกันทุกปีของทั้ง 2 ฝ่าย คือ การให้รัฐรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และการยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้ง คสรท. และคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ต่างก็ต้องเผชิญกับบริบทและสถานการณ์แวดล้อมเดียวกัน ความต่างอาจอยู่เพียงที่ว่า “ฝ่ายหนึ่งรับทุนกระทรวงแรงงานมาจัดงาน แต่อีกฝ่ายสมาชิกลงขันบริจาคเงินกันเอง”  ดังนั้นข้อเรียกร้องแต่ละปีๆจึงมีทั้งต้อง (ยอม) ประนีประนอมกับรัฐและทุน กับการแข็งขืนต่อต้านไม่สยบยอม นำเสนอต่อสาธารณชนไปพร้อมๆกัน (นี้ไม่นับในบางปีมีการเดินขบวนสวนทางกันอีก)[1]

P5010297P5010361

ตัวอย่างที่ประจักษ์ชัด เช่น ในปี 2550 ฝ่ายคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ เสนอให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับที่ไม่มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่ปีเดียวกันนี้เอง คสรท.เสนอให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ที่ระบุถึงเรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯอย่างชัดเจน

หรือในกรณีเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม ในปี 2549 คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อในแต่ละจังหวัด แต่ คสรท.กลับเสนอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม โดยยึดหลักมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กำหนดไว้วันละ 233 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อมาพิจารณาข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระหว่างปี 2547-2556 พบว่ามีลักษณะสำคัญ 10 ประการ ดังนี้

(1)     ข้อเรียกร้องของ คสรท. มีที่มาจากสถานการณ์ของวิกฤติปัญหาที่แรงงานต้องเผชิญวิกฤติซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละปี และความเข้มข้นของวิกฤติปัญหาดังกล่าว เป็นที่มาของข้อเรียกร้องข้อแรกของ คสรท. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นๆสถานการณ์ปัญหาเด่นสุดที่ผู้ใช้แรงงานเผชิญคือเรื่องใด (ยกเว้นเพียงปี 2554 ซึ่งจะอธิบายต่อไป) ส่วนข้ออื่นๆในลำดับถัดมาเป็นข้อเรียกร้องเชิงประเด็นติดตามจากปีที่แล้วมากกว่า ได้แก่

1. ปี 2547 รัฐบาลเร่งรีบนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ….. ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จงใจทำลายสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานของคนงานทุกประเภท ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรกในปีนี้ คือ ให้รัฐบาลรับร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ …….ฉบับขบวนการแรงงาน[2]

2. ปี 2548 รัฐบาลมีการประกาศแนวนโยบายเรื่องการแปรรูปการประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค และการนำบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) เข้าไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีการยกร่างพรบ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ….เพื่อเสนอต่อครม.พิจารณา ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรก คือ ให้รัฐบาลหยุดการขาย หรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่สำคัญต่อการดำรงชีพของประชาชน ไปขายในตลาดหลักทรัพย์ ให้กับนายทุนไทยและนายทุนข้ามชาติ

3.ปี 2549 ปีนี้พบว่าเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง น้ำมัน และสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงมากจากปีที่ผ่านๆมา ค่ารถโดยสารขยับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรก คือ ให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน4. ปี 2550-51 มีสถานการณ์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการเลิกจ้างแกนนำและสมาชิกสหภาพแรงงาน จำนวนมาก เช่น กรณีการเลิกจ้างประธานและแกนนำสหภาพแรงงานบริษัทซัมมิท เอ็นจีเนียริ่ง เซ็นเตอร์ จำกัดอ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งๆที่ในขณะนั้นธุรกิจยานยนต์มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรกของทั้ง 2 ปี จึงคล้ายคลึงกัน คือ ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ … (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) ในปี 2550 กับ ให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียว ในปี 2551

