​ลอกคราบค่าจ้างขั้นต่ำปี 60

เสวนา “ลอกคราบค่าจ้างขั้นปี2560 ตามหาความยุติธรรม เมื่อความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น” 

วันที่ 26 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ประเทศไทย จัดการเสวนา “ลอกคราบค่าจ้างขั้นต่ำปี2560 ตามหาความยุติธรรม เมื่อความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น” ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ

นางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เพียงเกิดจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียวยังมีภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ และส่วนของแรงงานก็มีแรงงานในระบบราว 13 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน จากกำลังแรงงานราว 38 ล้านคน ในความหมายของคนที่มีงานทำเพียงทำงานชั่วโมงเดียวก็ถือว่า เป็นคนที่มีงานทำ และรายได้ต่อคนต่อหัวเพียง 1.9 แสนบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งแรงงานนอกระบบยังคงมีรายได้ที่ต่ำยังไม่เทียบเท่ากับแรงงานในระบบ กระทรวงแรงงานจึงให้ความสำคัญว่าจะลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างไร โดยมีการกำหนดมาตรฐานในการดูแล

ถามว่า ทำไมค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 จึงเป็น 4 อัตรา และเป็นการปรับตามคณะกรรมการค่าจ้างนั้นจริงแล้วก็อย่างทราบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างมีการดูข้อมูล 10 ขั้นตอนประกอบด้วย ทั้งเศรษฐกิจสังคม ดัชนีผู้บริโภค ราคาสินค้าค่าครองชีพ นำมาประมวลโดยภาพรวม และยังมีการดูข้อมูลการปรับขึ้นค่าจ้างในประเทศต่างๆตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)มีข้อมูลหนึ่งในนั้นก็คือประเทศฝรั่งเศสที่มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างด้วย ซึ่งการที่ปรับค่าจ้างเป็น 4 อัตราครั้งนี้ มีการทำข้อมูลถึงพื้นที่ ในการเสนอปรับหรือไม่ปรับค่าจ้างตามที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา เช่น มีการดูเชิงพื้นที่อย่าง บางจังหวัดใช้การขับเคลื่อนทางเกษตรกรรมมากกว่าอุตสาหกรรม เช่น จังหวัดเชียงใหม่เขาประเมินว่า เป็นจังหวัดท่องเที่ยว สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่ใช้ภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดของภาคบริการ ซึ่งมีค่าครองชีพที่สูงเนื่องจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เป็นต้น การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นไปตามอำนาจต่อรองของพื้นที่อีกด้วย เห็นด้วยว่า ต้องมีการส่งเสริมอำนาจการต่อรองโดยทางกระทรวงแรงงานมองว่าปี 2560 อาจมีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 เพื่อสร้างการเจรจาต่อรองให้กับแรงงาน ประเด็นต่อมาเรื่องความช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงมกราคม – ตุลาคมที่ผ่านมาในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อในระบบเกิดการจับจ่ายมากขึ้น และผลจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 0.2-0.4 จะส่งผลกระทบกับการย้ายงาน หรือย้ายฐาน มีการดูเรื่องนี้ด้วยและมีการจับตาเรื่องการเลิกจ้างแรงงานด้วยว่า จะมีเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไหน และจากการวิเคราะห์กระทบเพียงร้อยละ 0.0 เท่านั้น

