ไทยพร้อมให้สัตยาบันอนุสัญญาความปลอดภัยและอาชีวอนามัย กุมภานี้

2015-10-06 09.07.14

กระทรวงแรงงาน เผยความคืบหน้าในการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ. 2549 คาดแล้วเสร็จ กุมภาพันธ์ 59

วันที่ 18 มกราคม 2559 กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รายงานว่า นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับใดๆ ในด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ดังนั้นองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO จึงได้แสดงท่าทีเกี่ยวกับการดำเนินงานความปลอดภัย โดยพยายามผลักดันการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา 187 หลังจากที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ได้ให้สัตยาบันแล้ว สำหรับประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการลงนามสัตยาบันสาร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากนั้นจะมอบหมายให้ผู้แทนไทยเป็นผู้นำสัตยาบันสารไปยื่นแจ้งจดทะเบียนต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และจะมีผลนับแต่วันที่ยื่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้

อนุสัญญาฉบับนี้ จัดเป็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศฉบับพื้นฐานด้านความปลอดภัยและอาชีว อนามัย ซึ่ง ILO ได้ยกร่างขึ้นเพื่อให้เป็นกรอบแนวทางสำหรับการบริหารจัดการและดำเนินงานความปลอดภัยฯ ระดับชาติ โดยมีเนื้อหาสาระมุ่งเน้นเกี่ยวกับการจัดให้มีองค์ประกอบขั้นพื้นฐานที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน  ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ประกอบด้วย รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อส่งเสริมให้มีการคุ้มครองดูแลด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่องและมีความคืบหน้า รัฐต้องพิจารณาดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการให้สัตยาบันอนุสัญญาเกี่ยวกับความปลอดภัยฯ ฉบับอื่นๆ ของ ILO และในการดำเนินงานในทุกขั้นตอน และรัฐบาลต้องร่วมปรึกษาหารือกับองค์กรผู้แทนข้างมากที่สุดของนายจ้างลูกจ้าง นอกจากองค์ประกอบขั้นพื้นฐานทั้ง ๓ ด้านดังกล่าวแล้ว รัฐสมาชิกที่ให้สัตยาบันควรต้องมีการจัดทำรายงานข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระดับชาติ (National OSH Profile) เพื่อสรุปข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับการประสบอันตรายจากการทำงาน นโยบาย แผนงาน กลไกการดำเนินงานอีกด้วย

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 187 นี้ มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการยกระดับการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยให้สอดคล้องหรือเทียบเคียงกับหลักการดำเนินงานระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นการแสดงให้นานาชาติเห็นถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่ให้ความสำคัญของการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ตลอดจนเป็นการวางรากฐานในการพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านดังกล่าวของประเทศไทยให้บรรลุผลยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การลดการประสบอันตรายจากการทำงาน รวมถึงลดความสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ใช้แรงงาน