P5010152

5. ปี 2552 -2553 เกิดสถานการณ์คล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง คือ วิกฤติการณ์เศรษฐกิจทุนนิยมโลก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงมายังผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย ทั้งการเลิกจ้าง การลดเวลาการทำงาน การใช้มาตรา 75 ในการจ้างงาน อีกทั้งนายจ้างที่ไร้มนุษยธรรมได้ฉวยวิกฤตการณ์เศรษฐกิจนี้เป็นข้ออ้างของเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน ภายใต้เป้าหมายในการคุกคามสหภาพแรงงานและสิทธิแรงงาน ดังที่เกิดขึ้นกับคนงานบริษัทเวิร์ลเวลการ์เม้นท์, สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย), สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออนอิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด, สหภาพแรงงานแคนนาดอล ประเทศไทย, สหภาพแรงงานคาวาซากิยานยนต์แห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานเอ็นทีเอ็นนิเด็ค ประเทศไทย, สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย ฯลฯ  ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรกของ คสรท.ใน 2 ปีนี้ คือ ให้กระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีปัญหา เพื่อตรวจสอบปัญหาที่แท้จริง และหากมีสาเหตุจากวิกฤตทางเศรษฐกิจจริงก็ให้หามาตรการในการช่วยเหลือในการฟื้นฟูที่เหมาะสมต่อไป

6. ปี 2554 ข้อเรียกร้องข้อแรกของ คสรท.ในปีนี้ คือ รัฐต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งจะเห็นได้ว่าปีนี้เป็นปีแรกที่ คสรท. ไม่ได้ใช้สถานการณ์ปัญหานำขึ้นมาชูเป็นประเด็นข้อเรียกร้อง ทั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นผลมาจากการที่คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เห็นชอบการดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 และรัฐบาลได้นำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนตามมาตรา 190 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในช่วงต้นปี 2554 รวมถึงในช่วงปลายปี 2553 ต่อด้วยต้นปี 2554 คสรท., สรส. รวมถึงสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ได้รวมตัวกันในนาม “คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98” และมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว

7ปี 2555 เป็นปีที่นโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ได้ถูกใช้ใน 7 จังหวัดแรก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน แม้ว่าจะทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้นจากเดิม แต่ก็ยังพบว่าแรงงานจำนวนมากไม่ได้รับประโยชน์จากค่าจ้างที่ปรับขึ้น เพราะค่าครองชีพได้กลับพุ่งสูงขึ้นตามการปรับค่าจ้าง โดยเฉพาะราคาสินค้าอุปโภคบริโภค แทนที่แรงงานจะมีกำลังซื้อมากขึ้นแต่กลับซื้อของได้น้อยลง ดังนั้นทำให้ในปีนี้ คสรท.จึงมีการนำเสนอข้อเรียกร้องที่แบ่งเป็น 2 เรื่องอย่างชัดเจน คือ ข้อเรียกร้องเร่งด่วน กับข้อเรียกร้องติดตาม โดยข้อเรียกร้องเร่งด่วนข้อแรก คือ รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาอาหาร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การสนับสนุนงบประมาณสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการลดค่าครองชีพ ส่วนข้อเรียกร้องติดตามข้อแรก คือ รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98

8ปี 2556  ข้อเรียกร้องของ คสรท.ยังคงแบ่งเป็น 2 เรื่อง ดังเช่นในปี 2555 คือ ข้อเรียกร้องเร่งด่วน กับ ข้อเรียกร้องติดตาม โดยข้อเรียกร้องเร่งด่วนข้อแรกในปีนี้ คือ รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 ส่วนข้อเรียกร้องติดตาม คือ การกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน รวมทั้งการเสนอให้รัฐทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี พ.ศ. 2557 และ

ปี พ.ศ. 2558 กล่าวได้ว่าตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาบริหารประเทศ ความชัดเจนของรัฐบาลต่อการรับรองอนุสัญญากลับไม่ปรากฏท่าทีที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเพียงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 เท่านั้น ที่กระทรวงแรงงานมีการจัดทำเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาคเพียงเท่านั้น ทั้งๆที่ประเด็นนี้ผู้ใช้แรงงานทั้ง คสรท. และคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติได้เรียกร้องมาโดยตลอด

P5010189P5010186

นอกจากนั้นแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท เมื่อ 1 มกราคม 2556 ได้มาพร้อมกับสถานการณ์ที่นายจ้างใช้ข้ออ้าง 300 บาท มาเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในหลายพื้นที่ อีกทั้งมีการเปลี่ยนสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นคุณ ทั้ง “วีณาการ์เม้นต์” จ.สระบุรี  “มาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์แอนด์เท็กไทล์” จ.นครปฐม “แอร์โร่เวิร์ค เอเชีย” จ.ชลบุรี  “อีเลคโทรลักซ์” จ.ระยอง “เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย” จ.ระยอง “ลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย”
จ.ปทุมธานี “เอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง” กรุงเทพฯ

