“องค์การมหาชน” ความท้าทายการเปลี่ยนแปลงประกันสังคม

 
โดย ดร.อารักษ์ พรหมณี
 
องค์การมหาชน เป็นรูปแบบองค์กรของรัฐประเภทหนึ่งที่แตกต่างจากองค์กรของรัฐรูปแบบหน่วยงานราชการ โดยมีฐานคิดที่ว่า โครงการสร้างและวิธีการดำเนินงานรูปแบบองค์การมหาชนเหมาะสมกับภารกิจการจัดทำบริการสาธารณะสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากการปฏิบัติงานในรูปแบบหน่วยงานราชการมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสายการบังคับบัญชา และลำดับชั้นตัดสินใจยาว ซึ่งเน้นความถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับยิ่งกว่าสัมฤทธิผลของประสิทธิภาพในความสำเร็จของการปฏิบัติงาน นอกจากนั้นการมีมาตรฐานการบริหารบุคคล และการจัดหาทรัพยากรทางด้านการบริหารจัดการเพียงมาตรฐานเดียวก่อให้เกิดปัญหาที่หน่วยงานราชการไม่สามารถรองรับการปฏิบัติภารกิจสมัยใหม่ของรัฐที่ต้องการความคล่องตัวสูงได้ หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการพัฒนาระบบราชการเห็นว่ารูปแบบองค์การมหาชนเหมาะสมกับการนำมาใช้ในกิจการบริการสาธารณะที่ต้องการประสิทธิภาพการบริหารจัดการสูง โดยมิได้ค้ากำไรจากการบริการ เพราะมั่นใจว่า วัฒนธรรมองค์กรเยี่ยงภาคธุรกิจ และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในการบริหารขององค์กรภาครัฐรูปแบบองค์การมหาชนจะเกิดขึ้น และทำให้ประชาชนได้รับบริการของรัฐที่ได้มาตรฐานเท่ากับหรือเหนือกว่าระดับสากล 
 
การที่รัฐบาลมีนโยบาย และกลุ่มแรงงานเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างการจัดองค์กร ตลอดจนลักษณะวิธีการขั้นตอนการปฏิบัติงานของสำนักงานประกันสังคมในรูปแบบองค์การมหาชน หรือ การออกนอกระบบราชการนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ต้องการขจัดความไม่เหมาะสม และข้อจำกัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นในระบบโครงสร้างการบริหารจัดการ และการให้บริการของสำนักงานประกันสังคม เพราะระบบงานประกันสังคมเป็นภารกิจงานบริการสาธารณะเฉพาะด้านที่เกิดขึ้นใหม่ และเกี่ยวพันกับสิทธิประโยชน์ที่ส่งผลกระทบถึงชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนหลายภาคส่วนในสังคมการบริหารจัดการ และการให้บริการงานประกันสังคมจึงจำเป็นต้องมีความคล่องตัวทั้งเนื้อหา และวิธีดำเนินภารกิจที่ควรแตกต่างจากหน่วยงานราชการทั่วไป แนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนสถานภาพสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์การมหาชนมีสาระสำคัญ คือ
ประการแรก ทางด้านการบริหารจัดการ สำนักงานประกันสังคม และกองทุนประกันสังคมจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล การเป็นนิติบุคคลเอกเทศนี้ มีผลให้ระบบการบริหารกองทุนประกันสังคม การบริหารงานบุคคล การจัดหาและควบคุมดูแลทรัพย์สินของสำนักงานประกันสังคมแยกต่างหากจากกระทรวงแรงงานที่เหลือหน้าที่เพียงการกำกับดูแลเท่านั้น ส่วนด้านการบริหารเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ด้วยเหตุนี้สำนักงานประกันสังคมจึงมีอิสระในการบริหารงาน สามารถกำหนดวิธีการบริหารและดำเนินกิจการเพื่อเพิ่มความคล่องตัว สามารถบริหารงานให้มีความเหาะสมต่อสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที อีกทั้งยังลดปัญหาการแทรกแซงทางการเมือง 
 