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า เดือนเมษายน 2560 ที่จะถึงนี้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำครบรอบ 44 ปี ซึ่งในมุมมองของตนนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีปัจจัยของอำนาจการต่อรองที่หมายถึง การรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง ทั้งเป็นเรื่องการเมืองด้วย เมื่อช่วงที่เริ่มมีประชาธิปไตย การนิยามค่าจ้างขั้นต่ำนั้นหมายถึงค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คน แต่ปัจจุบันนิยามการปรับขึ้นค่าเปลี่ยนไป เป็นเลี้ยงดูแค่คนที่ทำงานเท่านั้น และยังมีการเสนอปรับค่าจ้างโดย คณะกรรมการค่าจ้าง ต่อมาก็เสนอปรับโครงสร้างปรับค่าจ้าง ให้มีอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเกิดขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวอย่าง 300 บาท ก็มาจากการเมืองกำหนดหลังจากที่พรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งหลังจากที่มีการเสนอนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่าง หลักประกันสุขภาพ และครั้งนี้พรรคเพื่อไทยเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และประชาธิปปัตย์เสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 250 บาท เป็นการปรับค่าจ้างจากการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ปรับค่าจ้างแบบไม่ต้องหาเสียง เห็นได้จากการให้ความสนใจต่อข้าราชการในการปรับค่าจ้าง และสวัสดิการ เพราะข้าราชการคือฐานเสียงที่สร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน การปรับค่าจ้างจึงขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมือง เมื่อไม่มีปรับมาไม่เท่ากันและมี 8 จังหวัดที่ไม่ปรับขึ้น ตามที่กระทรวงแรงงานอ้างว่า อนุกรรมการไม่เสนอปรับ แต่หากดูข้อมูลจะพบว่า มีหนึ่งจังหวัดที่เสนอปรับขึ้นค่าจ้างแต่ว่ากระทรวงแรงงานไม่ปรับขึ้น เป็นต้น

กรุงเทพฯและปริมณฑล ถือเป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างที่สูง แต่ก็มีจังหวัดภูเก็ตที่เคยมีค่าจ้างที่สูงกว่ามาแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่า ใช้วิธีการต่อรองอย่างไรในการเสนอของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจนได้รับการปรับค่าจ้างที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ความแตกต่างของค่าจ้างหลังมีอนุกรรมการค่าจ้างเคยมีถึง 32 อัตราก่อนที่จะปรับเป็น 300 บาทเท่ากันและถูกแช่แข็งนานที่สุดถึง 48 เดือน รวม 4 ปี หากนับรวมการปรับกรุงเทพฯปริมณฑล คือไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้ว 57 เดือน เพราะว่ามีอุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้น และช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 36 เดือน ต่อมาก็ช่วงวิกฤตทางการเมืองปี 2519 ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นเท่ากันเมื่อการเมืองเป็นประชาธิปไตยทั้งปี 2518 และปี 2554 เป็นต้น

นางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ ด้วยไม่เห็นความแตกต่างของราคาสินค้า หรือค่าครองชีพ หากดูจากราคาสินค้า หรือน้ำมันในต่างจังหวัดยังมีราคาที่สูงกว่าอีกด้วย และสินค้าห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อมีราคาเท่ากัน ที่ห่างไกลราคาสูงกว่า แล้วมองอย่างไรจึงไม่ปรับขึ้นค่าจ้างโดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้ที่รัฐบอกว่า ต้องการฟื้นทางเศรษฐกิจหากรายได้ไม่เพียงพอจะมีกำลังซื้อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้อย่างไร แนวคิดในการพัฒนาสังคมการที่จะทำให้แรงงานนอกระบบมีความเท่าเทียมกับแรงงานในระบบเรื่องคุณภาพชีวิต และค่าจ้างเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่ฉุดให้แรงงานในระบบลงมามีมาตรฐานเท่ากับแรงงานนอกระบบ แต่ต้องส่งเสริมให้มาตรฐานสูงเท่ากัน มีระบบประกันสังคมเป็นฐานในการพัฒนาเบื้องต้นเป็นสวัสดิการเดียว