(2)     ในช่วงเกิดวิกฤติการณ์ภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์สึนามิในปลายปี 2547 หรือวิกฤตอุทกภัยในปลายปี 2554  ข้อเสนอของ คสรท.ในปีต่อมา คือ ปี 2548 และ ปี 2555 จะมีการระบุถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดกับผู้ใช้แรงงาน เช่น ในปี 2548 เสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไปปัญหาของลูกค้าที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ โดยให้กองทุนประกันสังคมอนุมัติงบประมาณ เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ลูกจ้างที่ประสบภัยเช่นเดียวกับการอนุมัติปล่อยกู้ให้นายจ้าง และให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประสบภัยอย่างจริงจัง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกัน หรือในปี 2555 เสนอให้รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่อผู้ใช้แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงานโดยเฉพาะในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัย และมีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย การตัดลดสวัสดิการ การสั่งย้ายให้ทำงานต่างพื้นที่ การปิดสถานประกอบการ[3]

(3)     ในปี 2547 – 49 และ 2554 มีข้อเรียกร้องที่น่าสนใจ 3 ข้อ ที่สะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหาในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี คือ การทำสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ในระดับทวิภาคี และพหุภาคี กับนานาชาติอันจะมีผลกระทบต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทำการประชามติตามรัฐธรรมนูญ กับ ให้สำนักงานประกันสังคมขยายความคุ้มครองด้านสุขภาพไปยังแรงงานที่ติดเชื้อ HIV โดยไม่มีเงื่อนไข (2 เรื่องนี้ปรากฏในข้อเรียกร้องปี 47-49) และในปี 2554 มีการเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

(4)     ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน คสรท. มีการระบุข้อเรียกร้องเรื่องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รวมถึงแรงงานภาคเกษตร โดยเฉพาะการขยายความคุ้มครองประกันสังคมให้คุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างทั่วถึงในมาตรฐานเดียวกับแรงงานในระบบ และการจ่ายเงินสมทบตามอัตราส่วนที่เหมาะสม รวมถึงผู้ประกันตนในมาตรา 39  และตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีการระบุเรื่องแรงงานข้ามชาติ โดยให้มีการคุ้มครองโดยใช้มาตรฐานเดียวกับการคุ้มครองแรงงานในประเทศ เช่น ค่าจ้าง การรวมตัวเจรจาต่อรอง สิทธิในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและอาชีว
อนามัย เป็นต้น

(5)     ในปี 2549 เป็นช่วงที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มทุนจำนวนมากเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ และร่วมมือกับกลุ่มทุนต่างชาติกำหนดนโยบายสาธารณะที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนของตนเอง ทำให้ในปีนี้ข้อเสนอของ คสรท. ต่อรัฐบาล จึงมีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองเพิ่มขึ้นจากข้อเรียกร้องประจำปีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานพื้นที่นอกทะเบียนบ้าน สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงานได้ และการยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครส.ส., ส.ว. ว่าต้องจบปริญญาตรี เป็นต้น

(6)     ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ในประเด็นประกันสังคม คสรท. เสนอว่าต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระโปร่งใสตรวจสอบ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม นี้ไม่นับว่าในปี 2555 มีการระบุชัดเจนว่า รัฐบาลต้องนำ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน แต่ต่อมาในปี 2556 หลังจากที่เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ คสรท.จึงทำให้ข้อเสนอเรื่องประกันสังคมคล้ายคลึงกับข้อเสนอปี 2554 แทน

P5010124

(7)        ในช่วงที่มีการเสนอข้อเรียกร้องเรื่องผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและจากการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงปี 2552-2553 รวมทั้งปี 2555 คสรท.มีข้อเสนอเรื่องการให้กระทรวงแรงงานต้องตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชย หรือกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยใช้เงินกองทุนนั้นซึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันทีเพื่อเป็นค่าชดเชย และให้กระทรวงแรงงานไปเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของประกอบการเพื่อนำกลับคืนกองทุนต่อไป ประกอบข้อเรียกร้องอื่นๆด้วยทุกครั้ง

(8)     มีข้อสังเกตเพิ่มขึ้นในปี 2556 ที่ทาง คสรท. มีข้อเรียกร้องเร่งด่วนข้อที่ 2 ที่ระบุชัดเจนว่า รัฐต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะกรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) 13 คน ที่ถูกเลิกจ้าง และแรงงานในภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ที่ศาลมีคำพิพากษาให้การรถไฟเลิกจ้างแกนนำ สร.รฟท. ทั้งๆที่การเลิกจ้างเป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ได้เกิดเหตุการณ์ขบวนรถด่วนที่ 84 เกิดอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 7 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน จึงทำให้ทาง สร.รฟท.เคลื่อนไหวหยุดให้บริการ ใน จ.สงขลา และนราธิวาส ระหว่างวันที่ 16 – 27 ต.ค.2552 เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามปกติก่อน

รณีดังกล่าวนี้เป็นภาพสะท้อนชัดเจนว่า รัฐไทยยังคงไม่ยอมรับในสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของคนงานกลุ่มนี้ แม้รัฐวิสาหกิจจะมีกฎหมายรองรับสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดและขัดกับหลักการในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่ผ่านมากว่าหนึ่งปีรัฐบาลหาได้มีความพยายามที่ชัดเจนที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับนักสหภาพแรงงานทั้ง 13 คน

(9)     ในปี 2556 มีข้อเรียกร้องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ รัฐต้องยกเว้นภาษี กรณีเงินก้อนสุดท้ายของคนงาน
ผู้เกษียณอายุ
เพราะเป็นที่ทราบดีว่าลูกจ้างที่ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ไม่ใช่เพราะตายหรือทุพพลภาพ ลูกจ้างจะต้องเสียภาษีจากเงินก้อนที่ได้รับในตอนเกษียณอายุนั้น ทั้งๆที่เงินก้อนดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นเงินออมที่จะไว้ใช้จ่ายดูแลตัวเองได้ในยามเกษียณ เป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องดูแลคนชราลดน้อยลง อีกทั้งเป็นการทุ่นเงินงบประมาณของชาติ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ คสรท.ไม่เคยมีการเสนอกับรัฐบาลมาก่อนไม่ว่าจะปีใดๆก็ตาม

(10)    สำหรับข้อเรียกร้องเรื่องการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม คสรท.มีการเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวเฉพาะปี 2547, 2549, 2555 และ 2556 เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่า คสรท., สรส. กับกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในการทำงานเคลื่อนไหวรณรงค์ร่วมกันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงพบว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ถูกหยิบยกไปเสนอในข้อเรียกร้องวันสตรีสากลทุกวันที่ 8 มีนาคมแทน

P5010058P5010155

5  ข้อเรียกร้องที่เสนอมาตลอด 10 ปี ดูเหมือนว่าจะ “ก้าวหน้า” แต่แท้จริง “ถดถอย”

จากการประมวลข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2556 พบว่า มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเสนอทุกปี ได้แก่

(1)     ให้รัฐบาลรับร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …..ฉบับขบวนการแรงงาน

(2)     ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ที่ 87 และ 98 ซึ่งว่าด้วยการเจรจาต่อรอง และการรวมตัวอย่างเป็นอิสระ

(3)     ให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม โดยยึดหลักมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

(4)     ให้รัฐบาลจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(5)     ให้รัฐบาลยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้เมื่อมาพิจารณาสถานการณ์การดำเนินงานของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน กลับพบว่ามีความก้าวหน้าที่เป็น “คุณ” ต่อผู้ใช้แรงงานน้อยมาก หรือกล่าวว่ามีความถดถอยมากกว่า กล่าวคือ

(1)     ในเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ …….ฉบับขบวนการแรงงาน พบว่า หลังจากปี 2546 เป็นต้นมารัฐบาลไม่มีการดำเนินการใดๆต่อร่างฯที่ได้ยื่นไปแม้ว่าจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้ในปี 2552 คสรท.จึงได้ร่วมกับ สรส.ยกร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า “แรงงานสัมพันธ์ฉบับวังน้ำเขียว”[4] และ คสรท.ได้ใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ในการยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ต่อมาในปี 2554 และในที่สุดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 คสรท. นำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. และองค์กรสมาชิกใน คสรท. รวบรวมรายชื่อพี่น้องแรงงานจำนวน 12,567 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับบูรณาการแรงงานต่อประธานรัฐสภา

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2556 ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีจดหมายมาถึงประธาน คสรท. โดยแจ้งว่าเนื่องจากร่างพรบ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 143 (2) ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต้องส่งร่างพรบ.ฉบับนี้ไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณารับรองก่อนเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรบรรจุวาระต่อไป ซึ่งทางสำนักงานฯได้รับแจ้งจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่ายังไม่สามารถให้คำรับรองได้ในขณะนี้ ซึ่งจะไม่ทันการพิจารณาในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ เนื่องจากต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาก่อน

(2)     การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นแล้วว่า มีความคืบหน้าในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 แต่ต่อมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ท่าทีการผลักดันอนุสัญญาไม่มีความชัดเจน มีเพียงกระทรวงแรงงานจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาเท่านั้น

(3)     ไม่มีความคืบหน้าในข้อเสนอเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม แม้ว่ารัฐบาลจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศแต่ก็พบว่า ในหลายสถานประกอบการมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นคุณ-ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง และมีการเลิกจ้างแรงงานในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่องติดตามมา ดังนั้นค่าจ้าง 300 บาทที่ปรับขึ้น จึงยังไม่สามารถทำให้แรงงานมีรายได้เพียงพอเพื่อการใช้จ่ายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม เป็นไปเพื่อประทังชีวิตของคนงานได้เพียงคนเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลก็ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบ ขณะที่ราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลต่อคนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

(4)     มีการประกาศใช้พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ที่มีการบรรจุเรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่ร่างดังกล่าวมีความแตกต่างอย่างมากในเชิงหลักการและวิธีคิดการจัดตั้งสถาบันฯ จากข้อเสนอของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ อีกทั้งทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายก็ได้มีการส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

(5)     รัฐบาลยังคงมีนโยบายเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ปตท. และ การบินไทย

นอกจากนั้นแล้วเมื่อมาพิจารณาในข้อเรียกร้องข้ออื่นๆ ก็กลับพบความถดถอยมิแตกต่าง โดยเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

P5010322P5010161

–          การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการและพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพราะนับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 คสรท.และองค์เครือข่ายพันธมิตรด้านแรงงาน ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .… (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้รับหลักการและพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2554 จนถึง 20 มีนาคม 2556 รวมเวลา 1 ปี 4 เดือน ทางสภาผู้แทนราษฎรจึงมีการพิจารณารับหลักการเห็นชอบในวาระ 1 แต่อย่างไรก็ตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2556 ได้ลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการร่างดังกล่าว ทั้งๆที่เป็นกฎหมายแรงงานฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอสู่รัฐสภาที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

–          การแก้ไขปัญหาของแรงงานที่ประสบวิกฤติอุทกภัยมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ให้ลุล่วง พบว่า แรงงานที่เป็นกำลังการผลิตส่วนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่างได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า สถานประกอบการต้องปิดตัวลง การหยุดงานเป็นเวลานาน ความไม่ชัดเจนของการจ่ายค่าจ้าง หรือแม้กระทั่งการเลิกจ้าง เหล่านี้เป็นปัญหาที่รุมเร้าแรงงานตลอดช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามหรือใช่ช่องว่างทางกฎหมาย เช่น การใช้มาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กับลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือในกรณีการไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนในการเปิดสถานประกอบการ ทำให้แรงงานไม่สามารถใช้สิทธิทดแทนการว่างงาน จากพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้  หรือการเลิกจ้างแรงงาน การล้มสหภาพแรงงาน โดยอ้างเหตุจากวิกฤติอุทกภัย นี้ไม่นับว่ามีการเลิกจ้างแรงงานกลุ่มเหมาช่วง เหมาค่าแรงเป็นกลุ่มแรกๆเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่กระทรวงแรงงานก็กลับไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ด้วยเช่นกัน

–          การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น ในทุกครั้งที่มีการประกาศปรับค่าจ้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของภาคข้าราชการหรือเอกชน สิ่งที่ตามมาเสมอคือการขอปรับขึ้นราคาสินค้าที่ผู้ประกอบการอ้างว่ารับภาระการขาดทุนไม่ไหว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป ที่ต้องมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ค่าจ้างเพิ่มเพียงน้อยนิดนั้นกลับไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่ปรับราคาขึ้นไป นั่นก็ทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแต่กลับเพิ่มภาระในค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรัฐบาลก็ไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจนในการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น เช่น สินค้าอุปโภค บริโภค น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น

ดังนั้นจากสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเห็นได้ชัดว่า ทุกวันนี้แม้การยื่นข้อเรียกร้องจะยังคงเป็นภาพสะท้อนของ “พิธีกรรมประจำปีที่รัฐและทุนไม่ใส่ใจ” แต่อย่างน้อยเมื่อมาพิจารณาข้อเรียกร้องก็เห็นได้ชัดว่า การปรับปรุงเพียงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือการเข้าถึงสวัสดิการแรงงาน ไม่ได้ทำให้สิทธิแรงงานเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้การเปิดโอกาสให้แรงงานได้รวมตัว-เจรจา-ต่อรอง อย่างเสมอภาค โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไทยต้องรับรองอนุสัญญา ILO. ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็ววัน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว นี้ต่างหากที่จะนำไปสู่การปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างผู้ได้เปรียบกับเสียเปรียบทางสังคม และสุดท้ายจะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อผู้ใช้แรงงานลงได้จริง


[1] แต่ในประเด็นนี้ยังจำเป็นต้องแสวงหาข้อถกเถียงต่อไป เพราะไม่สามารถสรุปได้เป็นเนื้อเดียวกันว่า ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประนีประนอมกับรัฐและทุนทุกปี เพราะเมื่อมาพิจารณาข้อเรียกร้องของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติตั้งแต่ปี 2547-2555 กลับพบว่า ข้อเรียกร้องแต่ละปีบางครั้งขัดแย้งในเชิงจุดยืนกันเอง เช่น

ปี 2549-50 เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ โดยให้เป็นหน่วยงานอิสระ แต่พอปี 2551-53 กลับเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับรัฐบาล ซึ่งเป็นฉบับที่ไม่มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

หรือในปี 2551 เสนอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น  แต่หลังจากนั้นปี 2552-53 ก็ไม่มีประเด็นค่าจ้างในข้อเรียกร้อง แต่ต่อมาในปี 2554 กลับเสนอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างที่เป็นธรรม พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ ส่วนปี 2555 ไม่มีข้อเรียกร้องเรื่องนี้  เป็นต้น

[2] ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงนั้นย้อนไปเมื่อปี 2545 ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยสมัยที่มีนายศรีโพธิ์ วายุพักตร์ เป็นประธาน คสรท. ได้ร่วมกับนายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (ในสมัยนั้น) ยกร่าง พรบ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ….. (ฉบับขบวนการแรงงาน) ขึ้นมา และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยกับสถานการณ์ในช่วงนั้น (จริงๆยกร่างมาตั้งแต่ปี 2541 เพราะเมื่อปี 2540 รัฐบาลได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.ขึ้นมาใหม่ และนำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎร) โดยก่อนการปรับปรุงได้นำร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ….. (ฉบับขบวนการแรงงาน) ไปดำเนินการประชาพิจารณ์เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรและศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ (ACIL) รวม 9 ครั้ง และเมื่อทำการประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว จึงนำร่าง พรบ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ….. (ฉบับขบวนการแรงงาน) มาทำการปรับปรุงแก้ไขใหม่ และเมื่อปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ต่อมาในวันที่ 18 มิถุนายน 2546 จึงได้มีการยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้รัฐบาลนำไปตราเป็นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …..ต่อไป

ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรของลูกจ้างเพื่อให้สามารถสร้างแรงงานสัมพันธ์กับนายจ้างได้อย่างเท่าเทียมกันอัน ซึ่งต่างกับร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับของรัฐบาลเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาลมีหลักการและเนื้อหาหลายมาตราที่ขัดกับหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศและลิดรอนสิทธิการรวมตัวของผู้ใช้แรงงานในภาคราชการบางส่วน

[3] ในประเด็นนี้เป็นที่น่าแปลกใจว่าทางคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติไม่มีการระบุถึงเรื่องดังกล่าวทั้งในปี 2548 และ 2555 ทั้งๆที่ผู้ใช้แรงงานต่างได้รับผลกระทบทั่วหน้า

[4] เวทีการยกร่างที่สำคัญ คือ เวทีซึ่งจัดเมื่อวันที่ 27-28 กันยายน 2553 ที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสภาแรงงานแห่งชาตินอร์เวย์ (LO – NORWAY) และเวทีแห่งนี้เองที่ทำให้ได้ร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ ขึ้นมา หรือที่เรียกกันว่า “แรงงานสัมพันธ์ฉบับวังน้ำเขียว” และใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นตัวตั้งในการยกร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ฉบับที่ยื่นต่อรัฐสภาเมื่อสิงหาคม 2555