ประการที่สอง ทางด้านผู้ปฏิบัติงานการให้บริการประกันสังคม โดยที่หลักการและวัตถุประสงค์การบริหารงานแบบองค์การมหาชน คือ สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การสร้างแรงจูงใจในระบบบริหารงานบุคคลด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมการให้บริการของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่ดีสามารถกระทำได้ดีกว่าการอยู่ในสังกัดราชการ ตลอดจนสามารถให้บริการภายใต้กฎระเบียบขั้นตอนที่ผ่อนคลายลงจากที่กำหนดไว้เดิมในระบบราชการที่มีความเคร่งครัด และประชาชนต้องปฏิบัติตาม
ประการที่สุดท้าย ทางด้านการเพิ่มขีดความสามารถของระบบงานประกันสังคม การเป็นองค์การมหาชนจะถูกบังคับด้วยหลักการเพื่อให้เกิดการพัฒนาการวางแผนการบริหารจัดการ และการให้บริการเป็นไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมงานในทุกด้าน เพราะการไม่อยู่ในกรอบข้อกำหนดของหน่วยงานราชการเปิดโอกาสให้วางขอบข่าย
 
การทำงานตามความรับผิดชอบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ครบวงจรในตนเอง อีกทั้งยังสามารถให้บริการที่เน้นความยืดหยุ่นปรับตัวได้ตามสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นใน
แต่ละช่วงของการดำเนินงานผ่านช่องทางหรือวิธีการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการอย่างหลากหลายแตกต่างจากเดิม ยิ่งกว่านั้นรัฐควรใช้โอกาสนี้นำแนวคิดการเปลี่ยนรูปแบบสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์การมหาชนไปกำหนดทิศทางการปฏิรูปโครงการสร้างการบริหารงานระบบความมั่นคงทางสังคมของประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย โดยทำการยกระดับสำนักงานประกันสังคมให้อยู่ในสถานะสำนักงานประกันสังคมแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการบูรณาการเชื่อมโยงตาข่ายความคุ้มครองทางสังคม ให้รองรับซึ่งกันและกันอย่างชัดเจนเป็นระบบ และสร้างหลักประกันทางสังคมขั้นพื้นฐานพร้อมกับดำเนินการแบ่งสรรกระจายถ่ายโอนทรัพยากรให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มทุกคน
 
อาจกล่าวได้ว่า ผลของความเป็นหน่วยงานราชการก่อให้เกิดการลดทอนความเชื่อมั่นเชิงประสิทธิภาพในการดำเนินงานประกันสังคมที่ยากต่อการแก้ไขอีกต่อไป ปรากฏการณ์การบริหารจัดการ และการให้บริการบนฐานความเป็นหน่วยงานราชการของสำนักงานประกันสังคมดูเหมือนถูกเชื่อว่าไม่สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ วิธีดำเนินการ และการปฏิบัติในการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารเงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่กว่า 5 แสนล้านบาท และกำลังเพิ่มขึ้นเป็นล้านล้านบาทในระยะเวลาอีกไม่นานนัก อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรภาครัฐที่สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สำคัญโดดเด่นแตกต่างจากหน่วยงานราชการอื่นการพึ่งตนเองได้นี้ยังเป็นปัจจัยเสริมที่เอื้อต่อแนวคิดการนำสำนักงานประกันสังคมแยกออกมาเป็นองค์กรภาครัฐที่เป็นอิสระจากส่วนราชการ ประการสำคัญแม้ว่าการเปลี่ยนสำนักงานประกันสังคมให้อยู่ในรูปแบบองค์การมหาชน หรือรูปแบบอื่นใดก็ตามที่มิใช่ส่วนราชการเป็นนโยบายของรัฐ แต่การบรรลุเป้าหมายนับว่าเป็นความท้าทายความจริงใจของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานที่มีต่อกระแสสังคมในการขับเคลื่อนผลักดัน และประเด็นความสำเร็จของนโยบายนั้นขึ้นอยู่กับบุคลากรทุกระดับในสำนักงานประกันสังคมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด และมีกลยุทธ์เชิงรุก ตั้งรับ หรือปรับตัวอย่างไรกับนโยบายที่มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์สวัสดิการ ความก้าวหน้า ความมั่นคงในสถานภาพความเป็นข้าราชการของตนเองครั้งนี้