แนวคิดที่รัฐประกาศเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น อยากให้มองความเป็นจริงด้วยว่า แรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานจะมีการประเมินฝีมืออย่างไร คนทำงานมากกว่า 1 ปี เป็นแรงงานฝีมือหรือไม่ หากเป็นแรงงานฝีมือทำไมยังได้เพียงค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานควรต้องเข้าไปดูแลให้เกิดความเป็นธรรมมีการปรับขึ้นค่าจ้างที่เป็นจริง นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่อำนวยความสะดวกในการลดภาษี พร้อมสิทธิต่างๆ การจ้างงานต้องดูว่ามีการจ้างแรงงานไทย หรือว่าแรงงานข้ามชาติมีการละเมิดสิทธิ กดขี่แรงงานมากขึ้นหรือไม่ มีการละเมิดสิทธิชุมชนหรือไม่กับการสนับสนุนส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการใช้แรงงานข้ามชาติ มีการไล่ที่ทำมาหากินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เกิดความขัดแย้งอีกด้วย

ศาสตราภิชานรศ.ดร.แล ดิลกวิทยารัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบกับผลประโยชน์การลงทุน ใครที่อ้างถึงการปรับขึ้นค่าจ้างกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น หากมาดูว่าคนที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีเพียงร้อยละ 1 หรือจำนวนคนเพียง 6.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคนเท่านั้น ค่าจ้างที่ดีที่สุดคือค่าจ้างที่เพียงพอและทำให้แรงงานอยู่ได้อย่างไม่เป็นหนี้สิน ค่าจ้างที่พอกินทำให้คนเป็นคนทำให้เกิดความเป็นมนุษย์และทำให้ทุกคนเสมอกัน จะปรับขึ้นค่าจ้างต้องดูด้วยว่าลูกจ้างขาดทุนไปเท่าไรเมื่อปีที่ผ่านมา และต้องมีการปรับขึ้นเพื่อชดเชยการขาดทุนด้วย

เกณฑ์การปรับขึ้นค่าจ้างมีมากเกินไป การจะปรับค่าจ้างจะใช้เกณฑ์ไหน ซึ่งยังมีเกณฑ์ที่ว่า ดูกำลังจ่ายของนายจ้างด้วย แม้ว่า ลูกจ้างจะเดือดร้อนมากแค่ไหนหากนายจ้างบอกว่า ไม่มีกำลังจ่ายก็คือไม่ปรับขึ้นค่าจ้างใช่หรือไม่ ดูเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้าหากนายจ้างไม่มีกำลังจ่ายจะปรับหรือ ปัญหาวันนี้ที่ดูเรื่อง GPI การจับจ่ายใช้ส่อยในพื้นที่ลดลงนั้น ผลตอนนี้คือราคาน้ำมันที่ลดลงจึงทำให้ค่าครองชีพลดลง แต่ความจริง คือการกินการอยู่ของแรงงานว่าค่าใช้จ่ายสูงขึ้นหรือไม่ เช่นเมื่อไม่นานมานี้กล้วยที่คนกินกันจากเดิมราคา 20-40 บาทต่อหวี ปรับราคาขึ้น 70-100 บาท ถามว่า สินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเรื่องปากท้องได้มีการนำมาเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องไม่ลืมว่า ผู้ใช้แรงงานทำงานในโรงงานไม่มีเวลาที่ต้องไปหาผักหาปลามากินเหมือนชาวบ้านในชุมชน ต้องทำงานได้ค่าจ้าง ซึ่งเมื่อค่าจ้างไม่เพียงพอต้องทำงานล่วงเวลา หรือOT  และต้องส่งให้ครอบครัว ค่าจ้างแรงงานไม่ใช่เพียงปากท้องเดียว และค่าจ้างไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการเมืองอย่างเดียว ต้องส่งเสริมให้แรงงานมีการรวมตัวกันด้วย หากไม่รวมตัวจะมีอำนาจเจรจาต่อรองอย่างไร หากกระทรวงแรงงานจะให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 98 ต้องมีการให้สัตยาบันILO ฉบับที่ 87 ด้วยเพื่อการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม ค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำให้คนเป็นคน และจะเป็นคนสมศักดิ์ศรีต้องไม่มีหนี้สิน การปรับค่าจ้างต้องดูไม่ให้แรงงานขาดทุน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน